ตุลารำลึก (3) ก่อนพายุใหญ่จะมา!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

ตุลารำลึก (3)

ก่อนพายุใหญ่จะมา!

 

“ในโลกนี้มีแต่เรื่องแมวเป็นเพื่อนกับแมว ไม่มีเรื่องแมวเป็นเพื่อนกับหนู”

ประธานเหมาเจ๋อตง

 

ปีการศึกษา 2519 เริ่มต้นด้วยปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ คือการที่พรรคนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งในหลายมหาวิทยาลัย

อันเป็นสัญญาณของภูมิทัศน์ใหม่ของ “กิจกรรมนักศึกษา” ที่กลุ่มฝ่ายขวาในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนพ่ายแพ้ต่อการขยายตัวของปีกก้าวหน้าอย่างชัดเจน

ซึ่งแน่นอนว่า ชัยชนะเช่นนี้กลายเป็นการ “เขย่าประสาท” ให้ปีกขวาเกิดความกลัวทางการเมืองมากขึ้น

อีกทั้งอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า กิจกรรมนักศึกษามีทิศทางที่ “เอียงซ้าย” จนทำให้กลุ่มปีกขวาเปิดปฏิบัติการต่อต้านด้วยความรุนแรง

นอกจากนี้ รายการ “เขย่าประสาท” ฝ่ายขวา ยังเห็นได้ชัดเจนจากการเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาให้มีการถอนฐานทัพของสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศไทย

ซึ่งสำหรับฝ่ายขวาในยุคหลังอินโดจีนแตกในปี 2518 แล้ว ฐานทัพสหรัฐเป็นเสมือน “หลักประกันความมั่นคง” ของไทย ที่เป็นความหวังเดียวว่า ฐานทัพจะผูกมัดให้สหรัฐมีพันธะทางทหารในการป้องกันการล่มสลายของรัฐไทยจากการบุกของฝ่ายคอมมิวนิสต์

ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 20 มีนาคม 2519 อันเป็นวันที่ถูกขีดเป็นเส้นตายไว้ในคำแถลงของรัฐบาล

 

การกลับมาของจอมพลถนอม

แม้เราผ่านการเคลื่อนไหวใหญ่เรื่องฐานทัพสหรัฐมาได้ แต่ก็เกิดความสูญเสียที่เกิดจากการปาระเบิดสังหารที่สยามสแควร์ ในใจผมเริ่มคิดว่า ถ้าเราสามารถผลักดันให้สหรัฐต้องถอนฐานทัพออกไปได้จริงแล้ว การเคลื่อนไหวของพวกเราจะมีชีวิตยืนนานไปได้อีกนานเท่าใด เพราะฝ่ายขวาจัดคงไม่ยอมอย่างแน่นอน เพราะสหรัฐไม่มีฐานทัพในอินโดจีนแล้ว เหลืออยู่แต่ในไทย ซึ่งถ้าไม่มีแล้ว ฝ่ายขวาไทยจะมีหลักประกันอะไร

ผลอีกด้านจากชัยชนะในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้การเลือกตั้งคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ฝ่ายก้าวหน้าเป็นเลขาฯ คือ คุณสุธรรม แสงประทุม ด้วยคะแนนเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์

ซึ่งการกำเนิดของกรรมการศูนย์ชุดใหม่ในปี 2519 ที่เมื่อรวมกับองค์กรนิสิตนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าจากมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว ย่อมเป็นคำตอบในตัวเองถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาไทยในอนาคต

ซึ่งทิศทางเช่นนี้น่าจะเป็นความกลัวทางการเมืองของฝ่ายขวา

เมื่อกรรมการศูนย์เปิดตัวครั้งแรกด้วยการปราศรัยกับพี่น้องประชาชนที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2519 ก็ต้องเผชิญกับการก่อกวนของกลุ่มปีกขวา อันทำให้มีผู้ร่วมการชุมนุมบางส่วนได้รับบาดเจ็บ

