จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (4)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (4)

 

ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (ต่อ)

เจ้าควางอิ้นเห็นเช่นนั้นก็แสดงอาการงวยงงสงสัยแล้วถามเหล่าขุนศึกว่าเกิดอะไรขึ้น ครั้นทราบความก็ปฏิเสธเสียงแข็งแล้วกล่าวว่า ราชวงศ์โจวปฏิบัติต่อเขาเป็นอย่างดี เขามิอาจเนรคุณได้ แต่ฝ่ายขุนศึกก็ยืนยันเสียงแข็งเช่นกัน

จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็เจรจาต่อรองกันในประเด็นอำนาจที่เจ้าควางอิ้นพึงมี เมื่อเหล่าขุนศึกยอมรับที่จะจงรักภักดีต่อตัวเขา เจ้าควางอิ้นจึงยอมตามข้อเรียกร้องของเหล่าขุนศึกในที่สุด

หลังจากนั้นเจ้าควางอิ้นก็นำทัพกลับเมืองไคเฟิงแล้วทำพิธีราชาภิเษกตั้งตนเป็นจักรพรรดิอย่างเป็นทางการ และด้วยเหตุที่เคยปกครองเมืองซ่ง (ซ่งโจว) ขณะเป็นข้าหลวงทหารมาก่อน เจ้าควางอิ้นจึงใช้ชื่อเมืองนั้นเป็นชื่อราชวงศ์

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการยึดอำนาจ ดังนั้น อาการงงงวยหน้ากระโจมก็ดี หรือการร่ำไห้เสียใจที่ทุรยศต่อจักรพรรดิก็ดี ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ถูกกำหนดให้เจ้าควางอิ้นจำต้องแสดงไปตามแผนทั้งสิ้น

และไม่ว่าจะแนบเนียนหรือไม่ก็ตาม ราชวงศ์ซ่งก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในที่สุด ส่วนยุคห้าราชวงศ์ก็สิ้นสุดโดยมีโจวสมัยหลังเป็นราชวงศ์สุดท้าย

เรื่องของสิบรัฐ

 

ในขณะที่เหล่าข้าหลวงทหารต่างตั้งตนเป็นใหญ่ผ่านห้าราชวงศ์จากที่กล่าวมาอยู่นั้น ในอีกฟากหนึ่งก็มีกลุ่มอำนาจที่ตั้งตนเป็นใหญ่เช่นกัน และบางคนก็เป็นข้าหลวงทหาร

การที่มิได้นำมารวมอธิบายกับห้าราชวงศ์ก็เพราะว่า การตั้งตนเป็นใหญ่ของกลุ่มนี้มีความแตกต่างไปจากห้าราชวงศ์ นั่นคือ ผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่มีอยู่สิบรัฐนี้จะมีสองรัฐที่ผู้นำได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิและราชวงศ์

ที่เหลือนอกนั้นตั้งตนเป็นผู้นำรัฐอิสระ

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า แม้ประวัติศาสตร์จะระบุว่ามีอยู่สิบรัฐก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีรัฐอื่นที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในลักษณะเดียวกันอยู่ด้วย ดังนั้น บันทึกหรืองานศึกษาบางที่จึงระบุจำนวนรัฐที่ตั้งตนเป็นใหญ่มากกว่าสิบรัฐ และที่มีอยู่สิบรัฐนั้นจึงเป็นการศึกษาในกระแสหลัก

สิ่งที่สิบรัฐคล้ายกับห้าราชวงศ์ก็คือ ช่วงเวลาที่เกิดสิบรัฐจะคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาของห้าราชวงศ์ จะต่างก็ตรงที่มีบางรัฐในสิบรัฐตั้งอยู่นานกว่าการตั้งอยู่ของห้าราชวงศ์ กว่าที่ราชวงศ์ซ่งจะปราบลงได้อย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญ ในสิบรัฐนี้มีอยู่เก้ารัฐตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีเพียงรัฐเดียวที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ

รัฐแรกที่พึงกล่าวถึงคือ หยังอู๋ (ค.ศ.907-937)

 

ชื่อของรัฐที่มีสองพยางค์นี้เป็นชื่อที่เรียกกันในชั้นหลัง โดยพยางค์แรกเป็นชื่อสกุลของผู้นำรัฐนี้ ส่วนพยางค์ที่สองเป็นชื่อรัฐที่มีอยู่แต่เดิมมาช้านาน เหตุดังนั้น การเรียกชื่อรัฐนี้ว่าหยังอู๋จึงเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเป็นรัฐที่มีบทบาทในยุคนี้เท่านั้น

โดยในช่วงปลายราชวงศ์ถังนั้น ผู้ปกครองรัฐอู๋เป็นข้าหลวงทหารสกุลหยัง เมื่อเขาเสียชีวิตลงบุตรของเขาคือ หยังว่อ (ค.ศ.886-908) ก็เป็นผู้ปกครองสืบต่อ ครั้นถังล่มสลายลงใน ค.ศ.907 หยังว่อไม่ยอมขึ้นต่อเหลียงสมัยหลังของจูเวิน

