ศัลยา ประชาชาติ : ไขปริศนาข้าวสต๊อกรัฐบาล คัดข้าวดีฟันกำไรอื้อ สะเทือนคดีจำนำข้าว!

ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ได้มาจากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาจำนวน 18 ล้านตันได้กลับกลายมาเป็น “ข่าวใหญ่” ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเกิดความพยายามที่จะสร้างเรื่องขึ้นมาว่า สต๊อกข้าวสารทั้ง 18 ล้านตันนั้น “มีแต่ข้าวดี ไม่มีข้าวเสียเสื่อมสภาพ”

โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตว่า เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกับที่ “ศาล” กำลังจะมีคำพิพากษาคดีทุจริตข้าว GtoG รวมถึงคดีจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ด้วย

สต๊อกข้าวสารทั้ง 18 ล้านตันได้ถูกระบายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 หรือช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการรับจำนำข้าวของอดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นอย่างมากและยังเต็มไปด้วยการ “ทุจริต”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าว GtoG ให้กับจีนในสมัยของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติในการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลได้เปิดระบายข้าว 3 ปีที่ผ่านมาออกไปได้ถึง 15 ล้านตันจนอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของการขายข้าวก่อนที่จะปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว

แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ทำความ “หงุดหงิด” ให้กับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จากข้อกล่าวหาที่ว่า มีการให้ “ไฟเขียว” กับกรมการค้าต่างประเทศ หน่วยงานที่รับผิดชอบการระบายข้าวให้ใช้ “2 มาตรฐาน” ในการตัดสิทธิ์ผู้ประมูลและการจัดเกรดข้าวที่จะนำมาประมูล

จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

ยกตัวอย่าง 2 กรณีได้แก่

กรณี บริษัททีพีเค เอทานอล ได้ยื่นร้องต่อนายกรัฐมนตรี ว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) “ตัดสิทธิ์” บริษัทให้พ้นจากการร่วมประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (ถูกตัดสิทธิ์เพราะมีกรรมการบริษัท 2 คนถูกศาลฎีกาตัดสินให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยกรณีทำผิดสัญญาในโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง) ซึ่งบริษัทเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเฉลี่ยตันละ 2,332 บาท จำนวน 525,000 ตัน

แต่กรมการค้าต่างประเทศกลับให้สิทธิ์ผู้ส่งออกบางราย บริษัทพี เอส ซี สตาร์ซ โปรดักซ์ ซึ่งในวงการรู้กันดีว่า เป็นบริษัทของอดีตเลขาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดี GtoG ขายมันเส้นให้จีนไปแล้วกลับสามารถเข้าร่วมการประมูลข้าวได้ (อดีตเลขาฯ รัฐมนตรีท่านนี้ไม่มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทพี เอส ซี สตาร์ซ โปรดักซ์)

ผลจากกรณีร้องเรียนนี้ได้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เมื่อบริษัททีพีเค เอทานอล ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางและศาลมีคำสั่งรับฟ้องและสั่งให้กรมการค้าต่างประเทศ ระงับการประมูลข้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ออกไปก่อน พร้อมกับระงับการทำสัญญาขายข้าวล็อตนี้ให้กับผู้ชนะการประมูลที่เหลือ

โดยกรณีนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กำลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอยู่

 

ขณะที่อีกกรณีหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ กรณีของ “บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011” ซึ่งเป็นผู้รับฝากข้าวโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 โดยข้าวในคลังเป็นข้าวหอมมะลิ ปรากฏว่ากรมการค้าต่างประเทศได้เปิดระบายข้าวในคลังนี้มีผู้ให้ราคาถึง ก.ก.ละ 11.25 บาท แต่ “รัฐบาลไม่ยอมขาย” โดยอ้างว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในช่วงนั้น

ต่อมาได้มีการปรับปรุงระบบการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาลใหม่ ปรากฏ ข้าวหอมมะลิในคลังของ บจก.ประสิทธิชัยอุบล ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 หรือข้าวเพื่อระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ และเปิดประมูลใหม่

ปรากฏ บจก.กาญจนาอาหารสัตว์ เป็นผู้ประมูลได้ไปในราคา ก.ก.ละ 6.10 บาท

กลายมาเป็นคำถามที่ว่า ทำไม 11.25 บาทไม่ขาย แต่กลับขาย 6.10 บาท หรือการจัดเกรดมาตรฐานข้าวมี 2 มาตรฐานเพื่อเอื้อให้กับรายใดรายหนึ่งหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่มาจากโครงการรับจำนำข้าวทั้ง 18 ล้านตันก่อนที่จะถูกนำมาระบายนั้น คสช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล เป็นประธานมาชั้นหนึ่งแล้ว ผลการตรวจสอบ-เก็บตัวอย่างข้าว-ส่งวิเคราะห์คุณภาพข้าว-นับสต๊อกพบว่า

1) เป็นข้าวที่ถูกมาตรฐาน (เกรด P) 2.20 ล้านตัน

2) ข้าวที่ผิดมาตรฐานแต่ยังปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้ 10 ล้านตัน (เกรด A ปริมาณ 6.26 ล้านตัน-เกรด B ปริมาณ 3.74 ล้านตัน)

3) ข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก เกรด C ปริมาณ 5.47 ล้านตัน

และ 4) ข้าวผิดชนิด 0.09 ล้านตัน รวมปริมาณข้าวในสต๊อกที่ตรวจนับทั้งสิ้น 17.76 ล้านตัน

