เผยแพร่ |
---|
สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
——————
ทะลุให้ถึงประชาชน
——————-
พรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืน ทะลุ”รัฐสภา” ไปยัง “ประชาชน”
ด้วยการดำเนินการ 2 งด สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังดำเนินการในขณะนี้
งด แรก คือ งดอภิปรายในวาระที่ 2 ที่ผ่านมา
งดสอง คือ จะงดออกเสียง ในวาระที่ 3
ด้วยเหตุผล ว่าพรรคต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมุ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก แต่การแก้ไขครั้งนี้ มุ่งให้นักการเมืองและพรรคการเมืองได้ประโยชน์มากกว่า
ฟังดูดี กระนั้นก็อยากคาดหมายที่สูงไปกว่านั้น
นั่นคือ อยากเห็นความมุ่งมั่นที่พรรคภูมิใจไทยจะดำเนินการไปให้ถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักจริงๆ
มิใช่อย่างที่เขาวิจารณ์กัน
ว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยจะเสียเปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึง”ไม่เอาด้วย”
หรือ จะใช้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะศึกซักฟอกที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหัวหน้าและเลขาธิการพรรคถูกจับขึ้นเขียง
จึงต้องการ”ดูแล”จากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ให้ดีหรือเท่าเทียมกับการดูแลนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น
การดูแลที่ดี อาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่ทำให้ จุดยืนงดออกเสียงของภูมิใจไทย เปลี่ยนไปได้
ซึ่งหาก จุดยืน 2 งด มีเป้าหมายทางการเมืองเช่นนี้ การทะลุรัฐสภาก็ไร้ความหมาย
พรรคภูมิใจไทย คงต้องจริงจัง จริงใจกับการผลักดันตั้ง ส.ส.ร. และต่อเชื่อมกับความต้องการของประชาชน ที่อยากรื้อรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มากกว่านี้อีกหลายเท่า
เพื่อที่จะเรียกศรัทธากลับมา
ต้องไม่ลืมว่า พรรคภูมิใจไทย ที่ดูแลปัญหาโควิด19 เผชิญวิกฤตศรัทธา ไม่ต่างจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จึงต้องหาทางกู้วิกฤตศรัทธากลับมา
โดยเมื่อเลือกประเด็น “รัฐธรรมนูญ”ให้เป็นหนึ่งในปัจจัยการกู้ศรัทธา ด้วยการประกาศ อิงประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก
ก็ควรทำให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากกว่าการ “งดออกเสียง”เท่านั้น
และเมื่อพูด ถึงคำว่า อิงประโยชน์ประชาชขนเป็นหลักแล้ว
มิใช่พรรคภูมิใจไทยเท่านั้น อยากฝากถึงพรรคการเมืองโดยรวมด้วย ว่่าควรยึดแนวทางนี้เป็น”หลัก”สำคัญสูงสุด
และไม่จำกัดเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น
กฏหมายอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน ก็ต้องช่วยเร่งดำเนินการ
อย่างตอนนี้ ที่เป็น “เหล็กร้อน” สามารถเพิ่มอัตราเร่ง ในการดำเนินการ โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น
ก็คือกรณีอื้อฉาว ในวงการตำรวจ กรณีคลุมถุงดำผู้ต้องหาจนเสียชีวิต
พรรคการเมืองควรจับมือ ผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….’ หรือเรียกง่ายๆ ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายออกมาให้ได้เสียที
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในร่างพ.ร.บ.นี้ มาตั้งแต่ ปี 2559
แต่ก็ดึงกันไปกัน
ยังไม่รู้ว่าจะเข้าสภาทันสมัยประชุมนี้ไหม
ท่ามกลางการเรียกร้องของภาคประชาชนที่อยากให้มีกฎหมายนี้
แต่ก็อย่างที่ทราบ การทรมาณ และการอุ้มหาย ฝ่ายที่มักจะเป็นผู้ถูกกล่าวคือ ก็คือ คนหรือหน่วยงานในภาครัฐ
จึงมีแรงถ่วงดึงไม่ให้ เรื่องนี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายง่ายๆ
หรือหากจะมีก็ต้องแปลงโฉม ให้เป็นไปตามความต้องการของภาครัฐ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ ร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ ที่ผิดเพี้ยนไปแล้ว
และไม่ทันกาลกับปัญหาที่ปริแตกออกมาให้เหม็นโฉ่ไปทั้งสังคมอย่างตอนนี้
ดังนั้นเมื่อพรรคภูมิใจไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ อยากจะทะลุ”วิกฤตศรัทธ”ออกไปจริงๆ
ก็ควรทะลุไปให้ถึง”ประชาชน”อันจะได้ “ศรัทธา”ตอบแทนคืนมา