จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (1)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (1)

 

ความนำ

การล่มสลายของราชวงศ์ถังใน ค.ศ.907 มิได้นำจีนไปสู่เอกภาพ ขุนศึกผู้ทรยศต่อถังแม้จะตั้งราชวงศ์ขึ้นมาใหม่โดยมีตนเป็นจักรพรรดิ แต่ก็ตั้งขึ้นท่ามกลางการตั้งตนเป็นใหญ่ของขุนศึกในภาคต่างๆ ที่ล้วนทรงอิทธิพล และมีความสัมพันธ์กับราชสำนักในช่วงปลายราชวงศ์ถัง จนได้เป็นผู้ปกครองพื้นที่ของตน

ขุนศึกที่เป็นผู้ปกครองเหล่านี้เรียกกันว่า ข้าหลวงทหาร (เจี๋ยตู้สื่อ)

เมื่อข้าหลวงทหารเหล่านี้ต่างตั้งตนเป็นใหญ่ แผ่นดินจีนจึงตกอยู่ในความแตกแยกอีกครั้งหนึ่ง ภาวะนี้ดำรงยาวนานกว่า 70 ปี และประวัติศาสตร์จีนก็เรียกช่วงสมัยนี้ว่า ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ

เช่นเดียวกับยุคก่อนหน้านี้ ที่เมื่อเกิดความแตกแยกกันแล้วก็มีการขับเคี่ยวต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำระหว่างผู้นำรัฐต่างๆ หรือไม่ก็รักษาความอิสระของตนเอาไว้ให้เข้มแข็งอยู่เสมอ

ที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า ราชวงศ์หรือรัฐที่ตั้งตนเป็นใหญ่เหล่านี้มีที่เป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นอยู่ด้วย ภาวะนี้ได้นำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชาวฮั่นกับผู้นำชนชาติอื่นไปด้วย

และเมื่อปฏิสัมพันธ์นี้ก้าวไปถึงจุดหนึ่ง ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐก็จบลงเมื่อผู้นำคนหนึ่งของยุคนี้มีชัยเหนือทุกกลุ่มอำนาจ และตั้งราชวงศ์ใหม่ที่นำจีนไปสู่เอกภาพอีกครั้งหนึ่ง

 

นั่นคือราชวงศ์ซ่ง

ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) ถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สู้ปกติมากนัก โดยเมื่อตั้งวงศ์ขึ้นนั้นภาวะความแตกแยกดังกล่าวข้างต้นยังมิได้สงบลงโดยสิ้นเชิง ครั้นความสงบเกิดขึ้นในอีกราวสิบปีต่อมา ราชวงศ์นี้ก็ยังต้องเผชิญกับชนชาติอื่นที่ทรงอิทธิพลเข้ามาคุกคามตนอีกด้วย

การคุกคามทำให้ซ่งสั่นคลอนจนเกือบล่มสลาย และต้องย้ายที่มั่นจากทางตอนเหนือมาทางตอนใต้ จากเหตุนี้ ในชั้นหลังต่อมาซ่งจึงถูกแบ่งอธิบายเป็นสองช่วง คือช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) กับราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ.1127-1279)

และแม้จะย้ายมาทางตอนใต้แล้วก็ตาม ซ่งก็ยังคงมิได้เข้มแข็งขึ้นแต่อย่างไร แต่ที่อยู่มาได้นับร้อยปีก็เพราะยอมเฉือนดินแดนของตนให้กับชนชาติอื่น เพื่อแลกกับอิสรภาพซึ่งก็เปราะบางเต็มที

นโยบายที่ยอมอ่อนข้อเพื่อแลกกับอิสรภาพดังกล่าวทำให้ซ่งถูกตั้งคำถามเรื่อยมา ว่าเอาเข้าจริงแล้วเป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือมีความเหมาะสมดีแล้วจริงหรือ คำถามนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงต่างๆ นานา สุดแท้แต่ทัศนะพื้นฐานของนักวิชาการแต่ละคนแต่ละสำนักไป

แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตามที แต่ก็ใช่ว่าซ่งจะไม่มีช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองก็หาไม่ ช่วงที่ว่านี้ถูกแสดงผ่านผลงานหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ประมาณหนึ่ง

