วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (9)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุจากกบฏโพกผ้าเหลือง (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม หากตัดประเด็นความสับสนในกรณีข้อมูลของกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่วแล้ว การเกิดขึ้นของกบฏทั้งสองทำให้มีคำกล่าวเปรียบว่า “ทางตะวันออกมีจางเจี๋ว์ย ทางฮั่นจงมีจางซิ่ว” คำกล่าวเปรียบนี้สะท้อนให้เห็นว่า กบฏทั้งสองคงสร้างความยากลำบากให้แก่ฮั่นตะวันออกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกับกบฏโพกผ้าเหลือง

แม้ขบวนการโพกผ้าเหลืองจะพ่ายแพ้จนกลายเป็นกบฏไปก็จริง แต่ก็เป็นกบฏที่ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้แก่ฮั่นตะวันออก เพราะนับแต่ที่เกิดกบฏขึ้นมาราชสำนักได้สูญเสียทรัพยากรไปอย่างมากมาย จนบั่นทอนให้เสถียรภาพของราชวงศ์อ่อนแอลง

และเมื่อถูกสำทับด้วยความขัดแย้งภายในราชสำนักด้วยแล้ว ก็เท่ากับยิ่งตอกย้ำให้ความอ่อนแอนั้นหนักหนาสาหัสลงไปอีก

 

เหตุดังนั้น ตราบจนเมื่อกบฏถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบแล้ว สถานการณ์ภายในบ้านเมืองจีนก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ที่อาจสรุปภาพรวมได้ว่า

หนึ่ง การที่ราชสำนักได้ประกาศหาผู้อาสาศึกมาปราบกบฏและได้มีผู้อาสาศึกเข้ามามากมายนั้น ต่อมาเมื่อฝ่ายกบฏเริ่มเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้แล้ว ผู้อาสาศึกเหล่านี้มีหลายคนที่ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทที่โดดเด่น จนทำเกิดกลุ่มอำนาจใหม่ขึ้นมาหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มต่างชิงดีชิงเด่นหรือช่วงชิงการนำในระหว่างกัน

สอง แต่ละกลุ่มหากไม่มุ่งหวังที่จะให้จักรพรรดิได้มีอำนาจที่แท้จริง หรือตนอาจเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจักรพรรดิด้วยความจงรักภักดีแล้ว ก็จะเป็นกลุ่มที่หวังจะใช้อำนาจแทนจักรพรรดิด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์

สาม กลุ่มอำนาจใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของขุนนางกับขุนศึก และแต่ละกลุ่มต่างก็มีความขัดแย้งกัน แม้จะมีการร่วมมือกันในบางครั้งบางครา แต่การร่วมมือนั้นก็มีลักษณะชั่วคราวเท่านั้น เพราะเป็นการร่วมมือเมื่อต่างเห็นว่าตนจะก็ได้ประโยชน์ และเมื่อการร่วมมือกันบรรลุผลแล้ว กลุ่มที่ร่วมมือกันนี้ก็จะหันมาขัดแย้งกันดังเดิม และ

สี่ ในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ นี้ แม้จักรพรรดิของราชวงศ์ฮั่นยังคงมีตัวมีตนอยู่ก็จริง แต่ก็มีฐานะไม่ต่างกับหุ่นเชิด

ภาพรวมของสถานการณ์จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า หากไม่ใช่เพราะความอ่อนแอของจักรพรรดิและความโลภโมโทสันของเหล่าเครือญาติจักรพรรดิ ขุนนาง ขุนศึก และผู้มั่งคั่งแล้ว ก็ยากที่สถานการณ์เช่นว่าจะเกิดขึ้นได้

 

ขัณฑสีมาที่ขุ่นเคือง

การเกิดขึ้นของกบฏสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่วและกบฏโพกผ้าเหลืองได้ส่งผลสะเทือนต่อราชวงศ์ฮั่นตะวันออกอย่างมาก โดยเฉพาะกบฏโพกผ้าเหลืองนั้นนับว่าผลสะเทือนรุนแรงอย่างยิ่ง ด้วยเป็นกบฏที่มีกำลังมากมายมหาศาล อีกทั้งยังมีการจัดตั้งที่มีระบบและวินัยอย่างสูงจนยากแก่การปราบปราม

