ท่าอากาศยานต่างความคิด : อนาแบ๊บติสต์ เชื่อในจิตวิญญาณเสรี-ปชต.ที่ทุกคนเลือกนับถือสิ่งที่ตนเองเชื่อได้

ชีวิตาในโลกใหม่ (31) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

ในนวนิยายเรื่อง พี่น้องคารามาซอฟ-The Brothers Karamazov ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้-Fyodor Dostoevsky ที่จัดพิมพ์ในปี 1880 มีฉากหนึ่งในจินตนาการของดอสโตเยฟสกี้ ที่พระเยซูเจ้าได้เสด็จกลับมาโลกนี้ในช่วงเวลาที่มีการไต่สวนศาสนาที่สเปนในปลายศตวรรษที่สิบหก

ประธานการไต่สวนศาสนาทรงจดจำพระองค์ได้และออกคำสั่งให้นำพระองค์ไปขังไว้ในทัณฑสถาน หลังจากนั้นเขาไปเยี่ยมพระองค์และสอบถามว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้พระองค์เสด็จกลับมายังโลก

พระองค์ไม่ได้ตรัสสิ่งใด หากแต่จ้องมองประธานการไต่สวนศาสนาผู้นั้นด้วยสายตาที่เปี่ยมเมตตา

ประธานไต่สวนศาสนาผู้นั้นหาได้ตระหนัก เขากล่าวต่อว่าพระองค์ทรงกระทำผิดในกาลก่อนที่ประกาศว่ามนุษย์ทุกคนมีเจตจำนงเสรีที่จะเชื่อมั่นได้ในทั้งพระเจ้าหรือซาตาน

มนุษย์นั้นหาได้ต้องการเสรีภาพหรือเจตจำนงเสรี สิ่งที่พวกเขาต้องการมีเพียงขนมปังสักก้อนให้อิ่มท้องและประทังความหิวโหยในแต่ละวันเท่านั้นเอง

พ้นจากนั้นแล้วมนุษย์ต้องการความปลอดภัย ความอุ่นใจอันเกิดจากการเชื่อมั่นในศาสนจักร สิ่งต่างๆ นี้เพียงพอแล้วสำหรับมนุษย์ผู้หนึ่ง

การกลับมาของพระองค์เป็นภัยต่อโครงสร้างของศาสนจักร ต่อการจัดระเบียบมวลชนที่อยู่ภายใต้อาณัติของศาสนจักร

ทุกสิ่งใช้เวลานับหลายศตวรรษกว่าจะมาเป็นเช่นปัจจุบัน

การจัดโครงสร้างที่ว่าขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญสามประการ อันได้แก่

การจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่าความมหัศจรรย์ในเรื่องราวทางศาสนา หรือ Miracle เพื่อสร้างความศรัทธาแก่คริสต์ศาสนิกชนเป็นประการแรก

ประการที่สองได้แก่ ความลึกลับ หรือ Mystery ความลึกลับนี้มีส่วนทำให้ศาสนจักรดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในความรู้สึกของสัตบุรุษ

ส่วนประการที่สามนั้นได้แก่ การทรงไว้ซึ่งอำนาจที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้คนได้ หรือ Authority

การท้าทายใดๆ ต่ออำนาจที่ว่านี้มีบทลงโทษคือความตาย

ผู้ไม่เชื่อในปาฏิหาริย์แห่งศาสนาสมควรตาย

ผู้พยายามเปิดโปงความลึกลับแห่งศาสนจักรสมควรตาย

และผู้ท้าทายประมุขและตัวแทนแห่งศาสนจักรสมควรตาย

ศาสนจักรมีไว้เพื่อความศรัทธา หาใช่เพื่อการตั้งคำถามไม่

และการที่พระเยซูเจ้าเคยประกาศคำสอนที่ขัดต่อโครงสร้างของศาสนจักรและสิ่งสำคัญสามประการทำให้พระเยซูเจ้านั้นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการรับโทษทัณฑ์แห่งความตายอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของบทสนทนา ประธานการไต่สวนศาสนายอมรับว่าตัวเขาเองหาได้ฝักใฝ่ในพระเจ้า หากแต่กลับภักดีต่อความชั่วร้ายหรือซาตานแทน

