กระเบื้องเฟื่องฟูลอย/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

กระเบื้องเฟื่องฟูลอย

 

ความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของรัฐบาลในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่น่าสนใจในการหาคำตอบอย่างยิ่งว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร

หากสำรวจความคิด ความรู้สึกของคนที่นำเสนอผ่านโลกออนไลน์ในช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ จะพบว่าส่วนใหญ่มองความไร้ประสิทธิภาพ รวมๆ คือผู้นำขาดวิชั่นที่จะประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง

ถูกผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางพวกครอบงำ จนไม่สามารถกำหนดแผนการบริหารจัดการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ได้

จนถึงถูกมองว่า “ไร้สำนึก” ที่จะรับผิดชอบต่อประชาชน ถูกค่านิยมอภิสิทธิ์ชนต้องมาก่อนชี้นำจนหมดสภาพที่จะพัฒนาความสามารถในการดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม แบบมีเหตุผลที่อธิบายได้

นั่นเป็นมุมมองของคนส่วนใหญ่ แต่มีไม่น้อยที่เห็นว่า คนส่วนใหญ่ประเทศนี้เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีจิตสำนึกที่จะช่วยเหลือในการแก้ปัญหา ปล่อยให้คนบางกลุ่มต้องทำงานเพียงลำพังท่ามกลางเสียงก่นด่า เป็นแบบ “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ”

ความแตกต่างทางความคิดนี้น่าสนใจ

 

“นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “ผ้สูงวัยไทย เผชิญภัยกับโรคระบาด COVID-19 อย่างไร?”

ในคำถามที่ว่า “ท่านรับรู้หรือเคยได้ยินเกี่ยวกับการป้องกันการตัดเชื้อ COVID-19 ในเรื่องใด”

ผู้สูงวัยร้อยละ 96.50 ตอบว่า สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ถุงมือ, ร้อยละ 79.98 ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่/เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ, ร้อยละ 53.98 เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร, ร้อยละ 46.50 หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันมากๆ, ร้อยละ 21.52 เลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น ให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุด ในระยะเวลาสั้นที่สุด, ร้อยละ 13.70 หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น, ร้อยละ 10.12 หลีกเลี่ยงการจับมือ

นั่นคือรับทราบความรู้ที่ทางราชการแนะนำ

หากถามว่ารู้แล้ว “ทำ” หรือไม่

ในคำถามที่ว่า “ท่านสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าเมื่อออกนอกบ้านระหว่างการแพร่ระบาด COVID-19 หรือไม่” ร้อยละ 93.07 ใส่ทุกครั้ง, ร้อยละ 6.55 ใส่เป็นบางครั้ง, ร้อยละ 0.38 ไม่เคยออกจากบ้านในช่วง COVID-19 ระบาด

คำตอบคือประชาชนทั้งหมดทำ มีนิดหน่อยที่ไม่ได้ทำทุกครั้ง แต่ที่สุดคือ “ประชาชนทำในสิ่งที่ควรทำ”

 

แต่มีบ่อยครั้งที่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือถูกอัญเชิญเข้ามาด้วยอำนาจของคนบางกลุ่ม หรือข้าราชการ หรือผู้อิงแอบในแวดวงอำนาจมองว่า ประชาชนไม่ได้ทำ หลายครั้งพวกเขาออกมาตำหนิและโยนความผิดให้ประชาชน

มีแต่พวกเขาที่ทำงานหนักอย่างหามรุ่งหามค่ำ เสียสละเวลาส่วนตัว

พวกที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นพวกงอมืองอเท้าไม่มีส่วนร่วมในการทำ และเอาแต่เรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์

พวกเขาเหล่านี้ “ผูกขาดการทำ” ไว้เพื่อทำให้ตัวเองดูดี ทั้งที่แท้จริงแล้ว “คนเหล่านั้น” เป็นผู้มีหน้าที่และได้รับผลตอบแทนที่มาจากภาษีที่ประชาชนจ่ายให้ในการทำตามหน้าที่

กลับกลายเป็นว่า เขามองไม่เห็นหน้าที่ประชาชนผู้เป็นนายจ้างในการที่จะต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเขา ว่าเป็นการทำหน้าที่ของนายจ้าง

กลับมองว่าการทำหน้าที่ของประชาชนเป็นการเอา “เท้าราน้ำ”

 

ทั้งที่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดในการระบาดรอบที่ 3 นี่ตอกย้ำชัดเจนว่าเป็น “ความรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างห่วยแตกของพวกเขา”

ปล่อยให้ผลประโยชน์จากบ่อน สถานบันเทิง เลยไปถึงสถานค้าประเวณีครอบงำให้ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่

บริหารเพื่อแก้ปัญหาการระบาดอย่างล้มเหลวในทุกมิติ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงบริการการป้องกันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกัน

ทุกอย่างถูกผูกขาดการบริหารไว้ให้คนบางกลุ่ม บางชนชั้น โดยคนส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้ง กระทั่งป่วยตายคาบ้านโดยไม่สามารถติดต่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบมาเหลียวแลได้

คนบางกลุ่มเรียกการทำแบบนี้ของผู้มีหน้าที่ว่าเป็นการ “ทำ” เป็น “มือที่พาย”

และเรียกเจ้าของภาษีที่เรียกร้องการบริหารจัดการที่เท่าเทียม เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพพอจะเป็นความหวังได้ว่า “เท้าราน้ำ”

“เชลียร์” กันอย่างไม่เหลือสมองให้คิดว่า ที่ “ทำ” นั้นใคร และใครที่ “เลอะเทอะ” ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ไปทำในเรื่องที่ก่อปัญหาตามมามากมาย