จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (13)

คนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม และคนส่วนใหญ่อยู่ในฐานะยากจน ผู้คนส่วนนี้จำเป็นต้องยืนหยัดอยู่ได้ ประเทศถึงจะอยู่รอดปลอดภัย

เชื่อกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเลือกตัวแทนให้มาบริหารประเทศของเขานั้นควรจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

เราเปลี่ยนแปลงการปกครองกันมาเกินกว่า 85 ปี (พ.ศ.2475) แต่ก็ย่ำเท้าอยู่กับที่มากกว่าก้าวเดินไปข้างหน้า

ยิ่งกว่านั้นยังถอยหลังกลับเป็นช่วงๆ

นับไปนับมาการปกครองระบบ “เผด็จการทหาร” จะมากกว่าช่วงเวลาที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เสียด้วยซ้ำ

ทั้งๆ ที่ฉากสุดท้ายของเผด็จการเมื่อต้อง “ลงจากเวทีการเมือง” แล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกขับไล่ หรือเผด็จการกลุ่มอื่นเข้ามายึดต่ออีกทอดหนึ่งก็สุดแท้แต่ แต่พวกเขาจะลงมาแบบไม่สวยงาม ไม่มีอนุสาวรีย์ให้เชิดชูสักรายเดียว

ถามว่าประวัติศาสตร์บอกอะไรกับเผด็จการบ้าง หรือว่าเขาไม่ไยดีที่จะศึกษาเรียนรู้ มันจึงเกิดเผด็จการกลุ่มใหม่ต่อๆ มา

กระทั่งเราต้องเหลียวมองประชาธิปไตยในประเทศไทย “โครงสร้างอำนาจ” ของประเทศนี้กันให้ชัดเจนแจ้งชัดอีกสักครั้ง เนื่องจากไม่เหมือนประเทศไหนๆ ในโลก

 

“เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตผู้นำนักศึกษา สมัย 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถึงวันนี้ได้ผ่านเลยมา 44 ปีแล้ว กล่าวปาฐกถา “ทิศทางการเมืองไทยกับสังคม 4.0” เมื่อไม่กี่วันมานี้ ยอมรับว่าโดนใจมากๆ จึงขออนุญาตนำบางท่อนมาถ่ายทอดต่ออีกครั้งหนึ่ง

“3-4 ปีที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นใหญ่โตเกินเรื่องราวของบุคคล และคณะบุคคล เป็นความขัดแย้งที่สะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย นำไปสู่การเบียดขับแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบบต่อระบบ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขด้วยการจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำสีเหลือง-แดง เพราะตัวละครเอกจริงๆ ถูกจัดไว้นอกสมการ สังเกตได้ว่าหลังรัฐประหาร 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อ กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย จึงไม่ใช่ลักษณะรัฐบาลชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตัวเอง รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืน และรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร และจำกัดนักการเมืองไม่ให้กุมอำนาจนำอีกต่อไป ดังปรากฏในมาตรา 91 ได้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งใหม่เป็นการจัดสรรปันส่วนผสม ยังกำหนดให้มีแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มเติมไม่ได้ อาจกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบายของ คสช. เสียเอง ดังนั้น การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐคงจะดำเนินต่อเนื่องไปไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี–”

เชื่อว่านักการเมืองซึ่งมีลมหายใจเป็นประชาธิปไตยรุ่นใหญ่เก๋าเกมต่างล้วนต้องอ่านเกมการเมืองในช่วงระยะเวลาต่อไปได้ชัดแจ้งอย่างไม่คลาดเคลื่อนไปจากนี้

ไม่อย่างนั้นคงจะไม่มีแนวความคิดสนับสนุนให้พรรคการเมืองใหญ่ๆ จับมือกัน รวมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อปิดกั้นการก้าวเข้ามาสู่การเมืองของ “นายกรัฐมนตรี” ที่ไม่ได้มาจากการ “เลือกตั้ง” ดังที่วาดผังวางแผนโครงสร้างอำนาจกันไว้แล้ว

ในทำนองเดียวกันนักการเมืองที่หวังเข้าร่วมขบวนการสืบต่ออำนาจแบบก้าวกระโดดโดยไม่ต้องผ่านการ “เลือกตั้ง” จากประชาชน ที่เรียกว่า “ลากตั้ง” ก็เข้าใจการเมืองต่อจากนี้เช่นเดียวกัน

จึงพยายามเสนอตัวสนับสนุนเพื่อเกาะขบวนอำนาจไปเสวยสุขด้วย!

 

คิดถึงอาจารย์คึกฤทธิ์ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าท่านอ่านการเมืองมอง “โครงสร้างอำนาจ” ของประเทศแบบทะลุจนเข้าใจอย่างชัดเจนลึกซึ้งมาตั้งแต่อดีต

แต่ท่านก็ยังพยายามต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

เสียสละความสุขส่วนตัวที่สุขสบายโดดเข้าสู่การเมืองดังเคยกล่าวแล้วว่าท่านเดินแนวทาง “ประชาธิปไตย” ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2491 เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “คณะราษฎร” ต่อสู้กับ “เผด็จการทหาร” ตลอดมา

เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเมื่อปี พ.ศ.2500 ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 ยุบสภาผู้แทนฯ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ปี 2498 ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ซึ่งระบุให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 240 คน พร้อมทั้งทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย

ท่านเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปด้วย ซึ่งถึงแม้จะอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างในสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้พยายามรักษาความเป็นอิสระ ความต้องการกระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติไว้แบบเสมอต้นเสมอปลาย

