เรื่องของวัคซีน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เรื่องของวัคซีน

 

“…หลังจากวัคซีนชิโนแวคจำนวน 500,000 โดสที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ประเทศไทยได้ส่งมาถึงกรุงเทพฯ ในเมื่อวานแล้ว ในวันที่ 15 พฤษภาคม จีนได้ส่งออกวัคซีนชิโนแวคชุดล่าสุดอีกจำนวน 500,000 โดสมาถึงกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันจีนได้ส่งออกและบริจาควัคซีนให้ประเทศไทยแล้วจำนวน 7 ชุด ทั้งสิ้น 4.5 ล้านโดส…”

(เพจของสถานทูตจีนประจำประเทศไทย 15 พฤษภาคม 2564)

ข้อมูลจากเพจของสถานทูตจีนยังมีเพิ่มเติมอีกคือ 20 พฤษภาคม จีนได้ส่งออกและบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศไทยจำนวน 8 ชุด รวมทั้งสิ้น 6 ล้านโดส

เรื่องของวัคซีนตอนนี้ช่างมีหลายเรื่องเหลือเกิน หากกล่าวเฉพาะมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ น่าสนใจที่ว่า โรคระบาดโควิด-19 เป็นตัวอย่างของประเด็นไร้พรมแดน โรคระบาดข้ามพรมแดนไปทั่วโลก อันช่วยย้ำเตือนให้เราเข้าใจพลังของโลกาภิวัตน์อีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้รับมือกับโรคระบาดใหญ่นี้กลับประกอบสร้างสัญชาติของวัคซีน โดยสัญชาตินี้ได้กำหนดความเป็นเจ้าของและผลประโยชน์ ของทั้งรัฐและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจลงไปในวัคซีนทุกโดส

แต่ด้วยความรู้อันจำกัด ผมขอสาธยายเรื่องของวัคซีนเพียงแค่ภูมิภาคเอเชียเท่านั้น

 

โควิด วัคซีน จีน เอเชีย

ไม่น่าเชื่อว่า เรื่องราวของโควิด-19 วัคซีนและจีนช่างมีปฏิสัมพันธ์โยงใยซึ่งกันและกันอย่างแยกกันได้ยาก โควิด-19 อุบัติขึ้นปลายปี พ.ศ.2562 ไทยกลายเป็นประเทศแรกที่ได้รับเชื้อโควิด-19 ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกเป็นผู้หญิงจากอู่ฮั่นเมื่อ 13 มกราคม 2563 เวียดนามพบรายแรก 23 มกราคม 2563 กัมพูชาพบรายแรกเมื่อ 27 มกราคม 2563 และอีก 2 เดือนต่อมา สปป.ลาวประกาศพบผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อ 14 มีนาคม 2563 และเมียนมาพบผู้ป่วยรายแรก 23 มีนาคม 2563

ในความคิดของผม ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกทั้งในภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร แต่ละประเทศนับว่ามีโลกทัศน์ มุมมองและจุดยืนทางการเมืองต่อบทบาทและอิทธิพลของจีนแบ่งได้เป็น 2 ด้านหลักคือ

พวกหนึ่ง หวาดระแวง กลัวและไม่แน่ใจ

ส่วนอีกพวกหนึ่ง มองจีนในแง่บวก เป็นมิตรและใกล้ชิด

ในความเป็นจริง ด้วยความสลับซับซ้อนในมิติความคิดและการรับรู้ ภูมิหลังประวัติศาสตร์ ความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์ ยุคสมัยและผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน กล่าวได้ว่า ทั้ง 2 แนวคิดต่อจีนยังปะปน ผสมปนเปกันอยู่ ด้วยขึ้นอยู่กับประเด็น เงื่อนไข และสถานการณ์

ที่สำคัญรัฐและคนทั่วไปคิดแตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐต่างฝ่ายต่างสวมหน้ากาก หน้าไหว้หลังหลอกซึ่งกันและกัน

