‘สหรัฐ’ หนุนเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีน ‘จริงใจ’ หรือแค่ ‘กลยุทธ์’/บทความต่างประเทศ

FILE - In this May 4, 2021, file photo, a container with boxes of the Pfizer vaccine for COVID-19 is delivered at the Sarajevo Airport, Bosnia. The head of the World Trade Organization said Friday, May 7, the U.S. administration’s call to remove patent protections on COVID-19 vaccines could help expand fair access to vaccines but might not be the most “critical issue,” as officials in Europe increasingly insisted that more vaccine exports are the more pressing priority. (AP Photo/Eldar Emric, File)

บทความต่างประเทศ

 

‘สหรัฐ’ หนุนเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีน

‘จริงใจ’ หรือแค่ ‘กลยุทธ์’

 

ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก วิกฤตที่ทำให้ผู้คนล้มป่วย เสียชีวิต เป็นจำนวนมาก มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดขนานใหญ่แลกมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วทุกมุมโลก

แต่สิ่งหนึ่งที่ทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเป็น “กระสุนเงิน” ที่จะนำโลกกลับสู่ “ภาวะปกติ” ได้ก็คือการฉีด “วัคซีน” ให้ครอบคลุมประชากรของโลกให้ได้มากที่สุดเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ในที่สุด

นั่นนำไปสู่ความต้องการวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นถึงขั้น “ผลิตไม่ทัน” เกิดความเหลื่อมล้ำของอัตราการได้รับวัคซีนระหว่าง “ประเทศร่ำรวย” และ “ประเทศยากจน”

นำไปสู่การถกเถียงกันในระดับประชาคมโลกถึงวิธีการในการกระตุ้นกำลังการผลิตรวมไปถึงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

 

ล่าสุดเกิดประเด็นถกเถียงในระดับนานาชาติขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกา ชาติที่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญาอันดับต้นๆ ของโลก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะออกมาประกาศสนับสนุนแนวคิด “เปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีน” เพื่อเปิดโอกาสให้ทั่วโลกสามารถนำไปผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศตนเองได้ ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศคัดค้านแนวคิดดังกล่าว

ข้อเสนอ “เปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราว” เดิมเป็นข้อเสนอของ “อินเดีย” และ “แอฟริกาใต้” ที่หยิบยกขึ้นมาหารือในเวที “องค์การการค้าโลก” หรือดับเบิลยูทีโอ ตั้งแต่เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ทั้งสองชาติให้เหตุผลว่า แม้นวัตกรรมต่างๆ ที่รวมไปถึงยารักษาโรค และวัคซีน จะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ควรได้รับการคุ้มครองในทางกฎหมาย

แต่ในช่วงเวลาวิกฤตระดับโลกแล้วการกระจาย “สูตรปรุงวัคซีน” ที่สามารถช่วยชีวิตคนได้ออกไปให้ได้มากที่สุดเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด

 

ในช่วงแรกข้อเสนอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านทันที จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีน รวมไปถึงชาติตะวันตกอย่างสหภาพยุโรป อังกฤษ รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องด้วยข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับรายได้ของบริษัทผู้ผลิต ที่ใช้ต้นทุนมหาศาลไปกับการวิจัยและพัฒนา และการเปิดเสรีเองก็จะเป็นการขัดขวางพัฒนาการของนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต

นอกจากนั้นแล้ว บริษัทผู้ผลิตโดยเฉพาะไฟเซอร์ ออกมาโต้แย้งข้อเสนอดังกล่าว ระบุว่า การ “เปิดเสรีสิทธิบัตร” นั้นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา โดยเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนกับการ “ยื่นสูตรอาหารให้โดยไม่มีวัตถุดิบและวิธีการทำที่ถูกต้อง”

นอกจากนั้น ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดในการแย่งชิงวัตถุดิบสำหรับการผลิตที่เวลานี้มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยอีกด้วย

