รู้จักกลุ่มกบฏ ‘ทาลิบัน’ กับอนาคตที่ไม่แน่นอน ของ ‘อัฟกานิสถาน’/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Taliban walk as they celebrate ceasefire in Ghanikhel district of Nangarhar province, Afghanistan June 16, 2018.REUTERS/Parwiz/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

รู้จักกลุ่มกบฏ ‘ทาลิบัน’

กับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ของ ‘อัฟกานิสถาน’

 

ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นความขัดแย้งใน “อัฟกานิสถาน” กลับมาเป็นที่สนใจในหน้าสื่อไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะชื่อของกลุ่มกบฏ “ทาลิบัน” ที่ถูกเอ่ยถึงในฐานะกลุ่มกบฏติดอาวุธที่กำลังทำสงครามกับรัฐบาลอัฟกานิสถานอยู่ในเวลานี้

“กลุ่มกบฏทาลิบัน” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายกำลังกลับมามีอิทธิพลมากขึ้นอีกครั้ง ในเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกากำลังจะถอนกำลังออกจากประเทศไปในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

“ทาลิบัน” เป็นที่พูดถึงครั้งแรกๆ ในช่วงปี 1980 ร่วมสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่ม “มูจาฮิดดิน” ต่อต้านสหภาพโซเวียต ที่พยายามเข้ามายึดครองในยุคสงครามเย็น เป็นเวลานยาวนานกว่า 9 ปี และแน่นอนว่าในเวลานั้นเคยได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธ และงบประมาณจากสำนักข่าวกลองกลาง (ซีไอเอ) สหรัฐอเมริกาด้วย

ในปี 1989 แม้สหภาพโซเวียตจะถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน แต่ก็กลับเกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจระหว่างชนเผ่าต่างๆ ในประเทศอันมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนแห่งนี้

กลุ่มทาลิบันเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในปี 1994 เมื่อกลุ่มเริ่มมีแนวทางอิสลามแบบอนุรักษนิยมสุดโต่ง สมาชิกอดีตนักรบมูจาฮิดดินเหล่านี้เคลื่อนพลไปทั่วประเทศ ให้ความหวังประชาชนว่าจะมอบความสงบและปลอดภัยให้

จนกระทั่งบุกยึด “กรุงคาบูล” โค่นล้มรัฐบาลกลางอันอ่อนแอได้สำเร็จในปี 1996

 

กลุ่มทาลิบันประกาศตั้ง “เอมิเรตส์อิสลามอัฟกานิสถาน” รัฐอิสลามที่ปกครองโดยกฎหมายอิสลามที่เคร่งครัดในแบบของตัวเอง มีกฎอันเข้มงวด เช่น ห้ามดูภาพยนตร์ ห้ามฟังเพลง ผู้หญิงห้ามได้รับการศึกษา ห้ามทำงาน ต้องใส่เสื้อผ้าปกปิดใบหน้าและร่างกายตามแบบที่กำหนด เรียกได้ว่าสิทธิมนุษยชนในยุคนี้ตกต่ำถึงขีดสุด

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นในปี 2001 สหรัฐอเมริกาทำทุกวิถีทางในการตามล่าตัวโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลเคด้าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีครั้งนั้น

บิน ลาเดน ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มทาลิบันให้ซ่อนตัวอยู่ในอัฟกานิสถาน ขณะที่กลุ่มทาลิบันปฏิเสธที่จะส่งตัวบิน ลาเดน ให้สหรัฐ นั่นจึงทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจยกทัพบุกอัฟกานิสถานในทันทีในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

กองทัพสหรัฐบุกสังหารบิน ลาเดน และโค่นรัฐบาลทาลิบันลงได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ก่อนจะตั้งรัฐบาลอัฟกานิสถานขึ้นภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม “กลุ่มทาลิบัน” ที่กลายมาเป็นกลุ่มกบฏยังคงมีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลอัฟกานิสถาน และกองกำลังต่างชาติ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงเป็นเวลานานนับ 20 ปี และยังคงดำเนินอยู่จนถึงเวลานี้

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นส่งผลให้พลเรือนชาวอัฟกันเสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวมากกว่า 40,000 คน ทหารและตำรวจอัฟกันเสียชีวิตอย่างน้อย 64,100 นาย นายทหารของกองกำลังนานาชาติเสียชีวิตแล้วมากกว่า 3,500 นาย

ด้านสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณในการทำสงครามและโครงการฟื้นฟูมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จนถึงวันนี้ อัฟกานิสถานก็ยังคงเป็นประเทศที่ไร้เสถียรภาพ

ขณะที่สงครามและการก่อความไม่สงบของกลุ่มทาลิบันก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

 

ปัจจุบันกลุ่มทาลิบันมีทหารที่ประจำการเต็มเวลาจำนวนมากถึง 85,000 นาย มีศูนย์ฝึกกองกำลังติดอาวุธกระจายอยู่ทั่วประเทศ

กลุ่มทาลิบันขยายอิทธิพลไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งหมดในประเทศ มีอิทธิพลควบคุมถนนสายหลัก และยังยึดครองพื้นที่ชายแดนเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และปากีสถาน เอาไว้ได้ด้วย

“ทาลิบัน” ไม่ใช่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธธรรมดา แต่ยังมีการบริหารจัดการองค์กรเป็นอย่างดี “ไฮบาตุลลาห์ อัคฮุนด์ซาดา” ผู้นำกลุ่มทาลิบัน มีคณะกรรมาธิการดูแลด้านการคลัง สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งสั่งการต่อไปยังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จนอาจเรียกได้ว่ากลายเป็น “รัฐคู่ขนาน” ก็ว่าได้

การยึดครองพื้นที่เอาไว้ได้เป็นจำนวนมากทำให้กลุ่มทาลิบันมีช่องทางหารายได้จำนวนมหาศาล ล่าสุด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประเมินว่ากลุ่มทาลิบันสามารถหาเงินได้มากถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากธุรกิจค้าฝิ่น การค้ายาเสพติด การทำเหมืองแร่

นอกจากนี้ ทาลิบันยังมีระบบเก็บภาษีของตัวเอง และยังได้รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ โดยมีชาติที่ต้องสงสัยคือ “อิหร่าน” และ “ปากีสถาน” ซึ่งแน่นอนรัฐบาลทั้งสองประเทศปฏิเสธ

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานโดยการนำรัฐบาลอัฟกานิสถาน และกลุ่มทาลิบันเข้าสู่โต๊ะเจรจา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลอัฟกานิสถานยังคงมอง “ทาลิบัน” เป็นภัยคุกคาม ขณะที่กลุ่มทาลิบันยึดมั่นกับข้อเรียกร้องที่ต้องการสถาปนารัฐบาลของตนเองซึ่งเคยถูกโค่นล้มโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อ 20 ปีก่อนขึ้นใหม่ และยังคงปฏิบัติการทางทหาร รวมถึงการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งสัญญาณไปถึงประชาชนว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้

ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรและงบประมาณไปกับสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด จึงทำข้อตกลงกับกลุ่มทาลิบันเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสหรัฐจะยอมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน แลกกับการที่กลุ่มทาลิบันจะไม่ยอมให้พื้นที่กับเครือข่ายก่อการร้ายอีกในอนาคต

ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดำเนินนโยบายนี้ต่อและกำหนดเส้นตายในการถอนทหารออกมาทั้งหมดในวันที่ 31 สิงหาคมนี้

 

ในช่วงเวลาที่สหรัฐกำลังจะถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลิบันรุกคืบยึดพื้นที่คืนจากรัฐบาลอัฟกานิสถานได้มากขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ความมั่นคงในประเทศตกต่ำถึงขีดสุด แต่คนที่รับกรรมก็คงจะเป็นประชาชนชาวอัฟกัน ที่แม้จะเผชิญกับอันตรายท่ามกลางสงครามมานานนับปี แต่มนุษย์ไม่มีทางชินชากับความรุนแรงเหล่านี้ได้แน่นอน

สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงทำให้ “อัฟกานิสถาน” เป็นประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดในโลก ตามดัชนีสันติภาพโลก ประจำปี 2021 หลังอยู่ในตำแหน่งนี้มานาน 4 ปี

และอาจจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ภายใต้เงาทะมึนของกลุ่ม “ทาลิบัน” นับจากนี้ต่อไป