เกิดอะไรขึ้นกับ ‘เอเวอร์แกรนด์’ บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ของจีน

บริษัทเอเวอร์แกรนด์ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับ “ยักษ์” ของจีน กลายเป็นข่าวใหญ่ในโลกตลาดการเงินการลงทุนในช่วงกลางเดือนกันยายน 2021

เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนแห่งนี้ถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างฟิตซ์ และมูดีส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง

ตามมาด้วยข่าวแพร่สะพัดว่า บริษัทเอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินล้นพ้นตัวถึง 305,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นับเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก และอาจจะผิดนัดชำระหนี้จนถึงขั้นต้องล้มละลายลง

ข่าวลักษณะนี้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนจนหุ้นของ “เอเวอร์แกรนด์” ร่วงดิ่งลงในทันที จนราคาหุ้นของบริษัทลดลงแล้วเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าราคาพาร์เมื่อจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2009 แล้วอีกด้วย

กระแสข่าวนี้ส่งผลให้บรรดานักลงทุน บริษัทรับจ้างเหมา ซัพพลายเออร์ ผู้ถือพันธบัตร รวมไปถึงคนที่จ่ายเงินซื้อบ้านในโครงการที่ต้องยุติลงไปแล้ว มารวมตัวกันประท้วงการบริหารงานของบริษัทที่อาคารสำนักงานใหญ่ในเมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2021

นอกเหนือจากนั้นยังส่งผลให้เกิดความกังวลว่า หากเอเวอร์แกรนด์ต้องล้มละลายลงจะส่งผลกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นวงกว้างด้วยหรือไม่

 

สําหรับ “บริษัทเอเวอร์แกรนด์” ก่อตั้งเมื่อปี 1996 และอาศัยกระแสอสังหาริมทรัพย์บูมในจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนเมื่อปี 2018 กลายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

นายสวี่เจียยิ่น ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลายเป็น 1 ใน 3 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีน บริษัทอาศัยเงินกู้ขยายกิจการอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน เอเวอร์แกรนด์มีโครงการก่อสร้างอยู่มากกว่า 1,300 โครงการ ใน 280 เมืองทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่พักอาศัย

นอกเหนือจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง “เอเวอร์แกรนด์ นิว เอเนอร์ยี ออโต้” บริษัทด้านอินเตอร์เน็ตและการผลิตสื่ออย่าง “เฮงเท็น เน็ตเวิร์ก” มีการลงทุนสร้างสวนสนุก “เอเวอร์แกรนด์ แฟรีแลนด์” สโมสรฟุตบอล “กว่างโจว เอฟ.ซี.” หรือชื่อเดิมคือ “กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์” รวมถึงบริษัทน้ำแร่และอาหารอย่าง “เอเวอร์แกรนด์สปริง” เป็นต้น

เอเวอร์แกรนด์มีพนักงานจำนวนมากถึง 200,000 คน และมีทรัพย์สินมูลค่ารวมถึง 2.3 ล้านล้านหยวน หรือราว 11.8 ล้านล้านบาท

ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์เริ่มต้นมาจากการพึ่งพาเงินกู้เพื่อขยายธุรกิจ แนวทางซึ่งส่งผลให้สวี่เจียยิ่น ได้ฉายาว่า “ราชาเงินกู้” เช่นเดียวกับ “เจ้าพ่ออสังหาฯ” และกลายเป็น “คนรวยที่สุด” ในประเทศจีนในช่วงเวลาหนึ่ง แน่นอนว่ากลยุทธ์ธุรกิจลักษณะนี้ถูกมองว่าเป็นธรุกิจที่มีรากฐานไม่มั่นคงนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนออกนโยบายควบคุมหนี้สินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 เป็นเงื่อนไขด้านหนี้สิน 3 ข้อที่บริษัทจะต้องบรรลุหากต้องการที่จะกู้เงินเพิ่ม

อีกสาเหตุก็คือความต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในจีน ส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัทเอเวอร์แกรนด์

