นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ศึกเดียนเบียนฟู (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงประสบการณ์การรบเหนือระดับกองพันของกองทัพเวียดนามก่อนสมรภูมิเดียนเบียนฟูว่า ไม่มีหรือมีน้อย ทำให้ผมคิดว่าควรเปรียบเทียบกองทัพของชาติอื่นในอุษาคเนย์ เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เข้าใจสมรรถภาพของกองทัพเวียดนามได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในภายหลังที่เอาชนะกองทัพอเมริกันได้

จะว่าไป ทุกประเทศอุษาคเนย์ยกเว้นไทย ล้วนมีกองทัพสมัยใหม่อยู่สองกองทัพ หนึ่งคือกองทัพที่เจ้าอาณานิคมสร้างเอาไว้ เป็นกองทัพที่ไม่สู้จะใหญ่นัก เพราะภารกิจหลักมีเพียงใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน เพราะก่อนจะสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความมั่นคงของรัฐอาณานิคมในอุษาคเนย์ล้วนมาจากการทูต หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสิ้น ไม่มีทางที่เจ้าอาณานิคมจะรบกันเพื่อแย่งอาณานิคมอีกแล้ว กองทัพสมัยใหม่จึงถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่เพื่อป้องกันรัฐจากการคุกคามภายนอก

บุคลากรของกองทัพจึงเป็นชาวพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่เจ้าอาณานิคมไว้วางใจ เช่น ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (อินโดนีเซีย) ดัตช์เลือกเอาชาวอัมบน (Ambon) ซึ่งเป็นคริสเตียนมาเป็นทหาร มีชาวยุโรป (ไม่จำเป็นต้องเป็นดัตช์เสมอไปด้วย ชาวเยอรมันที่รับจ้างเป็นทหารก็อาจใช้ได้) เป็นนายทหาร อังกฤษเลือกกะเหรี่ยงคริสต์ที่ตัวไว้ใจ ฝึกเป็นทหารในกองทัพแบบใหม่ แน่นอนมีนายทหารอังกฤษเป็นผู้บังคับบัญชา ในอินโดจีน ฝรั่งเศสก็ทำอย่างเดียวกัน แต่กองทัพอาณานิคมประกอบด้วยทหารที่ฝรั่งเศสไว้วางใจ จากโมร็อกโกบ้าง แอลจีเรียบ้าง มีเวียดนามอยู่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารฝรั่งเศส คล้ายๆ กับกองทัพอาณานิคมในมลายาของอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่ของทหารเป็นชาวอินเดีย

กองทัพสมัยใหม่ของสยามก็สร้างขึ้นในแนวเดียวกับกองทัพอาณานิคมเช่นนี้ มีภารกิจอย่างเดียวกัน ภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาชั้นสูงสุดจากเจ้านาย ชั้นกลางๆ ก็จากนายทหารที่เป็นสามัญชน แต่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนจากโรงเรียนที่รัฐบาลสยามสร้างขึ้น

ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามกู้เอกราชขึ้นในอาณานิคมเหล่านี้ กองทัพอาณานิคมจึงไม่มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับนายฝรั่ง ซ้ำร้ายอาจถูกนายฝรั่งใช้ให้ยกกำลังไปปราบปรามด้วยซ้ำ (ในพม่า, อินโดนีเซีย และอินโดจีน) กองกำลังที่นักปฏิวัติกู้เอกราชจะใช้ในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม จึงล้วนเป็นกำลังที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ และจะกลายเป็นฐานของกองทัพแห่งชาติในเวลาต่อมา

กองกำลังเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกองกำลังขนาดย่อยในพื้นถิ่น บางส่วนเกิดขึ้นจากการต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างสงคราม ฉะนั้น จะเรียกว่า “กองทัพ” ก็ยาก เพราะไม่ได้มีสายบังคับบัญชาที่เป็นเอกภาพ รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อขับไล่เจ้าอาณานิคมออกไป (โดยสำนึก ก็ขับไล่จากพื้นถิ่นมากกว่าจากชาติ)

การต่อสู้กับนายฝรั่งในระยะแรกย่อมหนีไม่พ้นว่าต้องทำสงครามแบบกองโจร เพราะไม่มีสมรรถภาพจะทำได้มากกว่านั้น ซุ่มกำลังเข้าโจมตีจุดอ่อนของเจ้าอาณานิคม อย่างไม่ต้องประสานการรบเข้าด้วยกันนัก เพราะเหตุดังนั้น ประสบการณ์การรบของกองทัพกู้ชาติจึงมีไม่เกินระดับกองพัน

ดังนั้น กองทัพแห่งชาติของประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์ จึงตัดขาดจากกองทัพอาณานิคมอย่างเด็ดขาด ยกเว้นแต่กองทัพสยามเท่านั้น ที่สืบเนื่องอย่างไม่ขาดตอนจากกองทัพที่สร้างเลียนแบบกองทัพอาณานิคมขึ้นในช่วงสมัยเดียวกัน

นอกจากสยามแล้ว ข้อยกเว้นอีกประเทศหนึ่งคือเวียดนาม

กองทัพแห่งชาติเวียดนามเกิดขึ้นจากกองกำลังของพรรคแรงงาน (หรือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม) มาตั้งแต่เริ่มแรก เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการของพรรคในการกู้เอกราช จึงเป็นกองทัพที่มีสายบังคับบัญชาที่เป็นเอกภาพมาตั้งแต่ต้น คืออยู่ภายใต้การควบคุมอย่างรัดกุมของพรรค กองทัพเวียดนามเป็นกองทัพสมัยใหม่กองเดียวของอุษาคเนย์ที่ไม่เคยแทรกแซงทางการเมืองเลย เพราะไม่ใช่กองกำลังอิสระที่ดำเนินการร่วมไปกับนักปฏิวัติกู้ชาติ หรือนักปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างในประเทศอื่น กองทัพเวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกู้เอกราชของพรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ต้น

(น่าสนใจนะครับ หากคิดว่ากองทัพเวียดนามเป็นกองทัพเดียวที่มีเกียรติประวัติในการรบสูงส่งยิ่งกว่ากองทัพสมัยใหม่ของทุกชาติในอุษาคเนย์ จึงมีข้อได้เปรียบในการแทรกแซงทางการเมืองเสียยิ่งกว่ากองทัพใดๆ ของภูมิภาคนี้ หากอยู่ในสหรัฐ นายพลหว่อเหงวียนซ้าปคงถูกส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีไปแล้ว)

แม้ว่ากองทัพเวียดนามสามารถระดมกำลังได้มากกว่ากองทัพอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่ไม่มีอาวุธที่จะทำสงครามเต็มรูปแบบกับฝรั่งเศสได้ ส่วนใหญ่ของการรบจึงเป็นการซุ่มโจมตีจุดอ่อนของรัฐบาลอาณานิคม จนสามารถปิดล้อมกำลังของฝ่ายฝรั่งเศสไว้ในเขตเมืองดังที่กล่าวแล้ว

ก่อนจะถึงการรบที่เดียนเบียนฟู จะว่านายพลซ้าปไม่มีประสบการณ์การรบเหนือระดับกองพันเลยก็ไม่จริงนัก เขาสามารถมองการรบในภาพใหญ่ รู้ว่าจะต้องเน้นปฏิบัติการซุ่มโจมตีในแถบไหน เพื่อผ่อนแรงกดดันของกองกำลังฝรั่งเศสในจุดไหน สั่งเคลื่อนย้ายกำลังระดับกองพล เพื่อปฏิบัติภารกิจทางทหารอะไร รวมทั้งเคลื่อนย้ายกำลังพลขนาดใหญ่โดยไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวเลยก็มี เช่น การย้ายกำลังหลายกองพลเข้าสู่สมรภูมิเดียนเบียนฟูโดยฝรั่งเศสไม่รู้ตัว

