ดร.ตั้ว ลพานุกรม เภสัชกรนักปฏิวัติ : ผู้สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และสุขภาพอนามัย

ณัฐพล ใจจริง

ดร.ตั้วกล่าวก่อนการปฏิวัติว่า “Do it now or never…คำพูดประโยคนี้ ได้เร้าใจพวกเรา 4-5 คนซึ่งร่วมอยู่แล้ว ณ ที่นั้น ให้เต้นแรงยิ่งนัก”

(ดิเรก ชัยนาม, 2484)

 

หากจะกล่าวถึงสมาชิกคณะราษฎรผู้จบการศึกษาชั้นปริญญาเอกมีถึง 3 คน คือ “ปรีดี-ตั้ว-ประจวบ” แต่เรามักจะคุ้นกับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในสาขานิติศาสตร์ แต่แท้จริงแล้วยังมี สมาชิกที่จบปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์อีก 2 คน คือ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กับ ดร.ประจวบ บุนนาค

ตั้ว ลพานุกรม นักวิทยาศาสตร์ นักปฏิวัติ สมาชิกคณะราษฎร อดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ไม่เคยกลัวต่อการเสี่ยงตาย เขาเป็นเภสัชกร เกิดในตระกูลคหบดี จบปริญญาเอกทางเคมี เภสัช และพฤษศาสตร์จากยุโรป ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และสุขภาพให้ชาวไทย…

ทำไมเขาต้องเป็นนักปฏิวัติ…

ทั้งๆ ที่หากระบอบเก่าคงอยู่ เขามีก้าวหน้าในราชการเป็นพระน้ำพระยาแน่นอน

ดร.ตั้ว นักวิทยาศาสตร์
เภสัชกร นักปฏิวัติ

ตั้ว ลพานุกรม (2441-2484) เภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร เขาร่วมปฏิวัติไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น กรรมการราษฎร รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนฯ และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์

เขาเกิดในครอบครัวคหบดีแถวตลาดน้อย ศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และราชวิทยาลัย จนกระทั่งอายุ 12 ปีได้ทุนของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ไปศึกษาต่อประเทศเยอรมนี ไม่นานจากนั้น ไทยกับเยอรมนีต้องประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาถูกจับเป็นเชลยศึก

ภายหลังพ้นจากการเป็นเชลยศึก เขาเป็นทหารอาสา ทำหน้าที่เป็นล่าม ได้รับยศจ่านายสิบ เขาเดินทางกลับถึงไทยพร้อมกองทหารอาสาเมื่อปี 2462 และได้รับพระราชทานเหรียญรามาธิบดี กับเหรียญพระราชสงครามยุโรป และปลดประจำการในปีเดียวกัน

ปลายปี 2462 เขาได้เดินทางกลับไปยังยุโรปเพื่อศึกษาต่อด้วยทุนกรมขุนสงขลานครินทร์ เข้าศึกษาวิชาเคมี และสอบไล่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crystals” ที่มหาวิทยาลัยเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์

ต่อมา ตั้วพร้อมคณะราษฎรอีก 6 ประชุมร่วมกันครั้งแรก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส พวกเขาปรารถนาเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยเพื่อความเจริญก้าวหน้าของไทยให้ทัดเทียมชาติอารยะ

ตั้ว ลพานุกรม กับประสบการณ์ทั้งทหารผ่านศึก และนักวิทยาศาสตร์

จากนั้น เขาไปศึกษาต่อในวิชาเภสัชศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก เยอรมนี และวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส (2473) จากนั้น เขาเดินทางกลับไทย โดยระหว่างทางแวะดูงานทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นด้วย

เมื่อกลับไทย เขารับราชการที่ศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ดิเรก ชัยนาม สมาชิกสายพลเรือนบันทึกถึงความเด็ดเดี่ยวของตั้วก่อนการปฏิวัติว่า

“คุณตั้ว ลพานุกรม มิตร์ ร่วมชีวิต…ข้าพเจ้ายังจำคำพูดซึ่งคุณตั้วได้กล่าวกับพวกเรา ๔-๕ คนที่บ้านตรอกจันทร์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองประมาณ ๓ เดือน เป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้ ‘Do it now or never’ แปลว่า ‘ทำเดี๋ยวนี้หรือไม่ทำเลย’ คำพูดประโยคนี้ ได้เร้าใจพวกเรา ๔-๕ คนซึ่งร่วมอยู่แล้ว ณ ที่นั้น ให้เต้นแรงยิ่งนัก” (ดิเรก ชัยนาม, 2484)

ไม่นานจากนั้น เขาร่วมกับคณะราษฎรปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน วันนั้น เขาเดินทางสู่จุดนัดหมายที่บางซื่อ “คุณตั้ว ลพานุกรม เป็นผู้หนึ่งในจำนวนหลายคนที่ได้นั่งร่วมรถยนต์คันเดียวกันกับข้าพเจ้าแลจอมพลพิบูลสงคราม เมื่อคืนวันที่ ๒๔ มิ.ย.๗๕ ผ่านถนนสายต่างๆ ตรงไปตำบลบางซื่อ” (หลวงอดุลเดชจรัส, 2484)

พระยาพหลฯ กล่าวชื่นชมตั้วว่า “ครั้นประมาณภายใน ๒ ปีก่อนที่จะลงมือทำการสำคัญของชาติ เรายิ่งสนิทสนมกันมากขึ้น…เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ท่านเป็นผู้ที่ข้าพเจ้าไว้วางใจได้อย่างดีผู้หนึ่ง เพราะมีนิสัยมั่นคง ไม่หลอกแหลกตลอดมาตั้งแต่เริ่มการเตรียมการ ลงมือกระทำการและได้ทำการสำเร็จแล้ว…” (พระยาพหลฯ, 2484)

