E-DUANG : การปะทะทาง “วัฒนธรรม” ที่ “จุฬาฯ”

สถานการณ์อันเกิดขึ้นที่ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นภาพสะท้อนสถานการณ์อันเกิดขึ้นในสังคม”ประเทศไทย”ได้อย่างดี

มองจากมุม “นักวิชาการ” ถือเป็น “กรณีศึกษา”
เพราะทั้งหมดคืออาการ “ปะทะ” ในทางวัฒนธรรม ความคิดอันคมแหลมอย่างยิ่ง
ระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่”
ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่ว่า ชุดทางความคิดของทั้ง 2 ฝ่ายล้วนอ้างอิงในทาง “ประวัติศาสตร์” หากแต่ยังอยู่ที่ว่าประวัติศาสตร์ของฝ่ายใดจะมีความชอบธรรมมากกว่า
ทั้งๆที่ล้วนเริ่มต้นจากการแสดง “ความจงรักภักดี” ด้วยกันทั้งสิ้น
เพียงแต่”วิธีการ”มีความแตกต่างกัน

ฝ่ายของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล อ้างพระบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงให้เลิก “หมอบคลาน”
อีกฝ่ายนำเสนอกระบวนการใหม่ด้วยการ “ถวายบังคม” พร้อมกับ “ถวายสัตย์ปฏิญาณ”
อันย้อนกลับไปใกล้เคียงกับ “หมอบคลาน”
ฝ่ายของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ประนีประนอมด้วยการให้แสดงความเคารพผ่านการ “ยืนคำนับ”
เท่ากับสนองพระบรมราชโองการของ รัชกาลที่ 5
ผลปรากฏว่าความพยายามประนีประนอมของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ไม่ปรากฏผลสำเร็จ
ปฏิบัติการ “ล็อกคอ” จึงได้ปรากฏขึ้น

ไม่มีใครให้ “คำตอบ” ได้ว่าในระยะยาวการแสดงความเคารพ จงรักภักดีแบบใดจะได้ชัยชนะเป็นที่ยอมรับ
แม้ “ใหม่” มักจะเข้าแทนที่ “เก่า”
แต่กล่าวสำหรับกระบวนการทาง “วัฒนธรรม” กระบวนการทาง “การเมือง” ก็ไม่แน่เสมอไป
คดเคี้ยว วกวน เหมือนกับ “ประชาธิปไตย”
เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เป็นความก้าวหน้าปรากฏ “สิ่งใหม่” แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2490 “เก่า” ก็เริ่มคืบคลานย้อนคืนครอบงำ
เหมือน “หมอบคลาน” ที่ครองฐานะเหนือ “คำนับ”