รัก ‘ประหาร’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

รัก ‘ประหาร’

 

“ผมรักประชาชน

รักอย่างเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์”

คือคำประกาศจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19

โดยเฉพาะล่าสุด ที่ออกพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน

1. คุมพื้นที่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

2. ปิดแคมป์ก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน ในเขตพื้นที่ดังกล่าว

3. ดำเนินมาตรการควบคุมโรคในลักษณะ Bubble and Seal ในสถานประกอบการและโรงงานเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล

4. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น (Take Home)

5. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร

6. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง

7. กิจกรรมการรวมกลุ่ม ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

 

ประกาศดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ได้ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค. และที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศูนย์โควิด-19 และได้แถลงต่อผู้สื่อข่าว ถึงการที่จะทำตามประกาศดังกล่าว

แต่จะเพราะว่าเกรงจะตึงเครียดเกินไป

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เล่นมุข ปล่อยคำติดปาก อย่างนะจ๊ะ สลับเสียงหัวเราะร่วน

ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกไปอีกทาง คือทีเล่นทีจริง ทั้งที่เนื้อหาที่ออกมา “บังคับ” นั้น ซีเรียสและกระทบกับคนในวงกว้าง

ดังนั้น เมื่อมีการประกาศคำสั่งกลางดึก ที่มองเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากคือเร่งด่วน ซีเรียส

การทำเช่นนี้ จึงถูกมองว่า “ลักหลับ” ชาวบ้านหรือเปล่า

และนำไปสู่ความรู้สึกด้านลบ ต่อการสื่อสารของ พล.อ.ประยุทธ์ ศคบ.และรัฐบาล

ทั้งนี้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ดูจะจับอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านได้ไว จึงนำมาสะท้อนผ่านสื่อโซเชียลในทันที

 

โดยนายชูวิทย์ระบุว่า

“…อย่าหาว่าผมไปจับผิดท่าน แต่นั่งดูท่านนายกฯ แถลงข่าวจนจบแล้วไม่สบายใจ

เพราะมันใช่เวลาที่ท่านจะมาอารมณ์ดี ขำขัน ชูสองนิ้ว หัวเราะร่วนไหม?

ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ประชาชนเฝ้ารอทิศทางที่ชัดเจนจากนายกฯ แต่ท่านผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่กลับยังจ๊ะจ๋า หัวเราะเอิ๊กอ๊าก แซวกันดูสนุกสนาน ระหว่างแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ประชาชนที่ดูอยู่ พูดไม่ออก บอกไม่ถูก เหมือนอารมณ์มันจุกอก เพราะตรงกันข้ามกับความรู้สึกของชาวบ้าน ประชาชนที่สิ้นหวังกับอนาคตในภาวการณ์เช่นนี้

ในฐานะผู้นำประเทศต้องเข้าใจสังคม ที่ไม่ได้ต้องการเห็นใครเอาเรื่องโควิดมาพูดขำๆ เหมือนอย่างที่ท่านทำ

ท่านต้องแสดงความรู้สึกร่วมทุกข์กับชาวบ้าน เช่นเดียวกับผู้นำทั่วโลกเมื่อแถลงข่าวเรื่องโควิดในภาวะวิกฤตอย่างนี้

ไม่ใช่สักแต่พูดให้ผ่านๆ พ้นๆ ไป ทั้งที่สถานการณ์ของไทยเข้าขั้นตรีทูต ไม่ว่ารอวัคซีน รอเตียง การค้าการขาย ปากท้อง สารพัดปัญหาที่เกินกว่านายกฯ คนเดียวจะแก้ได้หมดแบบวันแมนโชว์ ผู้นำที่แน่วแน่ ไม่จำเป็นต้องเอาหมอมายืนเคียงข้างเพื่อสร้างความมั่นใจ หรือว่าท่านทำให้ใครเชื่อใจไม่ได้ จึงต้องใช้หมอมาเป็นตัวช่วยบอกบท?

ที่สำคัญท่านหยุดหัวเราะร่อ และชู 2 นิ้วเถอะ ประชาชนเขาไม่ได้ตลกขบขันเรื่องโควิดกับท่านเลยครับ

ขณะนี้คนตายเฉลี่ย 30-40 คน/วัน ผู้ป่วยใหม่นอนรอเตียงอย่างสิ้นหวัง บางที่ผัว-เมียติดเชื้อพร้อมกัน เลื่อนไปเลื่อนมาไม่มีใครมารับจนเมียตายคาบ้าน ผัวก็ยังต้องนอนรอรถมารับไปรักษาด้วยหัวใจที่แตกสลาย โรงพยาบาลบางที่ก็ไม่รับตรวจเชื้อ เพราะหากเจอต้องรับรักษา แต่เตียงไม่พอเลยต้องปล่อยเกาะเพื่อนร่วมชาติ ยอดรวมผู้ติดเชื้อก็ปาเข้าไป 240,000 คน เสียชีวิตแล้ว 1,870 คน เฉพาะเดือนนี้ 839 คนที่ต้องตาย

อย่างนี้ยังคิดว่ามันตลกอยู่ไหมครับท่าน?

ครอบครัวที่ต้องสูญเสีย ไม่มีอารมณ์มาดูเกมโชว์ หรือตลก ‘ตู่ ชวนชื่น’ หรอกครับ…

…เอาไงดีครับ จะให้หัวเราะหรือร้องไห้ดี? หรือต้องร้องไห้ไปหัวเราะไปเหมือนคนบ้า?”

 

สิ่งที่นายชูวิทย์เป็นตัวแทนสะท้อนออกมาเชื่อว่าประชาชนจำนวนมาก หลายคนเห็นด้วย

พร้อมกับตั้งคำถามว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า รักประชาชน นั้นรักจริงหรือไม่

หรือเป็น รัก “ประหาร”

กล่าวคือ ยิ่งรักประชาชน

ประชาชนยิ่งย่ำแย่ เหี่ยวแห้ง เหมือนถูกประหาร

เพราะประชาชนได้รับผลกระทบจามาตรการที่ออกมาหนักขึ้นเรื่อยๆ และต่อเนื่อง

ไม่ตายก็เหมือนถูกสั่งประหารให้ตาย

 

ดังที่นายรัศมิ์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจทูตนอกแถว The Alternative Ambassador และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ เขียนข้อความแสดงความเห็นเรื่อง วิพากษ์ความผิดพลาดในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดของไทย

โดยระบุว่า

“ประเทศชาติของเราดูเหมือนกำลังก้าวเข้าสู่สภาวะความวิบัติอันใหญ่หลวง ที่มีแต่ความมืดมนรออยู่เบื้องหน้า

มองไปทางใดก็ล้วนแต่เห็นผู้คนที่สิ้นหวัง

นี่คือระดับความพินาศของประเทศชาติที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่ในความเห็นของผม อย่างน้อยก็ร่วมสองร้อยปี นับแต่ที่เสียกรุงครั้งที่สองเป็นต้นมา

แม้โรคโควิด-19 จะระบาดไปทั่วโลก แต่ประเทศเรามาถึงความวิบัติเช่นนี้ได้อย่างไร?

ทั้งนี้ ความผิดพลาดที่นำมาถึงจุดจุดนี้น่าจะสรุปได้สามประการหลักๆ ดังนี้ :

1) การไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ของ WHO (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด) แต่ผลคือทำให้ประเทศเราไม่ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ในปริมาณและในเวลาที่ทันการณ์

2) ความคิดและการตัดสินใจที่จะผลิตวัคซีนเอง ซึ่งผลมันก็เป็นอย่างที่เห็นกัน ผมคงไม่ต้องพูดอะไรอีก

3) การเลือกสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค ทั้งที่มีข้อมูลและข้อเท็จจริงมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามีคุณภาพต่ำมาก (แต่ราคาสูง) ซึ่งก็คือความหายนะของประเทศชาติแบบตอกฝาโลงที่แท้จริง

ผมมาคิดว่าข้อ 1. และข้อ 2. นั้นเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ ที่เกิดจากการประเมินและตัดสินใจที่ไร้วิสัยทัศน์ การขาดความรู้ความสามารถในการบริหารบ้านเมือง

หรือจริงๆ เราพอสรุปได้สั้นๆ ว่า คือความโง่

แต่ข้อ 3. จากข้อมูลระดับโลกหลายแห่งที่ชี้ว่าซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำ แต่เรากลับซื้อมาด้วยราคาแพงกว่าวัคซีนที่มีคุณภาพสูงตัวอื่นๆ อีกทั้งไม่เคยมีการเปิดเผยสัญญาหรือชี้แจงอย่างชัดเจนเป็นทางการว่าเหตุใดจึงเลือกซื้อวัคซีนตัวนี้ เรื่องนี้จึงขาดทั้งความโปร่งใส และนำไปสู่คำถามว่ามีลับลมคมในอะไรในเรื่องนี้หรือไม่?