และเพราะเหตุนั้น ฮั่นตะวันออกจึงจำต้องหาผู้อาสาศึกมาปราบกบฏนี้ แต่ครั้นมีผู้อาสาศึกแล้วกระทำการสำเร็จในขณะที่องค์จักรพรรดิมีความอ่อนแอ ผู้อาสาศึกเหล่านี้จึงคิดอ่านที่จะตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นมา

จากเหตุนี้ แทนที่บ้านเมืองจีนจะเป็นสุขด้วยว่ากบฏถูกปราบลงแล้วก็กลับเป็นทุกข์ต่อไป

ในระยะแรกที่ความแตกร้าวดังกล่าวได้เกิดขึ้นนั้น กลุ่มบุคคลที่คิดอ่านตั้งตนเป็นใหญ่มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงพลอยทำให้โครงสร้างทางอำนาจในขณะนั้นมีความซับซ้อนไปด้วย

ดังนั้น การอธิบายความซับซ้อนดังกล่าวให้เข้าใจจึงอาจทำได้หลายทาง ทางใดจะทำให้เข้าใจได้ง่ายหรือยากย่อมขึ้นอยู่กับกรอบที่ผู้ศึกษาวางเอาไว้

การศึกษาในที่นี้เลือกที่จะเริ่มด้วยการอธิบายหน่วยปกครองที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนั้นเป็นปฐม เพื่อให้เห็นภาพขัณฑสีมาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ว่า ในช่วงฮั่นตะวันออกนั้นมีหน่วยปกครองใดที่สำคัญและมีอยู่กี่หน่วย

 

ที่เลือกที่จะอธิบายจากจุดนี้ก็เพราะหน่วยปกครองเหล่านี้จะมีขุนนางและขุนศึกตั้งตนเป็นใหญ่ และต่างก็ช่วงชิงการนำในระหว่างกัน ครั้นพอเวลาผ่านไปก็จะเหลือแต่ขุนนางและขุนศึกที่ทรงอิทธิพลจริงๆ อยู่ไม่กี่หน่วย และจากไม่กี่หน่วยก็จะเหลือเพียงสามหน่วย ซึ่งก็คือสามรัฐนั้นเอง

หน่วยปกครองที่จะกล่าวถึงนี้มีทั้งหน่วยที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งอดีต และหน่วยที่มีความสำคัญในสมัยราชวงศ์ฮั่น ในเวลานั้นหน่วยปกครองที่มีความสำคัญและถือเป็นหน่วยที่อยู่ในระดับสูงสุดก็คือโจว คำคำนี้ยังคงมีใช้แม้ในปัจจุบันนี้ แต่มิใช่หน่วยปกครองระดับสูงสุดของท้องถิ่นดังอดีต หน่วยปกครองระดับสูงสุดในปัจจุบันคือมณฑล (province) หรือเสิ่ง ส่วนโจวจะอยู่ในระดับรองลงมาจากมณฑลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเมืองเอกหรือเมืองใหญ่ของมณฑลนั้นๆ ก็ได้

การที่โจวเป็นหน่วยปกครองระดับสูงสุดในเวลานั้น โจวจึงมีฐานะเทียบเท่ากับมณฑลในทุกวันนี้ และคงด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์จีนจึงใช้คำภาษาอังกฤษว่า province ที่หมายถึงมณฑลในปัจจุบันมาแทนโจวเมื่อครั้งอดีต

ซึ่งในที่นี้ก็จะใช้คำว่า “มณฑล” เพื่อให้หมายถึง “โจว” เช่นกัน

 

อันที่จริงโจวเป็นคำที่ใช้เรียกหน่วยปกครองประเภทหนึ่งมาตั้งแต่ยุคตำนานแล้ว และเมื่อเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตร์ที่มีอยู่สามราชวงศ์คือ เซี่ย ซาง และโจว คำคำนี้ก็ยังปรากฏมีการใช้อยู่เช่นกัน เพียงแต่มีความชัดเจนมากกว่าเดิมว่ามักจะใช้เรียกเมืองที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

