จิตรกรแห่งแสง จิตวิญญาณแห่งความเป็นขบถ ของรางวัลศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

จําได้ว่าในตอนที่ผ่านๆ มาเคยกล่าวถึงผลงานของศิลปินบางคนที่ได้รางวัล Turner Prize ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับศิลปินสหราชอาณาจักรที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ Tate ตั้งแต่ปี 1984

โดยรางวัลนี้เป็นรางวัลยิ่งใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็นรางวัลโนเบลของวงการศิลปะอังกฤษเลยก็ว่าได้

และชื่อของรางวัลนี้ก็ตั้งตามชื่อของศิลปินที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร

ซึ่งในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้น ผลงานของเขาก็สร้างความตื่นตะลึงและเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก

วิธีการใหม่ในการวาดภาพทิวทัศน์ของเขาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โฉมหน้าของประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นอย่างมาก

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

เจ.เอ็ม.ดับเบิลยู. เทอร์เนอร์ (J.M.W. Turner)

หรือ โจเซฟ มัลลอร์ด วิลเลียม เทอร์เนอร์ (23 เมษายน 1775 – 10 ธันวาคม 1851) จิตรกรภาพทิวทัศน์ ชาวอังกฤษแห่งยุคโรแมนติก ผู้ถือได้ว่าเป็นรากฐานและต้นธารของงานศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ ถึงแม้เขาจะเป็นบุคคลผู้อื้อฉาวในยุคของตัวเอง

แต่ในปัจจุบันเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ยกระดับภาพวาดแบบทิวทัศน์ให้อยู่ในจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์ศิลปะ

เขาเริ่มต้นวิชาชีพศิลปะตั้งแต่ครั้งยังเยาว์และมีผลงานจัดแสดงตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เขาอุทิศทั้งชีวิตให้กับการทํางานศิลปะและประสบความสําเร็จในวิชาชีพมาโดยตลอด ต่างกับศิลปินหลายคนในยุคสมัยของเขา

เกิดในเมเดนเลน โคเวนต์การ์เด้น

วิลเลียม เกย์ เทอร์เนอร์ พ่อของเขาเป็นช่างตัดผมและช่างทําวิก

แม่ของเขา แมรี มาร์แชล มีอาการป่วยทางจิตอันเป็นผลมาจากการตายของเฮเลน น้องสาวของเทอร์เนอร์ในปี 1786 (เธอเสียชีวิตในปี 1804 หลังจากถูกนําตัวไปรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต)

ในปี 1785 เทอร์เนอร์น้อยถูกส่งไปอยู่กับลุงของเขาที่เบรนต์ฟอร์ด ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของลอนดอน ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์

ณ ที่นั้นเองที่เขามีความประทับใจในธรรมชาติแวดล้อม และเริ่มสนใจในการวาดภาพ

หนึ่งปีหลังจากนั้นเขาเข้าเรียนที่โรงเรียนมาร์เกต ทางตะวันออกเฉียงเหนือของชายฝั่งเคนต์

ในตอนนั้นเองที่เขาวาดภาพลายเส้นมากมาย ซึ่งพ่อของเขาก็เอาไปติดโชว์ในร้านตัดผมของตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ

ในปี 1789 เขาสมัครเข้าเรียนในสถาบัน Royal Academy of Art เมื่ออายุแค่เพียง 14 ปี

และได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนในปีถัดมา

ในตอนแรกที่เข้าไป เทอร์เนอร์สนใจจะเรียนทางสถาปัตยกรรม

หากแต่ได้รับการเกลี้ยกล่อมให้เรียนทางด้านจิตรกรรมต่อไปเพราะเห็นแววในฝีมือ

ในปี 1790 ผลงานสีน้ำของเขาถูกคัดเลือกให้แสดงในนิทรรศการฤดูร้อนของสถาบันในขณะที่เขาเพิ่งเรียนแค่ปีหนึ่งเท่านั้น

