วัคซีนกับจริยศาสตร์ของความเชื่อ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

พิพัฒน์ สุยะ

ภาควิชาปรัชญา

คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

วัคซีนกับจริยศาสตร์ของความเชื่อ

 

อย่างที่หลายคนทราบกันดีถึงสถานการณ์การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาลว่ากำลังตกอยู่ในวัฏจักรเลวร้าย (vicious circle) หรือที่เราเรียกกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘วงจรอุบาทว์’

กล่าวคือ ในห้วงยามเช่นนี้ส่วนใหญ่เราก็คงเห็นตรงกันว่าวัคซีนเป็นทางออกที่เร่งด่วนที่สุดที่จะสามารถคลี่คลายการแพร่ระบาดของโรคได้

แต่การณ์กลับตาลปัตรจากการบริหารของรัฐบาล ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือในการบริหารจัดการและคุณภาพของการฉีดวัคซีน

เมื่อผู้คนไม่ไว้วางใจหรือสงสัยในประสิทธิภาพหรือผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน จากข่าวของทั้งในและนอกประเทศมีมาให้เห็นเรื่อยๆ ประชาชนก็หลีกเลี่ยงที่จะฉีดวัคซีน

หรือคนที่มั่นใจว่าตัวเองพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจที่จะฉีดวัคซีน ก็ไม่ได้ฉีดเนื่องจากจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอหรือล่าช้าก็ตาม

เมื่อประชาชนไม่ได้รับวัคซีน โรคก็กระจายแพร่ระบาดก่อคลัสเตอร์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลก็ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด แต่ผู้คนก็ยังลังเลสงสัยไม่กล้าตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน

เรื่องก็วนเวียนอยู่อย่างนี้นั่นเอง

 

จากวงจรดังกล่าวนำเราไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมไทยจนจะกลายเป็นลัทธิฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนกันอยู่แล้ว

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ย่อมมีที่มาที่ไปว่าเหตุใดทำไมประชาชนบางส่วนถึงไม่ไว้วางใจการฉีดวัคซีน

หากเรามองย้อนกลับไป อย่างแรกสุดเลย ข้อมูลจากรัฐบาลไม่เคยตรงไปตรงมาในเรื่องของวัคซีน

นี่ไม่ต้องพูดถึงข้อมูลเบื้องหลัง การตกลงผลประโยชน์อะไรกันมากมาย

พิจารณาเฉพาะข้อมูลและมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำเสนอต่อประชาชนก็จะพบว่าไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ประชาชนจะไม่ไว้วางใจ

ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นด้วยการประกาศว่าวัคซีนจะมาช้าหรือมาเร็วแทบไม่มีผลอะไรกับคนไทย

ต่อมาด้วยการจัดหาวัคซีนที่จำกัดเพียงแค่สองบริษัทเท่านั้น

หรือการออกมาเผยความจริงของประธานบริษัทวัคซีนต่างๆ ว่าเคยเสนอมายังรัฐบาลไทยแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ ตลอดจนวัคซีนล่าช้าและจำนวนไม่เพียงพอสำหรับประชาชน

 

อย่างที่สองคือหมอ โดยปกติ อาชีพหมอในสังคมไทยทุกท่านก็คงรู้ดีว่าเป็นวิชาชีพที่คนไทยเชื่อถือเป็นอันดับต้นๆ อยู่แล้ว

แต่กรณีวัคซีนครั้งนี้ ค่อนข้างจะต่างออกไป

เพราะหมอบางส่วนไม่ได้ให้ข้อมูลตามหลักวิชาการทางการแพทย์อย่างตรงไปตรงมา

แต่เป็นความเห็นทางการแพทย์ที่ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยคำสั่งทางการเมือง

เช่น หมอบางคนถึงขั้นออกมาบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดผลข้างเคียงกับคนที่รับวัคซีนนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากวัคซีน แต่มาจากกระบวนการฉีดวัคซีน อันนี้เป็นความรู้จากการวิจัยผ่านวิธีการทางวิทยาศาสตร์หรือเพียงแค่ความคิดเห็นของหมอท่านนั้น