เหตุรุนแรงครั้งนี้จึงเป็นเสมือน “การรับน้องใหม่” กับบรรดากรรมการชุดใหม่ และยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความต้องการที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาด้วย

จนทำให้สุธรรมซึ่งเป็นเลขาฯ ศูนย์คนใหม่ถึงกับเปรยว่า พวกเราอาจเป็นกรรมการศูนย์นิสิตฯ ชุดสุดท้าย!…

ผมเองก็คิดไม่ต่างจากสุธรรม

ว่าที่จริงแล้ว ด้วยประสบการณ์การเคลื่อนไหวของผมที่เห็นความรุนแรงที่ฝ่ายขวาได้เปิดการตอบโต้ตั้งแต่กลางปี 2518 ต่อเนื่องเข้าปี 2519 นั้น ทำให้ประเมินได้ไม่ยากว่า ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดากลุ่มปีกขวาที่กำลังมีความกลัวเพิ่มขึ้น

สุดท้ายแล้วคงต้องตัดสินใจที่จะ “ปิดเกม” เพื่อยุติความกลัวนี้

แต่ปัญหาที่ไม่มีใครตอบได้จริงคือ ปัจจัยอะไรที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการยุติบทบาททางการเมืองของขบวนนักศึกษา และปัจจัยนี้จะถูกนำมาใช้เมื่อใด

ว่าที่จริงแล้ว พวกเราที่เป็นกรรมการศูนย์พอจะรับรู้อนาคตในเรื่องนี้ เพราะกระแสขวาจากกลางปี 2518 มีลักษณะเอียงไปเป็น “ขวาจัดรุนแรง” มากขึ้น ภายใต้แนวคิด “ขวาพิฆาตซ้าย” อันเป็นการใช้กำลังในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม และเชื่อว่ากำลังเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับการขยายตัวของกิจกรรมนักศึกษา

ซึ่งมีนัยว่าการต่อต้านนักศึกษาอยู่ภายใต้แนวคิด “การทหารนำการเมือง” ด้วย

 

สัญญาณความรุนแรง

สัญญาณการเมืองของการเปิดเกมรุกของฝ่ายขวาเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2519 ด้วยการนำจอมพลประภาส จารุเสถียร กลับประเทศไทย แต่ศูนย์นิสิตฯ ได้เปิดการประท้วงใหญ่ กดดันจนรัฐบาลต้องนำตัวจอมพลประภาสกลับออกไป

แม้เราจะดีใจในชัยชนะครั้งนี้ แต่หากมองย้อนกลับไปแล้ว ผมเริ่มรู้สึกในหลักคิดทางทหารว่า การกลับมาของจอมพลประภาสคือการ “ทดสอบพลัง” เพื่อการตรวจสอบกำลังของฝ่ายตรงข้าม

แม้ฝ่ายขวายอมถอย แต่กลับเปิดเกมใหม่อีกครั้งในเดือนกันยายน 2519 ครั้งนี้เป็นการนำจอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศไทยด้วยการบวช อันเป็นการลดแรงเสียดทานจากสังคมพุทธ เพราะอดีตผู้นำทหารอยู่ในสมณเพศ

ซึ่งหากศูนย์นิสิตฯ จัดการต่อต้านในแบบเดิมก็อาจจะเป็นเสมือนการ “ไม่เคารพพระ” และอาจมีการปลุกกระแสให้ต่อต้านพวกเราได้ง่าย เพราะแม้จะเป็นการประท้วงผู้นำทหารของยุค 14 ตุลาฯ แต่วันนี้เขาเป็นสมณะ

ต้องยอมรับว่าฝ่ายขวาที่คิดแผนนี้มีความแยบยลที่อาศัย “ศาสนานำการเมือง” มาเป็นเครื่องมือในการสร้างเกมการเมือง

ในวันที่จอมพลถนอมกลับมาและเดินทางไปวัดบวรนิเวศฯ นั้น พวกเราประชุมศูนย์นิสิตฯ อยู่ที่ตึกจักรพงษ์ ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.) โดยมีกลุ่มและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมพูดคุย เพื่อเตรียมการจัดงาน 14 ตุลาฯ ของปี 2519 (ซึ่งสุดท้ายแล้ว เป็นงานที่เตรียม แต่ไม่ได้จัด!) และมีพี่จากหนังสือพิมพ์โทร.มาบอกข่าวแก่พวกเรา อันทำให้ประเด็นการคุยเปลี่ยนไปสู่การเตรียมจัดประท้วงต่อต้านจอมพลถนอม

เพื่อให้เกิดความชัดเจน ผมกับเพื่อนจึงถูกส่งไป “สำรวจสถานการณ์” ที่วัดบวรฯ

ต้องยอมรับว่าเป็นการไปด้วยความไร้เดียงสาอย่างยิ่ง ที่ไม่ตระหนักเลยว่า รอบวัดบวรฯ มีการวางกำลังของกลุ่มกระทิงแดงเพื่อทำหน้าที่รักษาการโดยรอบ

ดังนั้น เมื่อผมลงจากรถและเดินคนเดียวอยู่หน้าวัดสักระยะหนึ่ง จำได้ดีว่า มีมือมาคว้าตัวผมและจับเอาผมเข้าไปในรถของผู้สื่อข่าว “ไทยรัฐ” และพี่เขาชี้ให้ผมเห็นว่ามี “กลุ่มกระทิงแดง” อยู่หน้าวัดเต็มไปหมด

ผมรำลึกถึงพี่ท่านนี้ด้วยความขอบคุณเสมอ… จำไม่ลืมเลยว่า ถ้าพี่เขาไม่จับเอาผมเข้ารถ และปล่อยให้ผมเดินไปด้วยความไม่ประสีประสาแล้ว ผมได้เป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก่อนวันที่ 6 ตุลาฯ แน่นอน

ในช่วงเวลาเช่นนี้ ฝ่ายขวาจัดยังไม่มีอินเตอร์เน็ตและโซเชียล พวกเขาจึงต้องพึ่งเครื่องมือของการปลุกระดมแบบเก่าคือ วิทยุ ดังนั้น สถานีวิทยุยานเกราะจึงเปิดการปลุกกระแสขวาจัดอย่างหนัก จนสถานีวิทยุนี้เป็นดัง “ศูนย์สั่งการ” ที่คุมทิศทางการเคลื่อนไหว

ซึ่งหากมองย้อนกลับไป เห็นได้ชัดว่า ขบวนนักศึกษาไม่มีขีดความสามารถในการ “ตอบโต้ทางข่าวสาร” ได้เลย แตกต่างกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่มีเครื่องมือและระบบสื่อสารที่สามารถตอบโต้กับฝ่ายขวาจัดได้อย่างทันท่วงที

ฝ่ายขวาจัดมักได้รับความสนับสนุนจากกลไกรัฐเสมอ จนอาจกล่าวได้ว่าสถานีวิทยุยานเกราะแสดงตนเป็น “ผู้นำทางความคิด” ให้แก่กลุ่มขวาจัด และไม่นำพากับนโยบายของรัฐบาล

สถานีทหารนี้จึงเป็นดัง “รัฐซ้อนรัฐ” อย่างชัดเจน และไม่เกรงว่าการปลุกระดมอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้าง “วาทกรรมของความเกลียดชัง” ของสถานีจะก่อให้เกิดผลในทางการเมืองเช่นไรในอนาคต

ในการนี้ ศูนย์นิสิตฯ มีการส่งตัวแทนเข้าพบรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการนำจอมพลถนอมออกนอกประเทศ

แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง อำนาจถูกดึงไปไว้ในมือของผู้นำทหารและกลุ่มขวาจัด

รัฐบาลในขณะนั้นมีความแตกแยกอย่างมาก โดยกลุ่มปีกขวาในรัฐบาลพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งรัฐบาลไม่ให้ตอบรับกับแรงกดดันในการผลักดันจอมพลถนอมออก

