พระองค์เจ้าดวงจักร : เป็นกษัตริย์นั้นยาก-ต้องฟาดฟัน/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

พระองค์เจ้าดวงจักร

: เป็นกษัตริย์นั้นยาก-ต้องฟาดฟัน

 

หากอุปนิสัยเปรียะองค์มจะดวงจักรถอดละม้ายคล้ายองค์สีวัตถา (วัตถา, ไวยวัตถา) พระเจ้าอาผู้นำการต่อต้านฝรั่งเศส 1885 เพื่อปกป้องการรวบอำนาจราชสำนักของฝ่ายรัฐอินโดจีนนั้น

แต่ทันทีที่ฝรั่งเศสยอมเจรจาลดเงื่อนไข “ไม่แตะต้องกิจการภายในราชสำนัก พระบาทนโรดมก็ปรองดองโดยทันที ปล่อยให้องค์สีวัตถาโดดเดี่ยวเป็นกบฏ จนถึงแก่ชีวิตในเขตเขมรป่าดงอีก 5 ปีต่อมา (ธันวาคม 1891)

ขณะที่พระองค์เจ้าดวงจักรซึ่งถูกคุมขังข้อหากบฏลอบปลงพระชนม์พระบิดา แต่ปีถัดมาก็ทรงแหกคุกแล้วลี้ภัยไปกรุงเทพฯ (1891) ทรงพำนักอยู่ที่นี่และได้รับเงินอุปถัมภ์ชีวิตรายเดือนร่วม 2 ปีจากเจ้านายฝ่ายสยาม และนั่นหรือไม่ที่ทำให้พระองค์เจ้าดวงจักรถูกกล่าวหาว่าทำงานให้ทางการไทย

จารกรรมสายลับให้สยามราชสำนัก?

แต่ต้นเดือนพฤษภาคมนั้นเอง ดวงจักรลงเรือจากปากน้ำอ่าวสยามไปยังท่าเรือสิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางไปยุโรปโดยสารเรือเดินสมุทรชื่อนาตัล (Natal) ซึ่งเทียบท่าที่มาเซยกลางมิถุนายน ท่ามกลางการจับตามองทุกย่างก้าวของสำนักงานอินโดจีนกรุงไซ่ง่อน ซึ่งในที่สุดยอมออกค่าโดยสารตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งให้พระองค์และชายาไปปารีส

พลันข่าวเจ้าชายดวงจักร-โอรสนโรดมกษัตริย์เขมรพร้อมชายาเสด็จยุโรปครั้งแรกก็กระพือในสื่อหนังสือพิมพ์ของปารีสที่มีความสนใจประวัติประเทศตะวันออกน้อยมาก โดยเฉพาะดวงจักร เจ้าชายเขมรคนแรกที่เสด็จเยือนดินแดนนักล่านิคมโพ้นทะเล “และเรื่องอื้อฉาวที่คลุมเครือบางอย่าง” แต่มากกว่านั้นคือ ทรงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่สมพระเกียรติ

มีไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่ให้ความสำคัญต่อจุดประสงค์ของการมาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

โดยขณะประทับที่กรุงเทพฯ พระองค์เจ้าดวงจักรได้ยื่นข้อร้องเรียนต่อนายออกุส ปาวี รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสประจำสยาม กล่าวโทษต่อพฤติกรรมผู้สำเร็จราชการมณฑลกัมพูชา และเป็นที่เชื่อว่า ออกุส ปาวี หรือไม่ที่แนะนำให้ดวงจักรไปยื่นคำร้องทุกข์นี้ที่ฝรั่งเศส ด้วยข้ออ้างที่ว่า “ไม่สามารถห้ามปรามเจ้าชายไปฝรั่งเศสเพื่อประท้วงเรื่องอื้อฉาวของเจ้าหน้าที่รัฐนิคม” (*)

แน่นอนแล้วว่า ด้วยเรื่องนี้ทำให้ดวงจักรไปถึงเมืองแม่

ดวงจักรยังยอมรับโดยตรงว่ารัฐสยามให้สถานะพระองค์รับราชการ และด้วยเหตุนั้นหรือไม่ที่ให้เขาถูกกล่าวหาตามมาจากรัฐบาลอินโดจีนสำนักงานกรุงไซ่ง่อนว่าเป็นสายจารกรรมประเทศซึ่งพิพาทกับฝรั่งเศสคือสยามเวลานั้น