หรือหมออีกคนบอกว่า วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เราได้รับฉีดให้เร็วที่สุด ไม่เกี่ยวกับวัคซีนว่าเป็นของบริษัทไหน

ถ้าหมอท่านนั้นติดตามข่าวทั่วไป ที่ประชาชนหรือใครๆ ก็รู้ว่า หลายประเทศในยุโรปสั่งยกเลิกใช้วัคซีนบางยี่ห้อไปแล้ว

หรือวัคซีนของบางบริษัทยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก

แต่องค์การอาหารและยา หรือ อย.ของไทยก็รับรองเรียบร้อย

แต่ส่วนของวัคซีนที่ได้มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ อย.ไทยยังไม่ให้ผ่านเสียที ฯลฯ

เหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวลนำไปสู่คำถามที่เกิดขึ้นมากมายในความคิดของประชาชน

ซึ่งเมื่อข้อมูลขัดแย้งกันเองเช่นนี้ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวก็ย่อมลดลงไปเป็นเรื่องปกติ

มากไปกว่านั้น ต่อจากนี้ไป ทุกความเห็นไม่ว่ามาจากเจ้าหน้าที่ทางการหรือจากหมอคนใดก็ตาม ประชาชนจะถือว่าเป็นเพียงความเห็นหรือความเชื่อๆ หนึ่งที่ไม่ได้แตกต่างจากความเชื่ออย่างอื่น

เพราะฉะนั้น วิวาทะเรื่องฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจเลือกว่าจะเชื่อความเห็นของใครดีนั่นเอง

William K. Clifford : 1845-1879

ในทางปรัชญาเมื่อเราพูดถึงเรื่องความเชื่อว่าเมื่อไหร่เราถึงควรเชื่อความคิดอย่างหนึ่งมากกว่าอีกความคิดหนึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการถกเถียงในเรื่องจริยศาสตร์ของความเชื่อ (ethics of beliefs)

โดยปกติเมื่อเราพูดถึงความเชื่อ เราก็มักจะเชื่อตามกันว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่ออะไรก็ได้ หากความเชื่อนั้นไม่ละเมิดคนอื่น

แต่มีนักปรัชญาบางคนไม่ได้เชื่อเช่นนั้น เขาคิดว่า คนเราควรที่จะเลือกตัดสินใจที่จะเชื่อความคิดความเห็นบางอย่างมากกว่าความคิดอื่นๆ หากมันมีหลักฐานที่เพียงพอที่ทำให้เราตัดสินใจเชื่อเช่นนั้น

นักปรัชญาคนดังกล่าวก็คือ วิลเลียม คลิฟฟอร์ด (William K. Clifford : 1845-1879)

ตามทัศนะของคลิฟฟอร์ดในบทความเรื่อง “The Ethics of Belief” (1877) เขาเห็นว่าเรามีหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ที่จะเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เพราะว่าความเชื่อของเราส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ

เขาได้เสนอหลักการขึ้นมาว่า “มันผิดเสมอ ผิดในทุกที่ สำหรับใครก็ตามที่เชื่อสิ่งต่างๆ จากหลักฐานที่ไม่เพียงพอ”

โดยเขายกตัวอย่างขึ้นมาจากเรื่องเล่าที่ว่า เจ้าของเรือคนหนึ่งกำลังจะปล่อยเรือขนผู้อพยพลงทะเล เขารู้ว่าเรือลำนี้ของเขาเก่าและสร้างไม่ค่อยดีนักตั้งแต่แรก แต่เรือลำนี้ก็ผ่านร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำมาแล้ว แม้ว่าต้องซ่อมอยู่บ่อยครั้งก็ตาม เจ้าของเรือลำนี้ก็ครุ่นคิดอย่างหนักว่าจะใช้เรือลำนี้ขนผู้อพยพในครั้งนี้หรือไม่

อีกใจหนึ่งก็บอกว่าเรือลำนี้ผ่านพายุมาได้ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และเขาก็เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ครั้งนี้เรือของเขาก็จะต้องรอดปลอดภัยเหมือนทุกครั้ง

สุดท้ายเขาก็ยอมให้เรือลำนี้แล่นออกสู่ทะเล

และในที่สุดเรือลำนี้ก็จม แม้ว่าเจ้าของเรือจะได้รับเงินประกันภัยชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ซึ่งดูเหมือนเจ้าของเรือก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรมากมายนัก

แต่คลิฟฟอร์ดเห็นว่าสิ่งที่เราควรเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของเรือคือการที่เจ้าของเรือไม่สนใจต่อหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่และล้วนเกี่ยวข้องที่สามารถระบุชี้ได้ว่าไม่ควรนำเรือออกไป

หรือหากจะนำออกไปก็ควรตรวจสอบและซ่อมแซมเรือลำดังกล่าวเสีย

ส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่าเจ้าของเรือนั้นผิดที่ตัดสินใจทำเช่นนั้น แต่เอาเข้าจริง ความผิดจริงๆ คืออะไร

ความผิดคงไม่ได้ขึ้นกับข้อเท็จจริงที่ว่า เรือลำนั้นจมและต่อให้เรือลำนี้สุดท้ายปลอดภัยก็ตาม

แต่ดูเหมือนว่าเราก็ยังคิดว่าเจ้าของเรือมีความผิด ที่เขาผิดไม่ใช่ว่าเรือจม แต่เป็นเพราะเขาละเลยที่จะตรวจสอบเรือมากกว่า

ถึงแม้ในเรื่องจะบอกว่าเขาเชื่ออย่างจริงใจว่าเรือจะปลอดภัย แต่ความจริงใจในที่นี้คงไม่เพียงพอ

คลิฟฟอร์ดเห็นว่า ความอันตรายนั้นไม่ใช่เพียงแค่ว่าเราเชื่อในสิ่งที่ผิด แม้ว่าจะมีความจริงใจมากพอแค่ไหนก็ตาม แต่มันจะกลายเป็นความเชื่อมักง่าย และทำให้สูญเสียอุปนิสัยของการตรวจสอบสิ่งต่างๆ และการสืบค้นเข้าไปยังสิ่งเหล่านั้น

แนวคิดทำนองนี้ของคลิฟฟอร์ด ในทางปรัชญาจะเรียกว่า ‘หลักฐานนิยม’ (evidentialism) ที่เห็นว่าเราควรเลือกความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งบนพื้นฐานของหลักฐานที่มีอยู่

 

เมื่อเราเทียบกับกรณีเรื่องการฉีดวัคซีนของไทย ก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความจำเป็นของวัคซีนในภาวะเช่นนี้ได้ แต่การตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากประชาชนทั่วไปกรณีต่างๆ หรือแม้กระทั่งบุคลาการทางการแพทย์เองด้วยซ้ำที่ออกมาตั้งคำถามถึงมาตรฐานหรือคุณภาพของวัคซีน

เพราะแม้ว่าจะมีหมอตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหนก็ตามมาอ้างว่า ผลข้างเคียงนั้นมีน้อยมาก โอกาสไม่ถึงสิบในล้านก็ตาม

หรือบางคนเทียบให้เห็นแบบง่ายๆ ก็บอกว่าโอกาสที่ฉีดวัคซีนแล้วมีผลกระทบต่อร่างกายพิกลพิการตลอดจนเสียชีวิตก็เท่ากับโอกาสที่ขึ้นเครื่องบินแล้วเครื่องบินตก

นอกจากนี้ ยังพยายามจะโยงว่าการฉีดวัคซีนก็คือการรักชาติ โดยมีการรณรงค์กันใหญ่โตจากคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดังว่า “ฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

จะเห็นว่าความเชื่อที่สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้ให้รายละเอียดหรือหลักฐานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์เลย

 

กล่าวลงไปในรายละเอียด เมื่อเราพูดถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เราเห็นจากหลายรัฐบาลของประเทศต่างๆ สั่งระงับการฉีดวัคซีนของบางบริษัท และชี้แจงว่าวัคซีนดังกล่าวยังไม่มีการรายงานผลการทดลองในระยะที่สาม หรือมีก็ไม่ชัดเจน

ที่สำคัญองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่รับรอง

แต่เมื่อพูดถึงตรงนี้ก็จะมีหมอบางท่านอ้างว่าทุกวันนี้ยางบางชนิดก็ไม่ได้รับรองจาก WHO แต่ก็ได้รับการรับรองจากสถาบันในยุโรป