ส่วนที่ว่าเมืองเหล่านี้จะมีอยู่กี่เมืองนั้นสุดแท้แต่ยุคสมัยที่มักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางสมัยก็มีเก้าเมือง บางสมัยก็มี 12 เมือง ซึ่งในภาษาจีนก็คือ จิ่วโจว หรือสือเอ้อร์โจว ตามลำดับ เมืองเหล่านี้ยังคงมีเรื่อยมาจนเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกว่า 2,200 ปีก่อน และฮั่นก็เป็นราชวงศ์ที่สองของยุคนี้

การที่โจวเป็นหน่วยปกครองที่สำคัญดังกล่าว ขุนนางที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดของโจวจึงมีความสำคัญไปด้วย ตำแหน่งที่ว่านี้เรียกว่า มู่ รากศัพท์ของคำนี้หมายถึงผู้ดูแลปศุสัตว์ เป็นคำที่เริ่มปรากฏในสมัยโจวตะวันตก (ศตวรรษที่ 11 ก.ค.ศ.-ก.ค.ศ.770)

เมื่อดูจากความหมายของคำแล้วก็ไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องอะไรกับตำแหน่งขุนนาง แต่จริงๆ แล้วเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง เพราะในสมัยดังกล่าวสังคมจีนได้ยุติการใช้ชีวิตแบบเก็บของป่า-ล่าสัตว์ (hunting and gathering) มาช้านานแล้ว

โดยได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานที่แน่นอนและใช้ชีวิตผ่านการเกษตร คือไม่ต้องเก็บของป่าอีกต่อไป และหนึ่งในการเกษตรนั้นย่อมมีการปศุสัตว์รวมอยู่ด้วย การปศุสัตว์จึงมาแทนที่การล่าสัตว์

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลปศุสัตว์จึงย่อมมีความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงทางอาหารของรัฐภายใต้การนำของโจว ผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะเรียกว่ามู่ซือ หรือปศุบดี ในเวลานั้นโจวมีหน่วยปกครองโจวอยู่ทั้งสิ้นเก้าหน่วย (จิ่วโจว, คำว่าโจวที่เป็นชื่อหน่วยปกครองนี้มีตัวเขียนคนละตัวกับโจวที่เป็นชื่อราชวงศ์)

เพราะฉะนั้น โจวจึงมีขุนนางดำรงตำแหน่งปศุบดีอยู่เก้าคน

 

ครั้นตกมาถึงราชวงศ์ฮั่น หน่วยปกครองโจวมีอยู่ด้วยกัน 13 หน่วย โดยทั้งหมดนี้ยังคงมีขุนนางที่มีฐานะเท่ากับปศุบดีดังสมัยโจวอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ในสมัยฮั่นได้เปลี่ยนคำเรียกมาเป็นว่าข้าหลวงผู้ตรวจการ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน (inspector)

ข้าหลวงผู้ตรวจการมีหน้าที่ที่คอยเป็นหูเป็นตาให้แก่จักรพรรดิ ว่าขุนนางระดับต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีหรือไม่ อย่างไร แล้วรายงานต่อจักรพรรดิทั้งเพื่อพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษลงทัณฑ์

ทั้งนี้ ในหลายกรณีข้าหลวงผู้ตรวจการยังมีหน้าที่คอยดูแลทุกข์สุขของราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่หรือได้รับการปฏิบัติจากขุนนางที่เป็นผู้ปกครองดีหรือไม่ อย่างไร หากมีปัญหา ข้าหลวงผู้ตรวจการก็อาจใช้อำนาจที่ได้รับจากจักรพรรดิเข้าแทรกแซง

ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมหรือภาพยนตร์ชุดเปาบุ้นจิ้น เป็นตัวอย่าง เป็นต้น

ข้าหลวงผู้ตรวจการเป็นตำแหน่งที่ริเริ่มโดยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก.ค.ศ.140-87) ขุนนางที่มีตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญ เพราะการที่ต้องทำหน้าที่คอยเป็นหูเป็นตาให้แก่จักรพรรดินั้น ย่อมต้องเป็นผู้ที่จักรพรรดิไว้วางใจได้ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม

ในเวลานั้นตำแหน่งข้าหลวงผู้ตรวจการจะแบ่งเป็นสองสาย สายหนึ่งคือ ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น หรือชื่อสื่อ

อีกสายหนึ่งคือ ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง หรือ ซือลี่เสี้ยวเว่ย