งานศพโควิด : กระทบงานศพน้าค่อมและทุกคน ‘ทั้งพุทธ-มุสลิม’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

งานศพโควิด

: กระทบงานศพน้าค่อมและทุกคน

‘ทั้งพุทธ-มุสลิม’

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

งานศพถือเป็นวิถีชีวิตของคนไทยไม่ว่าชาวพุทธหรือมุสลิม

แน่นอนที่สุดเมื่อใครก็แล้วแต่เสียชีวิตจะญาติ มิตร เพื่อนฝูง ไปงานศพจำนวนมากโดยปกติก็จะมีการทำบุญถึง 7 วัน และจะมีกิจกรรมหลายประการในงาน ที่จะรวมผู้คนในการแสดงความเสียใจ รวมทั้งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ว่าเงินทองหรือแรงกาย

แต่ในช่วงโควิดระบาดหนักอย่างนี้ กิจกรรมเหล่านี้ทางรัฐ องค์กรศาสนาก็จะประกาศให้เจ้าภาพปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

เช่น กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกประกาศให้มีการจัดงานพิธีงานบุญ-งานแต่ง-งานศพ โดยให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ไม่ขัดต่อประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนด

ได้แก่ ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พร้อมทั้งมาตรการที่รัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด

รวมทั้งประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด

อีกทั้งประกาศขององค์การทางศาสนาที่ทางราชการให้การรับรอง หรือหน่วยงานของรัฐที่กำกับ

ผู้จัดงานต้องแจ้งเจ้าพนักงานหรือหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคระดับหมู่บ้านหรือชุมชน

ผู้เข้าร่วมงานต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ ให้งดการมาร่วมงานโดยเด็ดขาด

จัดให้มีจุดคัดกรองและตรวจวัดไข้ผู้เข้าร่วมงาน หากตรวจพบผู้มีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศา แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยทันที

ต้องจัดให้มีการลงทะเบียน หรือบันทึกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ผู้เข้าร่วมงาน

ต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริเวณจุดทางเข้างาน และจุดต่างๆ

ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่ในบริเวณการจัดงาน ที่ผู้เข้าร่วมงานต้องสัมผัสบ่อยๆ หรือใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพื้นที่โดยรอบการจัดงาน

ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดงานให้สั้นที่สุด นอกจากนี้ เจ้าภาพจะต้องรีบแจ้งและจัดส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดต่อกระทรวงสาธารณสุขในทันที หากทราบภายหลังว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าร่วมงาน

และงดจัดงานเลี้ยงทุกประเภท งดจัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดการจัดแสดง ดนตรี มหรสพ หรือเต้นรำทุกชนิด

อย่างไรก็แล้วแต่ ข่าวการติดโควิดจากคลัสเตอร์งานศพที่เชียงใหม่ภาคเหนือและนครศรีธรรมราชล่าสุดมาจากการเล่นการพนันในงาน สะท้อนว่า เจ้าภาพและผู้ร่วมงานมิให้ความสำคัญในมาตรการต่อเรื่องนี้

จนท้ายที่สุดกระทบงานศพทั้งตลกดังน้าค่อมและทุกคน

 

งานศพน้าค่อมแบบอย่างที่ดีในช่วงโควิด

30 เมษายน 2564 หลังทราบข่าวการเสียชีวิต “น้าค่อม ชวนชื่น” ตลกชื่อดัง มีสื่อมวลชนมาติดตามสถานการณ์ โดยทางโรงพยาบาลยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลระบุว่า กรณีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ก็จะมีการห่อร่างด้วยถุงซิปล็อก 3 ชั้น ก่อนญาตินำร่างไปประกอบพิธีทางศาสานา และไม่อนุญาตให้เปิดออกจากถุงบรรจุศพ

เวลา 12.37 น. ขบวนรถมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้เคลื่อนศพน้าค่อมออกจากโรงพยาบาลแล้ว เพื่อนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจศพที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน

ในเวลา 15.00 น. โดยรถที่เคลื่อนศพออกไป เจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำรถสวมใส่ชุด PPE ป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งรถมูลนิธิทุกคัน ภายในรถมีการปูผ้าป้องกันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ซึ่งทางญาติได้ขออภัยทุกท่านเพราะดำเนินการทางพิธีทางศาสนาตามมาตรการโควิดทุกประการ ในงานมีญาติสนิทไม่กี่คน แม้แต่ภรรยาน้าค่อมมาไม่ได้ อยู่โรงพยาบาล ลูกชายน้าค่อมหนึ่งคนต้องกักตัว 14 วัน

อย่างไรก็แล้วแต่ นายกสมาคมตลกแห่งประเทศไทย จัดงานรำลึก “น้าค่อม” อย่างยิ่งใหญ่หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น

 

ในขณะที่วันที่ 26 เมษายน 2564 พระวัดหาดใหญ่ สวมชุด PPE สวดอภิธรรมศพที่ตายด้วยโควิด-19 จนมีเรื่องดราม่าในโลกโซเชียล

จนพระรูปดังกล่าวต้องออกมาชี้แจงว่า “เพราะญาติร้องขอ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้มาส่งที่วัด ดังนั้น เพื่อให้มีการจัดการที่ปลอดภัย เมื่อนำศพมาก็เผาทันที ซึ่งศพมีการห่อหุ้มอย่างดี และทุกคนก็ระมัดระวังป้องกันตัวเองอยู่แล้ว”

ล่าสุด ทางวัดได้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดโควิด-19 ของพระภิกษุและสามเณรภายในวัดอย่างเข็มงวดเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 8 พฤษภาคม

เช่น งดบิณฑบาตนอกวัด งดกิจนิมนต์ จัดเวรพระจำนวน 5 รูปประจำที่ศาลาการเปรียญเพื่อรับบิณฑบาตและรับสังฆทาน ห้ามรับสังฆทานส่วนตัวที่กุฏิของตน

พระภิกษุ-สามเณรและเจ้าหน้าที่ภายในวัดอยู่เฉพาะในที่พักของตนเองเท่านั้น

 

สําหรับงานศพมุสลิม หากคนทั่วไปเสียชีวิตก็ให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขทุกประการ ละหมาด พิธีศพใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทั้งที่มัสยิด สุสาน ที่บ้านผู้เสียชีวิต หากจะทำบุญก็ปฏิบัติตามมาตรการทุกประการ หากจะทำอาหารเลี้ยงทำบุญก็ใส่ถุงแจกตามบ้าน งดการสัมผัสมือตอนให้สลามทักทาย

กรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 นั้น ห้ามญาติและผู้มาเยี่ยมสัมผัสหรือจูบศพ และเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อ จึงทำให้การจัดการศพต้องดำเนินไปตามหลักการแพทย์ทุกประการ

อีกทั้งสำนักนักจุฬาราชมนตรีได้ให้แนวทางและวิธีการจัดการศพมุสลิมที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

1. ให้ตะยัมมุมให้แก่ศพ ตามประกาศจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 3/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยวิธีการดังต่อไปนี้

1.1 ให้ผู้ทำตะยัมมุมตั้งเจตนา (เนียต) ว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจตะยัมมุมแทนการอาบน้ำให้แก่ศพนี้เพื่ออัลลอฮ์ ตะอาลา” โดยให้เนียตขณะยกฝ่ามือขึ้นหลังจากตบฝุ่นแล้ว

1.2 ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างตบฝุ่นครั้งที่ 1 เพื่อลูบบริเวณใบหน้าศพ

1.3 ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างตบฝุ่นครั้งที่ 2 แล้วใช้ฝ่ามือขวาลูบมือขวาของศพถึงข้อศอก หลังจากนั้นใช้ฝ่ามือซ้ายลูบมือซ้ายของศพจนถึงข้อศอก หรืออย่างน้อยที่สุดลูบให้ถึงข้อมือทั้ง 2 ข้าง