ก็รับฟังได้

แต่ถึงที่สุดแล้วก็แสดงว่าวัคซีนดังกล่าวมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วมีวัคซีนบริษัทอื่นที่รับรองจากทั้งสองหน่วยงานหรือไม่

เหตุที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน เราจะยอมให้สิ่งที่ไม่แน่นอนมาใช้กับชีวิตคน ได้หรือไม่ ก็คงได้ หามีสิ่งนั้นสิ่งเดียวและจำเป็น แต่ในขณะนี้โลกนี้มีวัคซีนจากหลายบริษัท ทำไมต้องฝากชีวิตไว้กับวัคซีนแค่ไม่กี่ยี่ห้อ

มากไปกว่านั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในเรื่องนี้คือความตาย และความตายนั้นเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถชดเชยได้

(แม้ว่าทุกวันนี้จะชดเชยด้วยเงิน แต่ถามว่าจะมีใครเสี่ยงตายกับเงินชดเชยเหล่านั้นหรือไม่ ยังมิต้องพูดถึงเงินชดเชยของไทยที่น้อยกว่าของประเทศอื่นเป็นเท่าตัว)

นอกจากนี้ หมอบางส่วนก็จะบอกว่า ผลข้างเคียงนั้นเป็นเพียงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนหรือ “ปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน” (Immunization Stress Related Response) นั้นเป็นเรื่องปกติเป็นแล้วหายเองได้ร้อยละ 99

แต่ถามหาสาเหตุและเงื่อนไขอย่างจำเป็นของสิ่งที่เกิดขึ้น หมอก็บอกว่ายังไม่มีข้อมูล และแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเป็นร้อยละ 1 ที่เหลือนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงว่ายังไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ตรงกันข้ามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาลที่ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นและอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ และเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการอธิบายของหมอบางท่าน

แล้วอย่างนี้จะให้ประชาชนเชื่อถือได้อย่างไร

 

ที่กล่าวมานี้ทั้งหมดไม่ใช่ว่าผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการฉีดวัคซีน เปล่าเลย ตรงกันข้าม ผู้เขียนสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุดเสียด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นก็คือ การที่ใครออกมาตั้งคำถามกับความเชื่อเรื่องของวัคซีนนั้น อย่าพึงไปตราหน้าว่าเขาเป็นผู้ต่อต้านการฉีดวัคซีน

เพราะเรื่องมันง่ายๆ พื้นฐานที่สุดก็คือ ในเมื่อวัคซีนที่มีปัญหากันอยู่ และก็ยังไม่ได้มีการรับรองจากหน่วยงานสำคัญของโลก แถมผลการทดลองระยะที่สามที่สำคัญก็ยังไม่แน่นอน ทำไมเราไม่ระงับการฉีดวัคซีนตัวนี้ไปก่อน แล้วก็ให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

เท่านี้เองประชาชนก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่าเขาควรจะจัดการกับชีวิตของตนและเรื่องวัคซีนนี้อย่างไร

เพราะถ้าเรามีข้อมูลหรือหลักฐานที่ทุกคนรับรู้กันอยู่ แต่แกล้งมองไม่เห็นหรืออ้างความเชื่ออย่างอื่น เช่น การฉีดคือรักชาติ หรือใครไม่ฉีดคือเห็นแก่ตัว ฯลฯ มาเป็นเหตุผลก็คงจะห่างไกลจากสิ่งที่เราควรเลือกที่จะเชื่อตามหลักการของคลิฟฟอร์ดที่ว่า “มันผิดเสมอ ผิดในทุกที่ สำหรับใครก็ตามที่เชื่อสิ่งต่างๆ จากหลักฐานที่ไม่เพียงพอ”

ฉะนั้น การรักชาติด้วยความจริงใจและปรารถนาดีแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอในกรณีการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนของบริษัทนี้บริษัทเดียวหรือสองบริษัทก็ตาม

แต่ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับความรู้ความก้าวหน้าของผลการทดลองของวัคซีนต่างๆ เท่านั้นต่างหาก จึงจะทำให้ประชาชนตัดสินใจเชื่อถือและยอมรับในการบริการจัดการวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ของรัฐบาลและวิชาชีพแพทย์ได้