สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงตนเอง/หมาก ยาเสพติดให้ประโยชน์ ย้อนยุคไทย สู่เทรนด์โลกยุคใหม่

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

หมาก ยาเสพติดให้ประโยชน์

ย้อนยุคไทย สู่เทรนด์โลกยุคใหม่

 

โลกทั้งใบและไทยทั้งชาติยังเผชิญโควิด-19 แต่วันนี้พักรบไวรัสมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย สมุนไพรอะไรเอ่ย? ที่ขึ้นชื่อเก่าแก่ที่สุด

คำตอบคือ “หมาก” (ชื่อวิทยาศาสตร์ Areca catechu Linn.)

ชื่อต้นไม้แรกที่ปรากฏอยู่ในธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของชนชาติไทย คือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ด้านที่ 2 ดังนี้ “ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม สร้างป่าหมาก ป่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง…”

ถอดความได้ว่า “ชาวเมืองสุโขทัยนิยมสร้างสวนหมากสวนพลูไว้ทั่วทุกแห่งในเมืองนี้”

และ “หมาก” นี่แหละเคยเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยในยุคเก่าก่อนเหมือนตัวเลข GDP ในยุคนี้ ดังคำกล่าวว่า “ข้าวยาก หมากแพง” นั่นเอง

“หมาก” มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ให้ย้อนไปดูตัวเลขอากรมหาศาลที่เก็บได้จากต้นหมาก

เอาแค่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งบ้านเมืองพัฒนาเข้าสู่สมัยใหม่แล้วด้วยซ้ำ ยังระบุว่าเมื่อเดินรังวัดสวนหมากนับหมากทุกต้นในราชอาณาจักรเฉพาะปี 2426 มีหมากที่เข้าเกณฑ์เก็บอากรได้ถึง 6,371,855 ต้น

และที่ปลูกยังไม่ออกทะลายยังนับได้อีก 1,273,070 ต้น รวมแล้ว 7,644,925 ต้น

ตอนนั้นประชากรสยามยังไม่ถึง 7 ล้านคน

ท่านว่าถ้าเก็บอากรหมากแค่ต้นละบาท ก็ได้เงินเข้าหลวงถึงปีละ 95,561 ชั่ง 11 ตำลึงกับหนึ่งบาท หรือเกือบเจ็ดล้านเจ็ดแสนบาท

นับเป็นรายได้รัฐที่มากโขในยุคนั้น

 

หากถามต่อไปว่า “หมาก” มีดีอะไร

ในปัจจุบันมีข้อมูลของบีบีซีระบุว่า มีผู้บริโภคราว 10% ของโลกหรือเกือบ 700 ล้านคน ยังนิยมชมชอบเสพหมากทั้งในดินแดนอุษาคเนย์ (ยกเว้นไทย) เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ตอนใต้ ทั้งที่หมากก็ไม่ใช่ผลไม้ ไม่ใช่พืชผักที่กินเป็นอาหาร และสมุนไพรที่มีสรรพคุณเด็ดเช่นเดียวกับหมากก็มีถมไป

ดังนั้น เหตุผลเดียวที่ทำให้หมากยังคงเป็นสมุนไพรยอดนิยมนับตั้งแต่พบคราบหมากที่ฟันของมนุษย์ถ้ำบนเกาะฟิลิปปินส์เมื่อ 4,500 ปีก่อนจนถึงยุคดิจิตอลมีประการเดียวคือ ในเมล็ดหมากมีสารเสพติดอ่อนๆ ที่มีชื่อว่า อะรีโคลีน (Arecoline) ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นหมากนั่นเอง

มีฤทธิ์กล่อมประสาท คลายเครียด กระตุ้นสมอง ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ซึ่งเห็นผลทันทีในชั่วเวลาเคี้ยวหมากแหลก

ผลการทดลองพบว่า แค่เคี้ยวหมากหนึ่งคำ ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวเท่ากับดื่มเอสเปรสโซ่ 6 ช็อตเลย

จึงมีกระแสบูลลี่จากกลุ่มผู้นิยมกินหมากว่า งานวิจัยที่กล่าวหาว่าหมากทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากนั้น สงสัยจะมีธุรกิจเครื่องดื่มกาเฟอีนยักษ์ใหญ่หนุนหลังอยู่หรือเปล่า

ธุรกิจค้าหมากในปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจแบบกระจายรายได้ “ใครใคร่ค้า ค้า”

ผิดกับธุรกิจเครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์ ซึ่งมีโทษกว่าหมากด้วยซ้ำ แต่ยังเป็นที่นิยม เพราะเป็นธุรกิจผูกขาดทุ่มทุนโฆษณามหาศาล มอมเมาให้มหาชนเสพติดกันถ้วนหน้า

ส่วนหมากนั้นแม้ไม่มีโฆษณาแต่ตลาดคนเคี้ยวหมากก็ยังโตกว่า 700 ล้านคน (ฮา)

 

นับเป็นความชาญฉลาดของคนโบราณที่เจาะจงเลือก “หมาก” เป็นพืชเสพติดในวิถีวัฒนธรรมตะวันออก อันเชิดหน้าชูตานับตั้งแต่ชั้นพระสงฆ์องค์เจ้า ท้าวพญามหากษัตริย์ ขุนนาง ลงไปถึงไพร่ทาส

หมากเป็นของเคี้ยวติดปากตั้งแต่ตื่นนอนก่อนล้างหน้ากินข้าวด้วยซ้ำ

ดังคำกลอนที่กล่าวถึงผู้ดีสตรีไทยกับการกินหมากในชีวิตประจำวันว่า

“ครั้นรุ่งแจ้งแสงสางสว่างหล้า ทองประศรีตื่นตาหาช้าไม่ ล้างหน้าตำหมากใส่ปากไว้ นั่งเคี้ยวไป เคี้ยวไปแล้วตรองการ”