ความ “ฝักใฝ่ศัตรู” เมื่อโยงกรณี 112 ของสยาม-ฝรั่งเศส ดวงจักรตกที่นั่งลำบากในข้อกล่าวเดิมจาก “คำประกาศสีวัตถา” (*) กบฏแบ่งแยกอาณาจักร (1885) ก่อนหน้า และด้วยเหตุนั้นหรือไม่ที่ทำให้เขาต้องไปฝรั่งเศสเผชิญชะตากรรมเอาดาบหน้า

ไทม์ไลน์ของดวงจักรเผยให้เห็นถึงความดิ้นรนที่ยากลำบากแต่เบื้องต้น ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม สำนักกงสุลกรุงเทพฯ มีโทรเลขไปไซ่ง่อนเพื่อขออนุญาตให้ทางการที่นั่น “ออกหนังสือเดินทางฝรั่งเศส” แก่พระองค์เจ้าดวงจักร

ทว่า 20 พฤษภาคมนั้นเอง ข้าหลวงใหญ่-กรุงพนมเปญกลับแจ้งว่า “พระมหากษัตริย์กัมพูชาพระบิดาเจ้าชายดวงจักรซึ่งหมดความอดทน “ทรงปฏิเสธค่าใช้จ่ายทั้งหมดของราชสำนักและอนุญาตโอรสองค์นี้เสด็จกลับประเทศ”

สอดคล้องกับความเห็นบางประการที่ฉันเห็นว่า ประเด็นกษัตริย์ตัดขาดโอรสพระองค์ และพระองค์เจ้าดวงจักรไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระบิดาระหว่าง 4 ปีแห่งการจองจำ

หากดวงจักรได้รับจดหมายฉบับนี้ก่อน เขาคงมีเวลาไตร่ตรองมากกว่านี้ ที่จะดิ้นรนเดินหน้าสู่ตะแลงแกงแห่งความปวดร้าว เมื่อพบว่า 20 พฤษภาคมวันนั้นเองที่ดวงจักรรุดไปจากสยามและเผชิญกับชะตากรรมในต่างแดนอย่างแสนสาหัสเช่นนั้น

เพราะแม้แต่ราชสำนักกัมโพชพระบิดามาตุคามก็ปฏิเสธความช่วยเหลือ ตั้งแต่ค่าโดยสารเรือเดินสมุทรที่ทรงตัดพระทัยขายอัญมณี-สมบัติชิ้นสุดท้าย และเป็นเหตุทำให้ข้อกล่าวหาว่าพระองค์ขอให้พวกอังกฤษคุ้มครองการเดินทางเป็นข่าวลือที่จงใจให้เจ้าชายเขมรองค์นี้มีแต่ความฝักใฝ่ในศัตรู

และสุดท้ายคือการถูกลอยแพเผชิญความความตายในทะเลทรายซาฮาราของแอลจีเรีย

แม้ในที่สุดแล้ว สำนักงานกรุงไซ่ง่อนจะยอมออกตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นการณ์กลับเป็นว่า ทรงถูกหนังสือพิมพ์ตีแผ่ว่า “ทรงฟุ่มเฟือยการเงินไปกับกร็องด์โฮเต็ลโรงแรมหรูหราในกรุงปารีสถึง 900 ฟรังก์ภายในเวลาเพียง 3 วัน และทำให้นาย Le Myre de Vilers รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งรัฐนิคมถึงกับครั่นคร้ามส่งโทรเลขรายงานพนมเปญถึงนายเดลกาเซ่ (Delcass?) ว่า “เรารับผิดชอบเต็มที่แล้ว”

จริงหรือที่พระองค์เจ้าดวงจักรซึ่งขาดมิตรไมตรีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอินโดจีนกว่า 2 ปีจะสามารถเรียกร้องความเป็นวีไอพีแก่ตนเองและชายาได้เพียงนั้น

ความเอื้อเฟื้อดังกล่าวนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างเต็มใจจากทางการอินโดจีน กระนั้น เมื่อต่อมาดวงจักรและชายาถูกย้ายไปโรงแรมเรียบง่ายตรงถนนจาค็อบ (28 มิถุนายน) ซึ่งเหมือนกับพระองค์จะพอใจในความสันโดษ ดังจะเห็นว่า ไม่สนพระทัยในชีวิตยามราตรีของปารีสแม้แต่จะไปโรงละครสักครั้ง

นอกจากนี้ เพื่อหลุดพ้นปัญหาเงินที่โถมทับ เห็นได้ชัดว่าทรงถูกบีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกับขายข่าวให้หนังสือพิมพ์บางฉบับ (Mont-de-Pi?t?)

