วิรัตน์ แสงทองคำ / กัลฟ์ (3) ขยายพรมแดนธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

กัลฟ์ (3) ขยายพรมแดนธุรกิจ

 

ว่าด้วยจังหวะ โอกาสใหม่ๆ สร้างและขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างกระชับกระชั้น

กรณีกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี (Gulf Energy) กับสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นบทเรียนและแบบฉบับหนึ่งพึงเป็นกรณีศึกษา

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ถือฤกษ์เข้าซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (6 ธันวาคม 2560) เชื่อมโยงบริบทสำคัญสังคมไทยที่เชื่อว่าเอื้ออำนวย

ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลสำคัญ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เมษายน 2560) เปิดช่องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในไม่ช้า และหลังพระราชพิธีสำคัญ (พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 25-29 ตุลาคม 2560)

“GULF เป็น holding company ที่ลงทุนในกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็น ปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 17 โครงการ แยกเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 13 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 1,963.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนา ซึ่งเมื่อโครงการทั้งหมดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ทั้ง 28 โครงการแล้ว GULF จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,329.2 เมกะวัตต์” ข่าวสารจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำเสนอภาพ GULF ไว้อย่างน่าสนใจ ในฐานะ “หนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ของไทย” (4 ธันวาคม 2560)

ภาพนั้นโดดเด่นขึ้นทันที GULF สร้างสถิติใหม่ ด้วยมีมูลค่าหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก) ที่สูงสุดที่สุดในรอบ 11 ปี มีมูลค่าเกือบ 2.4 หมื่นล้านบาท

บทบาทที่เป็นจริงในตลาดหุ้นใช้เวลาบ้าง จากค่อยๆ ตั้งหลัก ผ่านไปราวหนึ่งปี (ปลายปี 2561) มีฐานะสำคัญอย่างน่าสนใจขึ้น โดยเฉพาะราคาหุ้น GULF ได้พุ่งแรงขึ้นสวนกระแสทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบทั้งดัชนีหุ้นโดยรวมและดัชนีรายอุตสาหกรรม (พิจารณาและอ้างอิงราคาหลักทรัพย์ในหมวดพลังงานด้วยกัน)

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ “หุ้นขาใหญ่” ซึ่งทยอยเข้าตลาดหุ้นตามหลังมา GULF ทำได้ดีกว่ามาก ไม่ว่าหุ้นที่มาธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ อย่าง บริษัท โอสถสภา จำกัด (เข้าตลาดหุ้น 17 ตุลาคม 2561) บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด ของตระกูลภิรมย์ภักดี (12 พฤศจิกายน 2562) หรือกิจการในเครือธุรกิจใหญ่-บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (10 ตุลาคม 2562)

มีสิ่งที่น่าพิจารณา ทั้งปัจจัยพื้นฐานที่ว่ากัน เรื่องราวซึ่งสัมพันธ์กับบางสิ่งบางอย่าง

 

ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการลงทุนใหม่ โครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก GULF ดำเนินแนวทางธุรกิจหลักอันมั่นคง-ธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างที่ว่าไว้ เกี่ยวกับดัชนีหนึ่ง ตอนเข้าตลาดหุ้นปี 2560 GULF มีถึง 17 โครงการ “กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน 1,963.5 เมกะวัตต์” จากนั้นเพียง 7 ปี (2567) จะเพิ่มเป็น 28 โครงการ คาดว่า “จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 6,329.2 เมกะวัตต์”

ล่าสุดปรากฏว่าแผนการดำเนินไปดีกว่าที่คาดไว้ (พิจารณาจาก Gulf Energy Development Public Company Limited Company Presentation, April 2021) ข้อมูลอัพเดตแสดงเป็นกราฟไว้อย่างตื่นตา

ข้อมูลปัจจุบัน (2564) มี “กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน 2,959 เมกะวัตต์”

โดยคาด (ใหม่) ว่าในปี 2567 จะมี “กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน 7,328 เมกะวัตต์” มากกว่าเดิมที่วางแผนไว้เสียอีก

ว่ากันว่าสะท้อนบางมิติที่ว่าด้วยสายสัมพันธ์มั่นคง เนื่องด้วยเป็นธุรกิจต้องพึ่งพิงความสัมพันธ์กับรัฐและอำนาจทางการเมืองมากเป็นพิเศษด้วย

GULF มีคู่ค้าสำคัญคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ในสัดส่วนรายได้เฉพาะที่มาจาก กฟผ.มากถึง 90% (2564) และคาดว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีกเป็น 95% (2570)

 

