การศึกษา/จับตาวิกฤตโควิด-19 กับปัญหาการพัฒนาอาชีวะ

การศึกษา

จับตาวิกฤตโควิด-19

กับปัญหาการพัฒนาอาชีวะ

ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งยังหนักหนาสาหัส กลุ่มที่เดือดร้อนไม่แพ้ใครหนีไม่พ้นนักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด ที่ต้องปรับการเรียนการสอนจากเดิมที่เรียนในห้องเรียน มาเป็นเรียนผ่านระบบออนไลน์เกือบ 100%

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งสัญญาณค่อนข้างชัด ตลอดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เด็กจะต้องเรียนออนไลน์ 100% ส่วนเทอม 2 ก็ยังไม่มีความแน่นอน

ขณะที่ข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ศธ. พบว่ามีโรงเรียนที่จัดการเรียนแบบออนไลน์ 7,889 แห่ง มีข้อจำกัดจากการใช้แท็บเล็ตหลายมิติ เช่น ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้านนักเรียนต้องอยู่กับแท็บเล็ตโดยไม่มีผู้ดูแล

ข้อเรียกร้องเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เยียวยาความเดือดร้อนจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเทอม จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน ไปจนถึงการเตรียมครูให้พร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป…

แม้ เสมา 1 อย่าง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะมีหนังสือขอความร่วมมือสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนลดค่าเทอม แต่ดูเหมือนยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้มากเท่าที่ควร

เสียงเรียกร้องของผู้ปกครองและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา รวมทั้งระดับอุดมศึกษา

 

หน่วยงานหลักต่างเร่งหามาตรการช่วยเหลือ ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่รัฐบาลตั้งความหวังให้เข้ามาช่วย เป็นหัวเรือหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ เพื่อพัฒนาประเทศ…

ถือเป็นงานหิน ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนพร้อมกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงการผลักดันนโยบายผลิตและพัฒนากำลังคน

แน่นอนว่า งานเร่งด่วนคือต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบกับสถานศึกษาในสังกัด สอศ.อย่างมาก โดยเฉพาะสถานศึกษาอาชีวะเอกชน ที่ยอดรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 ลดน้อยลง และครูอาชีวะเอกชนไม่ได้ขึ้นเงินเดือนเป็นระยะเวลานาน อาจจะขาดขวัญกำลังใจในการทำงาน

ดังนั้น สอศ.จึงเร่งดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนาอาชีวะเอกชน โดยเฉพาะครูอาชีวะเอกชน โดย สอศ.ทำเรื่องขอเพิ่มเงินอุดหนุนเงินเดือนครูอาชีวะเอกชน เบื้องต้นจะขอเพิ่มเงินเดือนเป็น 450 บาทต่อเดือน  โดยได้เสนอให้ น.ส.ตรีนุช ดูรายละเอียด เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

“นอกจากนี้ น.ส.ตรีนุชมีนโยบายช่วยเหลือผู้ปกครองและนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะผู้เรียนระดับ ปวส. ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ทำให้ต้องเสียค่าเทอมเต็มจำนวน ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาเหล่านี้ สอศ.จะทำเรื่องของบกลางจาก ครม. มาช่วยเหลือค่าเทอมและค่าเล่าเรียนให้กับผู้เรียนในระดับ ปวส.ทั้งภาครัฐและเอกชน

ขณะที่การพัฒนาในส่วนอื่น ก็ต้องเดินต่อไป สอศ.เตรียมปรับแนวทางการบริหารจัดการเพื่อให้มีความคล่องตัว และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่และตอบสนองความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ขึ้น 15 แห่งทั่วประเทศ เพื่อวางแผนความร่วมมือ จัดทำฐานข้อมูลกำลังคน การดูแลอำนวยความสะดวก และสวัสดิการของผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในเขตพื้นที่ต่างๆ

 

ศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ เปรียบเสมือนตัวกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาอาชีวศึกษา หรือสถาบันการอาชีวศึกษา สถานประกอบการ และ สอศ.ในการประสานการพัฒนากำลังคน โดยแบ่งเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่

  1. ฝ่ายอำนวยการ ดำเนินการสำรวจข้อมูลความต้องการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าฝึกงานและฝึกอาชีพของสถานประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบ และการติดตาม ประเมินผล และรายงานผล
  2. ฝ่ายพัฒนาวิชาการทวิภาคี จะจัดทำแผนพัฒนาการฝึกงาน และอบรมครูนิเทศก์และครูฝึกในพื้นที่รับผิดชอบ
  3. ฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี จะดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้กับสถานประกอบการในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

และ 4. ฝ่ายสวัสดิภาพและความปลอดภัย จะดูแลและเตรียมความพร้อมผู้เรียนในการสร้างความตระหนัก และความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยในการฝึกงาน และฝึกอาชีพทั้งในสถานศึกษาและในสถานประกอบการ

ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุชยอมรับว่า หลายเรื่องยังเป็นปัญหาหนัก แต่ก็พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือนักศึกษาทั้งระดับ ปวส.และครูอาชีวะเอกชน หากสามารถทำได้พร้อมที่จะผลักดันให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่…

หากปัญหาใหญ่ของ ศธ. ที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การสร้างคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาอาชีวศึกษา คงถือเป็นหน้าตาเป็นตาของกระทรวงที่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่ให้บกพร่อง

เพราะอาจกระทบกับการพัฒนาประเทศในอนาคต ต้องจับตาว่า ครูเหน่ง ตรีนุช จะขับเคลื่อนองคาพยพการศึกษาทั้งระดับขั้นพื้นฐาน และอาชีวะไปได้ดี มากน้อยแค่ไหน…