คุยกับทูต อาซิซ อาลีเยฟ โอกาสทางธุรกิจ กับเสือตัวใหม่ในเอเชียกลาง…อุซเบกิสถาน (ตอน 1)

 

คุยกับทูต อาซิซ อาลีเยฟ

โอกาสทางธุรกิจ

กับเสือตัวใหม่ในเอเชียกลาง

…อุซเบกิสถาน (ตอน 1)

 

ก่อนที่จะถึงวันครบรอบ 30 ปีแห่งการประกาศอิสรภาพของอุซเบกิสถาน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ.1991 และเฉลิมฉลองในวันที่ 1 กันยายนของทุกปี

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) ให้เกียรติเปิดสำนักงาน ณ สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร เพื่อพูดคุยกับเรา ก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งในประเทศไทย

“ผมได้รับการแต่งตั้งให้มาประจำประเทศไทยในปี ค.ศ.2018 อย่างไม่คาดฝัน ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะไม่ใช่เป็นเพียงโอกาสใหม่ในหน้าที่การงานของผมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความศรัทธาเชื่อมั่นในภารกิจหน้าที่ซึ่งต้องอุทิศตน ให้ความทุ่มเท ดูแลเอาใจใส่อย่างสูงสุด ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในความร่วมมือกับผู้แทนของรัฐบาลไทย ภาคเอกชน ธุรกิจ สถาบันวิเคราะห์ องค์กรทางวัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จุดประสงค์ก็เพื่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีต่อกันระหว่างประเทศไทยและอุซเบกิสถาน”

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

ท่านกงสุลใหญ่เปิดเผยว่า

“นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเป็นครั้งแรกในสายอาชีพทางการทูต ประเทศไทยได้กลายเป็นสถานที่พิเศษสำหรับผมและได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

 

อุซเบกิสถาน หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ประเทศในกลุ่มเอเชียกลางที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้เแก่ อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซสถาน และเติร์กเมนิสถาน

แผนที่ประเทศอุซเบกิสถาน

อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และล้อมรอบด้วยประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (double – landlocked countries) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน โดยอยู่ในทำเลที่ขนาบด้วยแม่น้ำใหญ่ 2 สาย คือ แม่น้ำอามูดาร์ยา (Amu Darya) และแม่น้ำซีร์ดาร์ยา (Syr Darya) ดินแดนแห่งอารยธรรมโบราณบนเส้นทางสายไหมแห่งนี้ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1991 ไทยได้ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของอุซเบกิสถานในวันต่อมาคือ 26 ธันวาคม

หลังจากนั้นในปีต่อมาจึงได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1992

 

การเปิดสถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน (Consulate-General of the Republic of Uzbekistan) ประจำกรุงเทพฯ เป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่การติดต่อทางด้านธุรกิจ และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและอุซเบกิสถาน

ซึ่งปัจจุบันมีสายการบินแห่งชาติของอุซเบกิสถานคือ อุซเบกิสถาน แอร์เวย์ส (Uzbekistan Airways) บินจากกรุงทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถานมายังกรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯ ไปกรุงทาชเคนต์ อุซเบกิสถาน ทำให้การติดต่อค้าขายสะดวกและขยายตัวสูงขึ้น

“ก่อนอื่น ผมอยากให้ทราบว่า อุซเบกิสถานและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ฉันมิตรอย่างแท้จริง เรามีความเคารพซึ่งกันและกัน มีการเจรจาอย่างเปิดเผย และมีความร่วมมือที่เป็นประโยชน์มาโดยตลอด”

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

“ประเทศของเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งรวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ (Shavkat Mirziyoyev) ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในด้านการค้า เศรษฐกิจและการลงทุนอย่างรวดเร็ว” นายอาซิซ อาลีเยฟ กงสุลใหญ่ให้ข้อมูล

ประเทศอุซเบกิสถานได้เปลี่ยนผ่านจากสังคมนิยมสู่ระบบทุนนิยมอย่างราบรื่น ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่คือ ชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ในช่วงปลายปี 2017 โดยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 หลังนายอิสลาม คาริมอฟ (Islom Karimov) อดีตประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ และอยู่ในอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 25 ปี เสียชีวิตในปี ค.ศ.2016

ประธานาธิบดีอุซเบกิสถาน นายชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ (Shavkat Mirziyoyev)

ประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ได้พัฒนาและปฏิรูปอุซเบกิสถานอย่างจริงจังในหลายๆ ด้าน จนกล่าวกันว่าเป็น ‘อุซเบกิสถานใหม่’ ทั้งการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย การพัฒนาประเทศให้ทันสมัย การพัฒนาศักยภาพพลเมืองสู่ตลาดแรงงานสากล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ โดยพยายามพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น ทำให้เห็นว่าประเทศนี้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

