สุจิตต์ วงษ์เทศ/แหล่งฝังศพยุคดั้งเดิม

สุจิตต์ วงษ์เทศ

งานศพ (12)

แหล่งฝังศพยุคดั้งเดิม

ลานกลางบ้าน และใต้ถุนเรือน

เมื่อมีคนตายซึ่งเชื่อว่าขวัญหาย บรรดาญาติพี่น้องและคนในชุมชนต้องร่วมกันทำพิธีเรียกขวัญ ด้วยหวังว่าขวัญจะคืนร่างเดิม แล้วฟื้น

นานหลายวันจนเริ่มเน่า จึงเอาศพฝังดินรอขวัญ พร้อมสิ่งของเครื่องใช้เตรียมไว้เหมือนครั้งมีชีวิตจะได้ใช้สอยเมื่อฟื้น

กระทั่งเนื้อหนังผุเปื่อยเหลือแต่กระดูก ก็พากันขุดกระดูกล้างน้ำให้สะอาดบรรจุภาชนะดินเผา แล้วทำพิธีฝังอีกครั้ง เรียกพิธีฝังศพครั้งที่สอง

แหล่งฝังศพอยู่บริเวณลานกลางบ้านหรือใต้ถุนเรือน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ลานกลางบ้าน

ลานกลางบ้านเป็นที่ฝังศพตระกูลหมอผีหัวหน้าเผ่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ทำพิธีเลี้ยงผีบรรพชน และพิธีกรรมอื่นๆ ทั้งปี เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์เจริญพืชพันธุ์ธัญญาหาร

จึงเป็นศูนย์กลางของหน่วยทางการเมืองการปกครองยุคดึกดำบรรพ์ เชื่อกันว่าเป็นที่สิงสู่ของหมู่ขวัญบรรพชน ซึ่งจะรวมพลังกันปกป้องคุ้มครองเผ่าพันธุ์ให้มั่นคงและพ้นโรคภัย

เมื่อรับศาสนาจากอินเดียมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง ทั้งฝ่ายพราหมณ์และพุทธต่างต้องยอมรับนับถือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนพื้นเมืองที่นับถืออย่างแข็งแรงสืบมาแต่ดั้งเดิม มิฉะนั้นก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ จึงสร้างสถูปเจดีย์ครอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เช่น วัดชมชื่น (จ.สุโขทัย), ปราสาทพนมวัน (จ.นครราชสีมา) ฯลฯ

ใต้ถุนเรือน เป็นที่ฝังศพดึกดำบรรพ์ 2,500 ปีมาแล้ว วาดจากจินตนาการของนักโบราณคดีนานาชาติ (ซ้าย) เรือนเสาสูง มีใต้ถุนเป็นที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ตีหม้อ, ทอผ้า, เลี้ยงวัวควาย, หุงข้าว ฯลฯ และเป็นที่ฝังศพของคนในเรือน นักโบราณคดีขุดพบทั้งโครงกระดูกและเศษภาชนะดินเผาเป็นชิ้นส่วน รวมทั้งกระดูกสัตว์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ กระจัดกระจายคล้ายกองขยะ ที่บ้านเชียง อ. หนองหาน จ. อุดรธานี (ขวา) เรือนเสาสูง ขุดพบที่บ้านหนองแช่เสา ต. หินกอง อ. เมืองฯ จ. ราชบุรี

ใต้ถุนเรือน

งานศพ มีที่บ้านคนตาย (ยังไม่มีวัด เพราะยังไม่รับศาสนาจากอินเดีย แม้มีวัดแล้วในชนบทยังมีพิธีศพในบ้านจนเมื่อไม่กี่ปีมานี้)

เมื่อเสร็จพิธีเรียกขวัญทุกอย่างแล้ว โดยใช้เวลานานจนเนื้อหนังร่างกายคนตายเน่าขวัญยังไม่กลับมา ต้องเอาศพฝังดิน ก็ฝังใต้ถุนเรือนหรือลานกลางบ้าน ด้วยหวังอีกว่าขวัญจะคืนร่าง จึงทำภาชนะเขียนสีเป็นลายขวัญฝังไปกับศพด้วย (เช่น หม้อลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ขุดพบที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี)

โดยไม่มีโลงศพ คนดั้งเดิมฝังศพใส่หลุมไว้ใต้ถุนบ้าน ชุมชนบางแห่งฝังศพทับซ้อนบริเวณเดียวกันหลายยุค เพราะอยู่สืบต่อกันมานานหลายยุคหลายสมัย นักโบราณคดีขุดพบทั่วไปโดยเฉพาะภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์

[มีคำอธิบายอีกมากในหนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ นายชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 26, 35, 39, 53, 57 ฯลฯ]

ศพหมอผีหัวหน้าเผ่า

ศพหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ฝังไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณใต้ถุนเรือนหรือลานกลางบ้าน

ดังนั้น โครงกระดูกมนุษย์ราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีขุดพบบริเวณใต้ถุนเรือน หรือลานกลางบ้าน (หมายถึงกลางหมู่บ้าน) จึงล้วนเป็นโครงกระดูกของตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ เพราะมีสิ่งของมีค่าที่ทำด้วยเทคโนโลยีสูงจำนวนมากฝังรวมอยู่ด้วย (คนทั่วไปไม่มี) เช่น เครื่องมือโลหะสำริด, เหล็ก ฯลฯ

ส่วนศพสามัญชนคนทั่วไป เมื่อตายไปก็โยนให้แร้งกาจิกกิน