หลังเลนส์ในดงลึก : 3 วัน

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ผืนป่าด้านตะวันตก

กลางฤดูร้อน

สายลมแล้งพัดยอดไม้ไหวเอนลู่ แต่ดูเหมือนว่าสายลมจะนำพาลมร้อนๆ มากกว่าจะช่วยบรรเทาให้ความร้อนอบอ้าวบรรเทา

เป็นธรรมดาของฤดูแล้งในพื้นที่ป่าด้านตะวันตกโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นที่ราบมีเทือกเขาล้อมรอบ และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลราวๆ 300-400 เมตร

ต้นไม้ในป่าทิ้งใบเหลือเพียงกิ่งก้านโกร๋นๆ ระดับน้ำในลำห้วยสายหลักเหลือแค่ท่วมข้อเท้า

หาดทรายขยายกว้าง ตรงกลางเป็นสันทรายซึ่งเริ่มรก เพราะกอหญ้าแห้งๆ

ในซุ้มบังไพร มีสภาพไม่ต่างจากตู้อบ ผมเปิดไว้เพียงช่องเล็กๆ เพื่อ “แอบดู” ความเคลื่อนไหวภายนอก

ผมเฝ้ารออยู่ริมโป่งขนาดใหญ่ พื้นที่กว้างโล่งกว่าสนามฟุตบอล

บ่ายๆ วันที่ร้อนอบอ้าว เช่นนี้โป่งซึ่งเป็นโป่งน้ำมีความคึกคักตลอดวัน

เช้าๆ มีกวาง และเก้ง หลังเที่ยงเป็นเวลาของฝูงวัวแดง พวกตัวเล็กๆ และตัวเมียลงมาก่อน สักพักเจ้าตัวผู้ร่างกำยำผิวสีคล้ำจึงตามลงมา

ฝูงวัวแดง ยังอ้อยอิ่งอยู่ช้างโทนก็เข้ามาแล้วนั่นหมายความว่าวัวแดงต้องขยับๆ ให้ช้างได้ใช้ตรงหลุมเล็กๆ ที่มีน้ำซึ่งคงเป็นจุดที่ดีที่สุด

จากตำแหน่งที่พวกมันอยู่และซุ้มบังไพร ระยะไม่ใกล้นัก

กระนั้นก็เถอะเมื่อลมเปลี่ยนทิศทาง พวกมันก็สัมผัสได้ว่ามีคนอยู่ไม่ไกล

ช้างเงยหน้าจ้องมองเดินวนเวียน วัวแดงทั้งฝูงเงยหน้าเชิดจมูกสูดกลิ่น หันมองไป-มา ผมรูดซิปปิดช่องที่เอาเลนส์เทเลโพโตลอดผ่านออกไป

ปิดซุ้มบังไพรทุกช่องเพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นกายลอยออกไปมาอีกทั้งขี้ช้างผมเอาผสมน้ำและเทราดรอบๆ ช่วยบรรเทากลิ่นกายได้บ้าง กระนั้นก็ไม่รอดพ้นจากประสาทสัมผัสของชีวิตที่อยู่ตรงหน้า

พวกมันทำท่าชะงักระมัดระวังตัวอยู่ สักพักก็คลายความกังวล กระแสลมน่าจะเปลี่ยนทิศทาง

วัวแดงใช้เวลากินน้ำในโป่งนั้นอีกร่วมๆ 40 นาที จึงค่อยๆ เดินกลับเข้าด่าน เส้นทางเดียวกับที่ออกมา

ช้างก็เช่นกัน มันเดินหันหลังเข้าไปทางด่าน ด้านทิศใต้

ก่อน 6 โมงเย็น วัวแดงตัวผู้อีกตัวแวะเข้ามามันรีบกินรีบไป

ผมออกจากซุ้มบังไพร เกือบ 2 ทุ่ม เดินกลับแคมป์ที่อยู่ห่างออกไปราวๆ 2 กิโลเมตร

เนิ่นนานมากแล้วที่ผมได้ยินชื่อ และรับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของโป่งขนาดใหญ่แห่งนี้

ความชุกชุมของเหล่าสัตว์ป่าเป็นที่บอกเล่าต่อๆ กันมา

ถึงวันนี้สถานการณ์ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

แม้ว่าเมื่อ 3 ปีก่อนผมเคยมาที่นี่

และพบกับเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรม”

 

ชุดตั้งกล้องดักถ่ายเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่งจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำนำโดย เกริกพล พบกับกลุ่มชายฉกรรจ์หลายคน บนด่าน ที่พวกเขากำลังเดินกลับแคมป์ ชายกลุ่มนั้นไม่เพียงมีอาวุธปืนครบมือ แต่พวกเขายังมีซากเก้งตัวหนึ่งหอบหิ้วมาด้วย

