เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (เทคนิควิธีสอน)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (16) บทที่ 7 : เทคนิควิธีสอน

เมื่อรู้ว่าหลักการสอนทั่วไปคืออะไร วิธีสอนมีกี่อย่างแล้ว ก็ควรจะรู้ว่าเทคนิควิธีการสอน มีอย่างไรบ้าง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีเทคนิควิธีสอนหลากหลาย

ขอยกมาสาธยายตามลำดับต่อไปนี้

1. ทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรม หรือทำของยากให้ง่าย ธรรมะเป็นเรื่องนามธรรมที่มีเนื้อหาสาระลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ ยิ่งเป็นธรรมะระดับสูงสุด ก็ยิ่งลึกล้ำคัมภีรภาพยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้แลในเบื้องต้น พระพุทธองค์จึงทรงมีความลังเลที่จะตรัสสอนธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แก่สัตว์โลกผู้ยังตกอยู่ในวังวนแห่งกามคุณ

แต่ด้วยพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง ด้วยความสามารถพิเศษในการสั่งสอนธรรม พระองค์จึงเสด็จออกไปโปรดเวไนยสัตว์

เริ่มด้วยเสด็จไปเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์เป็นเบื้องแรก และทรงบำเพ็ญพุทธกิจทั้ง 5 ประการ (ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องสั่งสอนประชาชน) โดยมิทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ตลอดพระชนม์ชีพ

ความสำเร็จแห่งภารกิจการสั่งสอนประชาชนส่วนหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงใช้เทคนิควิธี การทำของยากให้ง่าย

ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้คือ

ก.ใช้อุปมาอุปไมย วิธีนี้เป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อยที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะทำให้ผู้ฟังมองเห็นภาพและเข้าใจง่าย โดยไม่ต้องเสียเวลาอธิบายความให้ยืดยาว

อุปมาอุปไมยในพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาเปรียบเทียบให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมมีมากมาย ล้วนแต่ “คำคม” ทั้งนั้น

ขอยกตัวอย่างให้ดูสัก 2-3 เรื่องดังต่อไปนี้

1) เรื่องที่หนึ่ง เมื่อมีผู้มาถามปัญหาเชิงอภิปรัชญา เช่น พระอรหันต์ตายแล้วยังคงอยู่หรือไม่ เป็นต้น

พระองค์ไม่ทรงตอบ

เมื่อผู้ถามรุกว่า ถ้าไม่ตอบให้หายข้องใจจะหนีไปนับถือลัทธิศาสนาอื่น

พระองค์ทรงยกอุปมาอุปไมยมาเล่าว่า สมมติว่านายคนหนึ่งถูกเขายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ญาติพี่น้องหามไปหาหมอ หมอเตรียมจะถอนลูกศรและใส่ยาสมานแผลให้

นายคนนั้นยกมือห้ามว่า อย่าเพิ่งถอนลูกศรออก ข้าพเจ้าอยากรู้ว่าใครยิงข้าพเจ้า ชื่อโคตรอะไร บ้านอยู่ที่ใด มันโกรธแค้นข้าพเจ้าด้วยเรื่องอะไร ลูกศรที่ยิงมันได้มาจากไหน ทำเองหรือซื้อเขามา ซื้อมาด้วยราคาเท่าไร ขนนกที่ติดปลายลูกศรนี้เป็นขนนกตะกรุมหรือนกแร้ง

จนกว่าข้าพเจ้าจะรู้รายละเอียดทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงจะให้ถอนลูกศรนี้ออก

เมื่อทรงเล่าอย่างนี้แล้ว จึงตรัสถามคนคนนั้น (ความจริงเป็นภิกษุชื่อ มาลุงกยบุตร) ว่า เธอคิดอย่างไร บุรุษนั้นฉลาด หรือโง่

เขากราบทูลว่าโง่

ตรัสถามว่าโง่อย่างไร

เขากราบทูลว่า ทำไมไม่ให้หมอถอนลูกศรรักษาแผลให้หายก่อน แล้วค่อยไปถามรายละเอียดต่างๆ เหล่านั้นภายหลัง ถ้าไม่อย่างนั้นเขาอาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะรู้เรื่องราวทั้งหมดก็ได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า เช่นเดียวกันนั้นแล มีเรื่องราวมากมายในโลกนี้ที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ เพราะรู้ไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น คือไม่ทำให้กิเลสหมดไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องรู้ ควรรีบเร่งสนใจในสิ่งที่จำเป็นเฉพาะหน้ามากกว่า สิ่งที่จำเป็นเฉพาะหน้าที่พึงรู้และรีบกระทำก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำทุกข์ให้หมดไปได้

ข้อเปรียบเทียบนี้แจ้งจางปางไหมครับ

2) เรื่องที่สอง ทรงสอนเด็ก 7-8 ขวบ คือ สามเณรน้อยราหุล พระพุทธองค์ทรงเทน้ำล้างพระบาท ทรงเหลือน้ำไว้หน่อยหนึ่ง แล้วตรัสถามราหุลว่า “ราหุล” เห็นน้ำที่เราเหลือไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่งไหม ราหุลกราบทูลว่า “เห็นพระเจ้าข้า”