เวลาเดียวกัน เรื่องราว สารัชถ์ รัตนาวะดี แห่ง GULF ได้จุดพลุขึ้น เมื่อเขา “ครองแชมป์เศรษฐีหุ้นไทยต่อเป็นสมัยที่ 2 (2562-2563)” จากการจัดอันดับของวารสารการเงินธนาคาร ที่สำคัญเขาได้เข้าทำเนียบ Thailand’s 50 Richest จัดโดย Forbes มาตั้งแต่ปี 2561

เชื่อว่า GULF และสารัชถ์ รัตนาวะดี กับแผนการใหม่ๆ ที่แตกต่างเกิดขึ้นตั้งแต่เข้าตลาดหุ้น คงไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจเพียงด้านเดียวที่เชื่อกันว่าปัจจัยสำคัญด้วยสายสัมพันธ์อันมั่นคง หากมีแรงบีบคั้น มีความเสี่ยงซึ่งถือเป็นเหรียญอีกด้านของความมั่นคงที่ว่านั้นด้วย

ทั้งนี้ สารัชถ์ รัตนาวะดี แห่ง GULF มีมุมมองและแผนการทางธุรกิจในความพยายามเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ไปตามเส้นทางสายเดิมเพื่อไปสู่ทางแยก ที่มีทางเลือก มีโอกาส และกระจายความเสี่ยง

ว่าด้วยธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการ ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ และความเข้าใจเทคโนโลยี จากประสบการณ์ในประเทศที่เป็นไปด้วยดี สู่ความพยายามก้าวสู่ต่างประเทศอย่างเป็นจังหวะ เป็นที่มาของโครงการใหม่ “GULF ถือหุ้นโดยตรงในโซลาร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในประเทศเวียดนาม” (2561) และ “GULF เข้าถือหุ้น 50% ในโครงการ Borkum Riffgrund II ในประเทศเยอรมนี” (2563)

อีกด้านหนึ่งโครงการในต่างประเทศข้างต้นถือเป็นแนวทางซึ่งขยับขยาย ขับเคลื่อน เชื่อมโยง ด้วยทิศทางและแนวโน้มใหม่ของธุรกิจพลังงาน จากธุรกิจไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติไปสู่พลังงานหมุนเวียน และอื่นๆ

รวมทั้งเชื่อมโยงและขยายนิยามแนวทางธุรกิจให้กว้างขึ้น ในฐานะ “โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค” เป็นจังหวะก้าวใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างกระชั้น ประหนึ่งโอกาสที่เปิดขึ้นมีช่องอันจำกัด

“ในปี 2562 เริ่มลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค…การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG… การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษาท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์…โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (บางตอน) …บางส่วนงานโครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี…” (ตัดทอนและเรียบเรียงข้อมูลซึ่ง GULF เสนอไว้)

“แนวทางธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค” ที่ว่าที่สามารถเดินหน้าไปได้ เชื่อกันว่ามีปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อย มาจากสายสัมพันธ์กับรัฐและอำนาจทางการเมือง เป็นแผนการใหม่ที่มีความต่อเนื่องจากประสบการณ์เดิมอีกด้าน

 

แล้วมาถึงกรณี GULF กับแผนการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (tender offer) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH (ข้อมูลเบื้องต้นนำเสนอไว้ในตอนแรก กัลฟ์ (1) จุดเริ่มต้น และรอยต่อ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 เมษายน-6 พฤษภาคม 2564)

เชื่อว่าเป็นดีลที่มีความพยายามเชื่อมโยงหลายสิ่งหลายอย่างเป็นองค์รวม ทั้งมาจากประสบการณ์ สายสัมพันธ์ แรงกดดัน และการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ

กรณีข้างต้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะแสวงหาความรู้ ความร่วมมือและบทเรียนจากพันธมิตรธุรกิจรายใหม่ ขณะขยายจินตนาการ “ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค” ให้กว้างขึ้น ไปสู่สิ่งใหม่ที่เรียกว่า Digital Infrastructure

อีกด้านหนึ่งเมื่อถึงปลายทางจะบรรลุแผนกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจขั้นสำคัญ จากฐานรายได้ตามโครงการ ตามพันธสัญญา กับคู่ค้าน้อยรายมากๆ สู่รายได้ที่มาจากระบบฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก

อีกข้อหนึ่งกรณี INTUCH เกี่ยวข้องกับระบบสัมปทานของรัฐ การเข้าสู่ธุรกิจที่แตกต่างที่ว่า จำต้องอาศัยสายสัมพันธ์เชิงขยาย เชื่อกันว่าเวลานี้มีความเป็นไปได้