เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์/วิสาขะ บูชาธรรม

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

วิสาขะ บูชาธรรม

 

๐ ให้ใจอยู่กับใจได้รู้สึก

ให้หายใจลึกลึกเมื่อนึกได้

ให้อยู่กับความว่างที่กลางใจ

สะอาดใส สว่างภพ สงบงาม ฯ

 

วันวิสาขบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม ซึ่งรุ่งขึ้นคือวันที่ 27 พฤษภาคม เป็นวันเกิดท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

กลอนข้างต้นต้องการถอดความหัวใจของวันสำคัญที่ว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพานตรงกันในคืนวันเพ็ญกลางเดือนหก จากการขยายความของท่านอาจารย์พุทธทาส

โดยนัยดังนี้

 

รับรู้กันโดยทั่วไปถึงความสำคัญของวันนี้ว่าวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้นตรงกันในวันเพ็ญเดือนหกอย่างมหัศจรรย์ คือเกิดจากพระนางศิริมหามายาพุทธมารดาในวันเพ็ญเดือนหก ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็ตรงกับวันนี้ กระทั่งดับขันธปรินิพพานเมื่ออายุแปดสิบปีตรงกับวันนี้เช่นกัน

ความเชื่อเช่นนี้เป็นศรัทธาที่มีต่อองค์พระพุทธเจ้าโดยแท้ เป็นศรัทธาที่มิบังควรจะลบหลู่ ถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ที่เสริมความสำคัญสูงส่งให้กับพระพุทธศาสนาเป็นที่เคารพบูชาด้วยศรัทธานี้

ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านมาถอดความขยายความนี้โดยทำให้ “ศรัทธา” กลายเป็น “ปัญญา” ที่ช่วยเสริมกันและกันยิ่งขึ้นไป

ทำให้เราได้ประจักษ์และตระหนักในหลักธรรมสูงสุดของพระพุทธศาสนาว่าเป็น “อริยสัจ” แท้จริง

คือขณะแห่งการ “ตรัสรู้” นั้นเอง ภาวะแห่งผู้รู้คือพุทธะ ได้เกิดขึ้นแล้ว นี่คือการ “ประสูติ” ซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้า และสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ก็คือธรรมแห่งการดับทุกข์ ภาวะแห่งความดับสิ้นไปซึ่งความทุกข์ก็คือ “นิพพาน”

เพราะฉะนั้น สามสภาวะคือ ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน เกิดขึ้นในขณะเดียวกันนั้นเอง คือขณะแห่งการตรัสรู้นั้น

ตรัสรู้เป็นเหตุ ประสูติและนิพพานเป็นผล

ทั้งสามนี้เป็นสภาวะ มิใช่เป็นรูปธรรม คือประสูติทางกาย ตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ ดับขันธ์ใต้ต้นรัง ดังประวัติศาสตร์รูปธรรม หากนี้เป็นภาวะทางนามธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ รับรู้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

ไม่ปฏิเสธถึงความตรงกันในวันเพ็ญกลางเดือนหก ซ้ำกลับอธิบายขยายความให้เห็นเป็นจริงอย่างยิ่งตามนั้นอีกด้วยว่า

พระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ นิพพานในวันเพ็ญกลางเดือนหกจริง

จริงยิ่งไปกว่านั้น คือเป็นวาระเดียว ขณะเดียวกัน คือขณะแห่งการ “ตรัสรู้” นั้นเอง

เช่นนี้แล้วพระพุทธศาสนาผ่องพิสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีกหรือ

 

กลอนข้างต้นพยายามถอด “รหัสธรรม” ประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน โดยนัยนี้

“ให้ใจอยู่กับใจได้รู้สึก” คือสภาวะของการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนา

สมาธิคือการทำจิตให้สงบจนเห็นจิตจริง

วิปัสสนาคือการได้รู้สภาวะจิตและกำหนดรู้ได้

“ให้หายใจลึกลึกเมื่อนึกได้” คือสภาวะของการเจริญสติ ให้ระลึกถึงการปฏิบัติสมาธิวิปัสนาอยู่เสมอ

“ให้อยู่กับความว่างที่กลางใจ” คือผลจากวิปัสสนาที่จิตกำหนดรู้ได้ถึง “ความว่าง” ซึ่งคือ “สุญตา” อันเป็นผลจากการ “รู้แจ้ง” ว่าสรรพสิ่งทั้งปวงโดยไม่ยกเว้นอะไรเลยนี้ล้วนมีอยู่ เป็นอยู่ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น

กระทั่งดับไปสิ้นไปก็ด้วยสิ้นเหตุปัจจัยอันปรุงแต่งขึ้นนั้นเอง สรรพสิ่งทั้งมวลเหล่านี้จึงมิควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวตนหรืออัตตา

สรรพสิ่งจึงเป็น “อนัตตา” โดยนัยนี้คือ “ความไม่ใช่ตน”

เมื่อเข้าใจได้ดังนี้ สภาวะเช่นวรรคท้ายก็จะเป็นดังนี้

“สะอาดใสสว่างภพสงบงาม”

 

ภาวะสะอาด สว่าง สงบ เป็นสภาวะของความหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง กิเลสทั้งหมดเมื่อจำแนกแล้วมีอยู่สามลักษณะ ดังรู้อยู่คือโลภ โกรธ หลง ท่านพุทธทาสอธิบายเพื่อเข้าใจง่ายขึ้นถึงความแตกต่างดังนี้คือ

โลภ มีลักษณะ รวบเข้ามาสู่ตัว

โกรธ มีลักษณะ ผลักออกไปจากตัว

หลง มีลักษณะ พัวพันอยู่กับตัว

ทั้งนี้ โดยมี “ตัว” เป็นที่ตั้ง

เมื่อไม่โลภ จิตก็สะอาด

เมื่อไม่โกรธ จิตก็สว่าง

เมื่อไม่หลง จิตก็สงบ

สะอาดสว่างสงบคือสภาวะของจิตที่ปราศจากกิเลส และกิเลสนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อปลอดเหตุก็ปลอดทุกข์

ปลอดทุกข์ ดับทุกข์ ก็คือสภาวะของนิพพาน

คืนแห่งการ “ตรัสรู้” คือสภาวะที่พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติธรรมเหล่านี้กระทั่งทรงบรรลุสภาวะนิพพานในขณะนั้นเอง

นิพพาน แปลว่าดับเย็น เป็นสามัญในสมัยพุทธกาลใช้เรียกสภาพดับเย็นทั้งหลายว่านิพพาน เช่น ถ่านที่ดับแล้วก็ว่ามันนิพพานแล้ว วัวถึกเถื่อนที่ฝึกจนเชื่อแล้วก็ว่ามันนิพพานแล้ว

จิตดับเย็นแล้ว ก็คือจิตนิพพานแล้ว

 

ทั้งหมดนี้เป็นสภาวะของจิตล้วนๆ ซึ่งเป็นนามธรรมอริยสัจ อันเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ นี้ก็ล้วนเป็นเรื่องการดับทุกข์ที่ “จิต” โดยตรง หาใช่ทุกข์ทางกายไม่

ดังนั้น ธรรมะในพุทธศาสนาจึงแทบจะเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ที่เป็นปรัชญาชีวิตโดยแท้

แม้คำ “พุทธะ” เอง โดยคำและโดยความก็แปลว่า “รู้ตื่น เบิกบาน” พุทธเจ้าจึงแปลว่า ผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

อยู่ด้วยธรรมโดยแท้