จะเห็นได้ว่าพอกินหมากแล้วช่วยให้สมองแล่นคิด “ตรองการ” ได้ไม่มึนเมาขาดสติเหมือนกินยาเสพติดชนิดอื่น

หมากยังเป็นของดีที่ถวายพระได้ แถมกลายเป็นของขลังเครื่องรางไปเสียอีกเมื่อพระ “อมน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก” ใส่กระหม่อมโยม และชานหมากจากปากพระเกจิอาจารย์ยังเป็นสื่อถ่ายทอดวิชาอาคมให้กับลูกศิษย์ด้วย

ดังเช่นหลวงตาคงเสกหมากให้แก่เณรแก้วว่า “กูจะให้วิชาสารพัด ให้ชะงัดเวทมนตร์พระคาถา ท่วงทีเอ็งจะดีดังจินดา แล้วคายชานหมากมาให้เณรกิน”

ทุกวันนี้กลุ่มคนที่เชื่อเรื่องไสยเวทวิทยาคมก็ยังเชื่อว่าหมากมนต์มีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าวัตถุของขลังใดๆ

ขนาดพระลอราชแห่งเมืองแมนสรวงยังไม่อาจต้านทานฤทธิ์วิชา “สลาเหิน” หรือ “ฤทธิ์หมากบิน” ของปู่เจ้าสมิงพราย ทำให้พระลอตกเป็นทาสเสน่หาของพระเพื่อนพระแพงแห่งเมืองสองอย่างโงพระเศียรไม่ขึ้น

ดังร่ายในลิลิตพระลอว่า “ปู่จึ่งใช้สลาเหิน เดินเวหาไปสู่ ตกลงอยู่ระคน ปนหมากเสวยท่านไท้ ครั้นท่านได้หยิบเสวย บ่นานเลยลอราช ใจจะขาดรอนรอน ถึงสายสมรพี่น้อง”

ในเมื่อหมากเป็นวัตถุของขลังซะขนาดนี้ และในคติพราหมณ์ยังเชื่อว่าพระพิฆเนศ เทพแห่งความรู้ทรงปรากฏพระองค์ในรูปของผลหมากจึงมีค่านิยมว่า “ขอให้ฟันดำเหมือนลูกหว้า ขอให้มีปัญญาเหมือนมโหสถ”

หรือขอให้ “ทนต์แดงดั่งแสงทับทิม”

ใครกินหมากปากแดงถือว่าสวย หมากจึงเป็นสื่อมงคล สื่อรัก สื่อมิตรภาพที่ใช้ต้อนรับแขก และอยู่ในประเพณีสำคัญต่างๆ เช่น พิธีขันหมากแต่งงาน พิธีบายศรีสู่ขวัญ ขันหมากไหว้ครู

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในวรรณคดีไทยมีการกล่าวถึงหมากมากมายแทรกไว้ในวิถีไทยอันงดงาม

รวมทั้งตอนเข้าพระเข้านางด้วย

การได้เสพชานหมากของคนรักดูดดื่มยิ่งกว่าการจูบปากของดาราสมัยนี้เสียอีก เช่น ตอนพลายแก้วคายหมากให้นางพิมพิลาไลย “พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย”

หรือฉากระเด่นอิเหนากระสันลิ้มรสชานหมากบุษบา ทำให้คิด “ถวิลโอษฐ์แม่รับสลา โอษฐ์พี่”

ดังนั้น การที่สาวไต้หวันนุ่งน้อยห่มน้อยขายหมากให้หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ริมทาง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด

 

ทุกวันนี้คนไทยกินหมากปากแดงแทบจะหาตัวไม่ได้แล้ว ผิดกับแต่ก่อนที่เราปลูกหมากไม่พอคนกินต้องนำเข้ามาจาก “เกาะหมาก”

แต่ถึงกระนั้น ปัจจุบันหมากก็ยังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้ภาคใต้ปีละหลายพันล้านบาทในยามที่ราคายางตกต่ำ

เพราะอินเดีย ตะวันออกกลาง ไต้หวัน และเมียนมา ก็ยังเป็นตลาดใหญ่ของหมากไทย

และคนไทยเองยังใช้หมากในอุตสาหกรรมทำสีย้อมแห-อวนให้ทนทาน ฟอกหนังให้นิ่มมีสีสวยราคาดีและยังใช้สารสกัดกลุ่มแทนนินของหมากทำยาแผนปัจจุบันหลายชนิด เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยารักษาปากเปื่อย ยาสมานแผล ยาขับพยาธิสัตว์ เป็นต้น

สิ่งเสพติดนั้น ถ้าไม่เสพเลยก็ประเสริฐสุด แต่ในวิถีของโลกียชนที่ยังมีความเครียด เหงา เศร้า เซ็ง ย่อมต้องพึ่งสิ่งเสพติดบ้างไม่มากก็น้อย

หมากจึงเป็นสมุนไพรในภูมิปัญญาตะวันออกที่ให้สังคมพึ่งพิงยาเสพติดแต่พองาม เพื่อมิให้ลุกลามไปสู่ยาเสพติดชนิดร้ายแรงที่ทำลายสังคม

มีงานวิจัยว่า อินเดียซึ่งมีประชากรกว่าพันสี่ร้อยล้าน แม้มีปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงมาก แต่กลับมีปัญหายาเสพติดน้อยมาก

ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะ “หมาก” ยังมีบทบาทอย่างเหนียวแน่นในอารยธรรมอินเดียนั่นเอง