คำ ผกา | มันแน่นอกแต่ยกไม่ออก

คำ ผกา

มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่เราจะพูดว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่เผชิญกับความยากลำบากอันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่มันจะถูกต้องกว่าหากเราต้องพูดให้จบว่า ทุกประเทศบนโลกใบนี้เผชิญกับโควิด-19 แต่ว่าแต่ละประเทศรับมือกับมันอย่างไร

ประเทศไทยและรัฐบาลไทย ณ ขณะนี้พิสูจน์ตัวเองได้หรือไม่ว่ามี “ฝีมือ” ในการบริหารประเทศในภาวะวิกฤตเช่นนี้

ในสถานการณ์โรคระบาดที่เรียกว่าเป็น pandemic ระดับโลก รัฐบาลที่ทำงานเป็นย่อมรู้ว่าต้องบริหารสองด้านเป็นคู่ขนานคือ

หนึ่ง ควบคุมโรคระบาด

สอง ประคองเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้พังพินาศลงไป

การควบคุมโรคระบาด ฉันเขียนไว้ในบทความสัปดาห์ที่แล้วว่า หากควบคุมแบบเข้มงวด ล็อกดาวน์ รัฐบาลต้องยอมแบกค่าชดเชยรายได้ และค่าใช้จ่ายในการรักษาชีวิตทางธุรกิจของผู้ประกอบการทุกคนย้ำว่าทุกคน ทุกประเภท

หากเลือกไม่ล็อกดาวน์ รัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปกับการสร้างระบบปูพรมตรวจอย่างสม่ำเสมอ และบริหารทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ให้ได้สัดส่วนกับการระบาด

เพราะการบริหารทรัพยากรทางการแพทย์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เราไม่ได้มีแต่โควิดที่ต้องดูแล แต่เรายังมีผู้ป่วยด้วยโรคอื่นๆ ที่ก็ต้องการหมอ พยาบาล เตียง และทรัพยากรทางสาธารณสุขทั้งหมดด้วยเช่นกัน

จะเลือกแบบไหน ไม่มีใครว่าอะไร แต่เลือกแล้วต้องบริหารไปตามตรรกะของมันให้ตลอดรอดฝั่ง หรือเลือกแล้วรู้ว่าเลือกผิด จะเลือกใหม่ ก็ต้องทำให้เป็นระบบเดียวกัน

ไม่ลักปิดลักเปิด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลเลือกล็อกดาวน์ และคลายล็อกไปแบบที่ไม่ได้เดินคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท้ายที่สุดเราล้มเหลวทั้งการควบคุมโรคระบาด ล้มเหลวทั้งในด้านบริหารจัดการวัคซีน และล้มเหลวทั้งในด้านการประคับคองชีวิตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับจุลภาค และระดับมหภาค

พร้อมๆ กับที่เรามี ศบค. ซ้ำซ้อนกับการทำงาน ครม. และยังถูกกำกับไว้ด้วย พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ที่ไม่มีใครประเมินว่าช่วยในเรื่องการบริหารประเทศในโมงยามของโควิดอย่างไรบ้าง

หันมาดูตัวเลขอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่เรามีอยู่ก่อนการระบาดของโควิด

“รศ.ผกากรอง เทพรักษ์” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระบุว่า จากการสำรวจยังพบว่า ในไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปิดบริการตามปกติมีประมาณ 67% ลดลงจากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 4/2563) จำนวน 18% มีสถานประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราวประมาณ 14% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 4% ส่วนสถานประกอบการที่ปิดตัวถาวรมี 3% เท่ากับไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ยังมีสถานประกอบการที่ลดขนาดธุรกิจ 11% และเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น 5%

นอกจากนี้ ในส่วนของการจ้างงานพบว่า 60% ของสถานประกอบการทั้งหมดมีการลดจำนวนพนักงาน และเหลือพนักงานอยู่ในสัดส่วนประมาณ 52% ขณะเดียวกัน 67% ของสถานประกอบการยังมีการลดเงินเดือน หรือค่าจ้างประมาณ 30%”

https://www.prachachat.net/tourism/news-641700

และทั้งหมดนี้ต้องหมายเหตุว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 (ก่อนการระบาดของโควิด) จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปถึงร้อยละ 99-82

ฉันยกตัวอย่างตัวเลขที่ใครๆ ก็รู้นี้มาเพื่ออะไร?