ในอีกด้าน ทางฝ่ายนิสิตนักศึกษาจัดประชุมเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหวที่จุฬาฯ ในวันที่ 21 กันยายน โดยมีข้อสรุปให้มีการออกไปชี้แจงกับพี่น้องประชาชนในรูปแบบของ “การเคาะประตู”

และในวันถัดมา ศูนย์นิสิตฯ ร่วมกับกลุ่มและองค์กรต่างๆ ได้จัดการชุมนุมข้างหอประชุมจุฬาฯ ผมจำได้อย่างดีว่ามีคนเข้าร่วมการชุมนุมกับพวกเราเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะพอทำให้พวกเราอุ่นใจได้บ้าง

แต่ก็รู้ดีจากคำแถลงที่ผ่านสถานีวิทยุยานเกราะว่า กระแสขวาจัดกำลัง “เชี่ยวกราก” และดูเหมือนพวกเขาน่าจะพร้อมแล้วที่จะใช้ความรุนแรงในการตอบโต้

การจัดเวทีที่จุฬาฯ ครั้งนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกของพื้นที่ทาง “ภูมิรัฐศาสตร์ของการประท้วง” เพราะปกติแล้ว พื้นที่หลักของการชุมนุมจะอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือสนามหลวง

ว่าที่จริงแล้ว การจัดที่จุฬาฯ ครั้งนี้ ยังมีเหตุผลอีกประการที่ศูนย์นิสิตฯ อาจจะต้องเตรียมหาพื้นที่การชุมนุมใหม่สำหรับอนาคต

ซึ่งการชุมนุมเช่นนี้ได้สร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของจุฬาฯ เป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าเราตัดสินใจจะจัดชุมนุมใหญ่แล้ว เงื่อนไขที่ตั้งของจุฬาฯ จะตอบโจทย์ได้จริงเพียงใด

 

ก่อนพายุพัด

ในปี 2519 เราเริ่มต้นปีด้วยชัยชนะของพรรคนิสิตนักศึกษาในการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวเรื่องฐานทัพในเดือนมีนาคม การเคลื่อนไหวต่อต้านการกลับมาของจอมพลประภาสในเดือนสิงหาคม การต่อต้านการมาของจอมพลถนอมในเดือนกันยายน… พวกเราผ่านสถานการณ์การเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่ต้นปี และอดคิดในใจไม่ได้ว่า พวกเขาจะยอมปล่อยให้การเคลื่อนไหวของศูนย์นิสิตฯ ดำเนินต่อไปได้อีกนานเท่าใด

พร้อมกันนี้เริ่มมีพี่รู้จักสนิทคุ้นเคยจากการทำกิจกรรมนักศึกษาด้วยกัน หายหน้าหายตาไปจากเมืองพร้อมกับ “คำบอกลา” ที่เชื่อว่า การกวาดล้างใหญ่คงจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนัก โดยเฉพาะสัญญาณจากกระแสขวาจัดปรากฏชัดขึ้นจากการปลุกระดมอย่างหนักทั้งโดยวิทยุและหนังสือพิมพ์

แต่สำหรับพวกเราที่เป็นกรรมการ ศนท. เรายังมีภาระหน้าที่ในการคุมการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษา และรับรู้จากสถานการณ์ว่า ความ “เสี่ยง” จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ขบวนเผชิญกับการตอบโต้ด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนพอที่จะคาดเดาจากการปลุกระดมของ “กระแสยานเกราะ” ได้ไม่ยากว่า ฝ่ายขวาจัดมีความมั่นใจในการตอบโต้มากขึ้น และปีกขวาในคณะรัฐมนตรีทำให้รัฐบาลกลายเป็น “อัมพาต” จนหมดความสามารถในการควบคุมสถานการณ์

คำตอบเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า “นับจากนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้!”

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือเกมที่ซ่อนไว้อยู่เบื้องหลังการนำจอมพลถนอมกลับมา แต่พอจะคาดเดาได้ว่า การกลับมาของจอมพลถนอมคือ จุดเริ่มต้นของ “พายุใหญ่” ทางการเมืองอย่างแน่นอน!