ด้วยเหตุนี้เขาและพระเยซูเจ้าคือคู่ปรับที่ต้องประชันขันแข่งกัน และเขาตัดสินใจปล่อยพระเยซูเจ้าให้ออกจากทัณฑสถานและมีชีวิตต่อไป

มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้ทำการปฏิรูปศาสนา เป็นบุคคลที่กระทำความขัดแย้งกับสิ่งสำคัญหลายสิ่งจากศาสนจักร

และไม่ใช่เขาเพียงบุคคลเดียวที่กระทำการเช่นนั้นในศตวรรษที่สิบหก

จอห์น กัลแวง-John Calvin แห่งเจนีวา พระเจ้าเฮนรี่ที่แปดแห่งอังกฤษ บุคคลต่างๆ เหล่านี้ล้วนลุกขึ้นท้าทายอำนาจของศาสนจักรที่สถิตอยู่ที่กรุงโรมและทำการปฏิรูปศาสนาเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงพระเจ้าอย่างเสรี

กระนั้นพวกเขาก็ท้าทายในสิ่งสำคัญสองสิ่งเท่านั้น อันได้แก่ การปฏิเสธความอัศจรรย์และเรื่องราวทรงอิทธิฤทธิ์จากเหล่านักบุญและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา

รวมทั้งปฏิเสธความลี้ลับซ่อนเงื่อนของศาสนจักร

หากแต่พวกเขาหาได้ท้าทายโครงสร้างอำนาจของศาสนจักรเลย

มาร์ติน ลูเธอร์ ยอมรับการมีอยู่ของศาสนจักร และหากรัฐใดที่ยังคงยึดมั่นในศาสนจักร เขาก็หาได้ท้าทายอำนาจรัฐนั้นด้วย

ในขณะที่มีกลุ่มศาสนาอีกกลุ่มหนึ่งที่ท้าทายสิ่งสำคัญทั้งสามประการ ทั้งความอัศจรรย์ ความลี้ลับและอำนาจที่เคยมีมา พวกเขาไปไกลถึงขั้นตั้งรัฐอิสระ ไม่ยอมรับอำนาจเดิม คำสอนเดิม โดยอ้างว่าอำนาจเหล่านั้นมีที่มาจากความชั่วร้ายของซาตาน หาใช่จากพระเจ้าไม่

พวกเขาสร้างทางเลือกใหม่ของการเข้าถึงพระเจ้าที่ทั้งคริสเตียนโปรเตสแตนต์และคริสเตียนคาทอลิกสามารถอยู่ร่วมกันได้

แต่การกระทำเหล่านี้เองก็รุนแรงมากจนไม่อาจปล่อยให้ดำรงอยู่ได้

กลุ่มศาสนาที่ว่านี้ซึ่งมีชื่อเรียกขานว่า Anabaptists หรือผู้เกิดใหม่ จึงจำต้องถูกทำลายให้พินาศไป

การยืนกราน ดื้อดึงแบบหัวชนฝาเช่นนี้ของพวกอนาแบ๊บติสต์ หาได้เป็นภัยต่อศาสนจักรเท่านั้น แม้กระทั่ง มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้กำลังปฏิรูปศาสนาอย่างแข็งขันก็มองว่าพวกเขาเป็นตัวอันตรายต่อขบวนการปฏิรูปศาสนาด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หลังจากที่พวกเขาถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1525 เพียงระยะเวลาสิบปี การกวาดล้างกลุ่มอนาแบ๊บติสต์กลับเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนแทบสิ้นสูญ

บรรดาผู้นำกลุ่มต้องหลบหนีลงใต้ดิน แฝงเร้นกายและจับกลุ่มติดต่อทำงานกันอย่างลับๆ

พวกเขายังพยายามหาทางเผยแพร่ความเชื่อว่าการมีอยู่ของมนุษย์บนโลกนี้ล้วนเป็นไปเพื่อทำหน้าที่ประจักษ์พยานการต่อสู้ระหว่างพระเจ้ากับซาตาน ระหว่างความดีและความชั่ว

เราทุกคนล้วนมีชีวิตอยู่เพื่อรอวันสิ้นโลกหรือวันที่คำพิพากษาสุดท้ายจากพระเจ้าจักมาถึง

บุคคลที่ก่อตั้งอนาแบ๊บติสต์ ในปี 1525 นั้นเป็นนักบวชชาวสวิตเซอร์แลนด์ นาม คอนราด เกรเบล-Conrad Grebel

