ธุรกิจพอดีคำ : “หิ้ง”

ณ องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ใจกลางมหานครกรุงเทพฯ

ผู้บริหารระดับสูงกำลัง “ถกเถียง” กันถึงเรื่องสำคัญของบริษัท

นั่นคือ การก่อตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนา” แห่งใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า “R&D Center”

ย่อมาจากคำว่า Research and Development

สถานที่แห่งนี้ คือ วิธีการของเหล่าองค์กรยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

หากต้องการอะไรใหม่ๆ แนว “นวัตกรรม” ล้ำๆ แล้วละก็

ผู้บริหารระดับสูง มักจะหันไปพึ่งพา “สถานที่” แห่งนี้เสมอ

“โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก เราควรเพิ่มงบประมาณการสร้างสถาบันวิจัยแห่งนี้เพิ่มอีกสองเท่า”

ผู้บริหารรุ่นเก๋าท่านหนึ่งเสนอความคิด

“ยังไม่พอ ไม่ใช่แค่เรื่องของสถานที่และเครื่องมือ เราต้องการคนเก่งๆ ที่จบระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ มาทำงานกับเราด้วย เราต้องการงบประมาณในการจ้างด๊อกเตอร์เหล่านี้ ในปริมาณมาก”

ผู้บริหารรุ่นเก๋าอีกท่านกล่าวเสริม

ข้ามมาอีกฟาก ที่มุมหนึ่งของห้อง

ผู้บริหารระดับกลางท่านหนึ่ง ตั้งคำถาม

แล้วเราจะตั้ง “สถาบันวิจัย” แห่งนี้เอาไว้ที่ไหนดีล่ะ

ผู้บริหารรุ่นเก๋า ตอบอย่างมั่นใจ

“เพื่อให้นักวิจัยได้ทำงานอย่างเต็มที่ เราควรตั้งสถาบันวิจัยนี้ให้ห่างจากตัวเมืองมากที่สุด เอาเขาไปไว้ในที่ที่ห่างไกลจากผู้คน จะได้ทำงานกันเต็มที่ ไม่วอกแวก”

“เมื่อความคิดตกผลึกเต็มที่ เราก็จะได้ “นวัตกรรม” มาต่อยอดธุรกิจกัน”

ถ้าท่านผู้อ่านได้ติดตามเรื่องการสร้าง “นวัตกรรม” ในคอลัมน์นี้มาสักพัก

จะพอทราบว่า กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ “Design Thinking” นั้น

ให้ความสำคัญกับเรื่อง “การลงมือสร้างต้นแบบ (Prototype)” มากเหลือเกิน

ถามว่า การสร้าง “ต้นแบบ” ในเรื่องของ “นวัตกรรม” นั้น เป็นอย่างไร

เห็นช่วงนี้ คนชอบทำ “แอพพลิเคชั่น (Application)” กันมาก

เลยขอยกตัวอย่างเล็กๆ ตอนสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย “แสตนฟอร์ด” ครับ

ทราบมั้ยครับ เรื่องการทำ “แอพพลิเคชั่น” ใหม่ๆ บนโทรศัพท์มือถือ

โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาของลูกค้านั้น เป็นเรื่อง “ยอดฮิต” เลย

เอะอะ ก็ทำ “แอพพ์” สิ

แต่ถามว่า แรกสุด ที่คิดจะทำ “แอพพ์” สักอันหนึ่ง

คนที่นู่นเขาก็ยังไม่ได้เปิดคอมพิวเตอร์มานั่งเขียนโปรแกรมกันแต่อย่างใด

แม้ว่าแอพพ์สมัยนี้ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ ก็สามารถเอาไปวางใน “แอพพ์สตอร์ (AppStore)” ได้แล้ว

แต่คนที่ทำสตาร์ตอัพที่นั่น ก็ยังมองว่ามัน “ช้าไป”

แล้วถ้าจะทำ “แอพพ์” แต่ไม่ยอมเขียนโปรแกรม เขาทำอะไรกันออกมาเป็น “ต้นแบบ” ในช่วงแรกๆ กันน่ะหรือ

คำตอบคือ “โพส-อิต” ครับ

คนที่คิดจะทำ “แอพพ์” ที่ซิลิคอน วัลเลย์ เมื่อมีไอเดียแล้ว เขาจะยังไม่ทำ “แอพพ์” ในคอมพิวเตอร์

เพราะเขารู้ว่า สิ่งที่สำคัญในช่วงแรก คือ “ฟีดแบ็ก (Feedback)” จากลูกค้า

ใช้ง่าย ใช้ยาก กดตรงนี้ ตรงนั้น อย่างที่ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย

การทดสอบสิ่งเหล่านี้ ยังไม่จำเป็นต้องเปิดคอมพิวเตอร์

แต่เขาจะวาดหน้าแอพพ์ลงบนกระดาษเล็กๆ เช่น โพส-อิต โน้ต

วาดให้เหมือนกับว่า หน้าตาแอพพ์จะเป็นแบบนั้นจริงๆ

วาดไว้หลายๆ หน้า เผื่อไว้หลายๆ เหตุการณ์ว่า คนที่เข้ามาทดสอบจะกดตรงนี้ ตรงนั้น อย่างที่เราคิดไว้

เมื่อเอาไปให้ “ผู้ทดสอบ” ดู ก็ถามเขาว่า

“เห็นหน้าแอพพ์แบบนี้แล้วจะกดตรงไหน”

เสร็จแล้วดู “พฤติกรรม” ของลูกค้า ว่าเข้าใจหน้าตาแอพพ์นี้หรือเปล่า

ถ้าเขางงๆ ไม่เข้าใจ ก็อธิบายเพิ่ม

“อันนี้คือแอพพ์ทำแบบนี้แบบนั้นได้ คุณเห็นปุ่มตรงนี้มั้ย ลองกดดูสิ”

พอลูกค้ากด ก็เอากระดาษแผ่นถัดไปมาให้เขาดู

ถามเขาอีกสักครั้ง “ทีนี้คุณจะกดตรงไหน”

ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ หลายๆ ครั้ง จนเข้าใจ “ลูกค้า” ว่า ลูกค้าไม่เข้าใจอะไร

ถามหา “ฟีดแบ็ก” เบื้องต้นมาเสียก่อน แล้วจึงนำไปเขียนโปรแกรมออกมาเป็น “แอพพ์” จริงๆ

ช่วย “ร่นระยะเวลา” ของการสร้าง “นวัตกรรม” ได้ดี ไม่เผลอสร้างอะไรที่ลูกค้าใช้ไม่ได้ออกมา

เขาเรียกวา Rough & Rapid Prototyping หรือ การสร้างต้นแบบอย่าง “หยาบ” และ “รวดเร็ว”

เราไม่เรียกสิ่งที่ลูกค้า “ไม่ชอบ” ในตอนแรกว่า “ล้มเหลว”

แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “เรียนรู้” เพื่อนำไปสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง

หลายคนอาจถามว่า

ใช่สิ “แอพพลิเคชั่น” ก็ทดลองแบบนั้นได้

แต่บริษัทของฉัน ทำ “ฮาร์ดแวร์ (Hardware)” ทำของขึ้นมาเป็นชิ้นๆ

จะให้สร้าง “ต้นแบบง่ายๆ” เอาไว้ทดสอบหลายๆ ครั้ง จะไม่ “เสียเงิน” เยอะไปหน่อยหรือ

ถ้าให้พูดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรศัพท์มือถือของโลก สัญชาติเอเชีย สองเจ้า

ก็คงจะหนีไม่พ้น “ซัมซุง (Samsung)” และ “หัวเหว่ย (Huawei)”

รู้หรือไม่ว่า สองบริษัทนี้มีวิธีการทำงานอย่างหนึ่งด้าน “นวัตกรรม” ที่เหมือนกันมาก และไม่ค่อยมีบริษัทไหนทำกัน

นั่นคือ เขาจะตั้ง “สถาบันวิจัย” และ “โรงงานผลิต” ไว้ใกล้ๆ กันเสมอ

ไม่มี “สถาบันวิจัย” ที่ตั้งโดดๆ แล้วปล่อยให้ “ความคิด” ลอยอยู่ในอากาศ

ซัมซุง และ หัวเหว่ย ที่ผลิต “นวัตกรรม” ออกมามากมาย ให้ความสำคัญกับการสร้าง “ต้นแบบ” อย่างง่ายๆ ขึ้นมาทดสอบตลาด

นักวิจัย “คิด” อะไรได้ ก็นำมาทดลอง “สร้าง” เลยที่โรงงาน

แรกๆ ยังไม่เข้าท่าหรอก

แต่เมื่อนำไปทดสอบตลาดบ่อยๆ เข้า ลูกค้าก็ “ฟีดแบ็ก” ได้ตรงจุดมากขึ้นเรื่อยๆ

กลับมาทำให้ “งานวิจัย” ไปถูกทาง

จนได้ “ผลิตภัณฑ์” ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในที่สุด

การตั้ง “สถาบันวิจัย” เอาไว้ใกล้ๆ กับ “โรงงานผลิต” เสมอ

ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าให้เร็ว ผ่านการสร้าง “ต้นแบบ” นั่นเอง

นี่แหละ อีกหนึ่งเคล็ดลับการสร้าง “นวัตกรรม” ของบริษัทระดับโลกอย่างซัมซุง และหัวเหว่ย

คิดอย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ลงมือ” ด้วย

กลับมาที่ “ห้องประชุม” องค์กรยักษ์ใหญ่

ซีอีโอ “เคาะ” อนุมัติตามที่ผู้บริหารรุ่นเก๋าเสนอ

ต่อจากนี้ เราจะมีสถาบันวิจัยที่ยิ่งใหญ่ ไฉไลกว่าเดิม

อยู่ห่างจากลูกค้า ตลาด และเพื่อนร่วมงานแผนกอื่นๆ

ให้อิสระ “นักวิจัย” ได้คิดกันอย่างเต็มที่

เราจะมี “นวัตกรรม” ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างมากมายแน่ๆ

ทฤษฎีล้วนๆ คิดเอง เออเอง ไม่ศึกษาโลก

“หิ้ง” ครับ งานนี้