โดยหนึ่งในนั้นก็คือ การปฏิรูปลัทธิขงจื่อและระบบการเมืองปกครองที่เป็นที่กล่าวขานกันในชั้นหลัง

ถึงแม้จะมีความย้อนแย้งตรงที่การปฏิรูปกลับไม่เอื้อให้ซ่งอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพก็ตาม และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะซ่งมีนโยบายที่โน้มเอียงไปในทางประนีประนอมกับชนชาติอื่น และเพราะมีขุนนางจำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการปฏิรูปดังกล่าวอย่างแข็งขัน

สถานการณ์นี้ถูกบอกเล่าอย่างมีสีสัน แต่ก็มีความอื้อฉาวอยู่ในตัวไปด้วย

เช่น วีรกรรมของขุนศึกผู้หนึ่งต้องถูกทำลายโดยขุนนางอีกผู้หนึ่ง แล้วต่อมาเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นที่มาของขนมแป้งทอดน้ำมันที่ชาวจีนนิยมรับประทานมาจนทุกวันนี้

ขนมนี้เรียกขานกันในไทยว่า ปาท่องโก๋

 

ด้วยความที่มิใช่ราชวงศ์ที่เข้มแข็งเป็นพื้นเดิม พอถึงช่วงที่จักรพรรดิอ่อนแอและบรรดาเสนามาตย์จำนวนหนึ่งก็ฉ้อฉล ดินแดนของซ่งที่ถูกเฉือนให้กับชนชาติอื่นเป็นระยะๆ ก็หดตัวจนมีขนาดเล็กลงอย่างถึงที่สุด

ถึงตอนนั้นชนชาติอื่นก็ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรับดินแดนที่ซ่งเฉือนให้อีกต่อไป สู้เข้าโค่นล้มซ่งแล้วยึดครองแผ่นดินจีนเสียในคราวเดียวย่อมมีประโยชน์มากกว่า

และจากจุดที่ว่านี้ซ่งก็ล่มสลายด้วยฝีมือของชนชาติมองโกล

จากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ทำให้เห็นว่า ซ่งเป็นราชวงศ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนราชวงศ์อื่นของจีน คือเป็นราชวงศ์ที่มีช่วงแห่งความรุ่งเรืองก็จริง แต่ความรุ่งเรืองนั้นก็ตั้งอยู่บนความแหว่งวิ่นของดินแดนทีละน้อยๆ

ความจริงเช่นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าค้นหาคำตอบ ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ซ่งตั้งจักรวรรดิอยู่ได้ในสภาพเช่นนั้น อะไรคือฐานคิดที่ทำให้ซ่งยอมเสียดินแดนจนดูราวกับไร้ศักดิ์ศรี

และอะไรที่ทำให้ชนชาติอื่นสามารถทำลายจักรวรรดิจีนลงได้อีกครั้งหนึ่งในที่สุด

ที่สำคัญ เรื่องราวของชนชาติอื่นที่ทรงอิทธิพลจนสั่นคลอนซ่งได้นั้น ก็ถือเป็นประเด็นที่พึงศึกษาในฐานะไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนด้วยเช่นกัน

 

ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ

ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ (อู่ไต้สือกว๋อ, Five Dynasties and Ten States, ค.ศ.907-979) นี้เป็นอีกยุคหนึ่งที่จีนตกอยู่ภายใต้ความแตกแยก การกล่าวถึงยุคนี้ในที่นี้จะเริ่มจากการฉายให้เห็นภาพรวมก่อนว่า ห้าราชวงศ์กับอีกสิบรัฐนั้นประกอบไปด้วยราชวงศ์ใดและรัฐใด ก่อนที่จะลงไปสู่รายละเอียดตามสมควร

ห้าราชวงศ์ประกอบไปด้วยโฮ่วเหลียง (เหลียงสมัยหลัง) โฮ่วถัง (ถังสมัยหลัง) โฮ่วจิ้น (จิ้นสมัยหลัง) โฮ่วฮั่น (ฮั่นสมัยหลัง) และโฮ่วโจว (โจวสมัยหลัง) คำเรียกราชวงศ์เหล่านี้มีขึ้นในชั้นหลัง เพื่อมิให้ซ้ำซ้อนหรือสับสนกับชื่อราชวงศ์เดียวกันที่มีมาก่อนหน้านี้

จากเหตุนี้ ตอนที่ราชวงศ์เหล่านี้ตั้งอยู่จึงมีชื่อราชวงศ์เป็นคำเดียวโดดๆ และมีที่ตั้งรัฐของตนอยู่ตรงแถบที่ราบภาคกลางระหว่าง ค.ศ.907 ถึง ค.ศ.960 ตลอดห้วงเวลานี้ราชวงศ์ทั้งห้ามีผู้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ 13 องค์ และมีอำนาจปกครองราว 53 ปี

โดยสามในห้าราชวงศ์คือ ถังสมัยหลัง จิ้นสมัยหลัง และฮั่นสมัยหลังนั้นมีผู้นำเป็นชนชาติอื่น หาใช่ชนชาติฮั่นไปเสียทั้งหมด

แต่ในห้วงที่ห้าราชวงศ์นี้ตั้งอยู่ก็ให้ปรากฏว่ายังมีอีกสิบรัฐตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ด้วย รัฐทั้งสิบนี้ประกอบไปด้วยรัฐหยังอู๋ อู๋เยี่ว์ย หมิ่น หมาฉู่ หนันฮั่น (ฮั่นใต้) เฉียนสู่ (สู่สมัยแรก) โฮ่วสู่ (สู่สมัยหลัง) จิงหนัน หนันถัง (ถังใต้) และเป่ยฮั่น (ฮั่นเหนือ)

ในสิบรัฐนี้มีประเด็นที่ควรกล่าวด้วยว่า

หนึ่ง ชื่อและจำนวนสิบรัฐนี้จัดอยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก โดยกระแสรองยังมีรัฐอื่นและชื่ออื่นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

สอง ทั้งสิบรัฐนี้เกือบทั้งหมดจะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน

และ สาม มีผู้นำรัฐอยู่สองรัฐที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิดังผู้นำในห้าราชวงศ์คือ สู่สมัยแรกกับสู่สมัยหลัง รัฐทั้งสิบนี้มีบทบาทอยู่ในช่วง ค.ศ.907 จนถึง ค.ศ.979

จะเห็นได้ว่า ปีที่สิ้นสุดยุคสิบรัฐนี้คือช่วงหลังจากที่ราชวงศ์ซ่งได้ตั้งขึ้นแล้ว

ห้าราชวงศ์กับสิบรัฐจากที่กล่าวมาเป็นกลุ่มอำนาจภายในจีน ยังไม่นับรวมกลุ่มอำนาจภายนอกที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในห้วงเดียวกัน และเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลสูงยิ่งจนเป็นภัยคุกคามของจีนอย่างยาวนาน

กลุ่มอำนาจภายนอกเหล่านี้คือ เหลียว ซีเซี่ย (เซี่ยตะวันตก) จิน มองโกล เกาชัง ซีเหลียว (เหลียวตะวันตก) ถู่ฟัน (ตูฟาน) และต้าหลี่

จากข้อเท็จจริงนี้ทำให้การศึกษาในบทนี้ที่เริ่มจากเรื่องราวของห้าราชวงศ์กับอีกสิบรัฐนั้น จักไม่ดำเนินไปตามลำดับการเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการดับลงของแต่ละราชวงศ์และแต่ละรัฐ แต่จะดำเนินไปตามเหตุการณ์สำคัญเป็นหลัก

เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของเรื่องราวในยุคนี้ได้ดี ทั้งก่อนและหลังที่ราชวงศ์ซ่งได้ถูกสถาปนาขึ้นมา และเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วก็ใช่ว่าซ่งจะอยู่อย่างสงบก็หาไม่ หากยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง

ซ่งจึงนับเป็นราชวงศ์ที่ออกจะโชคร้าย เพราะแม้ในระหว่างนั้นจะได้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้แก่ชนรุ่นหลังก็ตาม แต่ก็มิอาจปลอดพ้นไปจากคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบไปได้ และหลายเรื่องได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างสำหรับชนรุ่นหลัง

ซ่งกับไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนจึงอยู่คู่กันไป มิอาจแยกขาดจากกันได้