เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท/Passive & Active Speakers (จบ)

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

Passive & Active Speakers (จบ)

 

โดยตัวมันเองแล้ว NHT SuperZero ได้ชื่อว่าเป็นลำโพงที่ให้เสียงออกมาถูกต้อง เที่ยงตรง จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น Mini-Monitor Speakers ซึ่งนอกจากจะมีเสียงกลางแหลมเป็นธรรมชาติแล้ว ยังอุดมไปด้วยรายละเอียด ทั้งยังเยี่ยมมากทางด้านมิติเสียง โดยมีข้อด้อยเพียงอย่างเดียวคือ – ขาดเสียงเบส

แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกับ NHT SW2P+MA-1A สื่อแทบจะทุกสำนักต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือหนึ่งในชุดลำโพงที่เป็น The Entry Level 2.1 ที่ยอดเยี่ยมตลอดกาลตราบจนทุกวันนี้

คนเล่นเครื่องเสียงมารู้จักกับลำโพงที่มีแอมป์ในตู้ผ่านสับ-วูฟเฟอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ในยุคที่ระบบเสียงแบบ Home Theatre เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เป็นช่วงที่แผ่นเพื่อการนี้ได้เปลี่ยนผ่านจาก Laser Disc มาเป็น DVD ครั้งที่ตัว V ยังใช้แทนคำ Video มิใช่ดังทุกวันนี้ที่ DVD คือ Digital Versatile Disc และเป็นช่วงไล่ๆ กันที่ Dolby Lab. ได้เปลี่ยนคำเรียกการเข้ารหัสบันทึกเสียงแบบ Multi-Channel ในยุคต้นๆ จาก Dolby AC-3 มาเป็น Dolby Digital นั่นเอง

นั้น, เป็นยุคที่ระบบเสียง 5.1 ได้รับความนิยมมาก โดยมี Active Sub-Woofer หรือ Powered Sub-Woofer เข้ามามีบทบาทอย่างเป็นสำคัญ และสามารถนำไปใช้งานร่วมในระบบได้สะดวกคล่องตัวกว่า Passive Sub-Woofer แบบเดิมๆ เพราะมิพักต้องไปหาแอมป์มาเพิ่มให้ยุ่งยากแต่อย่างใดนั่นเอง

ขณะที่ลำโพงทั่วไปในแชนเนลหลักของระบบ รวมทั้งลำโพงที่ใช้ในการฟังเพลงแบบ 2 แชนเนล สเตอริโอ ก็ยังคงเป็น Passive Speakers ดังเช่นทุกวันนี้

 

อย่างไรก็ตาม ลำโพงมีแอมป์ในตัวก็พอจะมีให้เห็นบ้างแล้วเหมือนกันในยุคนั้น แต่ไม่ใช่ลำโพงที่นำมาใช้ในระบบเสียงสำหรับฟังเพลงกับชุดเครื่องเสียง แต่เป็นลำโพงที่ใช้กับชุดคอมพิวเตอร์ และมีพัฒนาการทางด้านคุณภาพเรื่อยมา กระทั่งรุ่นหลังๆ สามารถให้สุ้มเสียงออกมาได้ไม่แพ้ลำโพงทั่วไปที่ใช้ฟังเพลงกับชุดเครื่องเสียงโดยเฉพาะ ดังที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังและหยิบยกมาให้รู้จักกันไปบ้างแล้ว

ปัจจุบันลำโพงมีแอมป์ในตัวที่เรารู้จักกันแพร่หลายก็คือ Bluetooth Speaker ซึ่งทำงานแบบไร้สาย ใช้งานสะดวกด้วยการสตรีมไฟล์เสียงมาจาก Media เช่น สมาร์ตโฟน ก็สามารถฟังเพลงได้แล้วแบบไม่ยุ่งยากอะไรเลย

ลำโพงบลูทูธส่วนใหญ่จะเป็นแบบให้พกพานำติดตัวไปไหนมาไหนได้คล่องตัว ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ และมีบ้างที่เป็นแบบให้ใช้งานในบ้าน โดยใช้ไฟ AC ที่ต้องเสียบปลั๊ก ทั้งหมดเป็นลำโพงชิ้นเดียวที่ให้เสียงแบบเน้นบรรยากาศรายรอบเป็นสำคัญ มีหลายตัวที่เคยฟังมานอกจากให้บรรยากาศเสียงออกมาได้ดีแล้ว ยังสามารถให้ความคมชัด และรายละเอียด ตลอดจนมีพลังเสียงที่น่าทึ่งไม่น้อย อาทิ Sony SRS-RA3000 ที่นำมาเล่าสู่กันฟังไปแล้ว

นอกจากลำโพงบลูทูธแล้ว ลำโพงมีแอมป์ในตัวอีกประเภทที่เรามักคุ้นกันในเวลานี้ก็คือลำโพง Soundbar ที่หลักๆ แล้วให้ใช้งานกับทีวี แต่ยามที่ไม่ได้ใช้งานหลักก็ใช้ฟังเพลงจากไฟล์เสียงผ่านการสตรีมแบบลำโพงบลูทูธได้เช่นกัน

 

กลับมาในส่วนของ Active Speakers ที่จ่าหัวเอาไว้และตั้งใจพูดถึงกันครับ

ทุกวันนี้เราพบเห็นลำโพงที่ใช้ฟังเพลง ระบบ 2 แชนเนล แบบมีแอมป์ในตัวออกมาในตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เคยนำมาลองเล่นและพูดคุยกันไปบ้างแล้วก็มีอย่าง Edifier Luna Eclipse เมื่อคราวเข้ามาทำตลาดในบ้านเราใหม่ๆ ให้คุณภาพเสียงที่ก้าวออกมาจากความเป็นลำโพงไอที หรือลำโพงคอมพ์ ด้วยเสียงดนตรีที่น่าทึ่งมาก

ล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีก็เคยนำลำโพงของ LOG Audio มาให้รู้จักกันผ่าน Model Dialog I ซึ่งให้ประสบการณ์ใหม่กับการฟังดนตรีจากลำโพงแอ็กทีฟที่น่าสนใจเอาการอยู่

ลำโพงแอ็กทีฟสำหรับฟังเพลงแบบ 2 แชนเนลนั้น จะมีลำโพงตู้หลักอยู่ตัวหนึ่งซึ่งจะเป็นแชนเนลซ้าย หรือแชนเนลขวาก็ได้ สุดแท้แต่ผู้ออกแบบ (ในรูปคือตัวขวาของ KEF LS50 Wireless) ภายในจะมีภาคการทำงานต่างๆ ผนวกเอาไว้ ซึ่งมีทั้งภาครับสัญญาณ ภาคขยายสัญญาณ ภาคแปลงสัญญาณ DAC: Digital-to-Analogue Converter ภาคการทำงานร่วมกับเครือข่ายไร้สาย ตลอดจนอินพุตที่เป็นช่องเสียบต่างๆ ผ่านสายสัญญาณทั้งอะนาล็อกและดิจิตอล ช่องเสียบสาย LAN : Local Area Network รวมทั้งพอร์ต USB ทั้งยังมีเอาต์พุตสำหรับสับ-วูฟเฟอร์ และเอาต์พุตที่ส่งสัญญาณไปยังลำโพงในระบบอีกตัว ซึ่งทั้งหมดที่ว่านั้นจะมีอะไรใส่มาให้มากน้อยแค่ไหน ก็สุดแท้แต่การออกแบบอีกนั่นแหละครับ แต่หลักๆ ที่ต้องมีก็คือภาคแอมปลิไฟเออร์ กับเอาต์พุตที่ส่งสัญญาณไปยังลำโพงอีกตัว

โดยลำโพงตู้หลักที่ว่านี้จะต้องเสียบไฟ AC เหมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องหนึ่ง ซึ่งต้องเสียบไฟบ้านจึงจะทำงานได้นั่นเอง

จึงเมื่อมีลำโพงแอ็กทีฟสำหรับฟังเพลงออกมามากขึ้น ก็หนีไม่พ้นคำถามที่ว่าหากเทียบกับลำโพงพาสซีฟที่ใช้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ควรจะเลือกใช้แบบไหนดี คำตอบในเรื่องนี้ไม่มีใครสามารถชี้ชัดไปข้างใดข้างหนึ่งได้ดอกนะครับ เพราะการใช้ลำโพงแบบเดิมๆ แล้วมาหาคู่จับกับแอมป์เพื่อให้ได้ความลงตัว แบบที่เรียกกันว่า Matching นั้น มันเป็นความ ‘คลาสสิค’ หนึ่งของการ ‘เล่น’ เครื่องเสียง ที่คนหลงใหลในเรื่องนี้ให้รู้สึกสนุกกับการได้จับคู่ลองโน่น นี่ นั่น ขณะเดียวกันก็เป็นการสั่งสมประสบการณ์ ตลอดจนช่วยเสริมทักษะการฟังอยู่ในทีด้วย

เพราะมันเปรียบได้กับ ‘ระบบเปิด’ ที่ให้โอกาสผู้ใช้สรรหาความคู่ควรที่ลงตัวกัน ระหว่างแอมป์กับลำโพง ตามความชอบที่เป็นส่วนตัวได้อย่างถึงที่สุด

 

ขณะเดียวกันลำโพงแอ็กทีฟที่เปรียบเสมือน ‘ระบบปิด’ นั้น ผู้ออกแบบลำโพงชั้นนำระดับแถวหน้าของวงการอย่าง Paul Barton เจ้าสำนัก PSB แห่งแคนาดา ที่ปัจจุบันเพิ่งทำลำโพงฟังเพลงแบบแอ็กทีฟออกมา และได้รับคำชื่นชมจากสื่อฝั่งตะวันตกอยู่ไม่น้อย ได้บอกว่าการออกแบบลักษณะนี้มันมีประโยชน์ตรงที่ว่า สามารถปรับแต่งการทำงานให้เหมาะสมได้ตามเจตนาของผู้ออกแบบ เพราะแอมป์ที่ใส่เข้ามาจะถูกออกแบบเพื่อให้ขับตัวมันเองโดยเฉพาะ

คือเมื่อลำโพงกับแอมป์ได้ถูกออกแบบให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มันจึงให้การทำงานที่เสริมซึ่งกันและกัน อันนำมาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดภายใต้ความคุ้มค่าสูงสุดนั่นเอง

ซึ่งกับเรื่องนี้นักวิจารณ์บางรายได้พูดถึง PSB Alpha AM5 Powered Speakers ที่พัฒนามาจาก Alpha P5 (US$ 399.-) ลำโพงพาสซีฟว่า… การเพิ่มเงินอีก US$ 200.- เพื่อได้มาซึ่งแอมป์ที่ออกแบบมาเพื่อมันโดยตรง พร้อมกับมีภาคโฟโน สเตจ, USB DAC, บลูทูธ ตลอดจนภาค DSP ที่เปี่ยมประโยชน์ ทั้งหมดนั้นทำให้ AM5 สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ไปได้ ทั้งในแง่ของขนาดตลอดจนพลังขับเคลื่อนที่ล้วนลงตัวกันอย่างยิ่ง

จึงในราคา US$ 599.- มันช่างคุ้มค่ายิ่งกับการได้ซิสเต็มอันทรงคุณค่า อันสามารถตอบสนองความต้องการได้ ทั้งในแง่ของการดูหนังและฟังเพลง เพียงแค่เพิ่มแหล่งโปรแกรมอีกเพียงหนึ่ง หรือสอง เท่านั้นเอง

มันคือความคุ้มค่าที่ผม (ผู้วิจารณ์) ขอแนะนำอย่างยิ่งยวด…

เที่ยวหน้าจะหยิบบทวิจารณ์ชิ้นนี้มาเรียบเรียงเล่าสู่กันฟังครับ