วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (24)/วิกฤติศตวรรษที่21624 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21624

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (24)

 

ภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศทั่วโลกและที่ขั้วโลกเหนือ

เดือนเมษายน 2021 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “รายงานสถานะภูมิอากาศโลก 2020” อย่างเป็นทางการ

นายเพตเทอรี ทาลัส (Petteri Taalas นักอุตุนิยมวิทยาชาวฟินแลนด์) เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว เนื่องในงานนี้ว่า “ดัชนีชี้วัดภูมิอากาศทั้งปวงและผลกระทบที่กล่าวในรายงานนี้ได้ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นถี่ และรุนแรงขึ้น เกิดความสูญเสียและความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจต่างๆ”

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres เคยเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศโปรตุเกส) เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์แรงไปกว่านั้นว่า “นี่เป็นรายงานที่น่าตกใจ ผู้นำและผู้มีอำนาจตัดสินใจของโลกควรจะได้อ่าน… รายงานนี้ได้แสดงว่าปี 2020 ยังคงเป็นปีที่เกิดลมฟ้าอากาศสุดขั้วและหายนภัยทางภูมิอากาศ สาเหตุนั้นชัดเจน มันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ การทำลายความสมดุลของภูมิอากาศด้วยการทำกิจกรรม การตัดสินใจและความโง่เขลาของมนุษย์”

เขาเตือนว่า “เรากำลังหลงทิศผิดทาง… ปี 2020 นี้นับเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของอนาคตมนุษยชาติ รายงานนี้ชี้ว่าเราไม่มีเวลาจะเสียไปอีกแล้ว” (ดูรายงานข่าวชื่อ 2021 is “make or break year” for Climate Action ใน public.wmo.int 20/04/2021)

อนึ่ง ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2021 มีรายงานข่าวว่า ฮาวายเป็นรัฐแรกของสหรัฐที่ประกาศว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของรัฐนี้ เข้าสู่ภาวะฉุกเฉินแล้ว ดูได้จากวิกฤติภูมิอากาศที่ต้องเผชิญ อย่างเช่น การขาดแคลนน้ำจืด น้ำทะเลขึ้นสูงกัดเซาะชายฝั่ง ลมฟ้าอากาศสุดขั้วทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง แนวปะการังพากันตาย

ทั้งนี้ รัฐสภาของรัฐนี้ ได้ผ่านข้อมติดังกล่าวแบบไม่ผูกมัด (คือประกาศแสดงความตระหนักเฉยๆ) การผ่านข้อมติดังกล่าวทำให้ฮาวายเข้าร่วมกับอีก 1,933 เมืองและประเทศต่างๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านั้นแล้ว ประมาณว่าประชากรโลกเกือบร้อยละ 13 ดำเนินชีวิตภายใต้ข้อกฎหมายทำนองเดียวกันนี้

(ดูรายงานของ Kate Yoder ชื่อ ‘Climate emergency’ : Hawaii is the first state to call it like it is ใน grist.org 30/04/2021)

 

สําหรับ “รายงานสถานะภูมิอากาศโลก 2020” ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่

ส่วนแรก กล่าวถึงตัวบ่งชี้สำคัญที่แสดงสถานะของภูมิอากาศโลกว่ามีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของรายงานนี้

ส่วนที่สอง ว่าด้วยผลกระทบจากตัวบ่งชี้เหล่านั้น ทำให้เห็นสถานะของภูมิอากาศครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

อนึ่ง มีหน่วยงานของรัฐทั้งหลายและสถาบันการศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ได้ทำรายงานทำนองนี้ ผลออกมาโดยทั่วไปก็ไปในทางเดียวกัน เพราะองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้เป็นตัวกลางประสานงานอยู่แล้ว

ตัวบ่งชี้ภูมิอากาศโลกที่สำคัญรวม 5 ประการด้วยกัน ซึ่งแม้มีการกล่าวจำแนก แต่ในทางเป็นจริง ตัวบ่งชี้ดังกล่าวทำงานร่วมกัน ประกอบขึ้นเป็นระบบภูมิอากาศโลกที่ซับซ้อน ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยอย่างเข้มงวด ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงกลายเป็นงานที่จำกัดอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และคณะนักวิจัยจำนวนไม่มาก เกิดความยากลำบากในการสร้างความตระหนักในสาธารณชนไม่น้อย

ตัวบ่งชี้ทั้ง 5 ตามรายงานดังกล่าวได้แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศถึงขั้นฉุกเฉินโดยทั่วไปทั้งโลก และโดยเฉพาะในขั้วโลกเหนือ

อนึ่ง ในรายงานนี้ใช้ฐานอ้างอิงหรือฐานเปรียบเทียบ (Baseline) หลายเส้นด้วยกัน เช่น สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยโลก ใช้ฐานอ้างอิงระหว่างปี 1850-1900 ในการอ้างอิงถึงอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ก็ใช้อยู่ ในด้านการเปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจก ใช้ปี 1750 จากการศึกษาแกนน้ำแข็งสำหรับยุคก่อนอุตสาหกรรม

ส่วนการเปรียบเทียบแผนที่อุณหภูมิโลกในระยะใกล้ ใช้แผนที่อุณหภูมิโลกระหว่างปี 1981-2010 เป็นฐานอ้างอิง

ตอนนี้จะกล่าวถึงตัวบ่งชี้ทั้ง 5 เป็นลำดับไปดังนี้

1)

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญมี 3 ตัว ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถัดมาได้แก่มีเทนและไนตรัสออกไซด์

ในปี 2019 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไอออกไซด์ในบรรยากาศสูงถึง 410.5 ส่วนต่อล้านส่วน สูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 148

ในปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงอย่างฮวบฮาบ บางแห่งฟ้ากระจ่างใสขึ้นมา คาดกันในแง่ดีว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกน่าจะลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้น

แต่จากข้อมูลสถานีตรวจอากาศสำคัญของโลกพบว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งสามตัวเพิ่มขึ้น

อนึ่ง ที่เคยมีข่าวดีว่า การร่วมมือกันของนานาประเทศช่วยแก้ปัญหา “รูโอโซน” ได้ โดยเฉพาะที่ขั้วโลกใต้ แต่ในปี 2020 พบว่ารู้โอโซนที่ขั้วโลกใต้ เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม อยู่นานกว่าเดิม

และเป็นรูลึกที่สุดนับแต่บันทึกมาเมื่อ 40 ปีก่อน

2)

อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก

ในปี 2020 อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกสูงขึ้นราว 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม การที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขนาดนี้ เกิดขึ้นทั้งที่มีปรากฏการณ์ลา นีญา ซึ่งจะช่วยให้โลกเย็นลง

ปี 2020 เป็นปีที่ร้อนที่สุดหนึ่งในสามนับแต่มีการบันทึกการวัดมา

และในทศวรรษที่ผ่านมาคือ 2011-2020 โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด (ปี 2016 เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงสุด เนื่องจากประจวบกับปรากฏการณ์ลา นิญารุนแรงที่ช่วยให้โลกอุ่นขึ้น)

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงถึง 1.2 องศาเซลเซียสนี้ ใกล้ถึงเป้าหมายของข้อตกลงภูมิอากาศปารีสที่ต้องการรักษาไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

จึงคาดหมายได้ว่ามันจะสูงกว่า 1.5 องศาในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า

3)

ปริมาณความร้อนในมหาสมุทร

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในโลก ร้อยละ 80 ถูกดูดซับโดยมหาสมุทร มีการตรวจวัดอุณหภูมิของมหาสมุทรในหลายระดับ ลึกที่สุด 2,000 เมตร

จากการตรวจวัดพบว่าในสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิของมหาสมุทรในทุกระดับความลึกสูงขึ้น

ในปี 2019 อุณหภูมิมหาสมุทร ตั้งแต่ 0-2,000 เมตร สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

สำหรับในปี 2020 ข้อมูลชี้ว่าสูงกว่าปี 2019 เสียอีก

4)

ปริมาณหยาดน้ำฟ้าของโลกในรอบปี

ปริมาณน้ำฝนในหลายภูมิภาคได้แก่ อเมริกาเหนือ แอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงเป็นพิเศษในปี 2020

แต่ในหลายพื้นที่ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฝนตกน้อย

5)

ภาคน้ำแข็งในโลก

โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกเหนือ ตั้งแต่ปี 1980 อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศหน้าดินในเขตอาร์กติก สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกราว 2 เท่า ในปี 2020 เขตอาร์กติกมีการเบี่ยงเบนจากอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวมากที่สุดของโลก บริเวณไซบีเรียเขตอาร์กติก เกิดร้อนเป็นพิเศษ อุณหภูมิพุ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่าง 3 ถึง 5 องศาเซลเซียส ระลอกคลื่นความร้อนที่ส่งผลต่อทะเลน้ำแข็ง ชั้นดินเยือกแข็งในเขตอาร์กติกอย่างรุนแรง

ทะเลน้ำแข็งในอาร์กติก ซึ่งมีเนื้อที่สูงสุดในหน้าหนาวราวเดือนมีนาคม ในปี 2020 นี้ พื้นที่ทะเลน้ำแข็งสูงเพียงราว 15 ล้าน ตร.ก.ม. ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 10 นับแต่มีการบันทึก

การละลายของทะเลน้ำแข็งมากเป็นพิเศษ ในทะเลไซบีเรียตะวันออกและทะเลลัปตอฟของรัสเซีย เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในเขตไซบีเรียเหนือวงกลมอาร์กติก ทำให้ในเดือนกันยายนที่เป็นหน้าร้อน ปี 2020 พื้นที่ทะเลน้ำแข็งหดเหลือเพียง 3.74 ล้าน ตร.ก.ม. เป็นอันดับสอง (รองจากปี 2012 ที่หดเหลือเพียง 3.39 ล้าน ตร.ก.ม.)

นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง เกิดไฟป่าในไซบีเรีย ที่เย็นเยือกอย่างน่าประหลาด (ดูรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ชื่อ State of the Global Climate 2020- Unpacking the indicators ใน public.wme.int 20/04/2021)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกและความผันผวนที่อาร์กติก เป็นต้น