นายปรีดี พนมยงค์ เล่าว่า “ในคราวทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง…คุณตั้ว ลพานุกรม เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยมั่นคง เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด ในระหว่างมิตรสหายบรรดาที่ได้สมาคมกันมา ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ว่า คุณตั้ว ลพานุกรม เคยอย่างไร ก็คงอย่างนั้นอยู่เสมอ…” (ปรีดี, 2484)

ด้วยเขาเห็นประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้น “การร่วมคิดและร่วมมือในคราวก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ท่านมิได้กระทำไปด้วยความเกลียดชังพระมหากษัตริย์ หรือพระราชวงศ์องค์หนึ่งองค์ใดเลย แต่กระทำไปด้วยความเห็นแก่ชาติโดยแท้…” (ที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชทานเพลิงศพ ดร.ตั้ว ลพานุกรม, 2484, 17)

วิทยาศาสตร์กับการสร้างชาติ

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจปฏิวัติแล้ว เขากลับมาทำงานที่ศาลาแยกธาตุเช่นเดิม ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ (2478) มีเขาเป็นอธิบดีคนแรก เขาแบ่งงานในกรมออกเป็นกองเคมี กองอุตสาหกรรมเคมี กองเกษตรศาสตร์ และกองเภสัชกรรม ด้วยต้องการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างชาติ

ในสมัยที่เขาเป็นอธิบดี กรมมีความเจริญและมีบุคลากรมาก ด้วยเขาปรารถนาส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่สังคมไทย

เขาตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ (2480) ในกรม มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับระดับมัธยมศึกษาให้มีความรู้ในวิชาเคมีทางปฏิบัติ สามารถเข้ารับราชการในกรมได้ โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรก

นอกจากนี้ ตั้วยังสนใจการใช้วิทยาศาสตร์พัฒนาเกษตรกรรมและอาหาร เขาส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในปี 2480 ต่อมากลายเป็นนโยบายส่งเสริมและพัฒนาประชาชนระบอบใหม่ให้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงด้วยการบริโภคถั่วเหลืองอันเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก

ด้วยเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และหนอนหนังสือที่อ่านทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้เขามีความรู้รอบด้านและสามารถประยุกต์วิทยาศาสตร์เข้ากับการสร้างชาติได้

ต่อมา เขาจัดตั้งแผนกห้องสมุดในกรมขึ้น และมีความตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นหอสมุดวิทยาศาสตร์แห่งชาติต่อไป รวมทั้งออกวารสารวิทยาศาสตร์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพื่อเผยแพร่งานวิจัยของไทยเผยแพร่ไปยังต่างประเทศอันมีเขาเป็นบรรณาธิการอีกด้วย

เขาเขียนบทความกระตุ้นให้ใช้วิทยาศาสตร์สร้างชาติ เช่น วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ วิทยาศาสตร์กับอุตสาหกรรม พลเมืองไทยและความจำเป็นทางอาหาร สมุนไพรในบ้านเรา งานเภสัชกรรม สร้างชาติด้วยคันไถ

ภายหลังการปฏิวัติ ตั้วเป็นรัฐมนตรีชุดแรกและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในปี 2481 เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ไปควบคู่กัน

ในช่วงที่เขาทำงานรับใช้ชาติ งานด้านวิทยาศาสตร์และอนามัยมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลขาดแคลนงบประมาณ เขาจึงใช้ทุนส่วนตัวไปดูงานในต่างประเทศ เขาเป็นคนเรียบง่าย เห็นประโยชน์ของชาติเหนือส่วนตัว เมื่อชอบตรวจราชการ เขาไม่ชอบให้ข้าราชการมาต้อนรับเขา ด้วยเป็นการเสียเวลาทำงานให้ประชาชน

งานวิจัยเรื่องถั่วเหลืองและรำข้าว และวารสารวิทยาศาสตร์ที่เขาริเริ่มขึ้น

องค์การเภสัชฯ
และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
คือมรดกของเขา

นอกจากนี้ ตั้วยังให้ความสำคัญการกับศึกษาเภสัชศาสตร์มาก เขาส่งเสริมการสอนเภสัชศาสตร์ พร้อมยกระดับแผนกปรุงยาสู่แผนกอิสระเภสัชศาสตร์ รัฐบาลจอมพล ป.ตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย ต่อมาแผนกยกระดับขึ้นเป็นคณะ

เขาตั้งกองเภสัชกรรม (2480) เพื่อศึกษาวิเคราะห์วิจัยทางเภสัชกรรมและวิจัยสมุนไพรใช้ทำเป็นยาทดแทนการสั่งซื้อยาสมัยใหม่จากต่างประเทศ จากนั้น สร้างโรงงานเภสัชกรรม (2482) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยา ประหยัดเงินตรา มียาสำรองป้องกันยาขาดแคลน ต่อมีการปรับองค์กรและเปลี่ยนชื่อเป็น องค์การเภสัชกรรม

ดร.ตั้วเป็นโสด และใช้ชีวิตที่เหลือภายหลังการปฏิวัติ 2475 เพื่อส่วนรวม มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และการส่งเสริมสุขภาพอนามัยเป็นหนทางสร้างชาติ ในประวัติราชการของเขาไม่เคยลาป่วยเลย จนมาลาป่วยครั้งแรก 3 วันและถึงแก่อนิจกรรมด้วยไส้ติ่งอักเสบ (2484) อายุเพียง 43 ปี เขาได้รับสมญานามว่า “รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย”

ทั้งนี้ อุดมคติที่เขาเชื่อถือคือ “ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้”

ตรวจราชการในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐการ ด่านศุลกากรและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย