เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ควรดำเนินการสอนอย่างไร ? จากพุทธวิธีในพระไตรปิฎก

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (13) บทที่ 4 : หลักสำคัญที่ควรทราบ (5)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว คลิก

ก. เกี่ยวกับตัวการสอน

1.สร้างความสนใจ ในการสอนคนนั้น สิ่งแรกที่ควรทำก็คือสร้างความสนใจแก่ผู้เรียน

ภาษาวิชาการสมัยใหม่เขาจะเรียกว่าอะไรก็ช่างเถอะ (ดูเหมือนเรียกว่าการนำเข้าสู่บทเรียน อะไรทำนองนั้น) ในกรณีที่ไม่ได้สอนเป็นชั้นเป็นห้อง เป็นเพียงการ “คุยกัน” ก็ไม่ต้องดัดจริตเรียกว่าชั้นนำสู่บทเรียน เดี๋ยวคู่สนทนาจะวิ่งหนีก่อน

เอาแค่ว่าเป็นการสร้างความสนใจให้คู่สนทนาก็พอ เป็นการดึงความสนใจ และนำสู่เนื้อหาที่ต้องการได้อย่างดี

ดูพระพุทธองค์ก็จะเห็นพระจริยวัตรที่เป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ชัดเจน ขอยกตัวอย่างมาให้ดูสักสองสามเรื่อง

ครั้งหนึ่ง ขณะบรรดาชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารเป็นจำนวนพันแวดล้อมพระพุทธองค์อยู่ พระองค์ตรัสเปรยขึ้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ”

ทันทีที่ตรัสจบ ชฎิลเหล่านั้น ซึ่งบัดนี้ได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้ว “หูผึ่ง” เลยเกิดความสนใจเป็นพิเศษขึ้นมาทันที

ถ้าถามว่าทำไมท่านเหล่านี้จึงมีอาการที่เรียกว่า “หูผึ่ง” คำตอบก็คือ

ท่านเหล่านี้อดีตเป็นนักบูชาไฟ อยู่กับไฟ อยู่กับความร้อน ถ้าใครมาพูดว่าไฟมันร้อน ย่อมจะรับรู้ทันทีว่าใช่ เพราะพวกตนเคยอยู่กับไฟตลอด ย่อมรู้ในข้อนี้

แต่การที่ใครก็ตามเอาเรื่องที่คนส่วนมากรู้กันอยู่มาพูด แสดงว่าต้องมีจุดหมายอะไรสักอย่าง

เพราะฉะนั้น ถ้าพระพุทธองค์อยู่ๆ ตรัสขึ้นว่า ไฟมันร้อนนะ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอก็อาจจะเงี่ยหูฟังต่อไปว่าแล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ คือยังไงๆ พวกเธอก็คงสนใจจะฟังอยู่นั่นเอง

แต่ถ้ามีใครมาพูดว่า “ทุกสิ่งมันร้อน” ท่านเหล่านี้ยิ่งจะต้องสนใจฟังอย่างยิ่ง เพราะเท่าที่รู้นั้น ไฟเท่านั้นร้อน แต่สิ่งอื่นร้อนนี่มันอะไร และที่ว่าทุกสิ่งร้อนนี้มันร้อนอย่างไร

จริงอย่างว่า พอได้ยิน “สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ” เท่านั้น ก็ on the alert ทันที

พระพุทธองค์เมื่อทรงเห็นว่าพวกอดีตนักบวชผมยาวเกิดความอยากรู้เต็มที่แล้ว จึงทรงขยายต่อไปว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิดคำนึง … ร้อนเป็นไฟ ร้อนด้วยไฟหรือราคะ โทสะ โมหะ อธิบายอย่างละเอียด บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความราบรื่นยิ่ง ผู้ฟังก็ได้บรรลุมรรคผลกันทุกผู้ทุกนาม

พระบรมศาสดาเป็นผู้แสดงครับ พระธรรมเทศนา จึงสัมฤทธิผลสูงสุด

ครูธรรมดาๆ ก็เถอะ ถ้าสามารถสร้างจุดสนใจให้ผู้เรียนในเบื้องต้นอย่างดี การสอนก็ย่อมเป็นไปด้วยดี คือผู้เรียนมีความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีแน่ ที่สอนแล้วศิษย์บ่นว่าสอนอะไรไม่รู้เรื่องนั้น ส่วนมากไม่มีศิลปะในการสร้างความสนใจ เมื่อคนฟังไม่สนใจฟังแล้วมันจะรู้เรื่องได้อย่างไร

อีกเรื่องหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบคนฝึกม้าคนหนึ่งนามเกสี จึงเสด็จเข้าไปสนทนากับเขา เพียงองค์พระศาสดามานั่งคุยด้วย นายเกสีก็ปลื้มแล้ว ยิ่งพระองค์ตรัสถามในเรื่องที่ตัวมีความรู้ความชำนาญอยู่ด้วย เขายิ่งมีความสนใจกระตือรือร้นที่จะสนทนา

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เกสี เธอมีวิธีฝึกม้าอย่างไร

เขากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าใช้ 3 วิธี คือ วิธีละมุนละม่อม ถ้าใช้วิธีละมุนละม่อมไม่สำเร็จ ก็จะใช้วิธีเข้มงวด ถ้าใช้วิธีเข้มงวดไม่สำเร็จ ก็ใช้วิธีละมุนละม่อมและวิธีเข้มงวดปนกัน

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าใช้วิธีทั้ง 3 วิธีนั้นไม่สำเร็จล่ะ เธอทำอย่างไร

นายเกสีกราบทูลว่า ข้าพระองค์ก็ฆ่ามันทิ้งเสีย เพราะไม่มีประโยชน์ต่อไปแล้ว

พระพุทธองค์ดำรัสต่อ สร้างความสนใจให้นายเกสี “หูผึ่ง” ทันที คือพระองค์ตรัสว่า

“เราตถาคตก็เหมือนกัน เวลาฝึกสาวก เราก็ใช้ 3 วิธี แต่ถ้าใช้ทั้ง 3 วิธีแล้วใครยังฝึกไม่ได้ เราตถาคตก็ฆ่าทิ้งเหมือนกัน”

ยิ่งทรงเน้นคำว่า “ฆ่าทิ้ง” ด้วย นายเกสียิ่งสนใจอยากรู้ยิ่ง เพราะเท่าที่รู้มาสมณะทั้งหลายไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงกราบทูลว่า การฆ่าไม่สมควรแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายมิใช่หรือ พระเจ้าข้า

จึงเป็นจังหวะที่พระพุทธองค์จะทรงอธิบายว่า “ฆ่า” ของพระองค์ คือการไม่ให้ความสนใจบุคคลผู้นั้นอีกต่อไป ไม่ว่ากล่าวสั่งสอนอีกต่อไป ในที่สุดบุคคลผู้นั้นก็จะสำนึกตัวได้เอง

2.สร้างบรรยากาศให้ปลอดโปร่ง บรรยากาศในการเรียนการสอนก็สำคัญ ถ้าผู้เรียนรู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดโปร่งโล่งสบายใจ จะเป็นด้วยสถานที่ไม่เหมาะ หรือครูผู้สอนเองเป็นต้นเหตุแห่งความอึดอัด จะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม การเรียนการสอนก็ไม่ราบรื่นแน่นอน

ครูบางคนเวลาเข้าห้องสอน ทำหน้าบอกบุญไม่รับทั้งวัน บางทีโกรธใครมาจากข้างนอก เข้าห้องเรียนก็แว้ดเอากับศิษย์ก็มี อย่างนี้ถึงจะตั้งใจสอนอย่างไรก็เชื่อแน่ว่าไม่ได้ผล เพราะผู้เรียนรู้สึกอึดอัด จะเอาสมาธิมาจากไหน

นักเรียนบางคนถูกครูประจานให้อับอาย เชื่อขนมกินได้เลยว่า เจ้าหมอนั่นถึงจะนั่งเรียนตลอดทั้งวันก็เรียนไม่รู้เรื่อง เพราะมัวคิดแต่เรื่องอับอายเพื่อนฝูงที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทั้งๆ ที่ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้ว

มีเรื่องน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง เล่าไว้เสียเลย สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองหนึ่ง (เมืองไหนก็ช่างเถอะ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สำคัญที่สาระมากกว่า) พราหมณ์นามว่า โสณทัณฑะ เข้าไปเฝ้าพร้อมกับบรรดาพราหมณ์ผู้คงแก่เรียนจำนวนมาก

พราหมณ์คนนี้ใครๆ ก็ยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน แต่แกรู้มาว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู มีสติปัญญากว้างขวาง ถ้าตนไปสนทนากับพระองค์ ถูกพระองค์ชวนคุยในเรื่องที่ตนไม่มีความรู้ ตนก็จะอับอายพวกพราหมณ์หนุ่มๆ

พราหมณ์แกนึกภาวนาไปตลอดทางว่าขอให้พระองค์ชวนเราคุยในเรื่องที่เรารู้เถิด

เมื่อโสณทัณฑะพราหมณ์ไปถึง ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่พร้อมกับพวกพราหมณ์อื่นๆ จำนวนมาก พระองค์ก็ตรัสถามเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่เป็นพราหมณ์ว่า จะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

เรื่องอย่างนี้เป็นของง่ายสำหรับโสณทัณฑะ แกมีความดีใจมากที่พระพุทธเจ้าตรัสถามในสิ่งที่แกมีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว จึงกราบทูลได้อย่างฉาดฉานด้วยความมั่นใจอย่างยิ่ง

บางทีผู้อ่านคงอยากทราบกระมังว่า เรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสถามพราหมณ์ว่าอย่างไร คือพระองค์ตรัสถามว่า คนที่เรียกว่าพราหมณ์นั้นต้องมีคุณสมบัติเท่าไร

พราหมณ์ตอบว่า ต้องมีคุณสมบัติ 5 ประการ คือ 1.มีชาติตระกูลดี 2.ท่องมนต์ในพระเวทได้คล่อง 3.มีรูปงาม 4.มีศีล 5.มีปัญญา

พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า คุณสมบัติเหล่านี้จะตัดออกเหลือ 4 หรือ 3 หรือ 2 ได้ไหม พราหมณ์กราบทูลว่าได้ แล้วก็ลดจนเหลือ 2 ข้อคือ ศีลกับปัญญา เมื่อตรัสถามต่อไปว่า จะลดอีกได้ไหม พราหมณ์ตอบว่าไม่ได้อีกแล้ว เพราะศีล (ความประพฤติ) กับปัญญา (ความรู้) สำคัญที่สุด

จากนั้นพระพุทธองค์ก็สนับสนุนคำตอบของเขาแล้วสรุปเข้าสาระที่พระองค์ทรงประสงค์

3.มุ่งสอนเนื้อหา มุ่งให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจและเปลี่ยนพฤติกรรมในทางดีเป็นสำคัญ ในคุณสมบัติของนักแสดงธรรมมีอยู่ข้อหนึ่งว่า สอนตรงตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่กระทบกระทั่งผู้อื่น ก็เห็นจะต้องขอร้องให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างอีกนั่นแหละ

ทุกครั้งที่มีถามทำนองกระทบคนอื่น หรือให้พาดพิงคนอื่น พระองค์จะทรง “ตัดบท” ว่าเรื่องของคนอื่นช่างเถอะ เอาเป็นว่าเราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟังอย่างนี้ทุกครั้ง อ่านพระสูตรแล้วจะพบข้อความทำนองนี้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในกาลามสูตร หรือเกสปุตติสูตร

ชาวกาลามะแห่งหมู่บ้านเกสปุตตนิคม เมื่อพบพระพุทธเจ้า ก็พากันมารายงานว่าเจ้าลัทธินั้นผ่านมาก็พูดยกย่องคำสอนของตนว่าถูกต้อง ของคนอื่นผิด เจ้าลัทธิโน้นผ่านมาก็บอกว่าคำสอนของตนเท่านั้นถูกต้อง ของคนอื่นผิด พวกข้าพระพุทธเจ้าสับสนไปหมด คำสอนของใครถูกต้อง ใครพูดจริง ใครพูดเท็จกันแน่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครผิดใครถูกช่างเถิด เราจะบอกเพียงหลักการกว้างๆ สมควรแล้วพวกเธอจะพึงสงสัย เพราะเป็นเรื่องควรสงสัย ขอให้ยึดหลักว่าสิ่งใดเป็นอกุศล (ไม่ดี) มีโทษ ผู้รู้ตำหนิ เมื่อยึดถือปฏิบัติแล้วจะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ ท่านทั้งหลายพึงละเสีย แต่ถ้าตรงกันข้ามพึงถือปฏิบัติ

เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสหลักการหรือท่าทีที่ถูกต้องไว้ให้ 10 ประการ

คือ อย่าเพิ่งด่วนเชื่อเพราะได้ยินได้ฟังมา เพราะการถือสืบต่อกันมา เพราะข่าวเล่าลือ เพราะอ้างตำรา เพราะเหตุผลทางตรรกะ เพราะการอนุมาน เพราะการคิดตรองตามเหตุผล เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว เพราะรูปลักษณ์น่าเชื่อถือ และเพราะผู้พูดเป็นครูของตน

