หมาและเห็บของหมา | คำ ผกา

คำ ผกา

ทุกครั้งที่จะเขียนว่ารัฐบาลนี้ล้มเหลวในการบริหารประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง

ฉันก็ลังเลงตลอดเวลาว่า เราสามารถใช้คำว่า “ล้มเหลว” กับรัฐบาลนี้หรือไม่?

ถ้ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจในกลไกของระบอบประชาธิปไตย ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนล้นหลาม ชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากเข้าสภา และตัวนายกฯ ก็มาจากแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมาก ได้รับการโหวตจากสภา ที่สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งทั้ง 500 คน ไม่ใช่สภาที่มี ส.ว. 250 คนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าของคณะรัฐประหาร

ถ้าเราอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาตามครรลองประชาธิปไตยแบบนั้นแล้วบริหารประเทศล้มเหลวเช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ ท่ามกลางเสียงแช่งด่าจากทุกสารทิศ จะทำให้รัฐบาลถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ แรงกดดันทั้งในสภาและนอกสภาจะมากพอที่จะทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจยุบสภา และเป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะได้เลือกคนอื่น พรรคอื่นไปทำงานในฐานะรัฐบาลแทนพรรคเดิมที่อุตส่าห์ไว้ใจแต่เสือกทำงานไม่เป็น

หรือถ้ารัฐบาลห่วยๆ นี้ดันทุรังจะอยู่ในอำนาจต่อ ก็น่าจะเจอม็อบแบบเบิ้มๆ ทั้งม็อบหมอ ม็อบบุคลากรทางการแพทย์ ม็อบนักธุรกิจ ม็อบคนทำงานกลางคืน ม็อบภัตตาคาร ร้านอาหาร

หรืออย่างแย่ที่สุด หากรัฐบาลอยากอยู่ในอำนาจต่อมากๆๆๆๆ อีรัฐบาลนี้ก็ต้องรีบกลับตัวกลับใจ พยายามแก้ไขข้อผิดพลาด พยายามทำงานให้ดีขึ้นเพื่อซื้อใจประชาชนกลับคืนมา เช่น ยังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ก็อาจจะขายผ้าเอาหน้ารอดด้วยการใช้ทุกกำลังภายในไปเอาไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นามาฉีดให้ประชาชน เพื่อลดกระแสการโดนด่าไปก่อน เป็นต้น

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าที่มาของอำนาจรัฐของรัฐบาลมันยึดโยงกับประชาชน เ_ี้ยเท่าเ_ี้ย มันก็ต้องแก้ปัญหาโดยอิงอยู่กับคะแนนนิยมของประชาชนด้วย ต่อให้เป็นการซื้อใจประชาชนแบบเ_ี้ยๆ อย่างน้อยมันก็ต้องมีประชาชนอยู่ในโจทย์นั้น ไม่มีทางเป็นอื่น

แต่สำหรับรัฐบาลที่ประยุทธ์เป็นนายกฯ อยู่ตอนนี้ จะบอกว่า ทำงานไม่เป็น บริหารงานผิดพลาด ฉันคิดว่าไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว

แต่ประยุทธ์และพวกขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ต่อด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญ ในกลเกมการทำประชามติรับรองความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญนั้นให้ตนเองได้กลับมาอยู่ในอำนาจผ่านพิธีกรรมการเลือกตั้งโดยมีตัวแสดงประกอบเป็นนักการเมือง พรรคการเมืองที่เข้าเล่นในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน

โจทย์ในการทำงานของพวกเขาคือ หนึ่ง ทำอย่างไรจะอยู่ในอำนาจได้นานที่สุด สอง ทำอย่างไรจะใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือสร้างประโยชน์ให้กับตนและตอบแทนให้กับพวกพ้องของตนมากที่สุด

ในภาวะวิกฤตโรคระบาด สิ่งที่รัฐบาล “ปกติ” ทำนั้นเรียบง่ายมาก นั่นคือ ประคองสภาวะเศรษฐกิจให้บอบช้ำน้อยที่สุด เงินงบประมาณที่มีต้องใช้ไปกับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากนั้นต้องใช้ทั้งเงินและสรรพกำลังไปกับการจัดหาจัดซื้อวัคซีนที่คุณภาพดีที่สุดมาฉีดให้กับประชาชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สุดท้าย เตรียมแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังวิกฤตคลี่คลายลงแต่โลกอาจจะไม่เหมือนเดิม

แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำกลับตรงกันข้าม แทนที่จะจัดการรับมือกับปัญหาอย่างเรียบๆ ง่ายๆ (เช่น หาวัคซีนมาฉีดให้เยอะที่สุดเร็วที่สุด) เพราะวิกฤตโคระบาดในเชิงกายภาพมันไม่ได้ซับซ้อน (ความซับซ้อนมันอยู่ที่การฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตมากกว่า)

รัฐบาลไทยกลับฉวยใช้วิกฤตนี้จัดตั้งคณะบริหารขึ้นมาอีกชุดหนึ่งชื่อ ศบค. พร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งโดยนัยของมันก็เท่ากับเป็นการยึดอำนาจมาจากรัฐสภา

สิ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีใครกล้ายอมรับออกมาตรงๆ ก็ตือ เราเหมือนมีอำนาจรัฐเถื่อนที่ซ้อนอยู่บนอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญอยู่

อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญคือ รัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล, ครม. และมีนายกฯ ชื่อประยุทธ์

อำนาจรัฐที่ซ้อนทับไปข้างบนคือ ศบค. ทีมีปลัดกระทรวงทุกกระทรวง, มีเลขาฯ สมช., มีทุกหน่วยงานความมั่นคง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ศบค. และมีหน้าหน้า ศบค.ทุกชุดชื่อประยุทธ์

แค่มีรัฐบาลจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ว่าเหนื่อยแล้ว เรายังมาเจอรัฐบาลที่ต้องเป็นหมันไปจากการมี ศบค.ซ้ำเข้าไปอีก – ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่การบริหารประเทศภายใต้สถานการณ์โรคระบาดของเรามันจะเป็นอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

นั่นคือ การบริหารให้ประชาชนต้องฉิบหายขายตัวไปโดยไม่จำเป็นไปเรื่อยๆ

เราเป็นประเทศเดียวที่สั่งล็อกดาวน์ สั่งปิดกิจการของเอกชน สั่ง work from home โดยไม่มีมาตรการชดเชยรายได้ หรือชดเชยความเสียหายให้เจ้าของธุรกิจ

เราเป็นประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว และรัฐบาลมีรายได้จากภาษีของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ แต่ในภาวะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าตาจน รัฐบาลไม่เคยไปอุ้มชูดูแลใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่ทั้งโลกเขาแจกชุดตรวจ rapid test ให้ประชาชนมานานนับปี เพื่อผลในการคัดกรองเบื้องต้น ประเทศไทยเพิ่งจะอนุมัติให้ประชาชนเข้าถึง rapid test ในเวลาที่แทบจะเรียกได้ว่า สายเกินไป

สาหัสกว่านั้น ราคา rapid test ของเราก็แพงกว่าที่มนุษย์มนาคนอื่นในโลกเขาใช้กันอย่างประหลาดใจ

ส่วนความโอละพ่อของเรื่องวัคซีนนั้นไม่ต้องพูดถึง ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ให้ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายค่าวัคซีนเอง เพราะวัคซีนนั้นราคาโดสละไม่กี่ร้อยบาท รัฐใช้เงินไม่มากเลยเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่รัฐมีให้ใช้

แต่คนไทยถ้าอยากได้วัคซีนที่ดีที่สุดอย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ต้องควักเงินจ่ายเอง

ควักเงินจ่ายเองไม่เท่าไหร่ สิ่งที่โอละพ่อกว่าการจ่ายเงินเองคือ ต้องแย่งกันจองเหมือนชิงเปรต แย่งจองเหมือนชิงเปรตไม่พอ กระบวนการนำเข้าวัคซีนของเอกชนยังต้องเผชิญกับอุปสรรคอันแสนจะเซอร์เรียลเหนือจริง ทั้งการฟาดฟันกันระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับเอกชนที่จะนำเข้า จนป่านนี้ยังไม่รู้เลยว่า เขาทำสัญญากันอย่างไรกันแน่! และวัคซีนมาเมื่อไหร่ คนที่จองไว้จะได้ครบทุกคนไหม

เซอร์เรียลหนักกว่านั้นคือ วัคซีนหลักของประเทศที่บอกประชาชนเอาไว้คือแอสตร้าเซนเนก้า กลับไม่ได้ ไม่มาตามนัด ตามมาด้วยการเปิดเผยจดหมายจากแอสตร้าฯ ถึงรัฐบาลไทยในเนื้อความที่ไม่ตรงไม่เหมือนกับที่รัฐบาลบอกเอาไว้กับประชาชน ที่บอกว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้หกสิบล้านโดส ก็กลายเป็นว่าหกสิบล้านโดสอาจจะครบในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

แล้วยังมีความพยายามสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคที่ประสิทธิภาพต่ำสุดเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นอย่างต่อเนื่องเพียงเพราะ “สั่งเมื่อไหร่ก็มีของส่ง”

ระบบสาธารณสุขของเรากำลังจะพังทลาย

เศรษฐกิจของเรากำลังจะล่มสลาย

ประชาชนเกือบครึ่งประเทศเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนยากจนเฉียบพลัน

หนี้ครัวเรือนจะแตะที่ร้อยเปอร์เซ็นต์วันไหนไม่มีใครรู้

หนี้สาธารณะของเราสูงที่สุดในยามที่อำนาจการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลอ่อนแอที่สุด

เด็กและเยาวชนของเราไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีวัคซีน และเคว้งคว้างอยู่ในระบบการศึกษาที่ล้มเหลวในทุกด้าน

ทางออกของปัญหาไม่ใช่การเรียกร้องให้รัฐบาลทำงานเพื่อประชาชน ทางออกของปัญหาคือ รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนต้องออกไปเดี๋ยวนี้ ถ้าประชาชนไทยไม่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชน ก็เท่ากับเราเป็นหมาที่มีชีวิตเพียงเพื่อเลี้ยงเห็บให้อ้วนพี

เรามีแค่สองทางเลือก จะเป็นหมา หรือจะเป็นคน แต่สิ่งเดียวที่เราจะไม่มีวันเป็นคือ ลดตัวลงไปเป็นลูกน้องเห็บ