ดังนั้น ทางการจีนจึงยังทุ่มเทงบประมาณเพื่อใช้เครื่องมือทางการทูต การต่างประเทศทุกชนิดเพื่อโน้มน้าวทัศนคติของฝ่ายต่างๆ ในอาเซียนให้มองเชิงบวกต่อจีน

ทั้งนี้ วัคซีน หน้ากาก เครื่องมือแพทย์ แพทย์และพยาบาลเพื่อต้านโรคระบาดครั้งนี้ พร้อมด้วยภาคเอกชนจีนที่เข้ามาลงทุนในอาเซียนได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะความร่วมมือทางสื่อมวลชนขนานใหญ่เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีของจีน แล้ววัคซีนก็นับเป็นเครื่องมือสำคัญของทางการจีนเพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดี

จนบางคนมองว่า นี่เป็นการทูตวัคซีน การทูตสาธารณสุข เป็นอำนาจอ่อนหรือ Soft Power ของทางการจีน มีข้อเขียนและข่าวสารมากมายเรื่องนี้ ซึ่งหาอ่านได้ทั่วไป

สำหรับผม ประเด็นหลักคือ เมื่อวัคซีนมีสัญชาติ มีเจ้าของ ย่อมมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง อย่างปฏิเสธไม่ได้

แล้วเราจะเห็นวัคซีนอีกด้านหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนอย่างทรงพลัง

 

จีนทำอะไรบ้าง

แท้จริงแล้ว รัฐบาลจีนใช้วัคซีนแบบคู่ขนานคือ

ด้านหนึ่ง บริจาค

อีกด้านหนึ่งคู่กันไปคือ ค้าขาย ลงทุน

 

การบริจาควัคซีนในอาเซียน

สปป.ลาวและกัมพูชา กัมพูชานั้นนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้เดินทางโดยบินไปพบกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องวัคซีนจากจีน พอต้นปี 2564 กัมพูชาได้รับวัคซีนจำนวน 1.3 ล้านโดสจากทางการจีน ส่วน สปป.ลาวได้รับวัคซีนจากทางการจีนจำนวน 3 แสนโดสเมื่อกุมภาพันธ์ 2564

เมียนมาก่อนรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564 จีนบริจาควัคซีนให้เมียนมา 3 แสนโดส หลังรัฐประหาร บริจาควัคซีนให้เมียนมา 5 แสนโดส

นี่เป็นตัวอย่างความพยายามโน้มน้าวนโยบายของประเทศผู้บริจาควัคซีนในช่วงโรคระบาด วัคซีนเป็นอุปกรณ์ชั้นเลิศทางการทูต มีผลต่อการโน้มน้าวของจีนต่อเมียนมา

มีเพียงประเทศเวียดนามเพียงประเทศเดียวในอาเซียนภาคพื้นทวีปที่ประกาศไม่รับการบริจาควัคซีนของจีน รัฐบาลเวียดนามอ้างว่าได้รับวัคซีนจากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก

อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศในอาเซียน รัฐบาลของพวกเขาน่าจะเข้าใจและรู้พิษสงทางการเมืองของวัคซีนจีน จึงลดทอนการพึ่งพิงวัคซีนจีนอย่างเดียว

ทุกประเทศต่างรับวัคซีนตามโครงการความช่วยเหลือ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ยกเว้นพี่ไทยของเรา

เอาเข้าจริงๆ แต่ละประเทศในอาเซียน รับบริจาควัคซีน รวมทั้งซื้อวัคซีนจากประเทศอื่นพร้อมกันไป กล่าวคือ เมียนมาประเทศน่าทะนุถนอมของจีนเวลานี้ รับบริจาควัคซีนจากอินเดีย คู่แข่งขันกับจีนในหลายเรื่อง แม้อินเดียก็ประสบปัญหาโรคระบาดโควิดขั้นสาหัส ขาดทั้งออกซิเจนและขาดแม้กระทั่งวัคซีนที่ประเทศตัวเองผลิตส่งออกรายใหญ่ของโลก

