ยุทธศาสตร์วัคซีน : ฤๅประเทศนี้ไม่มีจริง/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ยุทธศาสตร์วัคซีน : ฤๅประเทศนี้ไม่มีจริง

 

ระบบราชการไทย คุ้นเคยกับคำว่า “ยุทธศาสตร์” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 หรือเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. และนำแนวคิดการบริหารสมัยใหม่ต่างๆ มาใช้ในระบบราชการ โดยหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญ คือ การกำหนดให้หน่วยราชการต้องมียุทธศาสตร์ (Strategy) ในการทำงาน

จากระบบราชการที่ทำงานแบบเพียงตามระเบียบ ข้อบังคับ ทำงานตามแบบแผนที่เคยปฏิบัติหรือเพียงแค่ตอบสนองความต้องการของผู้บังคับบัญชา มาเป็นหน่วยราชการที่ต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนระยะยาว 4-5 ปี มีการประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อให้รู้ถึงจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง และเห็นโอกาสและภาวะคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ทุกหน่วยราชการมีการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ในการทำงาน มีตัวชี้วัดความสำเร็จและมีการประเมินผลจากหน่วยงานภายนอกอย่างจริงจังจนถึงขนาดตั้งเป้าหมายว่านับจากนี้ ระบบราชการไทยจะทันสมัย มีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เลิกติดยึดกับระเบียบปฏิบัติที่ล้าสมัย สามารถตอบสนองทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและมีผลการทำงานเป็นที่พึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการ

ยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 ระบุไว้ชัดว่า “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญจำเป็นในเรื่องยุทธศาสตร์

หากแต่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ดูเหมือนเราแทบไม่เห็นการทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย

 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข

ในเอกสารแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข พ.ศ.2560-2579 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ.2561) ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี โดยมีเป้าหมายการทำงานในแต่ละช่วงคือ

5 ปีแรก (พ.ศ.2560-2564) เน้นการปฏิรูประบบ ปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและการวางพื้นฐานระบบสุขภาพใหม่

ช่วงที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) สร้างความเข้มแข็งของการจัดโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และระบบการบริหารจัดการ โดยให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้

ช่วงที่ 3 (พ.ศ.2570 -2574) สู่ความยั่งยืน ทั้งทางด้านการเงิน การคลัง สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นระบบสุขภาพที่พึ่งพาต่างประเทศให้น้อยที่สุด

และช่วงที่ 4 (พ.ศ.2575-2579) เป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย โดยมีระบบสุขภาพที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ คุณภาพ ตรวจสอบได้ สามารถแข่งขันกับนานาชาติ

เมื่อลงลึกไปใน 15 แผนงาน 45 โครงการ พบว่าสิ่งที่เป็นเนื้องานเกี่ยวกับการป้องกันโรคนั้น อยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ (Promotion, Prevention & Protection Excellence) โดยมีรายละเอียดในเรื่อง

1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกกลุ่มวัย ที่เน้นปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นและแตกต่างกันในประชาชนแต่ละช่วงวัย

2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ เป็นการส่งเสริมการทำงานแบบประชารัฐ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

3) การป้องกัน ควบคุมโรคและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ให้สามารถรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่เกิดจากโรคและภัยสุขภาพได้

และ 4) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ที่พยายามมองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อหาทางแก้ไข

โดยจุดเน้นที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคร้ายอยู่ที่ แผนงานที่ 3 การป้องกัน ควบคุมโรคและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่เมื่อลงลึกไปในโครงการที่ 7 ซึ่งเป็นโครงการควบคุมโรคติดต่อ กลับปรากฏเพียงแค่การระบุโรคติดต่อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคติดต่อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่วนที่พอจะเกี่ยวข้องกับโควิด-19 ก็คือ โครงการที่ 6 การพัฒนาระบบการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและภัยสุขภาพ โดยให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินที่สามารถรับมือกับโรคและภัยสุขภาพได้

ในขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 2-4 ที่เหลือ ก็เป็นเรื่องการบริการที่เป็นเลิศ (Service Excellence) บุคลากรที่เป็นเลิศ (People Excellence) และการบริหารที่เป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล (Government Excellence) เท่านั้น

 

วัคซีนไม่มียุทธศาสตร์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ที่คาดการณ์ไม่ถึงว่าจะมีความรุนแรงกระทบต่อชีวิตของประชาชนคนไทยทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่การบริหารวัคซีนของรัฐบาลไทยกลับไม่มีสิ่งใดที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอย่างมียุทธศาสตร์