แต่โชคร้าย ราวกับคนจนตรอกที่ถูกโพนทะนากลางถนนเมื่อทรงถูกเปิดโปงความตกต่ำ เห็นได้ชัดว่ามีหนังสือพิมพ์ที่ขายตนให้ฝ่ายรัฐกับฝ่ายอิสระที่เป็นกลาง

อย่างไรก็ตาม การขุดคุ้ยชีวิตแร้นแค้นในต่างแดนของดวงจักรยังคงเป็นไปและพบว่า เจ้าชายโรมาเนีย เจ้าชายกรีกและนักเรียนชาวสยามซึ่งมีบรรดาศักดิ์คนหนึ่งคือกลุ่มคนที่ดวงจักรพบปะพูดคุย นอกเหนือจากนายเหม ล่ามและเลขานุการของทางการที่เป็นประหนึ่งเหมือนหอคอยแห่งความหวัง

ส่วนคนสุดท้ายคือ นายเอมิล เปลเลติเยร์ (Emille Pelletier) ที่เคยสอนพระองค์ในโรงเรียนกรุงพนมเปญผู้มากไปด้วยพรสวรรค์ทางการเกษตรและนักสำรวจสมัครเล่นเหมืองแร่ทองคำ

ระหว่างหนังสือพิมพ์ปารีสพากันตีพิมพ์เรื่องราวนานา อาทิ เลอ มาเต็ง (le Matin) ที่เสียดสีพระองค์ว่า “ก็แค่เจ้าชายพื้นๆ ที่ถูกตีพิมพ์เรื่องราวเสียใหญ่โต”

ส่วนลีบรอะปาโฮล (la Libre Parole) ที่บรรยายดวงจักรว่าถูกขับออกจากประเทศเพราะไม่ลงรอยกับพระบิดาและข้าหลวงใหญ่-เรสิด็องท์ ซูเปริเยร์ จึงหนีไปสยาม (30 มิถุนายน) จากนั้น เพื่อให้หลุดพ้นข้อกล่าวหาของทางการ จึงร้องเรียนกล่าวหาผู้แทนข้าหลวงใหญ่กัมพูชา นาย Huyn de Vern?ville ที่คอร์รัปชั่น หาผลประโยชน์ทั้งส่วนรัฐอินโดจีนและฝรั่งเศสในเวลาเดียวกัน (3 กรกฎาคม)

ลีบรอะปาโฮลยังตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ว่าพระองค์เจ้าดวงจักรคือเหยื่อผู้ถูกกระทำจากตัวแทนของรัฐนาย Huyn de Vern?ville (18 กรกฎาคม)

จดหมายฉบับนี้ยังลงชื่อลายมือพิสดารว่าจากชาว “ฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ” ทำให้เชื่อว่าคงมีนาย Pelletier อยู่เบื้องหลังข้อร้องเรียนนี้ที่ย้ำว่า แม้กระทั่งนาย Lanessan ผู้ว่าราชการประจำเขตอินโดจีน ยังกล่าวว่า “เป็นวิธีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อบุคคลระดับสูงซึ่งมากด้วยบารมีและเป็นที่รู้จักของผู้คน”

โดยต่อมา นาย Vern?ville ยังถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันทารุณต่อกษัตริย์นโรดมและเจ้าชายดวงจักร จนเป็นเหตุให้ต้องหนีไปกรุงบางกอก

และเพื่อแสวงหาความยุติธรรม จึงทำให้พระองค์ตัดสินใจทำบางอย่าง…นั่นคือ เปิดโปงความเลวร้ายของเจ้าหน้าที่อินโดจีนที่องค์ดวงจักรคิดว่า นี่คือศัตรูของตน ไม่ว่าจะเป็น “กรณี 1885” หรือ “ร.ศ.112” นั่น

จนเมื่อถูกเนรเทศไปแอลจีเรียแล้ว นั่นเองที่โอรสนโรดมพระองค์อาจระลึกได้ว่า ใช่แต่พวกฝรั่งเศสดอกนะที่เป็นภัยต่อพระองค์ หากแต่ใครที่มีพระราชอำนาจและสามารถกำจัดพระองค์ให้พ้นจากราชสำนัก และใครกันที่ได้รับอานิสงส์ที่พระองค์เจ้าดวงจักรจำพรากจากเขมร? ระหว่าง…

“ว่าที่ยุพราชพระองค์เจ้ายุคนธร” พระเชษฐา กับพระบาทนโรดม-สมเด็จพระบิดา?

(*) ปิแอร์ ลาม็องท์ : L’affaire Duong Chakr, pers?e.fr และ “ประเทศ” กัมพูชาของพระองค์มจะส์วัตถาและยุคนธร, ธิบดี บัวคำศรี, วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี