ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : จากหลักทองของโรมัน ถึงหอชมเมืองกรุงเทพฯ หอสูงที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอะไรเลย?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“All roads lead to rome” เป็นวรรคทองอมตะของพวกฝรั่ง มีสำนวนแปลเป็นไทยอย่างที่รู้จักกันดีว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม”

มักจะเข้าใจผิดกันว่า วรรคทองดังกล่าวมีความหมายแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน ที่ดึงดูดให้ถนนทุกเส้นจำต้องมุ่งเข้าสู่โรม

แต่ความหมายดั้งเดิมนั้นกลับตาลปัตรกันอย่างสิ้นเชิงกับที่มักจะเข้าใจกันโดยทั่วไปนั่นเลยนะครับ

เพราะว่าอันที่จริงแล้ว ถนนทุกสายที่ว่านี้ก็ล้วนแล้วแต่พุ่งออกจากกรุงโรม ไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกโรมันเมื่อครั้งกระโน้นต่างหาก

 

แซฟ พี. (Schaaf P.) นักวิชาการในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อธิบายว่า วรรคทองดังกล่าวอ้างอิงจาก “หลักทอง” (Milliarium Aureum) ที่ ออกุสตุส ซีซ่าร์ (Augustus Caesar, 63 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.14) จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งโรมเป็นผู้สร้างไว้ในโรมันฟอรั่ม (Roman Forum) ลาน หรือตลาดศูนย์กลางของกรุงโรม

“หลักทอง” ของพระจักรพรรดิออกุสตุสก็ทำหน้าที่เหมือนกับหลักกิโลเมตร หรือหลักไมล์ที่ศูนย์ ซึ่งมีหน้าที่นับระยะทางว่าห่างจากศูนย์กลางคือ “โรม” กี่กิโล หรือกี่ไมล์แล้ว

ในกรณีนี้ “โรม” จึงเป็น “ศูนย์กลาง” ของอำนาจทั้งแง่ของอารยธรรมและการเมือง นี่เป็นความหมายดั้งเดิมที่ข้อความ All roads lead to Rome ยังคงรักษาไว้

“ถนน” เป็นเส้นทางคมนาคมประเภทหนึ่ง ผู้มีอำนาจในการครอบครองเส้นทางคมนาคมย่อมแผ่ขยายอำนาจตามเส้นทาง ที่เชื่อมโยงไปถึงชุมชน หรือรัฐอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางน้ำ หรือเส้นทางบนบก

ซึ่งก็ควรสังเกตด้วยว่า ออกุสตุสสถาปนาพระองค์เองเป็นพระจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งโรม หลังจากนั้นโรมันก็เข้าสู่ยุคแห่งการเป็นจักรวรรดิ และไม่เคยกลับไปเป็นสาธารณรัฐ (republic) อีกเลย

 

ภารกิจที่ออกุสตุสกระทำอย่างจริงจังหลังการขึ้นครองราชย์อย่างที่นักเรียนประวัติศาสตร์ทราบกันดีก็คือการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของโรมัน ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็คือการปรับปรุงระบบ และการจัดการเกี่ยวกับถนนเสียใหม่ พระองค์ได้ปรับให้มีตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองระดับสูง (magistracy) ประจำสำหรับทำหน้าที่ทำนุบำรุง ดูแล และซ่อมแซมถนนแต่ละสายในจักรวรรดิของพระองค์เป็นการเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้นยังริเริ่มให้ทำท่อระบายน้ำอยู่ตามถนนแต่ละสาย เหมือนกับที่เคยมีอยู่เฉพาะในหมู่วิหารของกรุงโรมอีกด้วย

การปฏิรูประบบการจัดการถนนของจักรพรรดิออกุสตุส จึงเป็นการจัดการเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างโรมันกับชุมชน รัฐ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งอารยธรรมอื่นๆ รอบตัวจักรวรรดิโรมันเอง เพราะถนนเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อระหว่างโรมันเข้ากับบุคคลอื่น ที่ต่างก็ใช้ถนนเส้นเดียวกันนั่นแหละ