แม้เพื่อนรักอย่างกัมพูชา ท่านฮุน เซน ซึ่งเคยแสดงอาการโกรธในตอนแรกที่จีนจะมอบวัคซีนให้กัมพูชา ท่านประกาศว่าต้องการวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองเท่านั้น แถมยังต้องการวัคซีนฟรีอีกด้วย

 

เมื่อวัคซีนจีนทดสอบไทย

เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดในไทยปลายปี พ.ศ.2562 ปัญหาหนักสุดคือ หน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนักเพราะไม่มีใครคาดคิดและเตรียมตัวมาก่อน

กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์สร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางธุรกิจ เจ้าสัวประกาศสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในไทยให้เสร็จภายใน 100 วัน ถึงแม้กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเชี่ยวชาญเกษตรอุตสาหกรรม แต่การตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเป็นการเปิดภาพใหญ่อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ของพวกเขา

แล้วเขาก็ร่วมทุนกับบริษัทผลิตวัคซีนซิโนแวคของจีนด้วยเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท* จิ๊กซอว์ทางธุรกิจของกลุ่มยิ่งใหญ่และเร็วกว่าที่ใครๆ คิด ซึ่งเหมือนกับหลายอุตสาหกรรมของกลุ่ม บริษัทผลิตวัคซีนซิโนแวคเผยให้เห็นทั้งความยิ่งใหญ่และมองไกลมาก ก้าวสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต แท้จริงแล้วเป็นบริษัทในกลุ่มเครือญาติของเจ้าสัวในเมืองจีนอยู่แล้ว

หมายความว่า วัคซีนชิโนแวคจากจีนมีทั้งบริจาค นำเข้า จะแพร่หลายมากขึ้น ในที่สุด วัคซีนจีนอีกขนาน ซิโนฟาร์ม (Sinopham) ก็ปรากฏกายในไทย

ที่ผ่านมา ข้อมูลไม่ชัดเจน เส้นแบ่งระหว่างบริจาคและขายวัคซีนของจีนต่อทางการไทยพล่ามัว ราคาที่ทางการไทยใช้ไปกับการสั่งซื้อวัคซีนจีน เป็นความลับขั้นสูง วัคซีนจีนยี่ฮ้อซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตกลงสั่งซื้อจากจีน 1,000,000 โดส ราคา 1,000 บาทต่อโดส

จะด้วยหน้ากากอนามัย วัคซีนจีนยี่ห้อไหนก็ตาม ทั้งจากบริจาค ขาย ผลิตที่จีนหรือไทย วัคซีนสัญชาติจีนทำหน้าที่ผลิตซ้ำ (reproduction) ความนิยม ภาพลักษณ์ ของเจ้าของวัคซีน อันนำไปสู่การโน้มน้าวและชักจูงนโยบายได้ด้วย

สนุกมาก เรื่องของวัคซีน ยังเล่าเรื่องอีกมากมาย

*7 ธันวาคม 2563 บริษัท ซิโน ไบโอฟาร์มาซูทิเคิล ลิมิเต็ด (Sino pharmaceutical Limited) บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทในการควบคุมของซีพี ฟาร์มาซูติเคิลกรุ๊ป (CP Pharmaceutical Group) ได้ทุ่มเงิน 515 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 15,450 ล้านบาท) แลกกับการถือหุ้น 15% ในบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ไซแอนด์ (Sinovac Life Sciences) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบการผลิตวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) หรือวัคซีนไวรัส ในเครือบริษัท ซิโนแวค ไบโอแทค อ้างจากเครือซีพีทุ่มเงินหมื่นล้านบาท เข้าถือหุ้นในซิโนแวค บริษัทผลิตวัคซีนโควิด Positioning Magazine 6 มกราคม 2564