อุดมการณ์เริ่มแรกของพวกอนาแบ๊บติสต์คือการเชื่อในจิตวิญญาณเสรีและระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถเลือกนับถือในสิ่งที่ตนเองเชื่อได้

ศรัทธาที่แท้ในความคิดของเกรเบล ก็คือศรัทธาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอบรมบ่มเพาะโดยครอบครัวหรือสังคม

ดังนั้น การทำศีลล้างบาปหรือศีลจุ่มเมื่อแรกเกิดจึงหาได้มีผลใดๆ บุคคลจะจำต้องเกิดใหม่อีกครั้งภายใต้ความศรัทธาที่แท้จริงเมื่อใดก็ตามที่เขาได้รับการติดต่อโดยตรงจากพระเจ้า

ผู้ใดก็ตามที่เข้าถึงสิ่งนั้นจะได้รับสมญานามว่า สหธรรมิกแห่งพระคริสต์ หรือ The Company of Christ

อุดมการณ์ที่ว่านี้เองที่ทำให้พวกอนาแบ๊บติสต์ไม่มีความเชื่อในรัฐหรือการปกครอง

พวกเขาเป็นหนึ่งเดียว ปกครองตนเอง และปฏิเสธการข้องเกี่ยวกับอำนาจจากผู้ใดก็ตาม

เราอาจเทียบเคียงกลุ่มอนาแบ๊บติสต์ได้กับพวกกบฏผีบุญในประเทศไทย

ในด้านที่พวกเขามีสังคมอุดมคติหรือสังคมที่สวยงามรออยู่เบื้องหน้าแทนสภาพความจริงที่โหดร้ายหรือไม่พึงใจในความเป็นจริง

การปฏิเสธการรับศีลจุ่มคือสิ่งที่แม้แต่ มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้ทำการปฏิรูปศาสนาก็ไม่อาจยอมรับได้

การทำลายล้างพวกอนาแบ๊บติสต์นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งที่อังกฤษซึ่งพวกเขาถูกเผาทั้งเป็นจำนวนมาก

ในสวิตเซอร์แลนด์พวกเขาถูกจับขัง บรรดาผู้นำหายสาบสูญ ดินแดนที่พวกอนาแบ๊บติสต์ได้รับการปกป้องดูจะมีที่ในฮอลแลนด์และในเยอรมนีตอนเหนือ ซึ่งนั่นเอื้อต่อการบ่มเพาะให้พวกเขาแก้ไขการถูกโจมตีด้วยเหตุผลทางศาสนาจนก่อให้เกิดรูปแบบคำสอนที่ชัดเจนที่ว่าด้วยวันสิ้นโลกและการสร้างคำสอนที่ครอบคลุมถึงชีวิตด้านอื่น

กระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลานับสิบปีก่อนที่จะมีการกลับมาอีกครั้งของอนาแบ๊บติสต์

การฟื้นคืนของอนาแบ๊บติสต์มาถึงเมื่อชายผู้มีอาชีพตัดเสื้อชาวฮอลแลนด์นาม แจน ฟอน ลีเดน เดินทางมาถึงเมืองมุนสเตอร์-Munster เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในเยอรมนี

มุนสเตอร์นั้นเป็นเมืองที่ มาร์ติน ลูเธอร์ เคยใช้ประกาศความเชื่อว่า คริสเตียนโปรเตสแตนต์และคริสเตียนคาทอลิกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ชื่อของเมืองนั้นแปลความได้ว่าเป็นอาราม หรือ Monastery เมืองเล็กที่มีประชากรเพียงเก้าพันคน

มีมหาวิหารสำคัญคือมหาวิหารเซนต์ปอล และโบสถ์เล็กๆ อีกสิบโบสถ์ คอนแวนต์อีกเจ็ดแห่ง

แต่เมืองเล็กๆ แห่งนี้เองที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้ของกลุ่มอนาแบ๊บติสต์ในเวลาต่อมา

โดยเฉพาะภายใต้การนำของ แจน ฟอน ลีเดน-Jan Von Leyden ที่การขึ้นเป็นประมุขของเขานั้นทำให้สถานภาพของเขาไต่สูงขึ้นถึงกับเป็นกษัตริย์