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ชุดทำงานที่เข้าไปตรวจนับจัดเก็บตัวอย่างข้าว 100 ชุดรวมถึงตัวประธานนั้น “มีมาตรฐานความรู้ความเข้าใจความเชี่ยวชาญในการสุ่มตรวจข้าวสารในโกดังที่มากถึง 17-18 ล้านตันมากน้อยแค่ไหน”

เนื่องจากคณะทำงานเหล่านี้ไม่ใช่ “เซอร์เวย์เยอร์มืออาชีพ” ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดความสุ่มเสี่ยงผิดพลาดมีอยู่สูงมาก

วงการค้าข้าวได้ “ทักท้วง” วิธีการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการว่า การแบ่งกลุ่มข้าวในลักษณะนี้ (4 กลุ่มข้างต้น) “จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตแน่นอน”

พร้อมกับยื่นข้อเสนอให้นำข้าวในสต๊อกรัฐบาลทั้งหมดมาเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ให้เอกชนเข้ามาเลือกซื้อข้าวที่ดีไป แล้วเมื่อเหลือข้าวที่เสื่อมรับมอบไม่ได้จึงค่อยนำมาเปิดประมูลเป็นข้าวเสื่อม

แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าเอกชนจะรวมหัวกันตีราคาข้าวรัฐเสื่อมหมดและซื้อไปในราคาถูกๆ

ดังนั้น รัฐบาลโดย นบข. จึงได้ยืนวิธีการประมูล พร้อมทั้งตั้ง “ราคาเกณฑ์ขั้นต่ำ” ในช่วงแรก แต่ปรากฏว่าวิธีการดังกล่าวทำให้ขายข้าวในคลังแทบไม่ได้เลยเพราะรัฐบาลต้องการราคาเกณฑ์ขั้นต่ำสูงๆ แต่เอกชนมองราคาข้าวต่ำ

สะท้อนออกมาให้เห็นจากภาวะการระบายข้าวในช่วงปี 2557-2559 เป็นไปอย่าง “ฝืดมาก” รัฐบาลสามารถระบายข้าวออกไปได้เพียง 8.01 ล้านตันเท่านั้น

 

ที่สำคัญก็คือ ผู้ส่งออกข้าว พ่อค้าโรงสี ค้นพบความจริงที่ว่า “ในกองข้าวเสียนั้นมีข้าวดีปะปนอยู่” ซึ่งเป็นผลมาจากความ “อ่อนหัด” ของชุดทำงานตรวจสอบข้าว 100 ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ไม่สามารถแยกกองขายตามคุณภาพหรือชนิดได้

ขณะที่รัฐบาลเองก็เริ่มกังวลว่าข้าวในสต๊อกที่เหลือจะเสื่อมสภาพและมูลค่าลดลงตลอดเวลา นำมาซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในเดือนมกราคม 2560 มีมติให้ปรับแนวทางการระบายข้าวในสต๊อก

ด้วยการแบ่งข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่เหลืออยู่เป็น 3 กลุ่มตามเกณฑ์คุณภาพของข้าว เพื่อแยกตลาดให้ชัดเจน และให้ “ขายเหมาแบบยกคลัง” ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นข้าวทั่วไปเพื่อการบริโภค กลุ่มที่ 2 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน และกลุ่มที่ 3 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ ส่งผลให้ตลาดการประมูลข้าวในสต๊อกรัฐบาล “คึกคัก” ขึ้นมาทันตาเห็น

เนื่องจากเหตุผลที่ว่า “ในกองข้าวเสียนั้นมีข้าวดีปะปนอยู่” แม้จะเป็นผู้ส่งออกข้าว-โรงสีต่างแย่งกันเข้ามาประมูลข้าวในกลุ่มที่ 2-3 ซึ่งควรจะเป็นตลาดการประมูลของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือกลุ่มโรงงานอาหารสัตว์กัน กันมากมายเป็นประวัติการณ์

โดยผู้ส่งออก-โรงสีบางรายถึงกับไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบโรงงานที่ไม่ใช่อาหารคน เพื่อให้ผ่านคุณสมบัติตามเกณฑ์ TOR เข้าประมูลข้าวเหล่านี้ได้

 

คําตอบจะออกมาในราคาที่ชนะการประมูลแค่ ก.ก.ละ 2.3 บาท แต่เมื่อคัดแยก-ปรับปรุงคุณภาพข้าวแล้ว สามารถนำข้าวที่ถูกจัดเกรดเป็นข้าวเสียเหล่านี้กลับมาขายในตลาดเป็นข้าวถุงเพื่อการบริโภคหรือส่งไปขายตลาดแอฟริกาได้ถึง ก.ก.ละ 8-9 บาท “ฟันกำไรจากการประมูลไปอย่างดงาม”

จึงกลายมาเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเอกชนทั้งที่ค้าข้าวหรือไม่ค้าข้าวถึงได้ “ดิ้นรน” จะเข้าไปซื้อข้าวที่ถูกจัดเกรดให้เป็นข้าวที่ระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อไม่ใช่การบริโภคของคนหรือสัตว์กันนัก

และเรื่องนี้นอกเหนือไปจากการฟันกำไรจากส่วนต่างระหว่างข้าวดีกับข้าวเสียแล้ว หากมีใครสักคนยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบคุณภาพ-การจัดเกรดข้าวสต๊อกรัฐบาลที่ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 2 ล้านตันขึ้นมาจนพบ “ความผิดปรกติ” ในการจัดกลุ่มตามเกณฑ์คุณภาพข้าวขึ้นแล้ว

เรื่องนี้ย่อมส่งผลสะเทือนไปถึง “มูลค่าความเสียหาย” ในคดีรับจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แน่นอน