1) การพึ่งตัวเองที่ไม่สามารถพึ่งได้ วัคซีนทั้งหมดยังต้องพึ่งพาต่างชาติ แม้โรงงานที่ผลิตในไทยก็เป็นเพียงการรับจ้างผลิต ไม่ใช่การถ่ายทอดเทคโนโลยี แม้จะมีการส่งเสริมให้มีวัคซีนของคนไทย เช่น ChulaCov-19 ที่เป็นวัคซีนชนิด mRNA และ ใบยา ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด Subunit ที่ผลิตจากพืช ถึงจะมีความก้าวหน้าแต่ก็ยังต้องรอคอยผลการทดลองอีกหลายขั้นกว่าที่จะสามารถใช้จริงได้

2) การพยากรณ์ และวางแผนภายใต้ข้อมูลที่ผิดพลาด การเชื่อข้อมูลที่ว่าเราจะมีวัคซีนหลักจาก AstraZeneca ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จำนวนเดือนละ 10 ล้านโดส และจำเป็นต้องสั่ง Sinovac เป็นวัคซีนที่ใช้ในสถานการณ์เร่งด่วนก่อนมีวัคซีนหลัก เป็นการพยากรณ์และวางแผนที่ผิดพลาดที่แม้แต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงยังเชื่อและออกมาสื่อสารผิดๆ ต่อประชาชน และจบลงที่ต้องสั่ง Sinovac มาเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาวัคซีนไม่มี จนกลายเป็นวัคซีนหลักของชาติไปแล้ว

3) การเลือกใช้วัคซีนที่นำไปสู่ปัญหาต้องเริ่มต้นใหม่ การเลือกใช้วัคซีนเชื้อตาย เช่น Sinovac ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าที่ไม่สามารถรับมือกับการกลายพันธุ์ ทำให้การฉีดที่ผ่านมาเหมือนต้องมาเริ่มต้นใหม่ โดยใช้วิธีฉีดสูตรไขว้ สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีด และฉีดเข็มที่สามที่เป็น mRNA เช่น Pfizer หรือ Viral Vector เช่น AstraZeneca และในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ต้อง นำเข็มสามดังกล่าวมาฉีดให้กับประชาชนอีกนับสิบล้านที่ฉีดภายใต้สูตรเชื้อตาย 2 เข็มไปแล้ว

4) กลไกการจัดการภาครัฐยังเต็มไปด้วยระเบียบขั้นตอน ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและรุนแรงขึ้นทุกวัน เรายังไม่เห็นระบบราชการที่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ดังตัวอย่าง วัคซีนทางเลือกที่ประชาชนยินดีจ่ายเงินตนเองให้ได้มาฉีด เช่น Moderna ผ่านไปกี่เดือนแล้วยังไม่เห็นกำหนดการว่าจะฉีดได้เมื่อไร หรือชุดตรวจ ATK ที่สมควรรีบจัดหา ทั้งๆ ที่บอร์ด สปสช.อนุมัติเงิน 1,014 ล้านบาทไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ผ่านไปกว่าหนึ่งเดือนยังไม่สามารถลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้

5) ขาดความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ สิ่งที่เขียนในยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุข คือ การบริหารองค์การอย่ามีธรรมาภิบาล โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ แต่การบริหารวัคซีนกลับเต็มไปด้วยคำถามและไม่มีคำตอบที่พร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น สัญญาการจัดซื้อต่างๆ ทั้งราคาที่จัดซื้อ กำหนดการส่ง และบทลงโทษหากไม่กระทำตามสัญญา การจัดสรรวัคซีนเป็นไปอย่างน่าสงสัยว่าได้ดำเนินการบนหลักเหตุผลความจำเป็นหรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ฐานคะแนนเสียงทางการเมือง การฉีดวัคซีนมีข่าวคราวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ ครอบครัว ผู้ใกล้ชิดผู้บริหาร หรือบุคคลบางกลุ่มอาชีพที่ไม่ใช่ด่านหน้าแต่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพก่อนประชาชนทั่วไป

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ว่าดีนักดีหนา วันนี้จึงสมควรต้องตอบว่า ยุทธศาสตร์วัคซีนนั้นมีไหม หรืออยู่หนใด