คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจ(ผิด)เกี่ยวกับ “รามายณะ” (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ประเด็นเรื่อง “โขน” กลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างไทยกับเขมรว่าตกลงเป็นของใครกันแน่

ปราชญ์หลายท่านจึงได้จังหวะเสนอความรู้อะไรหลายหลาก ซึ่งนั่นทำให้ผมเองก็ได้ความรู้ไปด้วยเช่นกัน

สุดท้ายก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า ต้องเข้าใจให้ได้ว่ามันเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์

และบางท่านยังเสนอว่าถ้าจะจดทะเบียนอะไรต่างๆ ก็จดแยกกันไปเลยดีกว่า

ที่จริงผมสนใจเรื่องโขนละครพอสมควรครับ แต่เป็นในมิติศาสนาและความเชื่อ

คือเห็นว่าโขนนี่สะท้อนอะไรหลายอย่างในความเชื่อโบราณของเรา จึงตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะลองเขียนเรื่อง “ศาสนาโขน-ละคร” ดู

แต่ช่วงนี้มีเรื่องที่แทรกเข้ามาในใจแล้วอยากเขียนก่อน ที่จริงก็เกี่ยวกับเรื่องโขนนิดหน่อยครับ คือเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “รามายณะ” อันเป็นที่มาของ “รามเกียรติ์” ของเราที่เอาไว้เล่นโขนนั่นแล

ประการแรก ผมขอใช้พื้นที่นี้โต้แย้งบทความเรื่อง “รามายณะ มหากาพย์กับพุทธศาสนา” ของคุณกลิ่นบงกช ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

สมัยนั้นยังไม่ได้เขียนในมติชนครับ ครานี้สังคมมีประเด็นเรื่องโขนเลยได้โอกาส

ประเด็นที่คุณกลิ่นบงกชเสนอ ผมสรุปมาดังนี้ คือ

ข้อแรก เสนอว่าวาลมีกิผู้แต่งรามายณะ มีความตั้งใจจะกดพระพรหมให้ต่ำลงและยกชูพระเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาคือพระวิษณุ ด้วยเหตุว่าพระพรหมที่เคยสำคัญหนักหนาของพราหมณ์ แปรพักตร์ (ทั้งสี่) ไปเข้ากับพุทธศาสนาเสียแล้ว

ข้อที่สอง ศังกราจารย์ (ที่คุณบงกชอ้างว่าเกิดในปี พ.ศ.1331-1361) ผู้เคยบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นผู้แต่งรามเกียรติ์เพื่อจะยกชูเทพองค์ใหม่เช่นกัน แทนที่พระพรหมด้วยพระศิวะ แทนที่พระอินทร์ด้วยพระวิษณุ (ซึ่งอ้างว่าสีเขียวเหมือนกัน) สร้างเรื่องให้พระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระวิษณุ

ข้อสาม ทำพระศิวะให้ดูดีโดยถือว่าพระศิวะนั้นเป็นต้นวงศ์ของพระราม คือให้กำเนิดท้าวอโนมาตันบรรพบุรุษพระราม แต่ให้พระพรหมซึ่งเป็นต้นวงศ์ทศกัณฐ์อยู่ฝ่ายร้าย เพราะให้กำเนิดท้าวลัสเตียนบรรพบุรุษทศกัณฐ์

สุดท้ายเปล่งน้ำเสียงคล้ายยั่วยุให้ชาวพุทธมีน้ำโห โดยบอกว่าทั้งวาลมีกิและศังกราจารย์ ลอกวรรณกรรมชาวพุทธ คือทศรถชาดกเพื่อแต่งรามายณะ และลอกกุณาลชาดกเพื่อแต่งมหาภารตะ

ครับ ไม่จบไม่สิ้นกับการแสวงหาตัวร้ายทำลายพุทธศาสนา ตอกย้ำประวัติศาสตร์อันควรเคืองแค้นว่าฮินดูนั่นเองคือผู้ทำลายพุทธศาสนาจนพินาศสิ้น แฝงเร้นน้ำเสียงยั่วยุชวนหวาดกลัวภัยภายนอกและให้หาทางออกมาปกป้องหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อพุทธศาสนา

ผมมิได้ปฏิเสธนะครับว่าการสูญสิ้นของพุทธศาสนาในอินเดียฮินดูไม่เกี่ยว แต่อย่าลืมว่ามันมิได้มีปัจจัยง่ายๆ แค่นั้น มีปัจจัย “ภายใน” ของพุทธศาสนาเองและปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมสลายจากอินเดีย

เรื่องนั้นคงต้องสาธกกันอีกยาว

มาเรื่องรามายณะกันดีกว่าครับ

ประเด็นเรื่อง “ศังกราจารย์” ซึ่งเป็นปราชญ์ของฮินดูนั้น นักวิชาการไทยรุ่นเก่าๆ มักจะคิดว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ตามที่คุณกลิ่นบงกชอ้างมาแหละครับ

จริงๆ แล้วมีการค้นคว้ากันใหม่แล้วพบว่า ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากศังกราจารย์ไม่ได้เป็นแค่ชื่อคน แต่เป็น “ตำแหน่ง” ของสำนักนั้นด้วย (ปัจจุบันยังมีอยู่) ศังกราจารย์จึงมีหลายท่านทำให้เข้าใจผิดเรื่อง พ.ศ. ที่แท้จริงได้

แต่ “ศังกราจารย์” ตัวจริงเสียงจริงซึ่งคุณกลิ่นบงกชและชาวพุทธหมายถึงนั้น คือศังกราจารย์คนแรก ซึ่งมักเรียกกันว่าอาทิศังกราจารย์ (อาทิ – แรก, เริ่ม) และนักวิชาการอินเดียทั้งหลายได้ข้อสรุปกันแล้วว่า ท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 อย่างแน่นอน

ที่สำคัญคือศังกราจารย์ไม่เคยแต่งรามายณะครับ

ผลงานของศังกราจารย์ทั้งหมดยังคงรักษาไว้ได้ในปัจจุบัน งานนิพนธ์ของศังกราจารย์แบ่งออกเป็นสามแบบ คืองานอรรถาธิบายคัมภีร์ทางปรัชญา เช่น อุปนิษัทหรือพรหมสูตร งานนิพนธ์ทางปรัชญา และงานนิพนธ์เบ็ดเตล็ด เช่น กวีขนาดสั้น

แต่เคยมีรายงานว่าพบรามายณะหรือเรื่องเกี่ยวกับรามายณะของศังกราจารย์ ข้อมูลนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งจากฝ่ายตะวันตกและฝ่ายอินเดีย

ฉะนั้น ข้อเสนออะไรอื่นเกี่ยวกับรามายาณะที่ลากไปถึงศังกราจารย์ ก็ตกหมด ไม่ต้องพูดต่อ

อ่อ ทั้งนี้ ศังกราจารย์ไม่เคยบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาครับ แม้ว่าจะตั้งองค์กรและจัดระเบียบนักบวชฮินดูคล้ายกับพระในพุทธศาสนา แต่แกไม่เคยบวชแน่ๆ ครับ

คนที่ตามประวัติว่าคณาจารย์ฮินดูที่เคยบวชพระคือ กุมาริลภัฏฏาจารย์ต่างหาก

ข้อถัดไปผมว่า ผู้เขียนบทความมีความสับสนเรื่องรามายณะในระดับพื้นฐานพอสมควรครับ

คือสับสนระหว่าง “รามายณะ” ของวาลมีกิ กับ “รามเกียรติ์” ของไทย

รามายณะของวาลมีกิแต่งในภาษาสันสกฤต อาจจะถือเป็นต้นเค้าของฉบับอื่นๆ ในอินเดียด้านโครงเรื่องหลักก็ได้ แต่รามายณะในอินเดียมีมากมายหลายร้อยเรื่องครับ เฉพาะในภาษาสันสกฤต ก็มี อัทภุตรามายณะ อานันทรามายณะ อาทยาตมรามายณะ ฯลฯ และในฉบับภาษาพื้นบ้านต่างๆ อีกมากมายมหาศาล เช่น รามจริตมานัสของตุลสีทาส รามายณะฉบับพังคลี รามายณะฉบับภาษาทมิฬคือรามาวตารัมของกัมพน ฉบับกัศมีรี ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีฉบับ “นอกฮินดู” เช่น ทศรถชาดก ของพุทธศาสนา รามายณะของศาสนาไชนะ

ฉบับ “นอกอินเดีย” อีกมากมาย เช่น รามเกียรต์ของไทย พระรามพระลักของลาว ของเขมร ของชวา มลายู ฯลฯ

“รามเกียรติ์” ฉบับไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นฉบับต้นรัตนโกสินทร์ น่าจะมีเค้ามาจาก “คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง” ปราชญ์ทั้งหลายเห็นว่าไม่ใกล้ฉบับวาลมีกิเลยครับ แต่น่าจะได้รับอิทธิพลจากฉบับอินเดียใต้ เช่นรามาวตารัมของกัมพน หรือ มยิลิราวัณ ฯลฯ หรือแม้แต่จากชวา เพราะมีเรื่องและตัวละครไม่ตรงกับฉบับวาลมีกิมากมาย

การอ้างว่าวาลมีกิแต่ง “รามายณะ” แต่พูดถึง “รามเกียรติ์” เช่นพูดถึงตัวละครในรามเกียรติ์ อย่าง อโนมาตัน ฯลฯ หรืออ้างถึงโครงเรื่องแบบรามเกียรติ์ ย่อมแสดงว่าผู้เขียนบทความ ขาดความเข้าใจความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์

ส่วนข้ออ้างว่า วาลมีกิแต่งรามายณะโดยมีเป้าหมายกดข่มพระพรหม เพื่อสนับสนุนเทพองค์ใหม่เพราะต้องการโต้ตอบกับพุทธศาสนานั้น รวมทั้งเรื่องลอกชาดกพุทธยิ่งฟังดูไม่น่าใช่ ด้วยเหตุผล คือ

ข้อแรก นักวิชาการภารตวิทยายังคงถกเถียงกันว่า รามายณะ แต่งขึ้นก่อนหรือหลังพุทธศาสนา

ส่วนหนึ่งเห็นว่า เนื้อความหลายส่วนของรามายณะฉบับวาลมีกิน่าจะแต่งขึ้นก่อนพุทธศาสนา เว้นแต่บางกัณฑ์ เช่น อุตรกัณฑ์ซึ่งเน้นคุณวิเศษของพระเป็นเจ้าและเหมือนอรรถถาธิบาย อาจแต่งขึ้นหลังพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นว่า เรื่องพระรามคงมีทั่วไปแล้วในอินเดียก่อนการประพันธ์ของวาลมีกิ ทำนองนิทานชาวบ้าน และบางท่านเสนอว่า เป็นเรื่องที่แปลงจากตำนานในพระเวทด้วยซ้ำ

ดังนั้น หากการวิเคราะห์นี้ถูกต้อง การอ้างว่า รามายณะฉบับวาลมีกิลอกทศรถชาดกมาทั้งหมดจึงฟังไม่ขึ้น

ในแง่นี้ ” ตำนานพระราม” จึงเป็นสมบัติโดยทั่วไปของแผ่นดินอินเดียและโลก ที่ใครจะไปหยิบไปจับมาปรุงอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่สมบัติของศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียว

ข้อสอง ข้อเสนอที่ว่าวาลมีกิต้องการกดข่มพระพรหมและต้องการให้เทพองค์ใหม่มีความสำคัญมากขึ้น ข้อนี้ผมก็ว่าเข้าใจผิด

เพราะในตำนานการกำเนิด “รามายณะ” ของวาลมีกิ วาลมีกิแต่งรามายณะเพื่อ “พระพรหม” นะครับ พอแต่งจบพระพรหมยังให้พรให้รามายณะอยู่ไปอีกนานแสนนานอีก

ถ้าอ้างฉบับไทยว่าทศกัณฐ์มีบรรพบุรุษเป็นพระพรหม เพื่อจะให้พระพรหมอยู่ฝ่ายร้าย ก็ฟังดูแปลกๆ เพราะลูกหลานจะชั่วจะร้ายเกี่ยวอะไรกับบรรพบุรุษครับ ผมว่าถ้าคิดจะดิสเครดิตพระพรหมแค่นี้ยังน้อยไปด้วยซ้ำ

อย่างแขกเองถ้าจะดิสเครดิตพระพรหม เช่นในปุราณะ ก็แต่งว่าพระพรหมชอบให้พรตัวร้ายจนเทพอื่นต้องมาจัดการแก้ไขทีหลัง หรือวันๆ เอาแต่หลับนอนหลังสร้างโลกไม่ทำอะไร เป็นต้น

แรงกว่าแค่เป็นต้นวงศ์ทศกัณฐ์เยอะ

ที่สำคัญ “แนวคิดภักติ” ที่ทำให้วรรณกรรมรามายณะ และมหาภารตะไปผูกโยงกับลัทธินับถือพระวิษณุนั้น เกิดขึ้นในภายหลัง โดยขบวนการภักติในอินเดียใต้ที่เริ่มต้นด้วย รามานุชาจารย์ วรรณกรรม รามายณะถึงได้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาอีกมากมายกว่าสมัยวาลมีกิ

ผมคิดว่า การตีความวรรณกรรมเก่าๆ เป็นเรื่องดีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่การตีความนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งอยู่บน “ข้อมูลเบื้องต้น” ที่ถูกต้อง

ตีความบนหลักฐานที่น้อยยังพอมาเถียงกันต่อได้ แต่ตีความไปบนข้อมูลผิดๆ ยากที่จะไปต่อ

นอกจากบทความดังกล่าวแล้ว ยังมีความเข้าใจที่แพร่หลายโดยทั่วไปเกี่ยวกับรามายณะซึ่งน่าจะต้องไว้จาระไนกันต่อ

ได้โปรดติดตาม

นาร้ายณ์ นารายณ์…