คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : โหราศาสตร์กับศาสนา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

โหราศาสตร์แฝงฝังอยู่ในแทบทุกศาสนา ไม่ว่าจะไทย จีน แขก ฝรั่ง ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่ของศาสนาแต่เป็นวิชาการทั้งของชาวบ้านและปราชญ์ที่ศาสนารับไปภายหลัง

แต่ปัญหาของโหราศาสตร์ในระบบมันเองมีสองสามเรื่อง อย่างแรกคือ “ความสัมพันธ์” ระหว่างดวงดาว กับปรากฏการณ์บนโลกของชีวิตแต่ละคน ซึ่งไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่ามันเกี่ยวข้องกัน

ปัญหาอีกประการคือเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าแก้ไขชะตาชีวิตได้ก็อาจทำให้ ความ “ไม่แม่น” เกิดขึ้น กลายเป็นขัดแย้งในตัวเอง

อีกปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นในระบบ คือความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับศาสนา ซึ่งไม่ว่าจะพุทธและพราหมณ์ก็มีการใช้โหราศาสตร์เป็นเครื่องมือทั้งนั้น

แต่นักการศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาส่วนใหญ่เห็นว่า วิชาโหราศาสตร์จัดอยู่ในประเภท “เดรัจฉานวิชา” โดยมีคำเฉพาะว่า “แหงนหน้ากิน” คือแหงนหน้าดูดาวและพยากรณ์เพื่อหากินนั่นแล ไม่ใช่สิ่งที่พระภิกษุควรเรียนหรือใช้ ผิดพระธรรมวินัย และเป็นสิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงเพราะพระหวังอามิส

แต่ในทางกลับกันจะเห็นว่ามีพระภิกษุไทยหลายรูปที่เชี่ยวชาญโหราศาสตร์และใช้ช่วยชาวบ้านตามแต่โอกาส อย่าง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เป็นต้น

อีกทั้งพุทธศาสนาในฝ่ายเหนือ เช่น พุทธศาสนาแบบทิเบตก็มีการใช้โหราศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญได้รับการรับรองโดยพระอาจารย์ระดับสูงด้วย

 

ถ้าจำพุทธประวัติสมัยที่เราเรียนหนังสือกันได้ พุทธบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณ์มาเลี้ยงและทำพิธีตั้งชื่อในวันที่สิบห้าหลังเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ (พราหมณ์เรียกพิธีนี้ว่า “นามกรรม” คือการตั้งชื่อเด็กแรกเกิด จัดเป็นหนึ่งใน “สัมสการ” สำคัญ คือพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงชีวิต ปัจจุบันยังทำอยู่)

ในพุทธตำนานเล่าว่าพราหมณ์ทั้งหลายพากันพยากรณ์ว่าเจ้าชายองค์นี้หากไม่เป็นจอมจักรพรรดิราชก็จะเป็นศาสดาเอก มีเพียงอัญญาโกณฑัญญะพราหมณ์เท่านั้นที่ยืนยันว่า ต้องเป็นเอกศาสดาของโลก

ผมไม่แน่ใจว่าตำนานนี้มาจากคัมภีร์ไหน แต่ดูเหมือนว่าจะถูกเน้นย้ำมากๆ ซึ่งแปลกดีที่เริ่มต้นปฐมบทพุทธประวัติด้วยสิ่งที่ “ขัดพระวินัย” เช่น โหราศาสตร์ และที่สำคัญดัน “แม่น” เสียด้วย

ดังนั้น ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ที่โหราศาสตร์นั้นไม่ได้ขัดกับพุทธศาสนาโดยตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่า มันถูกใช้ด้วยท่าทีแบบไหนและเพื่ออะไรมากกว่า เช่นเดียวกับ “ไสยศาสตร์” อื่นๆ ที่เข้ามาอิงแอบกับศาสนา

 

สมมุติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ (ซึ่งนักวิชาการหลายท่านว่า มันพิสูจน์ไม่ได้นั่นแล) ระหว่างดวงดาวกับชีวิตคนในทางโหราศาสตร์ ผมเข้าใจว่ามีอยู่สองลักษณะ ซึ่งมาจากฐานคิดทางศาสนาสองแบบ

