หลังเลนส์ในดงลึก/”เหยื่อ หรือ ผู้ล่า”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เหยื่อ หรือ ผู้ล่า”

หลายปี ในสถานีวิจัยสัตว์ป่า เขานางรำ

นี่ไม่เพียงเป็นโอกาสดี แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือ สิ่งที่ได้รู้

ก่อนเข้ามาอยู่ในสถานีสัตว์ป่าอย่างจริงจัง ผมเข้าใจแค่ว่า ในป่ามีชีวิตหลักๆ อยู่สองประเภท

คือ ชีวิตซึ่งเป็นผู้ล่า

และชีวิตที่ถูกล่า

ในความเป็นจริง มันก็ไม่ได้ผิดไปจากนี้หรอก แต่เมื่อได้เข้าไปอยู่อย่างใกล้ชิด ได้เรียนรู้

ผมก็พบว่า ในความเป็น “เหยื่อ” และ “ผู้ล่า”

ชีวิตมีอะไรมากกว่านั้น

ถ้าอยู่ในสถานภาพของความเป็นเหยื่อ

ไม่ว่าจะมีขนาดร่างกายเล็กหรือใหญ่โตแค่ไหน ทุกๆ ตัวมีโอกาสที่จะกลายเป็นเหยื่อของสัตว์ผู้ล่า

ร่างกายของสัตว์ป่าทุกชนิด ได้รับการออกแบบมาอย่างดี สอดคล้องกับหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดชอบ

ไม่ว่ามีหน้าที่อะไร พวกมันจะได้รับอวัยวะที่เหมาะ เปรียบเสมือนเครื่องมืออันเหมาะสมติดตัวมา

สัตว์กินพืชได้รับการออกแบบร่างกายมาแบบหนึ่ง พวกมันไม่มีเขี้ยวเล็บแหลมคม ถึงแม้ว่าจะมีเขา หรือร่างกายบึกบึน แต่นั่นมักมีไว้เพียงเพื่ออวดตัวเมีย หรือข่มขวัญตัวอื่น ในกรณีที่ต้องการให้ตัวเมียสนใจ

เขา หรือความแข็งแรงบึกบึนของร่างกาย ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้บ้าง นานๆ ครั้ง โดยปกติสัตว์ป่าจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ เพราะพวกมันรู้ดีว่า หากร่างกายมีอาการบาดเจ็บ มีแผล นั้นคืออุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน และบาดแผลเล็กๆ อาจลุกลามใหญ่กระทั่งถึงแก่ชีวิต

ตกลงเรื่องการครอบครองพื้นที่ไม่ได้ หรือไม่เกรงใจเจ้าของพื้นที่ นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ต้องต่อสู้

แต่สาเหตุหลักที่เหล่าตัวผู้ต้องต่อสู้กัน

นั้นคือ ตัวเมีย

สัตว์กินพืช ได้รับสิ่งที่มาทดแทนเขี้ยวเล็บเพื่อป้องกันตัว เป็นประสาทสัมผัสในการระวังไพร อันเป็นเลิศ

ไม่ว่าจะเป็นสายตาที่ดี จมูกรับกลิ่นเร็ว รวมทั้งหูซึ่งจะรับฟังได้อย่างยอดเยี่ยม

อีกทั้งทุกตัวจะมีฝีเท้าในการวิ่งได้อย่างรวดเร็วและวิ่งได้ในระยะไกลๆ

ที่สำคัญอีกประการคือ พวกมันมีระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมฝูงเป็นอย่างดี

ช่วยกันระวังขณะออกสู่ที่โล่ง หากินในทุ่งหญ้าหรือในโป่ง ต้องมีผู้ทำหน้าที่เป็นยาม คอยดูและเตือนให้สมาชิกในฝูงรู้ตัว หากมีผู้ล่าเข้าใกล้ๆ

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ช่วยให้พวกมันหลุดรอดพ้นจากการถูกล่าได้บ้าง

แต่หลายครั้งก็พลาด

และเมื่อใดที่พลาด นั่นย่อมหมายถึงชีวิต

งานสำคัญของนักวิจัยในสถานีสัตว์ป่า เขานางรำ คือ ศึกษาวิถีชีวิตเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าที่อยู่ในลำดับบนสุด

เสือโคร่ง ถูกจับเพื่อสวมปลอกคอ ติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ

เฝ้าดูการดำเนินชีวิตของเสือ

ข้อมูลที่ได้ ทำให้ความลึกลับในวิถีเสือ เป็นที่รับรู้มากขึ้น

และถูกนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่อันเป็นแหล่งอาศัยของเหล่าสัตว์ป่าอย่างได้ผล

เวลาผ่านไป 3 ปี

เสือโคร่งหลายตัวที่ถูกจับสวมปลอกคอ ติดเครื่องส่งสัญญาณ หมดภารกิจ

พลังงานแบตเตอรี่วิทยุหมด ปลอกคอหลุด

เราไม่รู้ความเคลื่อนไหวของมันอีกต่อไป

เสือหลายตัวถูกติดตามตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 2 ปี ยังไม่มีอาณาเขตของตัวเอง ช่วงนั้นคือความยากลำบาก และแน่นอน มันเป็นความยากลำบากสำหรับเราด้วย

เสือพาเราขึ้นไปตามพื้นที่อันเป็นสันเขาสูงๆ เส้นทางชันๆ ลื่นไถล กระทั่งผมอดแปลกใจไม่ได้ว่า เสือขึ้นมาได้อย่างไร

การฝึกฝนตัวเองให้แข็งแกร่ง จำเป็น

ผมแปลกใจว่า บนที่ชันๆ อย่างนั้น เสือขึ้นมาได้อย่างไร แต่ที่น่าแปลกใจกว่า บนพื้นที่ลักษณะเช่นนั้นก็มีเหยื่อให้มันล่า เราพบซากกวางและหมูป่าที่เสือล่าได้เสมอ

จากร่องรอย ผมได้เห็นชีวิตที่เรียกได้ว่า สันโดษ ดำรงชีวิตอย่างอ้างว้าง

รอยหมอบกินน้ำจากแอ่งน้ำซับเล็กๆ รอยนอนพักอยู่ใต้หลืบหิน รวมทั้งการใช้เหยื่ออย่างคุ้มค่า

เสือจะทิ้งเหยื่อไปก็เมื่อเหลือแต่กระดูกท่อนโตๆ เท่านั้น

เราเฝ้าดู จนกระทั่งมันแกร่งพอ และสามารถ “เบียด” เจ้าถิ่นเดิมออกไปเพื่อเข้าครองอาณาเขตแทน

ขณะเราทำความรู้จักเสือ

พูดได้ว่า เสือก็เรียนรู้ ทำความรู้จักเราเช่นกัน บางตัวคุ้นเคยกับเราดี เพราะถูกจับเพื่อเปลี่ยนวิทยุมากกว่าหนึ่งครั้ง

อีกนั่นแหละ ความคุ้นเคย ไม่ได้หมายความว่า

เสือจะให้เราเข้าใกล้ได้เกินระยะที่มันอนุญาต

บางครั้ง เสือแสดงความเป็นมิตรให้เราเห็น โดยการหมอบเฝ้าดูเราอยู่ใกล้ๆ

หลายครั้ง เปิดโอกาสให้เราเข้าไปตรวจสอบเหยื่อที่ล่าได้

แต่หลายครั้งที่มันต้อนรับเราด้วยเสียงขู่คำราม

ครั้งหนึ่ง หลังพักกินข้าวกลางวันกับเห็ดโคนต้มกับน้ำปลาร้า ที่ถาวร ผู้ช่วยนักวิจัย ใช้เวลาทำร่วมชั่วโมงเสร็จ

อ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้ตามเสือมายาวนาน เปิดเครื่องรับสัญญาณ ยกเสาอากาศขึ้นเหนือหัว

“ติ๊ก! ติ๊ก!” เสียงดังชัดเจน

เขาปลดสายสัญญาณออกจากเสา เสียงก็ยังชัด นี่หมายความว่า เสืออยู่ห่างเราในรัศมี 50 เมตร

อ่อนสา เดินนำไปตามทิศทางที่เสืออยู่ เสียงห่างออกไป

“นอนแอบดูเรากินข้าวอยู่ตรงนี้เองครับ” ถาวรนั่งลงดูร่องรอย

“อยากกินต้มเห็ดสูตรเด็ดแน่” ถาวรพูดขำๆ พลางเก็บขนเสือที่ร่วงอยู่ใส่ถุงที่เตรียมมา