ก่อนหน้าราวๆ 2 ชั่วโมง เกริกพล พบซากกวางผูกไว้กับต้นไม้ริมด่าน

ซากไม่มีแมลงวันตอม เกริกพลรู้ว่านี่เป็นผลงานของพวกล่าเสือ พวกเขาจะยิงสัตว์กินพืช แล้วเอายาฆ่าแมลงชโลมซากไว้ เพื่อล่อให้เสือมากิน

โดยปกติเสือจะไม่กินเหยื่อที่พวกมันไม่ได้ล่าเอง นอกจากในกรณีที่มีลูกๆ

ร่วมๆ 20 ปีก่อนมีการใช้วิธีนี้ในผืนป่าห้วยขาแข้ง

ไม่มีเสือตัวไหนมากิน แต่ผู้ที่มากินคือแร้งฝูงหนึ่ง นั่นทำให้แร้งฝูงนั้นตายทั้งหมด

และมันคือแร้งฝูงสุดท้ายที่มีอยู่ในประเทศไทย

 

ผมร่วมมากับทีมของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อตรวจสอบ เราใช้เวลาเดินร่วม 6 ชั่วโมง จากหน่วยพิทักษ์ป่าซากอยู่ไม่ไกลจากโป่งขนาดใหญ่

โป่งที่เป็นที่เล่าขานตลอดมาถึงความเป็นแหล่งอาหารที่สัตว์ป่ามากมายใช้เป็นประจำ

หลังจากนั้นมีการนำข้อมูลต่างๆ ไปตรวจสอบ

หลังจากได้รับงบประมาณสำหรับสร้างหน่วยพิทักษ์ป่า เพิ่มเติมทางเขตตัดสินใจขยับตำแหน่งหน่วยพิทักษ์ป่าเข้ามาให้ใกล้โป่งใหญ่แห่งนี้มากขึ้น

ผ่านไป 3 ปี ผมกลับมาที่นี่ พบกับความชุกชุมของสัตว์ป่าเช่นเดิม

“ปัจจัยคุกคามบริเวณนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยครับ” ก่อนมาผมสนทนากับเพิ่มศักดิ์ ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ระหว่างป่าทุ่งใหญ่และป่าห้วยขาแข้งพวกเขาทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเสมอ

พื้นที่อันอยู่ห่างไกลเมื่อมีการลาดตระเวนเพิ่มอย่างเอาจริง ชีวิตของสัตว์ป่าก็คล้ายจะปลอดภัยขึ้น

 

“คงใช้เวลาสัก 3 วันครับ ไปเรื่อยๆ ไม่รีบทำงานไปด้วย”

อุไร ในฐานะหัวหน้าชุดลาดตระเวนจากหน่วยพิทักษ์ป่ากะแง่สอด หน่วยพิทักษ์ป่าหน่วยหนึ่งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก พูดขณะเรากำลังดูแผนที่

หลายวันก่อนเราใช้เวลา 2 วันเดินจากป่าทุ่งใหญ่มาถึงนี่

ในขากลับ เราเลือกใช้อีกเส้นทาง

“อาจต้องพักเร็วด้วย เพราะช่วงนี้ห้วยเล็กๆ ไม่มีน้ำ ถ้าเดินทั้งวันตอนเย็นอาจมีปัญหา” อุไรให้ความเห็น

ว่าความจริงช่วงเวลากว่าปีที่ผมทำงานในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ผมค่อนข้างสนิทสนมกับอุไร และชุดม้าศึกของเขา

มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือ ในระหว่างทำงานกับช่วงเวลาอยู่ที่หน่วย” พวกเขาต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ขณะอยู่ในป่าผมไม่เห็นชายหนุ่มผู้ชอบเล่นชอบสนุก

พวกเขาเคร่งเครียดจริงจัง ในแคมป์มีเพียงไฟกองเล็กๆ เพื่อหุงข้าวก่อนแยกย้ายขึ้นเปลในมุมมืด เฝ้าฟังเสียง

การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทำให้เวลาเดินพวกเขาต้องละเอียดสังเกตร่องรอยทุกอย่าง

อุไร และลูกชุดผ่านการอบรมมาหลายครั้ง

ถึงวันที่ “เทคนิค” การล่าสัตว์พัฒนาไปไกล

“เทคนิค” รวมถึงทักษะของคนผู้ทำหน้าที่ปกป้องชีวิตสัตว์ป่าก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน

 

ระหว่างหยุดพัก ผมแขวนกล้องไว้กับปืนที่พวกเขาใช้ และมอง

ในงานเก่าๆ ชิ้นหนึ่งผมเคยคิดว่า ปืนเป็นเครื่องหมายของการทำลายล้าง และกล้องคือเครื่องหมายแห่งการมีชีวิต

เวลา 3 วัน ไม่เพียงแต่จะทำให้ผมเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า กล้องหรือปืนเป็นแค่เครื่องมือ

ขึ้นอยู่กับคนถือว่าจะใช้มันอย่างไร

เวลา 3 วันตอกย้ำเวลากว่า 20 ปี

ผมมั่นใจยิ่งขึ้นว่า

คิดไม่ผิด ในสิ่งที่เลือกถือ