ยิ่งกว่านี้ เขาเคยบัญชาการกองกำลังหลายกองพลเข้าโจมตีที่มั่นของฝรั่งเศสในบางแห่งแถบบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง และตอนเหนือของเวียดนามกลาง แต่ประสบความล้มเหลว เพราะเสียกำลังพลไปมากโดยไม่สามารถยึดที่มั่นของฝรั่งเศสได้ แต่การรบเหล่านั้น จะว่าเป็นการรบเหนือระดับกองพันก็พูดได้ไม่เต็มที่ เพราะกองทัพเวียดนามในขณะนั้น ยังไม่มีความหลากหลายมากนัก ส่วนใหญ่คือทหารราบและทหารช่าง ไม่มีทหารม้ายานเกราะ, ไม่มีกองพันปืนใหญ่, ฯลฯ ซึ่งแม่ทัพต้องประสานงานของกองพลกองพันเหล่านี้ในการโจมตี หรือตั้งรับอย่างดี จึงเหมือนระดมกำลังกองโจรหลายกองเข้าตีเท่านั้น

ตรงกันข้ามกับศึกเดียนเบียนฟู ถึงตอนนั้นเวียดนามได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธภัณฑ์จากจีนอย่างเต็มที่แล้ว กองทัพเวียดนามจึงมีความหลากหลายของหน่วยทหารเหมือนกองทัพปรกติ ฉะนั้น สมรภูมิเดียนเบียนฟูจึงเป็นการรบเต็มรูปแบบของกองทัพเวียดนามเป็นครั้งแรก แต่นำโดยแม่ทัพที่ไม่เคยมีประสบการณ์การรบลักษณะนี้มาก่อน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของเวียดนามในสมรภูมิเดียนเบียนฟูเกิดจากความช่วยเหลือของจีน ส่วนหนึ่งคืออาวุธยุทธภัณฑ์ดังได้กล่าวแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งคือที่ปรึกษาทางทหาร ซึ่งจีนส่งเข้ามาจำนวนมาก

ผมคิดว่าความโชคดีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบชัยชนะก็คือ ท่านประธานเหมาอยู่ในสภาวะดีเลิศที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต กล่าวคือ เพิ่งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นได้ไม่นาน ซ้ำยังสามารถตรึงกองกำลังสหประชาชาติไว้ต่ำกว่าเส้นขนานที่ 38 ในเกาหลี ท่านประธานได้รับความนิยมนับถืออย่างกว้างขวางจากประชาชนและพลพรรค นโยบายก้าวกระโดดยังไม่เริ่มขึ้น ท่านประธานไม่มีความหวั่นวิตกว่า จะถูกผู้นำอื่นแย่งอำนาจเหมือนสมัยหลัง

เหมาใส่ใจการให้คำแนะนำปรึกษาการรบในเวียดนามอย่างยิ่ง เขารับรายงานการรบและปรึกษากันวางแผนการรบอย่างละเอียดที่ปักกิ่ง แสดงประมุขศิลป์ให้เห็นจนเป็นที่ไว้วางใจ เช่นเมื่อนายพลซ้าปประสบความปราชัยจากการยกกำลังเข้าตีที่มั่นขนาดใหญ่ขึ้นของฝรั่งเศสในลุ่มน้ำแดง ประธานเหมาสั่งประธานที่ปรึกษาฝ่ายจีนในเวียดนามทันทีว่า อย่าตำหนิหรือเยาะเย้ยฝ่ายเวียดนามเป็นอันขาด เพราะแม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนภายใต้ท่านประธานเอง ก็เคยเก็งจังหวะพลาด เข้าโจมตีที่มั่นทางทหารของข้าศึกโดยตนเองยังไม่พร้อม ทำให้พ่ายแพ้และเสียกำลังทหารไปมากเหมือนกัน

อันที่จริงแม้แต่การโยกย้ายกองพลจากลุ่มน้ำแดงตอนล่างไปยังภูเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก็เป็นคำแนะนำของที่ปรึกษาจีนมาก่อน เพราะเห็นว่าเหมาะกับสมรรถนะของกองทัพเวียดนามในขณะนั้น จะเป็นผลให้กองกำลังของฝ่ายฝรั่งเศสในลุ่มน้ำแดงตอนล่างเกิดความลังเล หรือต้องแบ่งกำลังไปสกัดเวียดมินห์แถบภูเขาอันเป็นดินแดนของพวกไต กองกำลังของเวียดนามได้กระจายไปแถบนั้นมาก่อน รวมทั้งขยายเข้าไปในลาวเหนือดังที่กล่าวแล้ว ล่อให้แม่ทัพฝรั่งเศสไปตั้งป้อมค่ายขนาดใหญ่ที่เดียนเบียนฟู

แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ปราศจากความมุ่งมั่นและชาญฉลาดของฝ่ายเวียดนาม กองทัพเวียดนามก็คงไม่สามารถประสบชัยชนะได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่นายพลซ้าปโยกย้ายกำลังพลไปสู่เดียนเบียนฟูนั้น ถูกฝรั่งเศสใช้เครื่องบินโจมตีอยู่ตลอดเวลา ทั้งกำลังพลและหน่วยส่งกำลังบำรุงอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ แต่ฝ่ายเวียดนามใช้การเดินทัพแบบกระจาย ไม่กระจุกกำลังให้เครื่องบินโจมตีได้ง่าย การโจมตีของฝรั่งเศสจึงไม่ค่อยได้ผล ซ้ำภายหลังกองกำลังฝ่ายเวียดนามมีปืนต่อสู้อากาศยานติดตัวด้วย ทำให้ฝรั่งเศสไม่สามารถขัดขวางการระดมกำลังเข้าปิดล้อมเดียนเบียนฟูของเวียดนามได้เลย

กว่าที่กองทัพหนึ่งๆ จะขยับจากการรบระดับกองพันขึ้นเป็นการรบของกองทัพขนาดใหญ่เต็มรูปแบบได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผมอยากนำมาเปรียบกับกองทัพสยาม-ไทย

การรบด้วยกองทัพขนาดใหญ่เต็มรูปแบบของไทยครั้งสุดท้ายน่าจะเป็นการรบเพื่อสถาปนา “สหรัฐไทยเดิม” (รัฐชานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน) เมื่อทัพญี่ปุ่นบุกตะลุยเข้าไป อังกฤษต้านทานไม่อยู่จึงถอนกำลังออกไป เปิดให้กองทัพจีนเข้ามาปกป้องแทน กองทัพไทยจึงต้องเผชิญกับกองทัพจีนในสมรภูมิ

แม่ทัพฝ่ายไทยคือ พลตรีจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งเป็นแม่ทัพของกองทัพพายัพ แผนการคือส่งกองกำลังไปหลายทาง โดยมีกองทัพอากาศช่วยทิ้งระเบิดเปิดเส้นทางไปสู่บางเมือง ในที่สุดกองกำลังทั้งหมดก็จะเข้าโจมตีเมืองเชียงตุงพร้อมกัน ซึ่งเป็นที่ตั้งทัพใหญ่ของฝ่ายจีน แต่ปรากฏว่าข่าวสารข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ทำให้กองทัพไทยไม่อาจดำเนินการตามแผนได้ทั้งหมด เช่น คาดไม่ถึงว่าจะมีฝนตกใหญ่จนบางทัพเคลื่อนที่ได้ช้ามาก การป้องกันรักษาไข้ป่าทำได้ไม่ดีพอ สูญเสียกำลังพลไปกับไข้ป่าอีกมาก

การวางแผนที่ผิดพลาดเนื่องจากข้อมูลข่าวสารไม่พร้อมนั้น ดูจะเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นกับกองทัพของอุษาคเนย์เสมอ ผมได้ยกกรณีการวางแผนผิดของ นายพลอังรี นาวาร์ ที่ไปตั้งป้อมค่ายขนาดใหญ่ที่เดียนเบียนฟูมาแล้วว่า ส่วนสำคัญก็เกิดจากข่าวสารข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะสงครามเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก ไม่มีเวลาเตรียมตัวเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างดีพอ (อย่างกองทัพญี่ปุ่นซึ่งมีแผนจะยึดอุษาคเนย์มานานแล้ว)

ฉะนั้น ผมจึงไม่ต้องการจะกล่าวถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของกองทัพไทยในการสถาปนา “สหรัฐไทยเดิม” แต่ต้องการเพียงแต่จะชี้ว่า นี่เป็นการรบด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ที่ต้องประสานงานกันระหว่างหน่วยต่างๆ ของกองทัพเป็นครั้งสุดท้ายของไทย หลังจากนั้นกองทัพไทยก็ไม่เคยเข้า “สงคราม” อีกเลย