 

“เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่เราได้กระชับความร่วมมือกันในทุกด้านอย่างมีนัยสำคัญสำหรับปีที่น่ายินดี นั่นคือ วันครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

“นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับผมที่ได้มาดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย และด้วยความยินดีอย่างยิ่งที่ผมได้บรรลุภารกิจทางการทูตที่ได้รับมอบหมายจากการนำโดยผู้นำประเทศของเรา ถือเป็นก้าวสำคัญในภารกิจที่เป็นประวัติศาสตร์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อุซเบกิสถานให้ขึ้นสู่ระดับใหม่”

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอุซเบกิสถาน เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเราไม่ได้แข่งขันกัน หากแต่ได้ส่งเสริมซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก”

อาคารรัฐสภา(สภาสูงสุด) นาวอย ปาร์ค ทาชเคนต์ อุซเบกิสถาน ภาพจาก Wikimedia

“อุซเบกิสถานเป็นพันธมิตรสำคัญของไทยในเอเชียกลาง ดังนั้น แม้ในปีนี้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของเราเพิ่มขึ้นสามเท่าและสูงมากกว่า 111 ล้านเหรียญสหรัฐ”

“เรานำเข้าผลิตภัณฑ์เคมี น้ำมัน โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (non-ferrous metals) และเหล็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องจักรจากประเทศไทย เรายังส่งออกผลิตภัณฑ์เคมี โลหะเหล็ก เมล็ดพืช และผลไม้มายังประเทศไทยด้วย”

Humo Arena เป็นสนามกีฬาในร่มแบบมัลติฟังก์ชั่นที่ตั้งอยู่ในเมืองทาชเคนต์ประเทศอุซเบกิสถาน ภาพจาก Wikimedia

“ผมเชื่อว่า ประเทศของเราทั้งสองมีศักยภาพที่ดีในการขยายการค้าทวิภาคี ซึ่งตอนนี้อุซเบกิสถานได้สร้างและเปิดโรงงานเพื่อการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ การแปรรูปและการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอรวมถึงผ้าไหมเรียบร้อยแล้ว”

“ผมยังเห็นโอกาสที่ดีสำหรับผลไม้จากอุซเบกิสถานในตลาดไทย เช่น เชอร์รี่ เชอร์รี่หวาน แอปริคอต ลูกพีช ลูกพลัม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ผักและผลไม้ส่วนใหญ่ที่ปลูกในอุซเบกิสถานประสบความสำเร็จในการจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย รวมทั้งประเทศในยุโรป และเอเชีย ภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก”

“นอกจากนี้ อุซเบกิสถานยังทำหน้าที่เป็นประตูการค้าไทยสู่ตลาดอันกว้างใหญ่ของเอเชียกลางและเครือรัฐเอกราช และเรายังมีการขยายความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการลงทุนของไทยในอุซเบกิสถานมากกว่า 10 โครงการ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่กลุ่มนักลงทุนไทยได้ให้ความสนใจในอุซเบกิสถานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

 

นายอาซิซ อาลีเยฟ (His Excellency Mr. Aziz Aliev) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

 

นายอาซิซ อาลีเยฟ

กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน  ประจำประเทศไทย

ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP)

 

การศึกษา

1996 : สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน Tashkent State Institute of Oriental Studies สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

2001 : ปริญญาโทจาก KDI School of Public Policy and Management (สาธารณรัฐเกาหลี) วิชาเอกนโยบายระหว่างประเทศ

 

ประสบการณ์การทำงาน

1996-1999 : นักการทูต, เลขานุการตรี กรมองค์การระหว่างประเทศและสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

2002-2005 : นักการทูต, เลขานุการตรี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

2005-2009 : เลขานุการโท, เลขานุการเอก กรมองค์การระหว่างประเทศและสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

2009-2013 : เลขานุการเอก, ที่ปรึกษา รองผู้แทนถาวรของสาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

2013-2018 : หัวหน้าฝ่ายโครงสร้างองค์การสหประชาชาติและระหว่างประเทศ แผนกองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

21 พฤษภาคม 2018-ปัจจุบัน : กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำประเทศไทย และผู้แทนถาวรสาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำ UN ESCAP

 

ข้อมูลส่วนบุคคล

เกิด : 15 กุมภาพันธ์ 1974 กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

ภาษา : ภาษารัสเซีย อุซเบก และอังกฤษ

สถานภาพ : สมรส บุตร 3 คน ธิดา 1 คน