สิ่งแวดล้อม : ‘โอ๊กแลนด์’ น่าอยู่อันดับ 1 / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

 

‘โอ๊กแลนด์’ น่าอยู่อันดับ 1

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรืออีไอยู (The Economist Intelligence Unit – EIU) ในเครือของนิตยสาร “ดิ อีโคโนมิสต์” ชื่อดังของอังกฤษ จัดอันดับเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกประจำปี 2564 ให้แก่เมืองโอ๊กแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์

อีไอยูสำรวจข้อมูลใน 5 ปัจจัยสำหรับการจัดอันดับความเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ได้แก่ 1.ความมีเสถียรภาพ 2.ระบบสาธารณสุข 3.การศึกษา 4.วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 5.โครงสร้างพื้นฐานของเมือง

การสำรวจข้อมูลครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ใน 140 เมืองทั่วโลก เป็นช่วงที่ทุกประเทศกำลังอยู่ในภาวะโกลาหลอลหม่านกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่าคะแนนความเป็นเมืองน่าอยู่ของทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยลดลง 7 คะแนน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของคะแนนช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

อีไอยูได้ข้อสรุปว่าการใช้มาตรการปิดพรมแดน ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตด้านสุขภาพ และการบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดลำดับเมืองน่าอยู่ของปีนี้

สถิติการจัดการบริหารด้านสาธารณสุขในโอ๊กแลนด์พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดต่ำลง ผู้บริหารเมืองประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ผู้คนในเมืองกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โรงละครเปิดบริการ นักเรียน-นักศึกษาในเมืองโอ๊กแลนด์ไปเรียนได้ตามปกติ

เมืองโอ๊กแลนด์ได้คะแนนด้านการศึกษาเต็ม 100 คะแนน ด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 97.5 คะแนน สาธารณสุข 95.8 คะแนน ด้านความมีเสถียรภาพ 95 คะแนน และโครงสร้างพื้นฐาน 92.9 คะแนน

คะแนนรวมเป็นอันดับ 1 อีไอยูจึงเชิดชูให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกประจำปีนี้

 

เมืองน่าอยู่อันดับ 2 ได้แก่ นครโอซาก้าของญี่ปุ่น ตามมาด้วยเมืองแอดิเลด ออสเตรเลีย

ส่วนกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์ และกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ครองอันดับ 4 ร่วมกัน

อันดับ 6 เมืองเพิร์ธของออสเตรเลีย อันดับ 7 เมืองซูริกของสวิตเซอร์แลนด์

อันดับ 8 นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ และเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย อันดับ 10 คือเมืองบริสเบนของออสเตรเลีย

น่าสังเกตเมืองน่าอยู่ติดอันดับ 1-10 ของโลกปีนี้ 2 เมืองอยู่ในนิวซีแลนด์ 2 เมืองอยู่ในญี่ปุ่น และ 4 เมืองอยู่ในออสเตรเลีย ส่วนยุโรปมีเพียงสวิตเซอร์แลนด์ติด 2 เมือง ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้บริหารเมืองสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปิดกั้นพรมแดนทำอย่างเข้มงวด ประชาชนสามารถใช้ชีวิตค่อนข้างปกติได้เร็ว

เทียบกับเมืองในยุโรปเช่นกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 2561-2562 เป็นอันดับ 1 เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก แต่ปีนี้กรุงเวียนนามีคะแนนลดลง ร่วงไปอยู่อันดับ 12

เนื่องจากความสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 2 ต่ำกว่านิวซีแลนด์และออสเตรเลียหรือญี่ปุ่นมาก

 

อีไอยูยังมองว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีผลต่อความเป็นเมืองน่าอยู่

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประสิทธิภาพในการจัดหาและฉีดวัดซีนให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่จะเห็นในการสำรวจครั้งต่อไปคือ สภาพแวดล้อมในเมืองที่ยากจนน่าจะย่ำแย่ลง หากไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาใช้ป้องกันการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ระบบสาธารณสุขที่อ่อนแออาจเผชิญกับความตึงเครียดมากขึ้น อย่างที่เกิดในประเทศอินเดีย

การฉีดวัคซีนที่ช้าลงจะทำให้การใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงการสำรวจในด้านอื่นๆ เช่น เสถียรภาพของประเทศ

อีไอยูมองว่า ถ้ามีการควบคุมการแพร่ระบาด ผ่านการให้วัคซีน การตรวจหาเชื้อและการใช้มาตรการกักกันอย่างเข้มข้น ป้องกันการแพร่กระจายและเชื้อกลายพันธุ์ จะทำให้คะแนนด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ โรงเรียนอาจเริ่มเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ

แต่ถึงกระนั้น ระบบสาธารณสุขจะยังคงเผชิญกับแรงกดดัน เพราะต้องบริหารจัดการทั้งผู้ป่วยโรคโควิด-19 และผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด นอกจากนี้แล้วยังเปิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้พักอาศัยในเมืองต่างๆ พื้นที่สีเขียวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ขณะที่การใช้บริการขนส่งสาธารณะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด

 

กลับมาพูดถึงนิวซีแลนด์อีกสักรอบ นอกจากจะมีโอ๊กแลนด์ติดอันดับ 1 และกรุงเวลลิงตัน ติดอันดับ 4 เมืองน่าอยู่ของโลกแล้ว ยังมี “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกฯ ที่มีความสามารถบริหารประเทศได้อย่างยอดเยี่ยม

ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ “อาร์เดิร์น” ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลกหลายครั้งหลายวาระ ในฐานะที่จัดการกับปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก

และการใช้คำพูดสื่อสารไปถึงชาวนิวซีแลนด์อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา

คงจำกันได้เมื่อเดือนมีนาคมปี 2562 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองไครสต์เชิร์ต มือปืนบุกกราดยิงผู้คนกำลังร่วมละหมาดเสียชีวิต 50 คน กลายเป็นข่าวสะเทือนใจผู้คนทั่วโลก “อาร์เดิร์น” ออกมาแถลงการณ์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงพร้อมๆ กับเดินทางไปเยี่ยมบรรดาญาติๆ ผู้เสียชีวิต สวมผ้าคลุมหัวสีดำเพื่อแสดงความเคารพ

ระหว่างแถลงในสภาผู้แทนฯ “อาร์เดิร์น” กล่าวทักทายตามแนวทางมุสลิมว่า “ขอสันติสุขจงมีแต่ท่าน” จากนั้นให้สัญญาจะแก้ไขการควบคุมอาวุธปืนภายใน 10 วัน

สัญญาก็เป็นสัญญา เมื่อกฎหมายห้ามครอบครองอาวุธปืนจู่โจมทุกชนิดมีผลบังคับใช้ในเดือนถัดมา

อาร์เดิร์นไม่เพียงได้ใจชาวนิวซีแลนด์เท่านั้น แต่ยังโดนใจชาวมุสลิมและผู้คนทั่วโลก

ในวิกฤต “โควิด-19” อาร์เดิร์นจัดการปัญหาอย่างยอดเยี่ยม นับตั้งแต่เกิดเหตุวิกฤตจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเพียง 26 คน หรือคิดสัดส่วน 1 ใน 2 แสนคน คนติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เพียง 1 คนมาจากอินเดียแต่อยู่ในพื้นที่กักโรค

มองผู้นำนิวซีแลนด์แล้ว ย้อนมาดูผู้นำของไทย บอกตรงๆ ว่า อยากเอากะละมังคลุมหัว