สองวันก่อน เราตามไปพบซากลูกกระทิง

รอยการลงเขี้ยวตรงหัวกะโหลก แสดงถึงความแข็งแกร่ง

ตอนเข้าไปใกล้ มันต้อนรับเราด้วยเสียงคำรามไม่ยอมถอย

“รอสักพักครับ เดี๋ยวคงยอมถอย” อ่อนสานั่งพิงโคนต้นไม้ ถาวรเปิดกระป๋องยาเส้นตราแมว มวนกับกระดาษ จุดพ่นควันโขมง

อ่อนสาลุกขึ้นเดินหลบไป เขาเหม็นควันยาเส้น

“ไล่ยุงให้ครับ” ถาวรบอกผม

ผ่านไปราว 40 นาที อ่อนสาตรวจสอบสัญญาณเสียงเบาลง

“ไปแล้วครับ เข้าไปดูกัน”

ลูกกระทิงตัวนี้อยู่กับแม่ บริเวณนั้นมีรอยตีนกระทิงย่ำไว้อย่างสับสน เสือคงติดตามกระทิงฝูงนี้มาหลายวัน และโจมตีขณะกระทิงหยุดพัก กระทิงไม่ใช่เหยื่อที่เสือจะล่าได้ง่ายๆ

เป้าหมายของเสืออยู่ที่ลูกกระทิง ที่หลบคมเขี้ยวไม่พ้น

แม่จำใจต้องทิ้งซากลูกไว้

สัตว์ป่าไม่พิรี้พิไรอยู่กับการสูญเสีย

เดินหน้าต่อไป คือสิ่งที่พวกมันเลือกทำ

ในสำนักงานสถานีวิจัยสัตว์ป่า เขานางรำ

ทุกเช้า สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ จะนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอภาพแสดงแผนที่ทางอากาศ พื้นที่ป่าบริเวณตอนกลางป่าห้วยขาแข้ง

จุดสีเหลือง คือตำแหน่งเสือที่เรากำลังตาม

“ดูเหมือนเสือตัวนี้จะโดนเบียดออกไปบ้างแล้วครับ” เขาพูด และชี้ที่จุดเหลืองในแผนที่

“มันมาอยู่แถวๆ นี้นานแล้ว” บริเวณนั้นเป็นเขาสูง และไม่ไกลจากแนวเขตป่า

เราตามมันตั้งแต่เริ่มแยกออกจากแม่ ยังไม่มีอาณาเขต จนกระทั่งครอบครองอาณาเขตได้

ถึงตอนนี้ มันถูก “เบียด” ออกไปโดยเสือที่แข็งแกร่งกว่า

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

วิถีของเสือเป็นเช่นนี้

และเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานแล้ว

การตรวจสอบซากเหยื่อที่เสือล่าได้ คืองานอย่างหนึ่งของเรา

สภาพสัตว์กินพืชที่โดนฆ่าโดยเสือนั้น หากเราไปพบหลังจากถูกฆ่าแล้วราวๆ 3 วัน กลิ่นซากจะรุนแรง แมลงวันตอมหึ่ง หนอนยั้วเยี้ย

ขนาดของหนอนบอกถึงอายุซากได้ ซากทุกตัวจะมีรอยลงเขี้ยวแถวๆ คอ

กลิ่นซากฉุนเข้าจมูก และเหมือนกับจะไม่จางหาย

ตลอดเวลาหลายปี ผมพบเห็นซากจำนวนมาก

“ซาก” อันบ่งบอกถึง “ผลงาน” และหน้าที่ของเสือ

รอบๆ ซาก จะปรากฏร่องรอยมากมาย จากรอยต่างๆ เรามองเห็นภาพที่เกิดขึ้น

ร่องรอยการต่อสู้ดิ้นรน ในสภาพความเป็นเหยื่อ ใช่ว่าจะยอมง่ายๆ

รอยหมอบเฝ้ารออย่างอดทน

เสือมีร่างกาย รวมทั้งทักษะที่ได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมก็จริง

แต่การล่า ต้องใช้พลังงานมาก

และความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง

จากร่องรอย ผมเห็นเป็นภาพชัดว่า “เสือ”

ชีวิตของพวกมันไม่ง่ายดายเลย

ในป่า มีชีวิตที่ถูกล่า และชีวิตซึ่งเป็นผู้ล่า

เวลาหลายปีในสถานีวิจัยสัตว์ป่า เขานางรำ

หลายปีกับการมีโอกาสติดตามชีวิตผู้ล่า

ผมไม่แน่ใจนักว่า

“เหยื่อ หรือ ผู้ล่า”

ใครมีชีวิตอันยากลำบากมากกว่ากัน