“ดูก่อนราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ มีคุณงามความดีเหลืออยู่น้อย ดุจน้ำในภาชนะนี้แหละ ตรัสแล้วจึงทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นทิ้ง แล้วตรัสถามว่า

“ราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเททิ้งไหม”

“เห็น พระเจ้าข้า”

“เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมเทคุณงามความดีที่มีอยู่ออกไปหมด ดุจน้ำที่เทจากภาชนะจนหมดนี้”

เสร็จแล้วพระองค์ทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสถามว่า “ราหุล เธอเห็นภาชนะที่เราคว่ำลงนี้ไหม”

“เห็น พระเจ้าข้า” ราหุลน้อยกราบทูล

“เช่นเดียวกันนั่นแหละ ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ย่อมไม่มีความดีงามอะไรเหลืออยู่เลย ความเป็นสมณะของผู้นั้นเป็นอัน “คว่ำแล้ว” ดุจภาชนะที่คว่ำนี้ไม่มีน้ำเหลืออยู่แม้แต่หยดเดียว”

เนื่องจากทรงสอนเด็ก การเปรียบเทียบจึงทรงทำเป็นขั้น เป็นตอน เพื่อให้เด็กเข้าใจได้คือ ทรงเทน้ำแล้วเหลือไว้ในขันหน่อยหนึ่ง เทน้ำหน่อยหนึ่งนั้นทิ้ง คว่ำขันลงแล้วทรงเปรียบเทียบกับการพูดเท็จทั้งที่รู้ในทุกขั้นตอนที่ทรงทำให้ดู

3) เรื่องที่สาม ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย แมลงเอฬกะ (หนอนรันขี้ หรือภาษาอีสานว่า กุดจี่) กินขี้วัว ขี้ควายเต็มท้อง มีขี้วัวขี้ควายกองใหญ่อยู่ข้างหน้ามันคุยอวดหนอนรันขี้ตัวอื่นว่า กูกินขี้เต็มท้องแล้วยังมีเหลืออยู่ข้างหน้ากูกองใหญ่อีกเห็นไหม

ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูป ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลาภสักการะ และชื่อเสียงไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารมาเต็มบาตร ฉันแล้วกลับวัด (สมัยพุทธกาล พระได้อาหารพอฉันแล้วก็หาทำเลที่เหมาะนั่งฉันเสร็จจึงกลับวัด) คุยอวดภิกษุอื่นว่า ผมได้อาหารพอแก่ความต้องการแล้ว วันนี้ทายกยังนิมนต์ผมเพื่อไปฉันในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย แถมยังได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และยารักษาโรคอีกเป็นอันมากด้วย (สมัยนี้น่าเพิ่มรถเบนซ์ด้วยกระมังหวา)

ภิกษุนั้นตกอยู่ในอำนาจของลาภสักการะและชื่อเสียงย่อมดูหมิ่นภิกษุผู้ทรงศีลอื่นๆว่ามีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ร่ำรวยปัจจัยสี่เหมือนตน ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายเพื่อความทุกข์แก่ภิกษุนั้น ตลอดกาลนาน

ชาวกรุงไม่เคยเห็นหนอนรันขี้ หรือกุดจี่อาจไม่เห็นภาพ แต่ถ้าเป็นลูกบ้านนอกอย่างผม อ่านข้อความนี้แล้วมันแจ้งจางปาง ไร้ความสงสัยใดๆ พระพุทธองค์ช่างเข้าใจเปรียบเทียบได้เจ็บแสบดีแท้

“หลวงเสี่ย” ทั้งหลายอ่านแล้วรู้สึกเป็นยังไงบ้าง ก็ช่วยบอกด้วยก็แล้วกัน

ข.ยกนิทานประกอบ นี่ก็เป็นเทคนิค หรือกลวิธีหนึ่งที่ทรงใช้บ่อย ขอยกมาเล่าสัก 2 เรื่องคงพอนะครับ

1) เรื่องที่หนึ่ง เดิมผมคิดว่าเป็นนิทานอีสป ที่ไหนได้มีอยู่ในพระไตรปิฎกนี้เองพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องสมณพราหมณ์ทั้งหลายทะเลาะกัน ยึดความคิดเห็นของตนเท่านั้นถูก ของคนอื่นผิดหมด

พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่รู้เห็นอะไรเพียงแง่มุมเดียว ไม่แคล้วจะต้องทะเลาะกัน ดุจตาบอดคลำช้าง

แล้วทรงเล่านิทานให้ฟังว่า พระราชาองค์หนึ่งรับสั่งให้นำช้างมาให้คนตาบอด 9 คนดู ดูแล้วให้บอกว่าช้างเป็นอย่างไร

คนหนึ่งคลำศีรษะช้าง แล้วก็บอกว่าช้างเหมือนหม้อน้ำ

อีกคนหนึ่งคลำหูช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนกระด้ง

อีกคนหนึ่งคลำงาช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนผาล

อีกคนหนึ่งคลำงาช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนงอนไถ

อีกคนหนึ่งคลำลำตัวช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนฉาง

อีกคนหนึ่งคลำเท้าช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนเสาเรือน

อีกคนหนึ่งคลำหลังช้าง แล้วบอกว่าเหมือนครกตำข้าว

อีกคนคลำโคนหางช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนสาก

คนสุดท้ายคลำปลายหางช้าง แล้วบอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด

คนตาบอดเหล่านั้นต่างทุ่มเถียงกันว่า ช้างเป็นอย่างนี้ มิใช่อย่างนั้น (โว้ย) ต่อหน้าพระที่นั่ง

พระราชาทรงพระสรวลด้วยความขบขันเป็นอย่างยิ่ง

ข้อนี้ฉันใด อันเดียรถีย์และปริพาชก (ที่ไม่รู้จริง) ทั้งหลายเป็นดุจคนตาบอดไม่รู้ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรมและมิใช่ธรรม ต่างทะเลาะกัน ทิ่มแทงกันด้วย “หอกคือปาก”

นิทานเรื่องนี้สอนใครต่อใครได้ดีนักโดยเฉพาะพวก “นักวิชาการแสนรู้” ทั้งหลายอ่านแล้วคงสะอึก

2) เรื่องที่สอง พระพุทธองค์ทรงเห็นภิกษุสงฆ์สาวกพระองค์ ไม่เคารพกันตามลำดับอาวุโส ทรงต้องการจะสอนพวกเธอทางอ้อม จึงทรงเล่านิทานให้ฟังว่า

ณ กาลครั้งหนึ่ง มีสัตว์ 4 สหาย คือ ช้าง ลิง กระต่าย นกกระทา อยู่ด้วยกันในป่าแห่งหนึ่ง

อยู่มาวันหนึ่ง สี่สหายคิดว่า พวกเราอยู่โดยไม่เคารพผู้อาวุโสอย่างนี้ไม่ดี ควรที่จะแสดงคารวะต่อผู้อาวุโส เมื่อมีเสียงถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครอาวุโสที่สุด ก็มีผู้เสนอว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ใครเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่เมื่อใดใครเห็นก่อนก็ผู้นั้นแหละมีความอาวุโสสูงสุดเป็นที่เคารพของสหายอื่นๆ

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com

ช้างบอกว่า “ข้าเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่ข้าเป็นลูกช้างตัวเล็กๆ เวลาข้าเดินข้ามมันกิ่งไทรมันยังระสะดือข้าเลย ข้าต้องแก่กว่าพวกแกแน่ๆ”

“ข้าต่างหากเว้ยแก่กว่า” กระต่ายแย้ง “ข้าเห็นต้นไทรนี้มาตั้งแต่มันยังเป็นต้นเล็กๆ ตอนนั้นข้ายังเป็นลูกกระต่ายอยู่ ข้ายังกัดกินยอดมันเลย”

“อย่าคุยไปเลย ข้าต่างหากแก่กว่า ตอนข้ายังเป็นลูกลิง ข้ายังเด็ดยอดไทรต้นนี้เล่นจนแม่ข้าร้องห้ามเลย ถ้าแม่ไม่ห้าม ป่านนี้ไม่มีต้นไทรใหญ่ต้นนี้ดอก” สหายจ๋อกล่าว

นกกระทานั่งฟังอยู่นาน ในที่สุดก็เอ่ยอย่างขรึมๆ

“เพื่อนเอ๋ย เพื่อนรู้ไหมว่าต้นไทรเดิมทีมันไม่ได้อยู่ที่นี่”

“อยู่ที่ไหน” สหายทั้งสามถามขึ้นพร้อมกัน

“ห่างจากที่นี่ไปอีกสี่ห้าโยชน์ มีต้นไทรอยู่ต้นหนึ่ง ข้ากินผลต้นไทรนั้นแล้วบินผ่านมาทางนี้ พอดีข้าปวดอึข้าก็เลยอึมาตรงจุดนี้พอดี ต้นไทรต้นนี้เกิดขึ้นจากกองอึของข้านั่นเอง คิดกันเอาเองก็แล้วกันว่าข้าอายุเท่าไร (ให้มันรู้บ้างว่าไผเป็นไผ ว่าอย่างนั้นเถอะฮิฮิ)” นกกระทาหยอดท้าย

“โอ ถ้าอย่างนั้นสหายก็เกิดก่อนพวกเราแน่นอน สหายเป็นผู้ที่มีอาวุโสที่สุดในหมู่เรา” สามสหายร้องขึ้นพร้อมกัน

ตั้งแต่นั้นสัตว์ทั้งสามก็เคารพนบนอบนกกระทา และทั้งหมดก็อยู่ด้วยกันอย่างสมัครสมานสามัคคีกันจวบจนอายุขัย

เล่านิทานจบพระพุทธองค์ก็สรุปว่า แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานยังเคารพกันตามลำดับอาวุโส พวกเธอเป็นมนุษย์ก็ควรจะอยู่ด้วยกันด้วยคารวธรรม (ไม่อย่างนั้นอายสัตว์มัน)