ในสงครามเกาหลี เราส่งกองพันอาสาสมัครเข้าร่วมรบ และทำการรบภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพสหประชาชาติ อันมีสหรัฐเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับสงครามเวียดนาม กองทหารไทยก็ปฏิบัติงานตามแผนการรบที่นายพลอเมริกันวางเอาไว้ ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า นายทหารผู้บังคับบัญชากองทหารไทยรู้หรือไม่ว่าส่วนเล็กๆ ที่เราเข้าไปร่วมรบนั้น อยู่ตรงไหนของแผนรบใหญ่และอยู่อย่างไร

ในส่วนการต่อสู้กับ พคท. การทหารเป็นเพียงส่วนเดียวของการต่อสู้ ส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ระดับกองพัน คือรักษาที่มั่นของตนให้ได้ หรือรุกเข้าไปยึดที่มั่นของฝ่ายข้าศึก ถึงจะใช้กำลังพลมากกว่าระดับกองพัน ก็ไม่ได้มียุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ซับซ้อนอะไรนัก

เพราะด้านหลักของการต่อสู้กับ พคท. คือการเมือง อันเป็นด้านที่เราพ่ายแพ้มาอย่างต่อเนื่อง เผด็จการทหารที่ครองอำนาจสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้พลังด้านการเมืองของไทยอ่อนแออย่างหนัก

ทำไมความสามารถของทหารไทยในการรบเหนือระดับกองพันจึงหายไป? ผมคิดว่าเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา การรับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐ โดยเฉพาะการฝึกนายทหาร ทำให้สมรรถภาพของกองทัพไทยในการทำสงครามเหนือระดับกองพันหายไปหมด เนื่องจากจุดมุ่งหมายของความช่วยเหลืออเมริกัน คือทำให้กองทัพไทยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ “โลกเสรี” ซึ่งจะมีภารกิจเท่ากับหน่วยทหารระดับเล็กที่รับคำสั่งปฏิบัติการจากแม่ทัพใหญ่ฝ่ายโลกเสรีเท่านั้น ความจำเป็นที่จะฝึกนายทหารให้ทำอะไรมากไปกว่า “การรบ” จึงไม่จำเป็น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทหารไทยถูกอเมริกันฝึกให้ทำการรบเป็น แต่ทำสงครามไม่เป็นหรอกครับ เพราะไม่ใช่ภารกิจของกองทัพไทยต้องทำสงครามกับใคร

สงครามนั้นไม่ได้เอาชนะกันด้วยการรบเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยสมรรถนะทางอื่น โดยเฉพาะการเมืองภายในและระหว่างประเทศ การจัดการทางเศรษฐกิจ ศิลปะการครองใจคน ฯลฯ ในการทำสงครามด้วย

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า แม้เราไม่ชอบเห็นกองทัพแทรกแซงทางการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายทหารรุ่นเก่าก่อนสงครามโลก เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเข้ามาเผด็จอำนาจทางการเมืองไว้ในมือตนนั้น ล้วนใช้สมรรถนะด้านอื่นๆ ซึ่งจำเป็นในการทำสงคราม ในการยึดอำนาจและรักษาอำนาจของตนไว้เป็นเวลานาน ในขณะที่นายทหารซึ่งเข้ามาทำรัฐประหารต่อจากคนเหล่านั้น รู้จักแต่การรบ และมักใช้กำลังอำนาจดิบๆ เพื่อข่มขู่ให้คนอื่นเกรงกลัว ยอมให้ตนถืออำนาจโดยดี

เผด็จการทหารรุ่นเก่าเหล่านั้นล้วนจบโรงเรียนนายร้อยก่อนรุ่นหลักสูตรเวสต์ปอยต์ทั้งสิ้น แต่เผด็จการทหารรุ่นหลังล้วนจบโรงเรียนนายร้อยภายใต้ความช่วยเหลือจากสหรัฐ รบเป็น แต่ทำสงครามไม่เป็น ชอบเป็น “บิ๊ก” โน่น “บิ๊ก” นี่ ทำตัวเป็นนักเลงใหญ่มากกว่าแม่ทัพ

(ยังมีต่อ)