ให้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วค่อยเชื่อถือ

4.ตั้งใจสอน สอนโดยเคารพ ให้ถือว่างานสอนเป็นงานที่สำคัญ การให้ความรู้แก่คนอื่นเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจ

ยิ่งสามารถกลับพฤติกรรมของคนจากคนชั่วให้กลายเป็นคนดีได้เป็นงานที่มีค่าที่สุดในชีวิตทีเดียว

บางคนสอนเพราะเห็นแก่อามิส เมื่อไปวางราคาไว้ที่อามิส งานสอนก็กลายเป็นงานที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นการจ้างและรับจ้าง

ไปงานไหนได้ค่าจ้างน้อยหรือทำท่าจะไม่ได้ค่าจ้างก็ไม่เต็มใจสอน หรือสอนอย่างแกนๆ สักแต่ว่าทำ

เคยได้ยินนักพูดบางคนพูดว่า พอเห็นคนฟังน้อยก็เลยไม่อยากพูด อย่างนี้ก็แสดงว่า ผู้พูดนั้นวางค่าของการพูดการบรรยายไว้ที่จำนวนคนฟัง

ถึงจะมิใช่เรื่องอามิสโดยตรงก็แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายของการพูดการบรรยายของเขามิได้อยู่ที่หลักการที่ว่าผู้ฟังควรจะได้อะไร

แต่อยู่ที่ว่าตนควรจะได้อะไร

หน้ายังไงเล่า ถ้าผู้ฟังน้อยก็ไม่ได้หน้าคน ฟังมากก็ได้หน้า ใช่ไหมเล่า

นักปาฐกท่านหนึ่งรับเชิญไปพูด บังเอิญงานนั้นมีคนฟังน้อย ผู้จัดเกรงว่าท่านจะเสียกำลังใจจึงกล่าวขอโทษ ท่านตอบว่าไม่เป็นไรดอก คนฟังแค่นี้ก็มากแล้ว

เมื่อครั้งพระพุทธองค์แสดงธรรมครั้งแรกมีคนฟังแค่ 5 คนเท่านั้น (ปัญจวัคคีย์)

นี้แสดงว่าท่านผู้นี้เข้าใจหน้าที่ และคุณค่าที่แท้จริงของงานสอน

5.ใช้ภาษาเหมาะสม ผู้สอนคนอื่นควรมีความสามารถสื่อสารด้วย คำพูดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบุคคลและสถานการณ์ สมัยนี้มักจะถามว่า ครูควรดุด่าศิษย์หรือไม่ การดุด่านั้นทำได้ แต่ต้องดุด่าด้วยจิตเมตตามุ่งให้ศิษย์สำนึกและกลับพฤติกรรม ใช้ถ้อยคำรุนแรงได้ แต่รุนแรงด้วยจิตเมตตากับรุนแรงด้วยความโกรธความชิงชังเราสามารถ “สัมผัส” ได้

ขอยกตัวอย่างเรื่องจริง เมื่อ “ยาขอบ” เป็นนักเรียนประถม ไม่ตั้งใจฟังครูอธิบาย

ครูถามว่า “มานะ ธรรมะคืออะไร”

เด็กชายมานะลุกขึ้นตอบว่า “ธรรมะคือคุณากรครับ”

ครูโมโหมาก ด่าว่า “ไอ้อัปรีย์”

คำพูดด้วยความโกรธปราศจากเมตตาจิตของครู เด็กชายมานะ “สัมผัส” รู้ได้เดินออกจากห้องเรียน

ครูสำนึกได้ว่าตนผิดจริงจึงกล่าวแก้ว่า ที่ครูว่าอัปรีย์ ครูไม่ได้ด่านะ หมายถึง อับ-ปรีชา (คือมีความรู้น้อย จึงตอบผิด)

คงเป็นคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เด็กชายมานะจึงไม่มาโรงเรียนอีกเลย

แต่ก็มี “มานะ” สมชื่อ ต่อมาได้กลายเป็นนักประพันธ์ยิ่งใหญ่ นามว่า “ยาขอบ”

เป็นครูสอนคนอื่น หรือคนที่มีหน้าที่ “สื่อสาร” กับคนส่วนมากรู้จักใช้ภาษาหรือถ้อยคำเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม แม้ถูกต้องเหมาะสมแล้วยังต้องให้ถูกกาลเทศะด้วย

เรื่องนี้พูดได้ยาว เอาเพียงแค่นี้ก็แล้วกัน จะได้ไปพูดเรื่องอื่นบ้าง