ดังนั้น การที่กลุ่มชุมชนอื่นๆ ยอมรับในอำนาจการจัดการถนนของโรมัน จึงเท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจทางการเมืองของโรมัน ที่มีออกุสตุสเป็นจักรพรรดิไปด้วย

และคงไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ออกุสตุสไม่ได้เป็นเพียงแค่จักรพรรดิองค์แรกของโรมันเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ปกครองโรมันคนแรกที่เทียบเคียงตัวเองเข้ากับหมู่เทพเจ้าทั้งหลาย อย่างที่เห็นได้อยู่ในรูปประดับต่างๆ อีกด้วย

การจัดการเรื่อง “ถนน” หรือทางคมนาคมจึงเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมสถานภาพของราชาที่อยู่เหนือราชาทั้งมวล หรืออย่างที่เรียกตามอุดมคติในศาสนาพุทธ-พราหมณ์ว่า “จักรพรรดิราช” ไปด้วยนั่นเอง

 

ในกรณีนี้ กรุงโรม ในฐานะที่ประทับของจักรพรรดิราช จึงกลายเป็นศูนย์กลางเครือข่ายอารยธรรมโรมัน ที่ทั้งทับซ้อน และแวดล้อมอยู่ด้วยหมู่วัฒนธรรมอื่นๆ รายรอบ

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีข้อความอย่าง “ถนนทั้งพันสายจะนำผู้คนไปสู่โรมตลอดกาล” (Mille viae ducunt homines per saecula Romam) ในหนังสือ Liber Parabolarum ที่เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1175 โดย อแลง (Alian) แห่งลีลล์ (Lille) หรือ “ถูกอย่างที่เส้นทางที่หลากหลายต่างนำพาผู้คนไปเส้นทางสู่โรมที่ถูกต้อง (Right as diverse pathes leden the folk the righte wey to Rome.) ในหนังสือ Treatise on the Astrolabe งานของ เจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer, ค.ศ. 1343-ราว ค.ศ.1400) นักเขียน นักปรัชญาชื่อดังชาวอังกฤษที่มีอายุอยู่ในช่วงสมัยกลาง เพราะโรมคือศูนย์กลางแห่งอารยธรรมในโลกตะวันตก

และก็เป็นข้อความพวกนี้นั่นแหละครับ ที่เป็นที่มาของข้อความอย่าง All roads lead to Rome อย่างที่เราคุ้นหูกันในทุกวันนี้นั่นเอง

 

ถึงแม้ว่า “หลักทอง” ที่โรมันฟอรั่มจะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไรนัก ผิดไปจากหอสูง หรือหลักศูนย์กลางทางอารยธรรม วัฒนธรรม ความเป็นชาติ หรือสิ่งปลูกสร้างอะไรอื่นๆ ในยุคสมัยใหม่ แต่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” บนถนนราชดำเนินของไทย ก็ทำหน้าที่เป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ ไม่ต่างอะไรไปจากหลักทองของโรมเมื่อสองพันปีที่แล้ว

ยิ่งเมื่ออนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็ยิ่งเห็นได้ถึงความเป็นศูนย์กลางของอุดมการณ์อะไรบางอย่างในอนุสาวรีย์แห่งนี้

เช่นเดียวกับการสร้าง “หอไอเฟล” ที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาก็ได้จัดให้มีงานมหกรรมนานาชาติ (งาน world”s fair ครั้งยิ่งใหญ่ของกรุงปารีส ที่มีชื่อเต็มว่า The Exposition of Universelle of 1889 หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EXPO Paris 1889) โดยมีจุดมุ่งหมายให้หอไอเฟล เป็นเหมือนประตูทางเข้าไปสู่งาน EXPO Paris 1889 พร้อมกันกับที่เป็นจุดศูนย์กลางของงาน ในฐานะของสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในโลกยุคนั้น (ซึ่งแน่นอนว่า หอสูงนี่ก็ย่อมมีสลากแปะป้าย made in France ห้อยอยู่ด้วย)

ในขณะที่งาน EXPO หรืองาน world”s fair ในยุคนั้นก็คือ การจัดแสดงสิ่งของนานาชาติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้านำสมัยในแต่ละด้าน หรือวัฒนธรรมอันวิจิตรพิสดารของประเทศตนเองต่อสายตาของชาวโลก ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก และมีการจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา

แต่ก็เป็นที่งาน EXPO Paris 1889 นี่แหละครับ ที่ได้เริ่มเกิดการแบ่งส่วนพื้นที่การจัดแสดงเป็นสองส่วน ซึ่งมักจะเรียกรวมๆ กันว่า โซน “White City” กับ “Colonial section” เป็นครั้งแรก ซึ่งก็แน่นอนว่า โซนแรกนำเสนอวิทยาการอันล้ำหน้าของคนขาว ส่วนโซนหลังแสดงวิถีชีวิตอันล้าหลังเสียเหลือเกินของชาติอาณานิคม ในสายตาของคนขาวไปด้วยพร้อมกัน

“EXPO Paris 1889” จึงเป็นเหมือนกับการจำลอง และย่อขนาดโลกของพวกฝรั่งเศส พร้อมๆ ไปกับมีการจัดระเบียบโลกสมมติดังกล่าวด้วยการลำดับชั้นวรรณะไปด้วย

 

หอสูงที่สำคัญอีกแห่งคือ “หอโตเกียว” ที่มีหอไอเฟลเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) เพื่อใช้ในการกระจายสัญญาณโทรทัศน์ ขององค์กรการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะอย่าง NHK ซึ่งก็เปรียบเสมือนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของญี่ปุ่นเป็นเหตุผลสำคัญ

แต่เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดหอคอยแห่งนี้ขึ้นมาก็คือ การที่ญี่ปุ่นต้องการสร้างสัญลักษณ์ในการผลักดันชาติให้เป็นอีกหนึ่งของเจ้าเศรษฐกิจโลก หลังจากบอบช้ำมาจากระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกในสงครามโลกครั้งที่ 2

ดังนั้น หอโตเกียวจึงเป็นเหมือนศูนย์กลางในการกระจายอุดมการณ์ของชาติให้กับประชาชน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของญี่ปุ่นกลายๆ อย่าง NHK นั่นแหละ

กรุงเทพฯ และรวมถึงประเทศไทยกำลังจะมีหอสูงแห่งใหม่ คือ “หอชมเมืองกรุงเทพฯ”

แต่จากแถลงการณ์ของรัฐก็ดูเหมือนว่า หอสูงแห่งนี้จะมีหน้าที่เอาไว้ชมเมืองเป็นหลัก เหมือนชื่อของหอสูงนั่นแหละนะครับ เพราะอะไรที่จะนำมาจัดแสดงเอาไว้ในนั้น ถึงจะมีสาระและน่าสนใจอย่างไรก็ตาม แต่ก็ดูจะไม่มีที่มาที่ไปและไม่สัมพันธ์กับเงื่อนไขแวดล้อมอื่นๆ รอบตัวหอสูงแห่งนี้เอาเสียเลย

แตกต่างจากทั้งหลักทอง หอไอเฟล หอคอยโตเกียว หรือแม้กระทั่งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ของเราเองก็ตาม

ดังนั้น ถ้าหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะต้องเป็นศูนย์กลางของอะไรสักอย่างหนึ่ง หอสูงแห่งนี้ก็คงจะเป็นศูนย์กลางของความว่างเปล่า และเพิกเฉยต่ออะไรสารพัดสิ่งของสังคมไทยทุกวันนี้กระมังครับ?