ปัญหาจากรัฐไทย แต่ไล่ประยุทธ์/บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ปัญหาจากรัฐไทย

แต่ไล่ประยุทธ์

 

นับแต่มีวิกฤตการณ์โควิด-19 เราเห็นปรากฏการณ์ของรัฐไทยหลายประการที่สะท้อนถึงความเป็นรัฐราชการที่แข็งตัว ไม่ทันสถานการณ์ ไม่รู้จักปรับเปลี่ยนต่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่หลายกรณี อาทิ

การนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพก็ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า เต็มไปด้วยขั้นตอนทางราชการมากมาย

วัคซีน mRNA ของ Moderna แม้ผ่านการขึ้นทะเบียนยาจากคณะกรรมการอาหารและยาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 โดยให้โรงพยาบาลเอกชนต้องจองซื้อผ่านหน่วยงานของรัฐคือ องค์การเภสัชกรรม

แต่จนถึงวันนี้ แม้จะมียอดที่ประชาชนยอมเสียเงินจองตั้งแต่ 1,500-1,900 บาทต่อโดสแบบต้องแย่งชิงกันเกินจำนวนที่สั่งซื้อได้ไปมากมาย แต่ยังไม่มีใครตอบได้ด้วยซ้ำว่า วัคซีนจะมาเมื่อใด จะได้ฉีดในปีนี้หรือปีหน้า

วัคซีน mRNA ที่สมควรใช้เป็นวัคซีนหลักในการแก้วิกฤตครั้งนี้ แทนที่จะมีมติที่ทันต่อเหตุการณ์ ก็เพิ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564 ให้วัคซีนของ Pfizer เป็นวัคซีนหลักที่รัฐจัดหาให้ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มีการนำเข้าฉีดให้แก่ประชาชนได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 แล้ว ช้ากว่าเขาถึง 7 เดือน

 

ประเด็นการทำสัญญาจองวัคซีน 35 ล้านโดสของ AstraZeneca เพื่อแผนการฉีดปูพรมเดือนละ 10 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงพฤศจิกายน 2564 แต่พอถึงกำหนดไม่มีวัคซีนมาตามที่วางแผนก็แจ้งว่า AstraZeneca ผิดข้อตกลง พอตรวจสอบไป-มาก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศบค.มีมติให้ซื้อเพิ่มตั้งแต่ 4 มกราคม 2564 แต่กว่าที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติได้ ก็ 2 มีนาคม 2564

และกว่าหน่วยราชการจะทำหนังสือขอจองแจ้งบริษัทกันเสร็จก็เดือนพฤษภาคม 2564 ใช้เวลาถึง 4 เดือนเศษในการดำเนินการตามขั้นตอน

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาสามารถแจ้งจองกันไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2546 กันไปก่อนหน้านั้นเรียบร้อย

เรื่องการเข้าร่วมกับโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก หรือ Covax ขององค์การอนามัยโลก ที่มีประเทศร่วมโครงการถึงกว่า 180 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนวัคซีนในการรักษาโรคร้าย ก็บอกว่าระเบียบราชการไม่สามารถให้จ่ายเงินล่วงหน้าในสิ่งที่เสี่ยงและมองไม่เห็น ท้ายสุด เรากลายเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่ได้อานิสงส์ใดจาก Covax ในด้านความช่วยเหลือด้านวัคซีน

หรือวันนี้ พอมีการพัฒนาวัคซีนใหม่ที่เป็น Protein subunit ซึ่งทั่วโลกกำลังมองว่าเป็นอนาคต สามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ดี ก็ไม่สามารถนำวัคซีนใหม่ เช่น Novavax เข้าประเทศได้ หากคณะกรรมการอาหารและยาของไทยยังไม่ขึ้นทะเบียนยา ทั้งๆ ที่ในแวดวงการแพทย์เล็งเห็นแล้วว่า วัคซีนนี้คืออนาคตที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีรายงานว่าเขาจองล่วงหน้ากันไปไกลแล้ว

กว่าเราจะเริ่มจอง คงต่อไปต่อคิวท้ายๆ อีกปีหรือสองปี

อีกตัวอย่างล่าสุด การกำหนดการเปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่เรียกชื่อว่า สมุยพลัส ที่ราชการวางแผนไว้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ก็ยังเดินหน้าเปิดงานทั้งๆ ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

แม้จะมีรายงานว่าในวันแรกมีชาวต่างชาติเข้ามา 11 คน แต่ทั้งหมดล้วนมาในฐานะสื่อมวลชน ไม่ใช่นักท่องเที่ยวตัวจริง

เหมือนกับจะบอกว่า เมื่อกำหนดเปิดไปแล้วก็ต้องเปิด เพราะเตรียมการแล้ว จ้าง Organizer แล้ว ทำ Script ให้นายกฯ อ่านแล้ว ถึงเวลาฟ้าจะถล่ม แผ่นดินจะทลาย ก็ยืนยันให้มีกิจกรรมตามนั้น สถานการณ์เป็นอย่างไรไม่ต้องสนใจ

