เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก ครูผู้ที่สามารถผลักดันการแก้ปัญหา

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (12) บทที่ 4 : หลักสำคัญที่ควรทราบ (4)

ปัญหาบางอย่างครูแก้ไม่ได้ในขณะนั้น แต่ก็สามารถผลักดันให้สังคมมีส่วนช่วยแก้ไขให้ได้ ดังกรณีเด็กคนดังกล่าว

ถ้าย้อนดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงให้ความสำคัญแก่ผู้ฟังที่มีปัญหาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเราควรดูเอาเป็นแบบอย่าง

ในที่นี้ขอเล่าสักสามเรื่อง (เรียกว่ารู้จัก “ยึดเรื่อง” ว่าอย่างนั้นแหละ)

เรื่องที่หนึ่งว่า สมัยหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เพื่อทรงแสดงธรรม ประชาชนจำนวนมากต่างก็พากันมาเพื่อฟังธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ประทับนั่งบนธรรมาสน์ ไม่ตรัสอะไรเป็นเวลานาน ประชาชนเมื่อเห็นพระองค์ประทับนั่งดุษณีภาพ ต่างก็นิ่งเงียบเช่นเดียวกัน

ในช่วงเวลานี้ มีชาวนาคนหนึ่ง ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกได้ยินข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าแล้วว่าจะไปฟังธรรม แต่บังเอิญวัวแกหาย จึงออกไปตามวัว กว่าจะพบและนำมาผูกไว้เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว แกคิดว่าคงไม่ทันแล้ว แต่ไหนๆ ก็ตั้งใจจะไปฟังแล้ว ได้ฟังแค่ตอนท้ายๆ ก็ยังดี

จึงกระหืดกระหอบไปนั่งท้ายฝูงชนที่นั่งสงบเงียบอยู่

พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คนหาอาหารมาให้ชาวนาคนนั้นกินจนอิ่มเสียก่อน จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา หลังจากทรงเห็นว่าเขามีความพร้อมที่จะฟังธรรมแล้ว

นี้เรื่องหนึ่ง ต่อไปเป็นเรื่องที่สองดังต่อไปนี้

คราวนี้เป็นเด็กหญิงลูกสาวช่างหูก แห่งเมืองอาฬวี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าครั้งแรกเรื่อง มรณัสสติ (สติระลึกถึงความตาย) ว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอน ความตายต่างหากแน่นอน คนเราเกิดมาแล้วมีความตายเป็นที่สุด ไม่ควรประมาทในชีวิต เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อใด

เธอรู้สึกซาบซึ้งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จจากไปแล้ว พระโอวาทนั้นยังก้องอยู่ในจิตใจของเธอ

เธอจึงเจริญมรณัสสติทุกวันไม่ได้ขาดเป็นเวลา 3 ปี

สาวน้อยธิดาช่างหูกตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็น “บิดาในทางธรรม” ให้ได้

แต่บังเอิญว่าวันนั้น บิดาของนางสั่งให้นางกรอด้ายหลอดให้ เสร็จแล้วนำไปส่งตนที่โรงหูก

นางคิดว่าต้องทำงานให้บิดาก่อน เสร็จแล้วจะรีบไปฟังธรรม ภาวนาขอให้ทันฟังธรรมจาก “เสด็จพ่อ” ทีเถิด

เมื่อกรอด้ายหลอดเสร็จแล้วก็รีบถือกระเช้าด้ายหลอดเดินทางไปเพื่อส่งบิดา

คิดอย่างไรไม่ทราบว่า ก่อนไปขอแวะถวายบังคมพระพุทธเจ้าก่อน จึงเดินทางไปยืนอยู่ท้ายพุทธบริษัทที่นั่งเฝ้าพระพุทธองค์อยู่ ขณะพระพุทธองค์ทรงชะเง้อพระศอทอดพระเนตรดูนางพอดี

นางเกิดปีติยินดี แม้อยู่ท่ามกลางฝูงชนมากมาย พระพุทธองค์ทรงคอยการมาของเรา จึงถวายบังคม พระพุทธองค์ตรัสถามว่า กุมาริกา เธอมาจากไหน

