นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ คีย์แมน ร.พ.เอกชน เชียร์กระจายวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์

คีย์แมน ร.พ.เอกชน

เชียร์กระจายวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจ

 

ประเทศไทยต้องมีวัคซีนโควิด 100 ล้านโดส!

นั่นคือคำประกาศของบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

พร้อมกับการปลดล็อกครั้งสำคัญ ด้วยการไฟเขียวให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มอีก 35 ล้านโดส จากเดิมที่รัฐบาลมีวัคซีนอยู่ในกระเป๋าแล้วราวๆ 63-65 ล้านโดส

รวมทั้งได้สั่งการให้วางแผนกระจายและเร่งฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นภายในธันวาคม 2564 นี้

เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิดให้เร็วที่สุด

…นี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่กำลังเกิดขึ้น

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ที่ยอดผู้ป่วยใหม่พุ่งทะลุหลัก 2,000 คน ต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ จากก่อนหน้านี้ที่ต่อวันเฉลี่ยสูงกว่า 1,500 คน เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก

…นี่อาจเป็นตัวแปรทำให้ความพยายามในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศมีความยากลำบากมากขึ้น และอาจต้องลุ้นกันว่า จะทันสถานการณ์หรือไม่

 

ล่าสุด นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หนึ่งในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2109 (โควิด-19) และคณะทำงาน ทีมดี Extra vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนทางเลือก…ดังนี้

“…ล่าสุด ผู้ที่มีใบอนุญาตก็อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ หรือบางรายก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการนำเข้า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศมีวัคซีนครบ 100 ล้านโดส เพื่อจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งเป็นทางออกของประเทศในเวลานี้”

“วัคซีนที่เอกชนนำเข้าจะช่วยเสริมกับวัคซีนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตไปแล้ว 3 ราย (ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) นอกจากนี้ รัฐบาลก็ได้เจรจากับไฟเซอร์ และสปุตนิก เพื่อซื้อวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง”

ในฐานะคณะทำงานทีมดี หอการค้าฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ตอนนี้หอการค้าฯ กำลังสำรวจความต้องการ เบื้องต้นคาดว่าตัวเลขจะมีประมาณ 5-6.5 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีความต้องการจากบริษัทใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านโดส

โดยในจำนวนนี้จะเป็นการจองผ่านองค์การเภสัชฯ ที่ผ่านมา หอการค้าฯ ได้จองจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประมาณ 5 ล้านโดส เป็นการสั่งจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่คาดว่าวัคซีนน่าจะมาในช่วงไตรมาส 4

แต่นอกเหนือจากนั้น ดีมานด์จากภาคเอกชนต่างๆ ก็จะมุ่งไปวัคซีนทางเลือกที่เอกชนที่มีใบอนุญาตอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งขณะนี้บริษัทเอกชนหลายๆ แห่ง หรือบริษัทที่มีเครือข่ายหลายๆ บริษัท ก็ได้มีการพูดคุยหารือเพื่อขอจองวัคซีนจากบริษัทเอกชนที่มีใบอนุญาตนำเข้าวัคซีนไปบ้างแล้ว และคาดว่าน่าจะทยอยเข้ามาได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 หรือหากโชคดีและไม่มีอุปสรรคก็อาจจะเข้ามาเร็วกว่านั้น

“เมื่อได้วัคซีนมาแล้ว หอการค้าฯ จะร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อทำการฉีด โดยที่โรงพยาบาลเอกชนจะคิดค่าบริการฉีดบวกค่าประกัน เฉพาะค่าประกันตีกลมๆ ว่าประมาณ 100 บาท เบ็ดเสร็จรวมแล้วไม่น่าจะเกิน 1,000 บาท”

 

คีย์แมนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังระบุด้วยว่า นอกจากความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแล้ว ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ และต้องยอมรับว่าผลกระทบจากโควิดรอบนี้รุนแรงมากกว่ารอบที่แล้วๆ มา ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ป่วย และอัตราการตายที่สูง

จีดีพีของประเทศในภาพรวมอาจจะไม่ดีนัก โดยส่วนตัวคาดว่าปี 2564 อาจจะโตเพียง 1-2% ได้หรือไม่ ยังไม่รู้เลย เพราะนี่ไตรมาส 2 แล้ว ตอนนี้ลำบากกันหมด การลงทุนแทบไม่มี การท่องเที่ยวไม่มี โรงแรม สายการบิน กระทบหมด โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ถ้ายังตัดวงจรการระบาดไม่ได้ เศรษฐกิจประเทศจะเข้าสู่โซนอันตราย

ดังนั้น ทางออกในเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนเป็นสำคัญ หากวัคซีนเข้ามาและพยายามเร่งฉีด ต้องฉีดให้ได้มากที่สุดให้ได้ 50 ล้านคน เพื่อให้จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และหยุดการระบาดได้ แล้วไปคาดหวังปีหน้า

ตอนนี้ทุกคน ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศ เขาก็รออยู่ เมื่อวัคซีนมา ควรที่จะเร่งรัดให้วัคซีนมาเร็ว เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และฉีดให้ครบภายในปีนี้ ถ้าฉีดได้ ปีหน้าจะเป็นจะคิวทอง เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น

“ถ้าวันนี้ประเทศไทยยังไม่ฉีดวัคซีน หรือยังฉีดไม่พอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ การเปิดประเทศ การมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยประเทศชาติ แต่ที่สำคัญคือ ไม่ควรจะดีเลย์ไปมากกว่านี้”

 

นายแพย์เฉลิมยังระบุด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มวันละมากกว่า 2,000 คน และต่อเนื่องมา 5-6 วัน และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่วนตัวมองว่า ตัวเลขนี้สะท้อนว่าสถานการณ์กำลังเข้าโซนอันตรายแล้ว และจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีปัญหาตามมาหลายเรื่อง เตียงไม่พอ ห้องไอซียูไม่พอ ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโรงพยาบาลเอกชนก็เร่งช่วยกันแก้ไข

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องยาเป็นตัวแปรด้วย เพราะวัคซีนสายพันธุ์อังกฤษลงปอดได้เร็ว และอัตราการตายสูง หากระบาดเร็ว ห้องไอซียูจะไม่เพียงพอ

ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้มีการขยายเตียงไอซียูเพิ่มเป็นระยะๆ บางแห่ง 20% บางแห่ง 100% ขยายเพิ่มขึ้น ไม่นานก็เต็มหมด ไม่พอ ต้องมีการส่งต่อไปในจังหวัดที่มีการระบาดน้อย อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือ ต้องยอมรับว่าบุคลากรที่จะดูแลผู้ป่วยเริ่มมีไม่เพียงพอ

บทสรุปและข้อเสนอแนะที่เป็นทางออก ที่คีย์แมนสมาคมโรงพยาบาลเอกชนฝากและย้ำในบรรทัดสุดท้ายนี้ก็คือ

“ต้องเร่งกระจายและฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และต้องพยายามตัดวงจรการระบาดของโควิด-19 ให้ได้”