หลังเลนส์ในดงลึก/”หนึ่งนาที”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“หนึ่งนาที”

มีคนหลายคนถามผมว่า

ด้วยความที่คุ้นเคยกับการใช้ฟิล์มในการทำงานมาเนิ่นนาน

ถึงวันนี้ โลกเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว มีข้อดีเกิดขึ้นไหม เมื่อผมต้องใช้กล้องดิจิตอล หรือทำงานในยุคที่เทคโนโลยีซึ่งเกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ พัฒนาไปไกล มีอุปกรณ์มากมายตอบสนอง มุมภาพต่างๆ ที่เราต้องการ หลายอย่าง อุปกรณ์ทำแทนได้ โดยเราทำหน้าที่บังคับ หรือเพียงติดตั้งไว้ให้ทำงานแทนได้

แน่นอน เครื่องมือและอุปกรณ์ใหม่ๆ ช่วยให้ได้งานอย่างที่ตั้งใจ

ตัวอย่างง่ายๆ

ผมสามารถใช้เวลาในซุ้มบังไพรได้ยาวขึ้น แทนที่จะต้องเก็บของกลับแคมป์ตอนหกโมงครึ่ง เพราะดวงอาทิตย์ลับสันเขา แสงหมด

ผมยืดเวลาออกไปได้อีก เพราะกล้องทำงานในสภาพแสงน้อยๆ ได้

หกโมงครึ่งเป็นต้นไป มักเป็นเวลาที่สัตว์ป่าเริ่มออกมา

กระทิง วัวแดง หรือช้าง พวกมันอาจออกมากินน้ำหรือแร่ธาตุในโป่ง ตั้งแต่บ่ายๆ บ้าง

แต่อีกหลายชนิด ก็เลือกที่จะออกมาตอนที่ฟ้ามืดแล้ว

ภาพมุมสูง เมื่อก่อนการจะได้ภาพดีๆ คือใช้เฮลิคอปเตอร์

ถึงวันนี้ โดรน คืออุปกรณ์อันทำให้ภาพจากมุมสูงทำได้ง่ายมากขึ้น

ครั้งหนึ่งในการทำงาน เพื่อถ่ายรูปพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาศัยอยู่ในทะเล ในวันที่โดรนยังมาไม่ถึง

ผมใช้เครื่องมือเป็นพารามอเตอร์

เป็นวันที่ไม่เพียงจะเสียทั้งกล้องและเลนส์

แต่มันยังเป็นวันที่ผมพบว่า เวลา “หนึ่งนาที” มีความหมายเพียงไร

“ปกติร่มจะช่วยพยุงให้เครื่องค่อยๆ ร่อนลง ถ้าเครื่องมีปัญหา” สุวิทย์ หนึ่งในผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งกำลังศึกษาเรื่องพะยูน บอก เขาเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ของเขตห้ามล่า หมู่เกาะลิบง

“แต่เราขึ้นสองคนแบบนี้ ถ้าเครื่องดับ เราจะมีเวลาแค่หนึ่งนาที”

เขาพูดยิ้มๆ

เราขึ้นจากชายหาดหน้าที่ทำการเขตห้ามล่า หมู่เกาะลิบง ราว 7 โมง

เป็นเช้าที่อากาศแจ่มใส แสงอาทิตย์สีทองสาดส่องสะท้อนสันทรายที่เป็นรอยหยักเป็นเส้นเล็กๆ ระยิบระยับ

น้ำกำลังขึ้น กระนั้นหาดทรายก็ยังดูเป็นแนวกว้าง

ผมเข้าใจความรู้สึกของนก เมื่อเท้าลอยพ้นพื้น

ลอยสูงขึ้น ด้วยพาหนะที่ไร้สิ่งห่อหุ้มร่างกาย แหวกไปในอากาศ สายลมปะทะใบหน้า

เห็นแนวป่าโกงกาง เรื่อยไปถึงป่าทึบบนภูเขา

ระลอกคลื่นไล่ตามกันเป็นริ้วๆ เรือหลายลำมีคนกำลังสาละวนอยู่กับการกู้ลอบดักปู เห็นแค่ลำเล็กๆ