“ไม่ทราบ พระเจ้าข้า” นางตอบ

“แล้วเธอจะไปไหน” ตรัสถามอีก

“หม่อมฉันก็ไม่ทราบ พระเจ้าข้า”

“เธอไม่ทราบหรือ” ตรัสถามอีก

“ทราบ พระเจ้าข้า” นางตอบดังหนึ่งเล่นลิ้น

“เธอทราบหรือ” ตรัสถามเป็นครั้งสุดท้าย

“ไม่ทราบ พระเจ้าข้า” นางตอบเสียงชัดเจน

เสียงดังฟังชัด จนฝูงชนที่นั่งอยู่ส่งเสียงอึงคะนึง ตำหนินางว่า เป็นแค่เด็กสาวลูกนายช่างหูก ยังกล้ามาเล่นลิ้นกับพระพุทธเจ้า ช่างไม่รู้ที่ต่ำที่สูง พ่อมันมัวแต่ทอหูกอยู่หรือไร ไม่รู้จักอบรมสั่งสอนลูก

พระพุทธองค์ทรงปรามให้พุทธบริษัทเงียบเสียง แล้วตรัสถามต่อไปว่า กุมาริกา เราถามว่า มาจากไหน ทำไมเธอตอบว่าไม่ทราบ ถามว่าจะไปไหน ก็ตอบว่าไม่ทราบอีก ครั้นถามว่า ไม่ทราบหรือ กลับตอบว่า ทราบ ครั้นถามต่อไปว่าเธอทราบหรือ กลับตอบว่าไม่ทราบ เป็นอย่างไรกันแน่

นางกราบทูลว่า พระองค์ทรงทราบอยู่แล้วว่า หม่อมฉันมาจากบ้าน

เมื่อทรงถามว่ามาจากไหน พระองค์ไม่หมายอย่างนั้นแน่ คงหมายถึงว่าหม่อมฉันมาจากไหนจึงเกิดมาเป็นธิดาช่างหูก หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลอย่างนั้น

เมื่อพระองค์ตรัสถามอีกว่า จะไปไหน คงทรงหมายถึงว่า หลังจากหม่อมฉันตายแล้ว จะไปเกิดที่ไหน หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลตามนั้น ครั้นทรงถามอีกว่า ไม่ทราบหรือ คงทรงหมายถึงว่าหม่อมฉันไม่ทราบหรือว่าจะต้องตายแน่ หม่อมฉันทราบว่าต้องตายแน่ จึงกราบทูลว่าทราบ

ครั้นทรงถามว่าทราบหรือ คงทรงหมายความว่า ทราบหรือว่าจะตายเมื่อใด หม่อมฉันไม่ทราบ จึงกราบทูลว่าไม่ทราบ

ประชาชนเงียบกริบ พระพุทธองค์ทรงประทานสาธุการว่า ดีละๆ กุมาริกา เธอฉลาดเฉียบแหลม แล้วทรงแสดงธรรมต่ออีกหน่อยหนึ่ง นางได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เสร็จแล้วกุมาริกาก็กราบถวายบังคมลาพระพุทธองค์รีบไปยังโรงหูก เพื่อนำกระเช้าด้ายหลอดไปส่งบิดา บิดาเธอนั่งรอลูกสาวจนม่อยหลับคาหูก มือหนึ่งยกฟืมค้างอยู่

นางไม่ทันสังเกต ยื่นกระเช้าไปให้บิดา บิดาตกใจตื่นกระชากฟืมที่ยกค้างอยู่เข้ามาหาตัวแรง ปลายฟืมกระแทกทรวงอกลูกสาวซึ่งกำลังยื่นกระเช้าด้ายหลอดมาให้พอดี นางล้มลงดิ้นตายอยู่ตรงนั้นเอง

เรื่องนี้จบด้วยความเศร้า

ชาวนาเลี้ยงโควิตกกังวลที่โคหาย พอตามหาโคพบแล้วรีบไปฟังธรรม มีปัญหาคือความเมื่อยล้า หิวข้าว ถ้าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมขณะที่เจ้าท้องร้องจ๊อกๆ ถึงจะตั้งใจฟังอย่างไร ก็คงควบคุมจิตให้เป็นสมาธิได้ยาก