ในปี 1796 ผลงานภาพวาดสีน้ำมัน Fishermen at Sea ของเขาได้รับการจัดแสดงเป็นครั้งแรกในสถาบัน หลังจากนั้นมาเขาก็ได้แสดงผลงานในสถาบันแห่งนี้เรื่อยมาแทบทุกปีจวบจนตลอดชีวิตของเขา

ในปี 1802 เทอร์เนอร์เดินทางท่องเที่ยวในยุโรป เริ่มต้นจากฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ และเข้าไปศึกษาดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในปารีส

เขายังเดินทางไปยังเวนิสหลายต่อหลายครั้ง

รวมถึงเดินทางไปยัง ไลม์ เรจิส ในดอร์เซต ประเทศอังกฤษเพื่อวาดภาพพายุคลั่งในทะเล

สไตล์การวาดภาพของเทอร์เนอร์มีอยู่สองลักษณะ

ลักษณะแรกคือภาพเหมือนจริงที่ถ่ายทอดทั้งทิวทัศน์ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงอย่างภาพวิว คฤหาสน์ บ้านเรือน โบสถ์วิหาร เรือรบอันสง่างาม เหตุการณ์สําคัญในประวัติศาสตร์

หรือแม้แต่เรื่องราวจากเทพปกรณัม ด้วยรายละเอียดที่ชัดเจนเนี้ยบกริบสมจริง จนกลายเป็นผลงานที่เป็นที่นิยมในหมู่สาธารณชน

ลักษณะที่สองคือการวาดแบบไม่สนใจรายละเอียด แต่เก็บเอาอารมณ์ของทิวทัศน์และบรรยากาศในธรรมชาติด้วยแสงสีที่ฟุ้งกระจายและพร่าเลือน ฝีแปรงที่หยาบกระด้างแต่เต็มไปด้วยพลังความเคลื่อนไหว ซึ่งลักษณะการทํางานที่ลดทอนรายละเอียดและความสมจริงของวัตถุ แต่ไปให้ความสําคัญกับแสงสี

และบรรยากาศนี้เองที่ถือกันว่าเป็นแรงบันดาลใจและต้นธารของศิลปะตระกูลอิมเพรสชั่นนิสม์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นราวครึ่งทศวรรษเลยทีเดียว

นักวิจารณ์ผู้ทรงอิทธิพลของอังกฤษอย่าง จอห์น รัสกิน กล่าวถึงเทอร์เนอร์ว่าเป็น “ศิลปินที่ถ่ายทอดอารมณ์ของธรรมชาติได้อย่างน่าตื่นตะลึงและเที่ยงแท้อย่างแท้จริง”

“Tempête de Neige” exposé en 1842 de J.W. Turner
Snow Storm – Steam-Boat off a Harbour’s Mouth making Signals in Shallow Water, and going by the Lead

ไม่ว่าจะเป็นภาพจากเหตุการณ์จริงอย่างภาพไฟไหม้ (เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้รัฐสภาปี 1834 ซึ่งเทอร์เนอร์รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกเหตุการณ์เป็นคนแรกๆ และถ่ายทอดมันออกมาเป็นชุดภาพร่างสีน้ำของเขา)

ภาพรถจักรไอน้ำที่วิ่งกลางสายฝน หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก หมอก ฝน และพายุ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พายุคลั่งในทะเลที่เขาหลงใหลเป็นอย่างมาก

ร่ำลือกันว่าเทอร์เนอร์ถึงกับผูกตัวเองกับเสากระโดงเรือเดินสมุทรในตอนที่มีพายุหิมะเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์การเผชิญหน้ากับพายุคลั่งในทะเลอย่างใกล้ชิดจนแทบเอาชีวิตไม่รอดเลยทีเดียว

เขามักจะใส่รูปมนุษย์ลงในภาพวาดของเขาหลายภาพ เพื่อแสดงออกถึงความศรัทธาในแนวคิดมนุษยนิยมของเขา

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของมนุษย์ยามเมื่อต้องเผชิญหน้ากับธรรมชาติและประจักษ์ถึงพลังอํานาจของพระผู้เป็นเจ้า