ข้อโต้แย้งนั้นดูสมเหตุสมผลโดยเฉพาะเมื่อมองไปถึงวัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยีใหม่อย่าง mRNA ของ “ไฟเซอร์-บิออนเทค” และ “โมเดอร์นา” วิธีการที่มีคนเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่มีองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนชนิดนี้

“บริษัทบิออนเทค” บริษัทเยอรมนีที่ร่วมทุนกับ “ไฟเซอร์” บริษัทอเมริกันในการผลิตวัคซีนโควิด-19 เปิดเผยว่า การพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนชนิด mRNA นั้นใช้เวลานานนับสิบปี ขณะที่การตั้งโรงงานผลิตอย่างถูกต้องนั้นก็ต้องใช้เวลานานนับปี ขณะที่วัตถุดิบในการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดก็เป็นปัญหาเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลด้วยว่าหากมีการเปิดเสรีโดยปราศจากความรู้ในกระบวนการผลิตที่ถูกต้องแม่นยำ อาจนำไปสู่ปัญหาวัคซีนไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจนำไปสู่ปัญหาวัคซีนปลอมก็เป็นได้

 

ด้านอียูเองมองว่ายังคงมีทางเลือกอื่นๆ ในการกระจายวัคซีนไปอย่างทั่วถึง เช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น รวมถึงการกดดันให้ชาติร่ำรวยส่งออกวัคซีนให้มากขึ้น

ขณะที่อังกฤษ ผู้ที่ร่วมบริจาครายใหญ่ของ “โครงการโคแว็กซ์” โครงการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศยากจนขององค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้มีความร่วมมือแบบออกใบอนุญาตตามความสมัครใจ อย่างที่เกิดขึ้นระหว่าง สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย และออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ที่ร่วมกันผลิตวัคซีน และเสนอให้ดับเบิลยูทีโอสนับสนุนความร่วมมือลักษณะนี้ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาที่เดิมคัดค้านการเปิดเสรีก่อนกลับลำมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้รับเสียงสนับสนุนเช่นกันไม่ว่าจะเป็นนายทีดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส เลขาธิการองค์การอนามัยโลก ที่กล่าวถึงย่างก้าวของสหรัฐในครั้งนี้ว่า เป็นเรื่อง “น่ายกย่องที่ควรต้องถูกจารึกเอาไว้”

ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่ออกมาสนับสนุนการเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีน

“โลกกำลังติดเชื้อไวรัสปัจเจกชนนิยม ไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ก็คล้ายกับลัทธิชาตินิยม ที่ขัดขวางวัคซีนที่จะเป็นความร่วมมือกันระหว่างประเทศ” สมเด็จพระสันตะปาปาระบุ

ขณะที่ในอังกฤษเอง กลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง องค์กรการกุศล รวมถึงกลุ่มผู้นำทางศาสนาก็ออกมาเรียกร้องให้บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาสนับสนุนการเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีนด้วยเช่นกัน

 

การแสดงจุดยืนของสหรัฐกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

แต่ย่างก้าวนี้ของสหรัฐก็ถูกมองเช่นกันว่าอาจเป็นกลยุทธ์ในการกดดันให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนยักษ์ใหญ่เร่งเพิ่มกำลังการผลิต หรือยอมให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากการประกาศสนับสนุนการเปิดเสรีสิทธิบัตรวัคซีนของไบเดนนั้น มีขึ้นหลังจากตัวแทนการค้าสหรัฐร่วมหารือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อกระตุ้นการผลิตเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

จากนี้คงต้องจับตามองการหารือกันในเวทีดับเบิลยูทีโอเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวกันต่อไป เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิกส่วนใหญ่

โดยหากข้อเสนอดังกล่าวตกไป อย่างน้อยๆ ก็อาจมีความหวังว่าจะนำไปสู่หนทางประนีประนอมในการเพิ่มกำลังการผลิตและกระจายวัคซีนไปทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วได้ในที่สุด