เพื่อจะให้เราจะหนักว่า ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เราไม่ได้มีรัฐบาลทั้งคณะเพื่อจะออกมาพูดเรื่องโควิดเรื่องเดียว

แต่มันมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำด้วย

ทว่า เราไม่เห็นมีใครใน ครม.ออกมาทำงานอะไรเป็นหน้าที่ของตัวเองเลย

ปัญหาโควิดควรจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐมนตรีสาธารณสุข 100% โดยที่นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ดูภาพใหญ่ ดูภาพรวม เพราะในบริบทของโควิด เรายังต้องเดินหน้าดูแลเรื่องการเกษตร การศึกษา เรื่องการค้าขายพาณิชย์

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรจะมีบทบาทมาสนับสนุนงานด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติอย่างที่ควรจะเป็น เพิ่มเติมคือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เสริมมาจากงานของกระทรวงสาธารณสุข

ยิ่งกระทรวงแรงงาน ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นในส่วนของประกันสังคมเพื่อดูแลแรงงานในระบบ และดูแลแรงงานที่เจอภาวะการว่างงาน ตกงานกะทันหัน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤตโควิดของประเทศไทยนั้นพิลึก ประหลาดเหลือแสน นั่นคือ พอมีวิกฤตโควิดปุ๊บ อยู่ๆ รัฐมนตรีทุกคน ทุกกระทรวง เหมือนเกียร์ว่าง และใช้โควิดเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำงานอะไรเลย

แล้วพอมีใครมาทักท้วงว่า ทำไมภาคเกษตรมีปัญหา ทำไมภาคการส่งออกมีปัญหา ทำไมไม่มีใครมาดูคนไร้บ้าน กลุ่มคนเปราะบางในช่วงโควิด เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง ฯลฯ ทุกคนก็พากันชี้นิ้วไปที่โควิด แล้วบอกว่า “สถานการณ์โควิดมันก็แย่แบบนี้แหละ”

ไม่รู้ว่ามีใครเห็นเหมือนฉันไหมว่า ทั้ง ครม.ตอนนี้เราเห็นใครทำงานบ้างนอกจากอนุทิน ชาญวีรกูล ที่เป็นภาคบังคับเพราะดูกระทรวงสาธารณสุข

แต่ขอถามอีกครั้งว่า การที่มีโควิด ไม่ได้เป็นข้ออ้างให้เจ้ากระทรงอื่นๆ นั่งทำเกียร์ว่าง ไม่มีริเริ่ม ไม่วางแผน ไม่มีกำหนดยุทธศาสตร์ ไม่แม้แต่จะทำงานรูทีนที่ควรทำ

และเอาจริง ตอนนี้เรามีรัฐมนตรีที่โลกลืมเกือบทุกกระทรวง

และบางกระทรวงก็ไม่ใช่กระทรวงเล็กๆ เช่น กระทรวงการคลัง? มียุคไหนที่รัฐมนตรีคลังหายไปจากหน้าสื่อ หรือไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมากเท่านี้มาก่อน?

มิพักต้องถามว่า นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็คือกระทรวงการคลังมิใช่หรือ ที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศที่รอเราอยู่ข้างหน้าว่าเราจะร่วงหรือเราจะรอด?

ย้ำอีกครั้งว่า การมีโควิดไม่ใช่ข้ออ้างที่กระทรวงอื่นๆ นอกจากกระทรวงสาธารณสุขจะทำเนียนๆ อึนๆ ทำลืมๆ ทำประหนึ่งว่าไม่มีตัวตนบนองคาพยพที่เรียกว่ารัฐบาล

สิ่งนี้สะท้อนความผิดปกติอะไรบ้าง?

สําหรับฉันมันสะท้อนความผิดปกติของระบบรัฐสภาโดยเฉพาะในกลไกของฝ่ายบริหาร ยิ่งในรัฐบาลผสมหลายพรรคหากสถานการณ์ปกติ รัฐมนตรีทุกคนจะดีจะชั่วต้องแข่งกันสร้างซีน หรือสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของฐานเสียงตัวเอง

หรืออย่างเลวที่สุดแย่งกันมีพื้นที่หน้าสื่อให้คนจำชื่อได้ก็ยังดี

แต่สำหรับฝ่ายบริหารชุดนี้ รัฐมนตรีหลายคนกลับยินดีที่ถูกลืมและกลืนหายไป

เช่น รัฐมนตรีแรงงาน รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม แม้แต่เบอร์ใหญ่อย่างจุรินทร์ ลักษณวิศษฏ์ กระทรวงพาณิชย์ พรรคประชาธิปัตย์ ก็ดูไม่กระเหี้ยนกระหืออยากทำอะไร และนอกจากความฉาวโฉ่กรณีถุงมือยางก็ไม่มีอะไรให้จดจำอีก