นั่นเป็นเหตุผลที่ภาพวาดในช่วงหลังๆ ของเขาละทิ้งรายละเอียดและวัตถุ แต่เน้นในการแสดงออกของแสงสีและบรรยากาศ

ซึ่งเป็นการพยายามแสดงออกทางจิตวิญญาณของเขามากกว่าจะเป็นแค่การบันทึกสิ่งที่ตาเห็น

ความจัดจ้านของสีสันและความพร่าเลือนของแสงในภาพวาดของเทอร์เนอร์ไม่เพียงถูกจับตาในแวดวงศิลปะอังกฤษยุคนั้นเท่านั้น

หากแต่มันยังส่งอิทธิพลไปยังวงการศิลปะต่างแดนอย่างฝรั่งเศสอีกด้วย

ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์คนแรกๆ อย่าง โคล้ด โมเนต์ ก็ศึกษาเทคนิคในการทํางานของเทอร์เนอร์อย่างละเอียด

ถึงแม้จะเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดสีน้ำมัน แต่เทอร์เนอร์ก็ยังเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาพวาดทิวทัศน์ด้วยสีน้ำ

เขาเป็นที่รู้จักกันในฉายา “จิตรกรแห่งแสง” นอกจากจะเป็นเสมือนหนึ่งต้นธารของศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์แล้ว ผลงานบางชิ้นของเขายังมีรูปแบบคล้ายกับงานศิลปะแบบนามธรรม (Abstract) ก่อนที่มันจะถือกําเนิดขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เสียอีก

เทอร์เนอร์ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินผู้พิลึกพิลั่น

ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ เทอร์เนอร์ก็ยิ่งมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดมากขึ้นเท่านั้น

เขาเป็นคนเอาแต่ใจ พูดจาโผงผาง เขามีเพื่อนสนิทและคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน ซึ่งรวมถึงพ่อของเขาที่อาศัยอยู่กับเขาถึงสามสิบปี โดยทํางานเป็นผู้ช่วยของเทอร์เนอร์ในสตูดิโอ รวมถึงดูแลจัดการด้านการเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงอาหารการกินและชีวิตส่วนตัวของเทอร์เนอร์ จนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี 1829

การตายของพ่อส่งผลกระทบต่อเขาอย่างใหญ่หลวง และทําให้เขาตกอยู่ในภาวะซึมเศร้านับแต่นั้นมา

บั้นปลายชีวิตเขาอาศัยอยู่กับ โซเฟีย แคโรลีน บูธ ชู้รักคนหนึ่งของเขา และเสียชีวิตในบ้านของเธอในปี 1851

คํากล่าวสุดท้ายของเขาคือ “ดวงอาทิตย์คือพระผู้เป็นเจ้า” หนึ่งปีหลังจากการแสดงผลงานครั้งสุดท้ายใน Royal Academy นั่นเอง

ตลอดชีวิตการทํางาน เทอร์เนอร์สร้างสรรค์ผลงานภาพวาดเอาไว้ราว 2,000 ชิ้น และภาพวาดลายเส้นและภาพร่างกว่า 19,000 ชิ้น รวมถึงภาพวาดสีน้ำมันที่ยังวาดไม่เสร็จที่ทิ้งไว้ในสตูดิโออีกเกือบ 300 ชิ้น

ผลงานส่วนใหญ่ของเขาถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และแกลเลอรี่ Tate กรุงลอนดอน

ในปี 1974 พิพิธภัณฑ์เทอร์เนอร์ถูกก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา

และในปี 1984 ชื่อของเขาถูกใช้ตั้งเป็นชื่อรางวัลทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มอบให้กับศิลปินแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เขา

ซึ่งจิตวิญญาณแห่งการสร้างความเปลี่ยนแปลง การแสวงหาสิ่งใหม่ๆ และความขบถต่อกรอบและกฎเกณฑ์เดิมๆ ของเทอร์เนอร์นี่เอง ที่เป็นเสมือนหนึ่งจิตวิญญาณของรางวัลทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Turner Prize นั่นเอง