พระพุทธองค์จึงทรงแก้ปัญหาโดยให้เขารับประทานอาหารให้อิ่มเสียก่อน เมื่อหายหิว จิตใจก็สบาย พร้อมที่จะฟังธรรม

สำหรับธิดาช่างหูก ปัญหาของนางก็คือต้องรีบนำกระเช้าด้ายหลอดไปให้พ่อที่โรงทอผ้า กลัวว่าไปก่อนแล้วกลับมาฟังธรรมอาจไม่ทัน จึงแวะมาดูก่อน นางมีความวิตกกังวลมาก แต่พอแวะมา เห็นพระพุทธองค์ทรงชะเง้อพระศอมองนางอยู่ ความกังวลก็หมดไป มีแต่ความปลาบปลื้ม พระองค์ทรงรู้ว่าเป็นจังหวะเหมาะจึงรีบแสดงธรรมให้ฟัง โดยวิธีถามตอบปัญหาแล้วตะล่อมเข้าหาเรื่องที่ต้องการสอน

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องนางมาคันทิยา นางเป็นบุตรสาวของมาคันทิยพราหมณ์ สวยสดงดงามดังหยาดฟ้ามาดินเชียวแหละ พ่อไม่ยอมยกนางให้ชายใดเลย ไม่ว่าเป็นอาเสี่ยพันล้าน หรือนายพลนายพันมีอำนาจวาสนาในเมือง มักพูดว่าไม่เหมาะสมกับลูกสาวตน

อยู่มาวันหนึ่งพราหมณ์เห็นพระพุทธเจ้าเข้า จึงบอกว่า สมณะ เรามีลูกสาวสวยอยากยกให้เป็นภรรยาของท่าน ท่านอย่าเพิ่งไปไหน รออยู่ที่นี้แหละเดี๋ยวจะไปตามลูกสาวมาให้ท่านดูตัว

พระพุทธองค์มิประทับอยู่ ณ จุดเดิม ทรงประทับรอยพระบาทไว้แล้วเสด็จไปประทับนั่งใต้ต้นไม้ใกล้ๆ

ที่นั้น พรหมณ์และนางพราหมณีจูงมือลูกสาวมา ตามด้วยบรรดา “แขกมุง” มากมาย

นางพราหมณีเห็นรอยพระบาทเท่านั้น ก็บอกสามีว่า เจ้าของรอยเท้านี้เป็นคนไม่ยินดีในกามคุณแล้ว เพราะนางดูลายเท้าเก่ง

พราหมณ์ไม่เชื่อ มองไปมองมาเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ต้นไม้จึงเข้าไปหาบอกจะยกลูกสาวให้ พระพุทธองค์ตรัสสองสามคำ ทำให้พราหมณ์และพราหมณีได้สตินั่งลงฟังธรรมจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ในขณะที่นางมาคันทิยาไม่ได้บรรลุอะไร มิหนำยังผูกอาฆาตพระพุทธองค์อีก (เพราะพระองค์ตรัสตำหนิความงามว่าเป็นสมบัติภายนอก ไม่น่ายินดีอะไร พระองค์มีชายาสวยกว่านี้หลายเท่ายังสละมาได้ อะไรทำนองนี้ ทำให้นางรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม)

เป้าหมายของพระองค์คือสองสามีภรรยามีปัญหาที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ จึงทรงเอาพระทัยใส่ และสอนธรรมที่เหมาะแก่สองคนนั้น

ส่วนคนที่ยังไม่พร้อมจะเข้าถึงก็ปล่อยไปก่อน ดังทรงมุ่งเป้าไปที่ชาวนาคนเดียวหรือหญิงสาวคนเดียว ขณะที่คนอื่นๆ นั้งฟังอยู่เป็นจำนวนมาก ฉะนั้นแล

หลักสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เรียนก็จบเพียงแค่นี้ ต่อไปจะพูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับตัวการสอนครับ