เศรษฐกิจ/รัฐทุ่มไม่อั้น…ป๋าดันแจ้งเกิด “เอสเอ็มอี” ระวัง!!…หนี้เสีย-ปัญหาคอร์รัปชั่นฝังลึก กลับมาหลอน…ให้ตามแก้ไม่รู้จบ

เศรษฐกิจ

รัฐทุ่มไม่อั้น…ป๋าดันแจ้งเกิด “เอสเอ็มอี”

ระวัง!!…หนี้เสีย-ปัญหาคอร์รัปชั่นฝังลึก

กลับมาหลอน…ให้ตามแก้ไม่รู้จบ

“รวยกระจุก จนกระจาย”

น่าจะใช้เปรียบเทียบได้ดีกับสถานการณ์ธุรกิจของไทยในปีนี้

เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ยังสามารถสร้างผลประกอบการที่ดี โดยเฉพาะตลาดส่งออกแม้ค่าเงินบาทจะผันผวนอย่างหนัก แต่ยังได้รับอานิสงส์จากตัวเลขส่งออกที่ขยายในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม-พฤษภาคม 2560) ถึง 7.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี ทำให้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้ 5% ตามเป้าที่ตั้งไว้

จนภาคเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต้องปรับเป้าหมายส่งออกตาม จาก 2-3.5% เป็น 3.5-4.5%

ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คิดเป็น 98% ของธุรกิจในประเทศ ประสบปัญหา โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในประเทศ

ผู้บริหารท่านหนึ่งใน ส.อ.ท. ยอมรับว่ายังลำบากโดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งตลาดในประเทศจะหนักมาก เนื่องจากแรงซื้อในประเทศไม่ดี การแข่งขันด้านราคาสูงเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ขณะที่ต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าแรง

ส่วนเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าส่งออก เมื่อมีการสอบถามหลายรายได้ข้อมูลตรงกันว่า ยอดขายหลักๆ เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะการส่งออกของเอสเอ็มอียังคงติดปัญหาด้านสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ และยังเจอปัญหาเงินบาทผันผวน ที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ ขาดประสบการณ์

ตลอดจนขาดเงินทุนในการทำประกันป้องกันความเสี่ยง

จากสถานการณ์เอสเอ็มอีที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการใหญ่ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ภายใต้กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ใช้งบประมาณจากงบฯ กลางปี 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบ เงื่อนไขการขอกู้เงินจากกองทุนฯ มีระยะเวลาให้กู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีตลอดอายุสัญญา โดยกลไกของกองทุนนี้คือดึงจังหวัดเข้ามาเป็นผู้พิจารณาเอสเอ็มอีที่สมควรได้รับสินเชื่อ มีผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และ กกร. เพื่อให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นระบบ ตรงจุด ไม่มีปัญหาหนี้เสีย และเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อเสริมอื่นๆ ทั้งจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 3,000 ล้านบาท รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลาคืนเงิน 7-10 ปี และสินเชื่อเอสเอ็มอี ทรานฟอร์เมชั่น โลน อีก 15,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ดอกเบี้ย 3% ระยะเวลาคืนเงิน 7 ปี ปลอดเงินต้น 1 ปี

รวมวงเงินสินเชื่อสำหรับการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งระบบ 38,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีของ สสว. ยังมีการจัดสรรให้ไมโครเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กมาก อาทิ ร้านค้าประชารัฐ ร้านหนูณิชย์วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อกู้ยืมรายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาคืนเงิน 10 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จัดสรรเงิน 3,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 1% รายละไม่เกิน 600,000 บาท ระยะเวลาคืนเงิน 7 ปีปลอดเงินต้น 3 ปีแรก เพราะไมโครเอสเอ็มอีมักไม่ได้รับโอกาสทางการเงิน เนื่องจากไม่มีเครดิต หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อยังใจดีสุดๆ ผ่อนปรนให้กับไมโครเอสเอ็มอีที่มีปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ให้สามารถกู้ได้ด้วย

และปัจจุบันกองทุนเริ่มเดินหน้าปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงปัจจุบันภาพรวมทั่วประเทศมีการปล่อยสินเชื่อแล้วรวม 26,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 9,700 ราย และจากท่าทีของรัฐบาลล่าสุด อยู่ระหว่างจัดทำ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อให้เป็นกองทุนถาวรเครื่องมือหลักในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในต้นปีหน้า

วงเงินอยู่ระหว่างพิจารณา แต่เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทีมเศรษฐกิจโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ยังรุกคืบเร่งรัดมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเอสเอ็มอีส่งออก

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย

หลังการหารือมีมติมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย แก้ไขหลักเกณฑ์ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เตรียมขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี เป็น 30% จากเดิม 23.75% ต่อปี ที่ธนาคารพาณิชย์มองว่าเสี่ยงเกินไป ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559-มิถุนายน 2560 การดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้า มีการอนุมัติค้ำประกันได้เพียง 17,000 ล้านบาท จากวงเงินค้ำประกันทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท ประกอบกับอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 1.75% ต่อปี เป็นภาระต้นทุนของเอสเอ็มอีทำให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้คล่องตัว

ประเด็นนี้รัฐบาลจึงเตรียมพิจารณาว่าจะยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันได้อย่างไร หากเพิ่มหลักค้ำประกันเป็น 30% ส่วนต่าง 7% หรือคิดเป็นวงเงิน 7,000 ล้านบาท จากวงเงินโครงการ 1 แสนล้านบาทจะให้หน่วยงานใดเข้ามาอุดหนุนส่วนต่างที่เกิดขึ้น

ซึ่งการขยายวงเงินค้ำประกันก็เพื่อเร่งระบายวงเงินค้ำประกันที่เหลือ 83,000 ล้านบาทให้หมดภายในปีนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมของรองนายกรัฐมนตรีสมคิดยังสั่งการให้หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมเร่งหาแนวทางให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) มากขึ้น เพราะอาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่มีการคาดการณ์ว่าจะผันผวนถึงสิ้นปี

ประเด็นดังกล่าว นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่าจะเร่งหาข้อสรุปในการจัดทำมาตรการ ภายใน 2 สัปดาห์

ต้องติดตามผลการดำเนินการจากมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีครั้งนี้ว่าจะประสบผลสำเร็จแค่ไหน

จะสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

หรือสุดท้ายเป็นแค่มาตรการหวังผลคะแนนทางการเมือง ที่อาจสร้างทั้งหนี้เสียก้อนใหญ่ และปูทางสู่ปัญหาคอร์รัปชั่น วงจรเดิมๆ ของประเทศ