สมรภูมิ ‘ปัญจ์เชียร์’ จังหวัดสุดท้ายที่ยืนหยัดสู้ ‘ทาลิบัน’/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Members of National Resistance Front overlook Golbahar, Kapisa, Afghanistan in this still image obtained from an undated video handout. NATIONAL RESISTANCE FRONT OF AFGHANISTAN HANDOUT/Handout via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY./File Photo

บทความต่างประเทศ

 

สมรภูมิ ‘ปัญจ์เชียร์’

จังหวัดสุดท้ายที่ยืนหยัดสู้ ‘ทาลิบัน’

 

หลังจากกลุ่ม ‘ทาลิบัน’ บุกเข้ายึดครองกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นายอัฟราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานหนีออกจากประเทศ เวลาเดียวกันกับที่กองทัพสหรัฐและพันธมิตร ถอนกำลังทหารและอพยพผู้คนออกจากประเทศอัฟกานิสถาน

นั่นหมายถึง “ชัยชนะ” ย่อมอยู่ในมือของกลุ่มทาลิบัน และน่าจะเป็นข้อสรุปได้ว่า ประเทศอัฟกานิสถานตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้ายที่เคยยึดครองอัฟกานิสถานในช่วงปี 1996- 2001 แต่จริงๆ แล้วยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ยังคงมีจังหวัด “ปัญจ์เชียร์” ที่ยังคงเป็นที่มั่นของกลุ่มทหารของรัฐบาลอัฟกานิสถาน และเป็นที่มั่นของกลุ่มต่อต้านทาลิบัน ยืนหยัดต่อต้านการยึดครองของกลุ่มทาลิบันเอาไว้ได้

และเป็นจังหวัดสุดท้ายในประเทศ

 

จังหวัด “ปัญจ์เชียร์” หรือ “ปัญจ์ชีร์” เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในบรรดา 34 จังหวัดของอัฟกานิสถาน ตั้งอยู่ตอนเหนือของประเทศ เป็นที่ตั้งของ “หุบเขาปัญจ์เชียร์” พื้นที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทำเลสำหรับการตั้งกำลังรบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในอัฟกานิสถาน

จังหวัดปัญจ์เชียร์เป็นเมืองยุทธศาสตร์เนื่องจากเป็นทางผ่านจากกรุงคาบูล มุ่งหน้าไปยังเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางตอนเหนือยอย่าง “มาซาร์-ไอ-ชารีฟ” และ “จังหวัดคุนดุซ”

ประชากรในจังหวัดปัญจ์เชียร์ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวทาจิก ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ขณะที่กลุ่มทาลิบันนั้นเป็นกลุ่มคนอัฟกานิสถานเชื้อสายปัชตุน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของอัฟกานิสถาน

หุบเขาปัญจ์เชียร์มีประชากรอยู่ราว 200,000 คน มีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะกับการใช้เป็นฐานที่มั่นในการตั้งกำลังรบ ด้วยลักษณะเป็นหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน มีทางเข้าสู่พื้นที่ผ่านถนนเส้นเลียบแม่น้ำปัญจ์เชียร์ เพียงเส้นเดียวเท่านั้น

และแน่นอนว่าข้าศึกที่ยกทัพผ่านเส้นทางนี้จะตกเป็นเป้าจากที่มั่นในพื้นที่สูงและได้เปรียบมากกว่า

ในอดีต หุบเขาปัญจ์เชียร์เองก็เคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านการยึดครองจากกองกำลังสหภาพโซเวียต ในช่วงทศวรรษที่ 80 มาก่อน

นั่นทำให้ในพื้นที่ยังคงสามารถเห็นซากรถถัง และรถหุ้มเกราะขนกำลังพลของสหภาพโซเวียตที่ถูกทำลายหลงเหลือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของการสู้รบอันดุเดือนมาจนถึงทุกวันนี้

และพื้นที่ดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นที่มั่นศูนย์กลางของการต่อต้านการปกครองของกลุ่มทาลิบันที่ปกครองอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษที่ 90 โดยมีผู้นำกลุ่มต่อต้านคือ อาห์หมัด ชาห์ มัสซุด ผู้นำที่เป็นที่รู้จักในนาม “ราชสีห์แห่งปัญเจียร์”