2. หากการสัมผัสศพโดยตรงนั้นไม่ปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ทำตะยัมมุม อนุญาตให้ทำตะยัมมุมบนถุงห่อศพโดยไม่ต้องแกะถุงออก และให้ปฏิบัติตามรายละเอียดที่ระบุในข้อที่ 1

3. กรณีผู้ทำตะยัมมุมได้ละหมาดญะนาซะห์ให้แก่ศพแล้ว ให้รีบนำศพไปฝังที่สุสานทันที แต่หากยังมิได้ละหมาดญะนาซะห์ให้แก่ศพ ให้ญาติของผู้เสียชีวิต (เฉพาะญาติใกล้ชิดเท่านั้น) ละหมาดที่สุสาน โดยให้ผู้ร่วมละหมาดป้องกันตนเองโดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างระหว่างกัน 2 เมตร ทั้งนี้ ให้ฝังศพผู้เสียชีวิตในท่านอนตะแคงขวาหันหน้าไปทางกิบละห์ (ทิศตะวันตก)

4. กรณีไม่มีบุคลากรหรือแพทย์มุสลิม ขอให้ทางโรงพยาบาลหรือญาติของผู้เสียชีวิตติดต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรืออิหม่ามในพื้นที่ของผู้เสียชีวิต มารับศพไปจัดการละหมาดและฝังทันที โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จนการฝังแล้วเสร็จ ทั้งนี้ หากจังหวัดใดไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้โรงพยาบาลหรือญาติของผู้เสียชีวิตติดต่อมายังสำนักจุฬาราชมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 0-2949-4278, 0-2949-4288, 0-2949-4312-3, 09-4553-5655, 08-9635-3554 เพื่อประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในขณะที่สภาวินิจฉัยหลักการอิสลามของอียิปต์ให้ทัศนะเพิ่มเติม “หากการตะยัมมุมนั้น ยังถือเป็นอุปสรรค (ไม่สามารถทำได้) ซึ่งไม่สามารถเผชิญต่อการเกิดระบาดได้ ก็ไม่ต้องทำการตะยัมมุม แต่ยังคงทำการห่อ ละหมาดและฝังศพ อย่างสุดความสามารถ เท่าที่จะทำได้แก่ศพที่ติดเชื้อ”

 

ประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.มุสลิมจากพรรคพลังประชารัฐ (ลูกชายอดีตจุฬาราชมนตรี นายประเสริฐ) เตรียมกุโบร์ (สุสานมุสลิม) กลาง กทม.สำหรับผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 บริการประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม ฟรี! สำหรับผู้ที่ไม่สามารถนำร่างกลับภูมิลำเนาได้

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. เขต 19 พรรคพลังประชารัฐ และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีพี่น้องชาวมุสลิมมารักษาตัวด้วยโรคโควิด-19 และเสียชีวิตในกรุงเทพมหานคร ว่าหากทางครอบครัวไม่สะดวกในการนำร่างกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมและไม่สามารถจัดการฝังศพยังสุสานประจำมัสยิดในกรุงเทพมหานครได้นั้น ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคพลังประชารัฐ หรือ ศปฉ.พปชร. ได้มอบหมายให้ตนไปประสานงานจัดหาพื้นที่รองรับไว้ เบื้องต้นได้ที่กุโบร์กลาง (สุสานกลางมุสลิมประจำกรุงเทพมหานคร) ซึ่งพร้อมให้บริการประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม จนแล้วเสร็จ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากท่านอิหม่ามวินัย สนีเฮง อิหม่ามประจำมัสยิดดารุ้ลฆ่อนี (โต๊ะนิล) นายภูวนาท นนทรีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหนองจอก และผู้ดูแลกุโบร์ดังกล่าว พร้อมได้มอบชุด PPE รองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีฝังศพมุสลิมที่เสียชีวิตจากติดเชื้อโควิด-19 และให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่ประสงค์จะมาทำการฝังศพ ณ สุสานกุโบร์กลางแห่งนี้

สามารถประสานงานมายังศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 หรือ ศปฉ.พปชร. สายด่วน 0-2939-1111 ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 -21.00 น.