หันมาดูอีกหลายกระทรวงสำคัญ -อ้าว- ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่แม้แต่จะมาในโควต้าของพรรคการเมืองที่ต้อง “ชนะ” การเลือกตั้งเข้ามา

(ในยุคที่พรรครัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง รมต.คนนอก อย่างน้อยก็ชัดเจนว่ามาในโควต้าพรรคไหน คนไหนทักษิณ ชินวัตร เลือกมากับมือ เป็นต้น ดังนั้น ก็ต้องทำงานบนความกดดันว่า ต้องไม่ให้ฐานเสียงของพรรคผิดหวัง)

ความผิดปกติในการทำงานระบบรัฐสภานี้ทำให้เราตระหนักว่าที่รัฐมนตรีทั้งหลานเกียร์ว่าง เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว สิ่งที่ “รัน” วงการประเทศไทยอยู่ไม่ใช่ “ผลการเลือกตั้ง” แม้เราจะมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลผสมที่พลังประชารัฐก็เคลมว่าตัวเองก็ “ชนะ” การเลือกตั้งมา

มันพิสูจน์ให้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว การเลือกตั้งเป็นแค่ตะกร้าล้างน้ำ เป็นเครื่องมือฟอกขาวสร้างความชอบธรรมให้กับ body ทางการเดิมที่อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร และ body นี้สามารถสถาปนาตัวเองมาเป็นอำนาจรัฐที่ซ้อนทับ เหลื่อมทับกันอยู่กับ “ฝ่ายบริหาร” และรัฐบาลที่ได้ชื่อว่า “มาจากการเลือกตั้ง”

เราจึงมี ครม.ที่เหมือนไม่มี

เราจึงมี รมต.ที่เหมือนไม่มี

เราจึงมี รมต.สาธารณสุขที่เหมือนไม่มีเพราะเงาของ ศบค.ทอดลงมาทับอยู่ตลอดเวลา

ไม่นับการถูก “เบรก” ถูกแก้ ถูกเปลี่ยนแนวทางการทำงานจนรวนเรไปหมด

สิ่งเดียวที่ยังพอเป็นชิ้นส่วนของประชาธิปไตยที่เหลืออยู่คือสภา และการทำงานของฝ่ายค้าน ที่อย่างน้อยก็เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการปากเสียงเดียวของประชาชน ส่วนประชาชนที่อยู่ข้างนอก รวมทั้งสื่อมวลชนก็ทำงานอยู่บนความเสี่ยงที่จะถูกกฎหมายและอำนาจรัฐปิดปากอยู่ตลอดเวลา แม้แต่นักข่าวของสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสยังถูกขู่ฟ้องจนต้องขอยุติบทบาทตัวเองชั่วคราวเพื่อเป็นการขอโทษ

อันตรายของสังคมไทยอยู่ตรงนี้

ในทางกายภาพ อาการทางเศรษฐกิจและสุขภาพชีวิตของเราทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้นโคม่า

ในทางการเมือง เราอยู่ในระบอบเผด็จการซ่อนรูป หาคนรับผิดชอบไม่เจอ มีเพียงชิ้นส่วนของประชาธิปไตยลอยไปมาสะเปะสะปะเหมือนแสงหิ่งห้อย สว่างวาบตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย แล้วก็มืดหายไป แล้วก็กลับมาใหม่อีกในบางเวลาและบางคืน มีไว้แค่หล่อเลี้ยงความหวังว่า เออ จะบอกว่าเราไม่มีประชาธิปไตยก็พูดไม่เต็มปาก

อยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการไปเลย ยังรู้ว่าโจทย์หรืออุปสรรคของความกินดีอยู่ดีของประชาชนอยู่ตรงไหน แต่อยู่ภายใต้เผด็จซ่อนเร้นที่ไม่รู้ดูไม่ออกว่าอำนาจอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใคร อยู่กับคนดีคนชั่ว ทำให้เราทำได้มากที่สุดแค่เลิ่กลั่ก

จากนั้นเขาก็บอกเราแค่ว่า เราจะรอดแน่ ขออย่างเดียวขอให้รักชาติ

รวมใจไทยสร้างชาติ พับไมค์ บ๊ายบาย