นี่คงเป็นภาพอันไม่ต่างจากที่นกสักตัวมองเห็น

“เป็นอย่างไรบ้าง” เสียงสุวิทย์ถามมาจากด้านหลัง

ผมยกมือขวาชูนิ้วโป้ง โดยไม่หันหน้ากลับไป

วันที่ผมตามหาพะยูน อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

ชีวิตของพวกมันยังคงเป็นปริศนา

กระนั้นก็เถอะ พะยูนไม่ใช่สัตว์แปลกหน้าของคนทะเล

ทางภาคตะวันออก เรียกว่า “หมูคุค” หรือ “ปลาหมู”

ทางใต้เรียกว่า “ดุหยง” คนทะเลในมาเลเชียก็เรียกเหมือนกัน

ว่าไปแล้ว อาจเป็นพะยูนนี่เอง ที่ทำให้คนจินตนาการถึง “นางเงือก”

พวกมันไม่ใช่ปลา เคยอยู่บนบกเมื่อกว่า 60 ล้านปีก่อน

เมื่อต้องมาอยู่ในทะเลก็มีวิวัฒนาการให้มีรูปร่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

พะยูนที่โตเต็มวัย จะยาวราว 3 เมตร รูปร่างคล้ายกระสวยเช่นเดียวกับโลมา ปากพะยูนค่อนข้างใหญ่ มีขนแข็งๆ ตัวผู้มีเขี้ยวยาวจากด้านบนสองอัน

“ในสมัยก่อน เขาหาเขี้ยวพะยูนมาไว้กับตัว เพราะเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังใช้ป้องกันตัวได้” บังแอ หรือ ยะโกบ จิเหลา คนงานเขตห้ามล่า เกิดบนเกาะนี้ เล่าตำนาน

“แต่ที่เด็ดกว่าคือ เขาว่า น้ำตาพะยูน นี่คือน้ำเสน่ห์ หนุ่มๆ คนไหนมี สาวๆ รุมตอมตลอดล่ะ” บังแอ เล่า

“ลุงหยีนุ้ย นั่นก็คุยว่าที่ได้เมียเป็นนางเอกโนรา ก็เพราะน้ำตาพะยูนนี่แหละ” บังแอ อ้างหลักฐาน

การได้มาซึ่งน้ำตาพะยูน ไม่ยาก ถ้าจับพะยูนมาได้ ก็เอาไม้เรียวเฆี่ยน พะยูนมันเจ็บ ร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะเฆี่ยน ก็ว่าคาถาไปเรื่อยๆ” บังแอ พูด ยิ้มๆ

“ผมว่า เชื่อตามๆ กันมา ไม่ได้ผลอะไรหรอก เคยทดลอง นอกจากไม่ได้เรื่องแล้ว ยังโดนสาวด่าซ้ำอีก” บังแอ เล่าหน้าตาเฉย ใบหน้าครึ้มด้วยหนวดเครา

อย่างไรก็ตาม น้ำตาพะยูนขวดเล็กๆ ก็ซื้อขายกันในราคาแพง

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่สัตว์ป่าจะถูกเชื่อว่ามี “สรรพคุณ” เช่นนี้

และเป็น “ความเชื่อ” ผิดๆ อันเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งทำให้พวกมันหลายชนิดตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธ6N นอกจากปัจจัยหลักๆ คือถิ่นอาศัยถูกบุกรุก

พารามอเตอร์ เป็นเครื่องมือที่ดีในการสำรวจหาพะยูน

“ทุกๆ ห้านาที พะยูนจะขึ้นผิวน้ำเพื่อหายใจ ตอนนั้นเราจะเห็นมันชัด” สุวิทย์ มีประสบการณ์

เราบินมาราว 40 นาที

พะยูน 2 ตัวโผล่ขึ้นมาหายใจ ทั้งคู่ว่ายขนานไปกับชายฝั่ง

ชีวิตของพวกมันพึ่งพาแนวหญ้าทะเลที่ขึ้นตามชายฝั่ง เมื่อหญ้าทะเลถูกทำลาย พวกมันก็ได้รับผลกระทบ

ขาคู่หน้าของพะยูนเหมาะกับการคลานไปบนพื้นเพื่อกินหญ้าทะเล ตอนว่ายน้ำและต้องการเปลี่ยนทิศทาง ขาคู่นี้ก็ทำหน้าที่คล้ายพายชั้นดี

ดูเผินๆ พะยูนมีรูปร่างคล้ายโลมา

แต่สัตว์ที่มีลักษณะทางสายวิวัฒนาการคล้ายพะยูนมากที่สุด กลับกลายเป็นช้าง

“ช้างกับพะยูนคล้ายกันนะครับ” สุวิทย์ พบพะยูนบ่อยเขาสังเกต

“เต้านมช้างกับพะยูนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันคือแถวรักแร้ แต่เต้านมโลมาอยู่ค่อนมาทางด้านหลัง แบบเดียวกับวัว” เป็นข้อสังเกตที่ดีทีเดียว

แม้ว่าพะยูนจะพบปัญหาในช่วงเวลาหนึ่ง

ในวันที่ผมไปตามหาพะยูน สถานการณ์ของพวกมันดีขึ้น คนในแถบทะเลตรัง รักพะยูน พวกเขาเลิกใช้อวนรุน อันเป็นวิธีซึ่งไม่เพียงสัตว์เล็กสัตว์น้อยจะสิ้นสูญ หญ้าทะเลก็ได้รับผลกระทบ

หญ้าทะเลได้รับการดูแล ไม่จับพะยูน

ระหว่างคนกับพะยูน มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน

สภาพอากาศสดใส ระลอกคลื่นไล่ตามกันเป็นริ้วๆ พะยูน 2 ตัวว่ายขนานไปกับชายฝั่ง จู่ๆ เสียงเครื่องยนต์เงียบสนิท

เรามีเวลาหนึ่งนาที ก่อนร่วงลงถึงน้ำ

คล้ายจะเป็นหนึ่งนาทีอันยาวนาน แม้ว่าผืนน้ำจะใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็วก็ตาม

ในความเป็นจริง มันเป็นเวลาที่สั้นมาก

สั้นเสียจนผมทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าปลดสายล็อก สายรัดที่หน้าอกและขา

ไม่มีเวลาเก็บกล้องเข้าถุงกันน้ำด้วยซ้ำ

ผมกับสุวิทย์ลอยคออยู่ในน้ำกว่า 10 นาที เรือประมงที่อยู่ใกล้รีบเข้ามาช่วย

ผมช่วยดันสุวิทย์ขึ้นเรือ เขารับกล้องผม

ทั้งกล้องและเลนส์ชุ่มโชก มันแช่น้ำทะเลนานเกินกว่าจะซ่อมแซมได้

ขณะลอยคอ เราประคองกันไว้

ผมนึกถึงพะยูนที่ว่ายน้ำขนานกับชายฝั่ง

ทุกๆ ห้านาที มันจะขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ

เป็น 5 นาทีที่สำคัญของมัน

เครื่องมืออย่างพารามอเตอร์ ผมใช้เวลาไม่นานเพื่อเรียนรู้ ใช้เป็นพาหนะขึ้นเหนือพื้นน้ำ บันทึกภาพพะยูน

ถึงที่สุด ผมได้ภาพพะยูนจำนวนหนึ่ง ทุกภาพมีคราบน้ำทะเล

วันนั้น พูดได้ว่า ผมล้มเหลวในงานภาพ

แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รู้และจำได้เสมอ

คือ การขึ้นสู่เบื้องบนคล้ายจะง่ายดายมาก

เมื่อเทียบกับความยุ่งยากที่รออยู่ในตอนลง…