และทั้งหมดทั้งปวงกับความผิดพลาดที่สร้างความหายนะแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงในทุกด้าน

ที่ประชาชนอีกไม่รู้เท่าไหร่จะต้องล้มตายไปอีก

ทั้งจากความล้มเหลวในการป้องกันโรคและความย่อยยับทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยมีการยอมรับผิดหรือขอโทษแม้แต่ครั้งเดียว

ซึ่งระดับความผิดพลาดอันมหันต์เช่นนี้ โดยปกติต้องถือว่าหมดความชอบธรรมใดๆ ที่จะบริหารต่อไปได้อีกแล้ว”

 

นั่นคือการวิจารณ์ในเชิงระบบ ในเชิงส่วนรวม

ส่วนในเชิง “ปัจเจก” นั้น ก็เกิดเคสน่าเศร้าขึ้นมากมาย

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสะเทือนใจเกิดเมื่อเย็นวันที่ 26 มิถุนายน 2564 น.ส.ประกายฟ้า หรือฟ้า พูลด้วง อายุ 30 ปี เป็นนักดนตรีอิสระ และยูทูบเบอร์ ช่อง “Prakaifa channel” กระโดดจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งถึงแก่ความตาย

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เธอพยายามที่จะปลุกปลอบใจคนอื่นให้ลุกขึ้นมาสู้กับวิกฤตโควิด-19

อย่างที่เขียนในเฟซบุ๊กของตัวเอง เมื่อ 20 พฤษภาคม 2020 ว่าตนเองนั้นตกงานมาแล้ว 2 เดือน รายได้เป็นศูนย์ แต่ก็ยังขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตในครั้งนี้

“ใครตกงานช่วงโควิด ยกมือขึ้น???

เราเป็นนักร้องอาชีพ ที่ตกงานมาแล้ว 2 เดือน

ทุกงานแคนเซิลหมด รายได้ = 0

แต่เราคิดว่า ทุกอาชีพมันสามารถต่อยอดได้

‘ดนตรี’ ก็ยังสามารถเยียวยาหัวใจหลายๆ คน

และพอเราได้ลองทำอะไรใหม่ๆ บ้าง

ทำในสิ่งที่ไม่ถนัดบ้าง ก็เลยค้นพบสิ่งที่ทำได้ดี

นอกเหนือจากการร้องเพลงหรือเล่นดนตรี

เราเชื่อว่า ทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ

แค่เราเปิดใจ และมองความเป็นจริงมากขึ้น

ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนนะคะ”

แต่เธอเองก็ไม่อาจพ้นจากวิกฤตนั้นได้

เมื่อเกิดความเครียดเนื่องจากไม่มีงานและขาดรายได้ จึงก่อเหตุฆ่าตัวตายดังกล่าว

 

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในโลกโซเชียลมีเดีย แฮชแท็ก #นะจ๊ะ #ประยุทธ์ออกไป #ล็อกดาวน์กรุงเทพ กระหึ่มไป

โดยชาวเน็ตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศภายใน 7 ปีที่ล้มเหลวของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงเรื่องการจัดการวัคซีนและการเยียวยาประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างดุเดือดเลือดพล่าน

และเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธแค้น ใช้คำหยาบกระหน่ำเข้าใส่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่ยั้ง

จน พล.อ.ประยุทธ์ออกมาระบายความรู้สึกว่า “ผมถือว่าทุกคนเป็นคนไทย หลายอย่างผมก็เสียใจอยู่เหมือนกันที่หลายๆ คนใช้วาจากิริยาไม่สุภาพ มันควรหรือไม่ในประเทศไทยวันนี้ ผมก็ไม่อยากจะพูด แต่ผมก็อดทนอยู่แล้ว”

ขณะที่ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้กล่าวในทำนองให้เห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “นายกฯ เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว”

ทั้งที่ ทั้ง 2 ป. ควรจะเข้าใจว่าทำไมประชาชนจึงมี ‘ปฏิกิริยา’ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ร้ายและแรงอย่างนั้น

การบังคับบัญชาแบบรวมศูนย์ “ซิงเกิลคอมมานด์” จากบนลงล่างทำให้ได้ยินเสียงของประชาชนน้อยไปหรือไม่

หรือได้ยินแล้ว ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง พล.อ.ประวิตร ไม่เข้าใจนำไปสู่การแสดงออกบางอย่างซึ่งขัดกับอารมณ์และความรู้สึก

อย่างเช่น การชูสองนิ้ว ประกาศชัยชนะ ทั้งที่ประชาชนเห็นกับตาและรู้อยู่เต็มอกว่าวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้เข้าใกล้ชัยชนะเลย

หรือการเปล่ง ‘นะจ๊ะ’ ท่ามกลางความสูญเสียของประชาชน

การสื่อสารและทำความเข้าใจกับสังคมเป็นปัญหาของผู้นำใช่หรือไม่

ดังนั้น การเปล่งวาจา “ผมรักประชาชน”

จึงจะมีคำถามตามมาทันทีว่า จริงหรือเปล่า

หรือที่ว่า “รัก” นั้น เป็นรัก “ประหาร” ชาวบ้านเสียมากกว่า!