บริษัทเอเวอร์แกรนด์เกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับสภาพคล่องที่กระทบความเชื่อมั่นกับนักลงทุนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี 2020 เมื่อมีรายงานข่าวว่า เอเวอร์แกรนด์ส่งจดหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง เตือนว่ากำหนดชำระหนี้ในเดือนมกราคม 2021 ของบริษัทอาจทำให้เกิดวิกฤตสภาพคล่อง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในภาคการเงินเป็นวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม เอเวอร์แกรนด์หลีกเลี่ยงวิกฤตดังกล่าวไปได้เมื่อสามารถโน้มน้าวให้เจ้าหนี้พักหนี้มูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกไปได้

ในเดือนเดียวกันนั้นเอง เอเวอร์แกรนด์ออกโปรโมชั่น “ลดราคา” อสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศในทันที 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย และลดหนี้ลงครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

นอกจากนี้ ยังเปิดขายหุ้นไอพีโอ บริษัทบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหุ้นฮ่องกง คิดเป็นมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือนธันวาคม 2020

และยังขายหุ้นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าออกไปเป็นเงิน 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามทั้งหมดที่ว่ามานั้นกลับไม่เป็นผล

 

ในแถลงการณ์ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์อีกฉบับถึงตลาดหุ้นฮ่องกง หลังเกิดกระแสข่าว “ความเสี่ยงล้มละลาย” ยืนยันว่า บริษัทจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ เพื่อบรรเทาวิกฤตทางการเงินของบริษัท

และก็เตือนด้วยว่า บริษัทไม่รับประกันว่าจะสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันทางการเงินได้หรือไม่

เอเวอร์แกรนด์ตำหนิสื่อที่รายงานข่าวเชิงลบอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายในเดือนกันยายน ส่งผลต่อสภาพคล่องของบริษัท และยอมรับว่า แม้จะทำโปรโมชั่นลดกระหน่ำ และขายสินทรัพย์ออกไป บริษัทยังคงกำไรลดลง 29% ในช่วงครึ่งปีแรก

วิกฤตทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์ในครั้งนี้ถูกมองว่า หากบริษัทล้มละลายลง จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเนื่องไปยังลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว

ยิ่งกว่านั้นจะกระทบกับบริษัทผู้รับเหมางานออกแบบ ก่อสร้าง กระทบต่อไปยังบริษัทขายวัสดุ ที่อาจขาดทุนมหาศาลและล้มละลายลงไปเป็นทอดๆ

นอกจากนี้ จะส่งผลกระทบอย่างหนักกับระบบการเงินของจีน เหตุผลเพราะเอเวอร์แกรนด์มีหนี้กับธนาคารในประเทศถึง 171 แห่ง และบริษัททางการเงินอื่นๆ อีก 121 แห่ง หากเอเวอร์แกรนด์ผิดนัดชำระหนี้ อาจจะทำให้สถาบันเกิดปรากฏการณ์ “เครดิต ครันช์” หรือสินเชื่อตึงตัว หมายถึงบริษัทต่างๆ ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่จะจ่ายได้ ขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งอาจล้มลงตามไปด้วยก็เป็นได้

หลังจากนี้คงต้องจับตามองกันว่า รัฐบาลจีนจะเข้ามาช่วยอุ้มบริษัทเอเวอร์แกรนด์เอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานในประเทศ หรือรัฐบาลจีนจะปล่อยให้เอเวอร์แกรนด์ล้มละลายไปเพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง ตามนโยบายของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนที่ต้องการคุมหนี้บริษัทขนาดใหญ่ เปลี่ยนจากการเน้น “ทุนนิยม” ไปเป็นการสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนแทน

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานว่า “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” ได้ยื่นขอความคุ้มครองการล้มละลายกับศาลนิวยอร์กในวันที่ 17 สิงหาคม 2023 ตามเวลาท้องถิ่น ภายใต้หมวดที่ 15 ที่เป็นการปกป้องทรัพย์สินในสหรัฐของบริษัทต่างชาติขณะกำลังทำการปรับโครงสร้างหนี้

การยื่นล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์มีขึ้นหลังจากที่ปัญหาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนได้สร้างความวิตกกังวลในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกลดลง และการว่างงานของคนรุ่นหนุ่มสาวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางการดำเนินนโยบายปิดล้อมจีนอย่างหนักของชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