เขย่าสนาม : รอยยิ้มในพาราลิมปิก แลกมากับน้ำตาของเจ้าภาพ

เขย่าสนาม

จริงตนาการ / [email protected]

 

 

รอยยิ้มในพาราลิมปิก

แลกมากับน้ำตาของเจ้าภาพ

 

พาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้ว

ทัพนักกีฬาคนพิการไทยคว้าไปได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง รวม 18 เหรียญรางวัล จบการแข่งขันอันดับที่ 25 และเป็นอันดับที่ 6 ของทวีปเอเชีย รองจากจีน (เจ้าเหรียญทอง), ญี่ปุ่น, อิหร่าน, อุซเบกิสถาน และอินเดีย

โดยทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย ยังครองเบอร์ 1 ของอาเซียนเหนือกว่ามาเลเซีย ที่จบอันดับ 39 ทำไป 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน

พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง คว้าคนเดียว 3 เหรียญทอง จากระยะ 100, 400, 800 เมตร คลาสที 53 เป็นนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

อีก 2 เหรียญทองมาจาก อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตร ที 54 และบอคเซียทีม บีซี 1-2 วิษณุ ฮวดประดิษฐ์, สุบิน ทิพย์มะนี, วัชรพล วงษา, วรวุฒิ แสงอำภา

สำหรับเหรียญทองของบอคเซีย เป็นการคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน และเป็นชาติแรกในโลกที่ทำได้

5 เหรียญเงินจาก อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร ที 54, ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร ที 54, พรโชค ลาภเย็น บอคเซีย บุคคล บีซี 4, วัชรพล วงษา บอคเซีย บุคคล บีซี 2, สุจิรัตน์ ปุกคำ แบดมินตัน หญิงเดี่ยว คลาสดับเบิลยูเอช 1

8 เหรียญทองแดง สายสุนีย์ จ๊ะนะ วีลแชร์ฟันดาบ เอเป้ คลาสบี, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เทเบิลเทนนิส บุคคลชาย คลาส 6, ภูธเรศ คงรักษ์ วีลแชร์เรซซิ่ง 5,000 เมตร ที 54, วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร ที 54, อนุรักษ์ ลาววงษ์, ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น, ถิรายุ เชื้อวงษ์ จากเทเบิลเทนนิส ทีมชาย คลาส 3, ขวัญสุดา พวงกิจจา เทควันโด คลาส เค 44 น้ำหนักไม่เกิน 49 ก.ก.หญิง, สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร ที 54, สุจิรัตน์ ปุกคำ-อำนวย เวชวิฐาน แบดมินตัน หญิงคู่ คลาสดับเบิลยูเอช

ทัพนักกีฬาไทยรับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย รวมทั้งสิ้น 114.6 ล้านบาท

 

ถ้าพิจารณาจากจำนวนเหรียญรวม ถือว่าไทยทำเหรียญได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์พาราลิมปิก ที่ 18 เหรียญ เท่ากับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ประเทศบราซิล แต่ครั้งก่อนได้มาถึง 6 เหรียญทอง ทำให้ผลงานก็ยังเป็นรองอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม นับเป็นการรักษามาตรฐานที่ดีเอาไว้ได้ และเหลือเวลาอีก 2 ปีกว่าๆ ในการเตรียมตัวเพื่อไปสร้างความสำเร็จครั้งใหม่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เสียงเชียร์และกำลังใจจากพี่น้องประชาชนคนไทย ที่ทำให้นักกีฬาพาราไทยต่อสู้ทำผลงานได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะเป็นการแข่งขันที่ไม่มีผู้ชมในสนามก็ตาม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะเหรียญรางวัลที่เราทำได้ 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง แต่จริงๆ ก็อยากแสดงความชื่นชมและขอบคุณนักกีฬาทุกๆ คนที่สร้างผลงาน พยายามและตั้งใจกันอย่างเต็มที่

“ปัจจัยหลักของการแข่งขันกีฬาคนพิการไม่ใช่แค่การสร้างผลงานสู่ความเป็นเลิศ มากกว่านั้นคือ การมีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาในฐานะที่เป็นผู้พิการ และก็ทำให้สังคมได้เห็นถึงความสามารถของตัวเองแม้จะมีข้อจำกัดทางร่างกาย นักกีฬาของไทยเราไม่เป็นรองใคร สิ่งที่ตนชื่นชมนักกีฬาทุกครั้งคือ เรื่องของหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ นักกีฬาเรามีหัวใจของนักสู้ ตั้งแต่การเก็บตัวฝึกซ้อมก่อนหน้านี้ ความพยายามที่จะพัฒนาตัวเอง ตลอดจนความพยายามในสนามแข่งขัน ที่จะทำให้ดีที่สุด เพื่อที่จะนำความสุขมาสู่พี่น้องประชาชนคนไทย”

ประธานพาราลิมปิกไทยกล่าว

 

พาราลิมปิกหนนี้นักกีฬาทุกคนอยู่ภายใต้สภาวะของความกดดัน เพราะการเลื่อนแข่งขัน 1 ปี จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่วงเวลาสุญญากาศตรงนั้น ทุกคนต่างลุ้นกันว่าแรงกายแรงใจที่ทุ่มเทมาตลอด 4 ปี จะได้ใช้ให้คุ้มค่าหรือไม่ เพราะมีโอกาสที่การแข่งขันจะต้องถูกยกเลิกไป

ขณะที่เจ้าภาพเองก็เจอแรงกดดันจากทุกด้าน ตั้งแต่การประกาศเลื่อน การถอนตัวของอาสาสมัครที่กังวลว่าการปฏิบัติงานจะทำให้เสี่ยงกับการติดเชื้อ แรงต่อต้านจากประชาชนที่มองว่าการจัดโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะทำให้สถานการณ์ของญี่ปุ่นแย่ลงกว่าเดิมในเรื่องผู้ติดเชื้อ ระบบทางการแพทย์จะล่มสลาย เพราะผู้ติดเชื้อมีมากเกินไป

สุดท้ายทุกอย่างจบลงแบบไม่มีปัญหาใหญ่โต แต่ก็ทิ้งรอยน้ำตาให้กับญี่ปุ่นไว้มากทีเดียว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นหลังจบโอลิมปิก และหลังจากพาราลิมปิกปิดฉากไป จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง

 

โยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ทำงานในตำแหน่งนี้มาเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อรับผิดชอบกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าจะไม่ลงชิงชัยในการเฟ้นหาตัวผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) คนใหม่ซึ่งจะมีขึ้นในปลายเดือนกันยายนนี้

ในเรื่องของเศรษฐกิจก็ไม่ได้รับผลดีจากการจัดการแข่งขันอย่างที่คิด ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ในเรื่องของการหารายได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปในช่วงนั้น

เซโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวในพิธีปิดพาราลิมปิกว่า การเดินทางที่แสนยาวนานได้มาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เป็นความรู้สึกที่ดีที่ได้เห็นรอยยิ้มจากทุกสนาม และจะใช้ความสำเร็จครั้งนี้ในการฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ที่ได้เสียหายไป

เป็นกำลังใจให้ญี่ปุ่นและทั่วโลก หายป่วยไวๆ กลับมาแข็งแรงให้เร็วที่สุด