และได้ประกาศตนเป็นรัฐอิสระแล้วตั้งตนเป็นใหญ่อันเป็นจุดกำเนิดของรัฐหยังอู๋ โดยมีเขตอำนาจรัฐครอบคลุมบางส่วนของมณฑลเจียงซู อันฮุย และเจียงซีในปัจจุบัน

แต่หลังตั้งตนเป็นใหญ่ได้ไม่นาน หยังว่อก็ถูกขุนนางสกุลสีว์ของตนฆ่าตาย จากนั้นภายในหยังอู๋ก็ตกอยู่ในความขัดแย้งระหว่างสกุลหยังกับสกุลสีว์ โดยสกุลสีว์เป็นผู้มีอำนาจนำ ส่วนสกุลหยังกลายเป็นหุ่นเชิด

จน ค.ศ.937 ผู้นำสกุลสีว์ได้เปลี่ยนสกุลของตนเป็นสกุลหลี่เพื่ออ้างสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ถัง จากนั้นก็ประกาศฟื้นฟูราชวงศ์ถังด้วยการตั้งรัฐอิสระขึ้นมา ต่อมารัฐที่ตั้งขึ้นนี้ก็คือ รัฐถังใต้ (หนันถัง) อันเป็นหนึ่งในสิบรัฐของยุคนี้

ส่วนรัฐหยังอู๋ก็มีอันสลายไป

 

รัฐที่ตั้งตนเป็นอิสระในห้วงเดียวกับหยังอู๋ในอันดับถัดมาคือ อู๋เยี่ว์ย (ค.ศ.907-978) ถือเป็นรัฐที่ยืนอยู่ได้นานที่สุดในบรรดาสิบรัฐ อู๋เยี่ว์ยประกาศเป็นรัฐอิสระหลังจากราชวงศ์ถังล่มสลายใน ค.ศ.907 โดยผู้ประกาศและตั้งตนเป็นใหญ่เป็นขุนศึกสกุลเฉียน

คำว่า อู๋เยี่ว์ย อันเป็นชื่อของรัฐนี้เป็นการนำชื่อรัฐโบราณสองรัฐคือ อู๋ กับ เยี่ว์ย มารวมเข้าด้วยกัน แล้วใช้หังโจวเป็นเมืองหลวง รัฐนี้มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณที่เป็นมณฑลเจ้อเจียง ซั่งไห่ ด้านใต้ของเจียงซู กับบางส่วนทางภาคเหนือของฝูเจี้ยนในปัจจุบัน

ระหว่างที่อู๋เยี่ว์ยเป็นรัฐอิสระได้สร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น เกาหลี และคีตัน เป็นต้น โดยความสัมพันธ์ที่มีกับญี่ปุ่นและเกาหลีจะเด่นในเรื่องพุทธศาสนา มีการเดินทางแลกเปลี่ยนภิกษุและพระสูตรระหว่างกัน

อู๋เยี่ว์ยตั้งอยู่ได้ยาวนานหลายสิบปีจนถึง ค.ศ.978 ทัพอันเกรียงไกรของซ่งก็ยกมาเตรียมจะโจมตี จนผู้นำคนสุดท้ายจำต้องจำนนเพื่อรักษาชีวิตของราษฎรและเศรษฐกิจเอาไว้

อู๋เยี่ว์ยจึงล่มสลายลงในที่สุด

 

รัฐต่อมาคือ หมิ่น (ค.ศ.909-945)

ผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ของรัฐนี้เป็นขุนศึกสกุลหวัง

พื้นที่ที่รัฐนี้ยึดครองคือพื้นที่มณฑลฝูเจี้ยนในปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนของรัฐนี้เกิดขึ้นเมื่อเชื้อสายผู้นำคนหนึ่งตั้งตนเป็นกบฏด้วยการตั้งรัฐซ้อนขึ้นมา จนผู้นำรัฐหมิ่นต้องขอความช่วยเหลือถังใต้ให้นำกำลังมาช่วยปราบ

หลังจากกบฏถูกปราบลงได้ไม่นาน ถังใต้ก็ใช้กำลังเข้ายึดครองหมิ่นจนหมิ่นสลายไป

 

ต่อไปคือ ฮั่นใต้ (หนันฮั่น, ค.ศ.917-971) รัฐนี้มีที่มาค่อนข้างพิสดาร นั่นคือ ผู้ก่อตั้งรัฐนี้แต่เดิมเป็นขุนศึกในสกุลหลิว ใน ค.ศ.905 ขุนศึกผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงทหาร จากนั้นอีกสองปีต่อมาถังก็ล่มสลายลง

ตอนที่ถังล่มสลายนั้นขุนศึกผู้นี้มิได้ตั้งตนเป็นใหญ่ ได้แต่ปกครองพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบอยู่เช่นเดิมต่อไป จนถึง ค.ศ.917 เขาก็เสียชีวิตลง ตอนนี้เองที่น้องชายของเขาชื่อ หลิวเอียน (ค.ศ.889-942) ที่สืบทอดอำนาจต่อได้ตั้งตนเป็นใหญ่โดยใช้คำว่า เยี่ว์ย เป็นชื่อรัฐ

พอปีต่อมาคือ ค.ศ.918 ก็เปลี่ยนมาเป็นชื่อ ฮั่น ที่ใช้ชื่อนี้ก็เพื่ออ้างอิงสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติกับราชวงศ์ฮั่น ชั้นหลังต่อมาจึงเรียกรัฐนี้ว่า ฮั่นใต้ รัฐนี้ใช้กว่างโจวเป็นเมืองหลวง ส่วนเขตอำนาจของรัฐจะครอบคลุมมณฑลกว่างตง กว่างซี และเกาะไห่หนัน

ฮั่นใต้ยืนอยู่ได้ยาวนานแม้หลังจากที่ซ่งได้ตั้งวงศ์ของตนขึ้นใน ค.ศ.960 ไปแล้ว แต่ต่อมาอีกราว 11 ปี ทัพซ่งก็สามารถปราบฮั่นใต้ได้ในที่สุด

 

หมาฉู่ (ค.ศ.927-951) เป็นอีกรัฐหนึ่งในสิบรัฐ ผู้ปกครองรัฐนี้เป็นขุนศึกสกุลหม่าที่รับใช้ถังมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 9 จนมีความชอบได้เป็นข้าหลวงทหาร และได้เป็นผู้ปกครองรัฐฉู่เรื่อยมา

ครั้นถังล่มสลายก็ยังคงฐานะนั้นเรื่อยมาจนถึง ค.ศ.927 จึงได้ประกาศตนเป็นรัฐอิสระโดยใช้ถัน (ถันโจว) ซึ่งปัจจุบันคือ ฉังซา เมืองเอกของมณฑลหูหนันเป็นเมืองหลวง เขตอำนาจของรัฐนี้ครอบคลุมมณฑลหูหนัน และพื้นที่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกว่างซี

หลังผู้ปกครองคนแรกตายไป หมาฉู่ก็ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งภายใน และถูกถังใต้ปราบจนล่มสลายลงใน ค.ศ.951

 

รัฐที่จะกล่าวต่อไปเป็นรัฐที่กล่าวไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือ ฮั่นเหนือ (เป่ยฮั่น, ค.ศ.948/51-979) ที่ว่า ก่อนฮั่นสมัยหลังจะถูกตั้งขึ้น หลิวฉง (ประมาณ ค.ศ.895-954) ได้ตั้งราชวงศ์ฮั่นเพื่อเผชิญกับโจวสมัยหลังของกวอเวย ราชวงศ์ฮั่นของหลิวฉงจึงถูกเรียกว่า ฮั่นเหนือ

และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบรัฐ และเป็นเพียงรัฐเดียวที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจีน ด้วยเหตุที่มีคีตันคอยให้ความช่วยเหลือ

ฮั่นเหนือจึงอยู่มาได้ยาวนานแม้หลังจากซ่งตั้งเป็นราชวงศ์ขึ้นแล้ว

และกว่าซ่งจะปราบลงได้เวลาก็ล่วงไปถึง ค.ศ.979

 

รัฐต่อมาคือ จิงหนัน (ค.ศ.924-963) รัฐนี้ยังมีชื่อเรียกอีกสองชื่อว่า หนันผิง และ ฉู่ใต้ (หนันฉู่) ผู้นำสกุลเกาของรัฐนี้เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจูเวินและเป็นข้าหลวงทหาร เมื่อตั้งตนเป็นใหญ่มีเขตอำนาจที่จัดว่าเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับอีกเก้ารัฐ

นั่นคือ จังหวัดปาตงของมณฑลหูเป่ย และจังหวัดเยี่ว์ยหยังของมณฑลหูหนันในปัจจุบัน โดยมีเมืองจิงโจวซึ่งปัจจุบันคือเมืองเจียงหลิงในมณฑลหูเป่ยเมืองหลวง

การที่จิงหนันเป็นรัฐที่เล็กที่สุด แต่สามารถตั้งอยู่มาได้ยาวนานนั้น เป็นเพราะรัฐนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างจีนตอนเหนือกับตอนใต้ บรรดานายวาณิชที่เดินทางไป-มาจะผ่านรัฐนี้และต้องเสียภาษีให้แก่รัฐนี้ ทำให้รัฐนี้มีความมั่งคั่งหล่อเลี้ยงตนเองมาได้ แต่ก็มิได้เข้มแข็งทางการทหารแต่อย่างไร

เหตุดังนั้น จิงหนันจึงถูกทัพซ่งปราบลงได้เมื่อ ค.ศ.963 และล่มสลายไปในที่สุด