แบบแรก คือความคิดที่ว่า การเคลื่อนที่ของดวงดาวและความสัมพันธ์ของมันมี “พลัง” หรืออิทธิพลต่อสิ่งอื่นๆ บนโลก พูดง่ายๆ คือ พลังของดวงดาวนั่นเองที่ส่งผลต่อชีวิตเราแต่ละคน

ลักษณะคำอธิบายเช่นนี้ให้ความสำคัญต่อ “อิทธิพลภายนอก” มาก ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาโบราณ หรือศาสนาประเภทเทวนิยม เช่น พราหมณ์-ฮินดู โดยตระหนักว่ามนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงไม่แปลกที่โลกธรรมชาติจะส่งผลถึงพฤติกรรม อารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และความเป็นไปของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับการขึ้นลงของน้ำซึ่งเป็นพลังงานของดวงจันทร์ หรือแสงแดดอันแผดเผาของดวงอาทิตย์

ดวงดาวทั้งหมดจึงสามารถที่จะส่งอิทธิพลได้ กระนั้นปัญหาของคำอธิบายแบบนี้คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่าอิทธิพลที่ว่ามีอะไรบ้าง มากน้อยเพียงไร สัมพันธ์กันจริงหรือไม่ และที่สำคัญในทางโหราศาสตร์พลังงานของดวงดาวไม่ได้มีเซนส์แบบ “อิทธิพล” แต่เป็นลักษณะของการ “บงการ” หรือให้ผลในอนาคตมากกว่า

แม้เมื่อศาสนาฮินดูเริ่มพัฒนาแนวคิดเรื่องกรรมแล้ว คำอธิบายเหล่านี้ก็ดูจะไม่ได้ชัดเจนขึ้นมากนัก อีกทั้งกลับมีการสร้างเทวตำนานเกี่ยวกับดวงดาวเพื่ออธิบายหลักโหราศาสตร์อีกชั้น

และทำให้พิธีการบูชาดวงดาว การสะเดาะเคราะห์ แพร่หลายมากขึ้น

 

ผมไปท่องเที่ยวในอินเดียมาหลายปี สิ่งที่เปลี่ยนไปคือในเทวสถานเก่าๆ เดิมๆ เขาเริ่มจะรับเอาพิธีบูชาเทวดานพเคราะห์จากที่อื่นๆ มาเพิ่มไว้ ซึ่งแค่เมื่อห้าหกปีที่แล้วผมจำได้ว่ายังไม่มี เช่น การเอาน้ำมันไปรดเทวรูปพระเสาร์ และผมก็เห็นการโปรโมทพิธีกรรมและเทวสถานใหม่ๆ ของเทพนพเคราะห์โดยโหรทางโทรทัศน์ในอินเดียมากขึ้นทุกที

ไม่ต่างกับสถานการณ์ในบ้านเราแต่ประการใดเลยครับ เพราะผมเกิดก่อนมีการประดิษฐ์พิธี “ถวายของดำแปดอย่าง” และก่อน “ราหู” จะดังในหมู่คนไทยมากขนาดนี้เล็กน้อย ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในยุคนี้

ความคิดแบบที่สองเป็นการคิดชนิดกลับหัวกลับหางเลยครับ คือความคิดว่าที่แท้แล้ววิชาโหราศาสตร์ไม่ได้อยู่บนฐานที่เชื่อว่าดวงดาวส่งอิทธิพลต่อเรา แต่ที่จริงความสัมพันธ์ของดวงดาวคือ “ร่องรอยกรรม” ที่สะท้อนออกมาบนท้องฟ้าในวันที่เราเกิดนั่นเอง

กล่าวแบบง่ายคือ “บุพกรรม” หรือกรรมเก่าของเรานั่นแหละที่ไปทำให้ ดวงดาวเหล่านั้นมันโคจรและอยู่ในตำแหน่งนั้น

งานของโหรจึงเหมือนงานนักสืบ คือไปล้วงแคะแกะเกา ตีความเจ้าร่องรอยกรรมเก่าที่อาจส่งต่อชีวิตในปัจจุบันชาตินี้และอนาคตได้

 

ดังนั้น ทั้งหมดไม่มีอะไรนอกจากเรื่องกรรม แต่แม้จะฟังดูเข้ากับแนวคิดทางพุทธศาสนามากๆ คือไม่มี “อิทธิพลภายนอก” มาบงการชีวิตของใคร ไม่ว่าดาวหรือเทพ แต่เป็นเพียงวิบากหรือผลกรรมของเราเท่านั้นเอง แต่ก็มีจุดที่น่าสงสัยอยู่

