เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / วะวับวาวจักรวาล…

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

วะวับวาวจักรวาล…

“วะวับวาวจักรวาล…นั่นแหละกวี!”

26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันกวี “สุนทรภู่” ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ ครบ 235 ปี ชาตกาลของท่านกวีสุนทรภู่พอดี

สุนทรภู่เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 หลังตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้สี่ปี ถึงแก่กรรม พ.ศ.2328 อายุ 79 ปี

แม้จะได้สมญาว่าเป็นผู้สถาปนากลอนแปด คือจัดระเบียบฉันทลักษณ์ “เชิงกลอน” ดังเป็นแบบแผนมาตรฐานกลอนแปดมาจนทุกวันนี้

หากความยิ่งใหญ่ของท่านนั้นคือ “บรมกวี” ที่แท้จริง

เชิงกลอนที่เป็นแบบมาตรฐานนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบฉันทลักษณ์ แต่องค์รวมความเป็นกวีของท่านนั้นสมบูรณ์ยิ่ง

 

ถามว่า “กวี” คืออะไร

คำตอบ “กวี คือเพชรพลอยของถ้อยคำอันเจียระไนมาจากผลึกของความคิด”

ความคิดในความหมายโดยองค์รวมก็คือภูมิปัญญาอันสมดุลระหว่างความรู้สึก ความนึก ความคิดที่ลงตัว

ตัวอย่างยกได้จากเพลงปี่พระอภัยมณีคือ

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต

ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้

ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย

น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร

หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น

ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน

จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง

นี่แหละ “กวี”

กวีที่สมบูรณ์ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ความนึก และความคิด

ความรู้สึกทั้งของตัวละครที่เสมือนถูกสะกด และความรู้สึกของเราคนอ่านอันรู้สึกได้ทั้งความไพเราะเพราะพริ้งและอารมณ์ที่ไหลตามไปด้วย ดังคำ “หนาวอารมณ์” นั้น

ความนึก คือความคิดถึงถิ่นที่จากมาอันจินตนาการดัง “นกที่จากรัง” และ “ยามค่ำย่ำฆ้อง”

ความคิด ที่ผู้แต่งต้องการให้เกิดกับผู้ฟังคือตัวละครในเรื่องอันได้แก่ ไพร่พลในกองทัพว่าทำไมต้องมาตรากตรำทำศึกอยู่อย่างนี้…เพื่ออะไรและเพื่อใคร

ความรู้สึก นั้นเป็นปัจจุบัน

ความนึก เป็นอดีต

ความคิด เป็นอนาคต

กลอนสามบทนี้มีครบสมบูรณ์ เป็น “ภูมิปัญญา” โดยแท้

นี่แหละ “กวี”

 

นอกจากความเป็นเลิศทางภูมิปัญญาแล้ว กลอนสามบทนี้ยังสมบูรณ์ด้วย “เชิงกลอน” ในแบบกลอนแปดอันเป็นฉันทลักษณ์มาตรฐานนั้นอีกด้วย

เรียกว่าสมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหา

นี้คือ “เพชรพลอยของถ้อยคำอันเจียระไนมาจากผลึกของความคิด” ของท่านสุนทรภู่ผู้เป็น “บรมกวี” ไทย

อังกฤษมีเช็กสเปียร์ รัสเซียมีพุชกิน จีนมีหลี่ไป๋และตู้ฝู่

ไทยมีสุนทรภู่ผู้เป็นบรมกวี

ขงจื๊อจอมปราชญ์จีนกล่าววาทะว่า

“มนุษย์งอกงามด้วยบทกวี

มั่นคงด้วยศีลธรรม

เติมเต็มด้วยดนตรี”

นี่เป็นสัจธรรม เพราะบทกวีที่ดีเป็นการพัฒนาภูมิปัญญาให้สมบูรณ์สมค่าความเป็นมนุษย์ มีหลักศีลธรรมเป็นพื้นฐาน และมีดนตรีคือภาษาแห่งเสียงอันไปพ้นจากถ้อยคำมาเติมเต็ม

มีวาทะของญี่ปุ่นกล่าวว่า

“คำคำเดียว ทำให้อบอุ่นไปตลอดฤดูหนาวสามเดือน”

…นั่นคือคำกวี

 

เคยอ่านการ์ตูน เรื่องมีอยู่ว่า

ครอบครัวหนู ซึ่งมีลูกๆ ขยันขันแข็งออกไปทำงานทุกวัน มีหนูน้องเล็กตัวเดียวไม่ช่วยพี่ๆ ทำงานเลย ได้แต่นั่งดูอยู่เฉยๆ ได้ทุกวันเหมือนกัน แล้วอ้างว่าทำงานด้วยแล้ว

กระทั่งถึงฤดูหนาว ซึ่งพวกหนูต้องอยู่แต่ในรัง ออกไปทำงานไม่ได้เพราะข้างนอกหนาวจัด แต่ครอบครัวหนูก็ไม่อดด้วยสรรพอาหารบรรดามีที่ช่วยกันหามาสะสมไว้ตลอดในช่วงก่อนฤดูหนาวจะมาถึง

พี่ๆ ถามน้องหนูว่า ระหว่างพี่ๆ ทำงานได้มีอาหารมาเลี้ยงดูกันอยู่นี่ แล้วน้องหนูทำอะไรอยู่ไหนลองบอกมาซิ

น้องหนูจึงลุกขึ้นแล้วเล่าถึงแดดอุ่นยามเช้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ เล่าถึงดอกไม้สะพรั่งงามสายลมแห่งฤดูร้อนโชยพัดสารพันกลิ่นหอมอบอวลของแมกไม้กับหยาดน้ำฉ่ำชื่นแห่งสายฝนกับแดดอุ่นในฤดูหนาว

พลันพลังความรู้สึกสดชื่นอบอุ่นก็แผ่อบอวลไปทั่ว ทำให้ความหนาวคลายไปได้อย่างอัศจรรย์

พี่ๆ หนูต่างอุทานพร้อมกันว่า

“น้องเล็กเป็นกวีนะนี่”

หนูน้องเล็กค้อมหัวพลางเอ่ยว่า

“ก็ใช่นะสิ”

 

นั่นแหละ

 

ใครเคยเห็นเจ้าชายสายลมบ้าง

ไม่มีทางที่จะนึกจะเห็นสม

เมื่อพฤกษาน้อมเศียรลงบังคม

นั่นแหละ…เจ้าสายลม ได้ผ่านไป

 

ความรักเป็นอย่างไรใครรู้บ้าง

เจ้าเคว้งคว้างจรดลอยู่หนไหน

เมื่อดาวแย้มเดือนยิ้มพริ้มละไม

นั่นแหละใจให้กัน…นั่นแหละรัก

 

เคยคำนวณน้ำหนักน้ำตาไหม

เมื่อหัวใจเจ็บปวดต้องจมปลัก

แสนสมุทรอสงไขยทลายทะลัก

นั่นแหละ…คือน้ำหนัก ความปวดร้าว

 

จากยอดหญ้าจรดยอดพระเจดีย์

จากธุลีถึงห้วงเวหาหาว

จากแผ่นดินเลยล่วงถึงดวงดาว

วะวับวาวจักรวาล…นั่นแหละ กวี!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์