อย่างไรก็ตาม ราชสีห์แห่งปัญเจียร์ถูกลอบสังหารด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย โดยมือระเบิดของกลุ่มอัลเคด้า ก่อนหน้าเหตุก่อการร้ายที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 11 กันยายน 2001 ไม่นาน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น 2 เดือน กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ หรือแนวร่วมอิสลามเพื่อการปลดปล่อยอัฟกานิสถาน ของราชสีห์แห่งปัญเจียร์ บวกกับการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศจากสหรัฐอเมริกา ก็สามารถโค่นล้มการปกครองของกลุ่มทาลิบันลงได้ในเวลาต่อมา

 

ในปัจจุบันหลังจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกถอนกำลังออกจากแผ่นดินอัฟกานิสถาน ส่วนกลุ่มทาลิบันยึดครองกรุงคาบูลได้สำเร็จ

กลุ่มอดีตนายทหารและกองกำลังพิเศษของอัฟกานิสถานหลายพันนายได้เดินทางไปยังหุบเขาปัญจ์เชียร์ เพื่อร่วมกับกองกำลังท้องถิ่นอย่างกลุ่มแนวร่วมต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน หรือเอ็นอาร์เอฟ ภายใต้การนำของ “อาห์หมัด มัสซุด” ลูกชายของอาห์หมัด ชาห์ มัสซุด และอัมรูลลาห์ ซาเลห์ รองประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน ที่เป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือมาก่อนเช่นกัน

กองกำลังเอ็นอาร์เอฟ มียุทโธปกรณ์ครบมือตั้งรับอยู่ในหุบเขาปัญจ์เชียร์อย่างเหนียวแน่น และปฏิเสธที่จะประกาศยอมแพ้ต่อกลุ่มทาลิบัน

อย่างไรก็ตาม มัสซุด ผู้นำกลุ่มเอ็นอาร์เอฟได้ยื่นข้อเสนอเจรจาสันติภาพกับกลุ่มทาลิบัน โดยหวังที่จะได้อำนาจอธิปไตยในจังหวัดปัญจ์เชียร์มีการปกครองที่เป็นอิสระ

อย่างไรก็ตาม การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผล โดยต่างฝ่ายต่างโทษกันและกันว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ตามมาด้วยการสู้รบกันอย่างดุเดือด

ส่งผลให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมากทั้งสองฝ่าย

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน กลุ่มทาลิบันประกาศว่าสามารถยึดครอง “จังหวัดปัญจ์เชียร์” ได้แล้ว ขณะที่มัสซุด ผู้นำกลุ่มเอ็นอาร์เอฟในหุบเขาปัญจ์เชียร์ ก็ทวีตข้อความระบุว่าตนเองปลอดภัยดี โดยที่ไม่ได้เปิดเผยตำแหน่งของตนว่าอยู่ที่ใด ขณะที่รองประธานาธิบดีซาเลห์ ที่ไม่ได้มีการเปิดเผยตำแหน่งเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการยึดครองจังหวัดปัญจ์เชียร์ โดยเฉพาะหุบเขาปัญจ์เชียร์ได้จะนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของกลุ่มทาลิบัน เนื่องจากทาลิบันยังไม่เคยพิชิตพื้นที่ดังกล่าวได้มาก่อน

ล่าสุดกลุ่มทาลิบันโพสต์รูปนักรบทาลิบันถือธงยืนอยู่ที่หน้าอาคารที่ทำการผู้ว่าราชการจังหวัดปัญจ์เชียร์ เป็นหลักฐานการยึดครอง

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดปัญจ์เชียร์ยังคงมีหุบเขาสลับซับซ้อนที่อาจใช้เป็นที่มั่นรวบรวมกำลังพลกลุ่มต่อต้านในการต่อสู้กับกลุ่มทาลิบันอีกครั้งก็เป็นได้

นักวิเคราะห์มองว่า การสะสมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มต่อต้านอาจทำไม่ได้ง่ายนักเหมือนในยุคของ “ราชสีห์แห่งปัญจ์เชียร์” รุ่นพ่อ

เนื่องจากในเวลานั้นอาศัยเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์และเสบียงสนับสนุนจากประเทศทาจิกิสถาน ผ่านทางจังหวัดทาคาร์ ซึ่งเวลานี้กลุ่มทาลิบันก็ได้ยึดครองไว้แล้ว

ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กลุ่มทาลิบันสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้วหรือไม่

และสิ่งที่จะตัดสินได้ก็คือชัยชนะเด็ดขาดใน “สมรภูมิปัญจ์เชียร์” แห่งนี้นั่นเอง