อย่างแรก ปัญหายังคงอยู่ที่เจ้าความสัมพันธ์อีกเช่นกัน ยังคงไม่มีอะไรพิสูจน์ว่า เหตุใดดวงดาวจึงสัมพันธ์กับกรรมของเราในลักษณะที่กรรมไปบงการดวงดาว และการถือว่ากรรมเก่ามีอิทธิพลต่อชีวิตในชาตินี้ล้วนๆ ก็ดูจะขัดหลักพุทธศาสนา

หากบอกว่าไม่ได้บงการร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะวนกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่ว่า จะรู้ได้ไงว่ามีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ยิ่งส่วนของพิธีกรรมอีก ในเมื่อมันเป็นเรื่องกรรมแล้วจะขจัดปัดเป่าอย่างไรได้ บางท่านก็ว่า พิธีกรรมทางโหราศาสตร์เมื่อเข้ามาสู่ร่มพุทธศาสนาจึงเปลี่ยนจากการบูชาดวงดาวโดยตรงเป็นการอ้างพุทธานุภาพเพื่อขจัดปัดเป่าแทน

แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าพุทธานุภาพที่กล่าวถึงนี้คืออะไร และขจัดปัดเป่า “ผลกรรม” ได้จริงหรือไม่ อย่างไร หรือจะมีคำอธิบายอย่างอื่นที่สมเหตุสมผลกว่า เช่น หากเคราะห์ร้ายไม่ใช่ผลกรรม แต่เป็น “สิ่งภายนอก” พุทธานุภาพจะขจัดปัดเป่าได้อย่างสมเหตุสมผลกว่าหรือไม่

แต่แม้จะมีข้อบกพร่องมากน้อยเพียงใด กระนั้นเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า โหราศาสตร์ก็อาจไม่ขัดกับหลักศาสนาไปเสียทั้งหมด ผมจึงบอกแต่ต้นว่า เครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้โดยท่าทีและวิธีการตีความแบบไหน เพราะพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ เข้าไปสู่ดินแดนไหนก็พยายามเข้ากับวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นนั้น

พุทธมหายานแบบจีนจึงมีพิธีบูชาดวงดาว ซึ่งชาวเต๋าเขาบูชากันอยู่แล้วก่อนพุทธจะเข้าไปในจีน ครั้นเข้าไปก็ไม่ไปทำลายศรัทธาชาวบ้าน แต่อธิบายเสียใหม่ว่า ดวงดาวเหล่านั้นคือพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆ ชาวพุทธจะกราบไหว้โดยตระหนักข้อนี้ก็ไม่เสียหายอันใด

แม้แต่ไหว้พระจันทร์ เขาก็อธิบายใหม่ว่า พระจันทร์นั้นเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆ์จนจึงจัดไหว้พระจันทร์ไปพร้อมกับชาวบ้านด้วยได้

 

บางท่านว่า สิ่งเหล่านี้มักเกิดเพราะพุทธศาสนาหรือศาสนาใหม่พยายามจะแข่งขันกับศาสนาที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นนั้นๆ ผมก็เห็นว่ามีเหตุนี้ก็มีส่วน แต่ก็อยากมองในแง่ดีด้วยว่า พุทธศาสนานั้นมีหลัก “อุปายะ” คืออะไรที่พอจะใช้เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายก็ย่อมใช้ได้ ขอแค่ไม่เสียท่าทีและเป้าหมาย

ที่จริง หลักโหราศาสตร์มีอะไรบางอย่างที่น่าจะช่วยสะท้อนหลักการศาสนาได้ คือโหรรุ่นเก่าๆ ท่านเน้นว่า เวลาเราดูดวง ทั้งดูให้คนอื่นหรือเป็นคนถูกดู เราจะเห็นว่า ชีวิตมันเดี๋ยวก็มีดี สักพักก็จะร้าย ครั้นร้ายแล้วก็ดีอีก เป็นเช่นนี้ไปชั่วชีวิต ไม่มีดีตลอดหรือร้ายตลอดไป

ใครระลึกโลกธรรมนี้ได้ นี่แหละหลักพระอนิจจตา

หรือความไม่เที่ยงอันเป็นบรมธรรม