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ คือการทำงานแบบรัฐราชการไทย

 

รัฐไทยนั้นมีความเป็นอนุรักษนิยมมายาวนาน จะเคยชินกับสิ่งที่มาในอดีตพร้อมยอมรับเป็นวิถีของการทำงานของตน ทำแบบเดิมย่อมไม่ผิด แต่หากทำในสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากของเดิมก็จะหวั่นวิตกเกรงจะเป็นความผิด

ดังนั้น การเดินตามระเบียบ กฎเกณฑ์ วิธีปฏิบัติที่เคยทำมา จึงเป็นเรื่องที่ทำต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวลใจ

ทุกอย่างมีขั้นตอนของการปฏิบัติที่ต้องเริ่มจาก 1-2-3-4 จะเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีต้องมีหน่วยราชการต้นเรื่อง ผ่านปลัดกระทรวง ผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เข้าเป็นวาระการประชุม เมื่อมีมติก็ต้องรอหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง หนังสือไม่มา ไม่มีการเริ่มดำเนินการ

จึงไม่แปลกอะไร ที่ ศบค.หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติขอให้เพิ่มการจัดซื้อ AstraZeneca อีก 35 ล้านโดส เพื่อเพิ่มการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนให้เป็น 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 โดยมีมติตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 แต่กว่าที่คณะรัฐมนตรีที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ จะมีมติ ครม. ก็ 2 มีนาคม 2564 หมดเวลาไป 2 เดือน

และกว่าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรี จะทำข้อตกลงเป็นทางการกับบริษัทได้ก็ล่วงเลยถึงเดือนพฤษภาคม 2564

วันนี้ มาร้องแรกแหกกระเชอว่าไม่มีวัคซีนฉีด ต้องสั่งวัคซีน Sinovac ที่แต่แรกตั้งใจให้เป็นเพียงวัคซีนที่ใช้ชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินก่อนที่ AstraZeneca จะมา จนกลายเป็นวัคซีนที่ถูกใช้เป็นหลักไปแล้ว เพราะหาซื้อได้ง่าย

และกลายเป็นประเด็นเครื่องหมายคำถามว่า จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่

 

คํากล่าวที่ว่า “เคยได้ยินเสียงร้องไห้ของประชาชนบ้างไหม” ดูจะเป็นคำกล่าวที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะประชาชนที่ป่วยร่ำไห้เพราะขาดเตียงรักษา ญาติพี่น้องร่ำไห้เพราะการสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัว คนที่ไม่ป่วยยังร่ำไห้ด้วยไม่มีอาชีพ ไม่มีจะกิน แต่การบริหารจัดการต่างๆ ของรัฐยังดูเหมือนการบริหารในสถานการณ์ปกติ ดำเนินการตามขั้นตอนราชการดูไม่ทุกข์ร้อนกับประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นรับราชการจนเติบใหญ่ ย่อมเคยชินกับการทำงานในระบบที่ต้องมีต้นเรื่อง มีเจ้าสังกัดเจ้าของเรื่อง มีการเสนอเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาแล้วจึงมาตัดสินใจในฐานะผู้มีอำนาจ การบริหารในลักษณะดังกล่าวนี้อาจเหมาะสมในกรณีของการบริหารงานในภาวะปกติ แต่กับในสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคร้ายที่ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขสถานการณ์แลกกับตัวเลขชีวิตของประชาชนที่สูญเสียเป็นรายวัน ผู้บริหารประเทศที่ยังคงความคิดว่า ระบบงานที่ดำรงอยู่ยังเป็นกลไกเครื่องมือที่สามารถแก้ไขวิกฤตหรือพอไปไหวกับสถานการณ์ปัจจุบัน แถมยังมีพฤติกรรมในการปกครองแบบทหาร ชอบแต่สั่งการ ไม่รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ประสงค์แต่ข้อมูลรายงานในเชิงบวก ขาดความรู้จริงในการเข้าใจสถานการณ์ของโรคร้ายและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อาศัยเพียงการเสนอข้อมูลจากคนรอบข้างที่แฝงด้วยผลประโยชน์ ฉกฉวยเอาวิกฤตของประชาชนมาใช้เพื่อประโยชน์ตนหรือ พรรคการเมืองของตน ถือว่าเป็นอันตรายที่นำไปสู่ภัยพิบัติร้ายแรงต่อบ้านเมืองยิ่ง

บอกให้เขาเปลี่ยนวิธีการคิด เปลี่ยนวิธีการทำงานสำหรับคนที่เคยตัวและมีอำนาจมาในรัฐราชการ

เปลี่ยนคนง่ายกว่าบอกให้เขาเปลี่ยนความคิด

ปัญหาของรัฐราชการ จึงมีคำตอบที่ต้องไล่ประยุทธ์