จากคอลัมน์ “บทบาททางการเมือง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ในหนังสือ “100 ปี คึกฤทธิ์” ช่วงหนึ่ง ท่านกล่าวไว้ว่า “ขอประทานกราบเรียนด้วยว่าในฐานะที่ผมเป็นเอกชนคนหนึ่ง แล้วก็ไม่ได้อยู่ในคณะปฏิวัติ แต่ได้เข้ามาอยู่ในสภานี้โดยที่คณะปฏิวัติ หรือใครก็ตามเสนอชื่อกราบบังคมทูลให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง แล้วกระผมก็ยอมมาเป็นสมาชิกก็ด้วยความเชื่อมั่นในเจตนาอันสุจริตของคณะปฏิวัติ ถ้าหากรู้เมื่อไรว่าคณะปฏิวัติตั้งใจจะควบคุมความเห็นในสภานี้แล้ว กระผมคนหนึ่งจะไม่อยู่เป็นสมาชิกในสภานี้แน่นอน–”

รัฐธรรมนูญซึ่งใช้เวลาร่างกันถึง 11 ปีประกาศใช้เมื่อปี 2511 ก่อนที่ จอมพลถนอม กิตติขจร จะมาล้มเลิกในปี 2514 ระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมาชิกวุฒิสภา จนกระทั่งจอมพลถนอมปฏิวัติตัวเอง ท่านก็ยังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย ถึงแม้จะคัดค้านอะไรไม่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นเพียงคนเดียว แต่ก็เดินในแนวทางอันถูกต้องเพื่อรักษาบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยตลอดมา จนกระทั่งรัฐบาล “จอมพลถนอม+จอมพลประภาส” สิ้นอายุลงด้วย “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” อาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เข้ามามีบทบาทในสภานิติบัญญัติฯ ตลอดมา

และพยายามดึงรัฐบาลซึ่งมาจากการแต่งตั้งให้เดินตามแนวทางประชาธิปไตยด้วย

 

เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่บรรยากาศของประชาธิปไตย ท่านก็รวบรวมสมาชิกระดับสมองก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” ขึ้นในปี พ.ศ.2517 เพื่อดำเนินงานทางการเมืองแนวทางประชาธิปไตยจนกระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ในปี พ.ศ.2518 พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้ ซึ่งก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ แค่ระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ถูกทหาร “ปฏิวัติ” และขณะที่พรรคกิจสังคมยังไม่ถูกยุบแยกแตกสลายไป ท่านก็ยังทุ่มเทกำลังกาย สติปัญญาในแนวทางประชาธิปไตยอย่างสม่ำเสมอ

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง รวมทั้งเลือกตั้ง (ซ่อม) ท่านจะเดินทางไปช่วยลูกพรรคหาเสียงอย่างแข็งขัน ได้ร่วมเดินทางไปในแทบจะทั่วประเทศ เดินสายปราศรัยเกือบทั้งวันในหลายจังหวัดของภาคใต้ ตามสถานที่ต่างๆ ก็ทำมาแล้ว เคยนั่งเครื่องบินจากหาดใหญ่ไปเมืองตรังกำลังจะแลนดิ้งเกิดมีปัญหาน้ำมันอะไรไหลรั่วออกมาตกใจกันมากนึกว่าหล่นลงไปตายกันทั้งลำเสียแล้ว แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้แสดงอาการอะไรให้เห็นสักนิดเดียว

มีเลือกตั้ง (ซ่อม) ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการสู้กับพรรคใหญ่ พรรคกิจสังคม ส่ง คณิน บุญสุวรรณ ลงสู้ ระหว่างหาเสียงในเขต 2 ก็มีหัวคะแนนระดับ “เจ้าพ่อ” ของจังหวัดนั้นแวะเวียนมาพบท่านทั้ง 2 เจ้าพ่อ นัยว่าให้การสนับสนุนพรรคกิจสังคม

 

การเลือกตั้ง (ซ่อม) ที่ไม่มีครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่าจนเป็นประวัติศาสตร์ เห็นจะเป็นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่าง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) อดีตนายกรัฐมนตรี กับ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา (เสียชีวิต) ซึ่งพรรคกิจสังคมส่งลงสู้ มีอาจารย์คึกฤทธิ์ไปกินนอนตามใต้ถุนศาลาวัดเพื่อปราศรัยหาเสียงเป็นแรมเดือน เพราะไม่มีโรงแรมที่พักตามชนบทของอำเภอไกลๆ

ยุคนั้นน้ำมันขาดแคลน แต่ถ้าเลือกพลเอกเกรียงศักดิ์ รับรองได้ว่าพรุ่งนี้รถน้ำมันจะเต็มจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ มีการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลหลักร้อยล้านบาทแบบแพ้ไม่ได้ แจกกันแบบไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน จนต่อมาเรียกว่า “โรคร้อยเอ็ด” มีการวางแผนกันอย่างแยบยลลึกซึ้งเพื่อสกัดกั้นคู่แข่ง แม้แต่ธนบัตรใบย่อยๆ ซึ่งจะนำไปแจกยังหาแลกไม่ได้

อาจารย์คึกฤทธิ์ เสียสละความสุขส่วนตัวไปช่วยพรรคหาเสียงอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อจะรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ แต่การปกครองของประเทศเราก็ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างที่เห็นจนถึงทุกวันนี้ ท่านลงจากการเมืองในฐานะ “เสาหลักประชาธิปไตย” ไม่เคยถูกทหาร “ปฏิวัติ” และลาจากไปในฐานะ “บุคคลสำคัญของโลก”

สง่างามกว่า “เผด็จการ” ทุกคน