แด่ทุ่งฝันการศึกษา : โรคระบาด-เถรวาท ฤๅจะพรากภูมิปัญญา / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

แด่ทุ่งฝันการศึกษา

: โรคระบาด-เถรวาท ฤๅจะพรากภูมิปัญญา

 

เคยจินตนาการและตีความว่า ฝรั่งเศสคงกลัวเถรวาทสยาม-ธรรมยุติกนิกาย มากจนถึงกับใช้วิธีย้อนศรวัฒนธรรม-ปฏิรูปการศึกษาในเขมร

ตั้งแต่ก่อตั้งสำนักพุทธศาสนบัณฑิตที่นำไอเดียมาจากหอพระสมุดวชิรญาณ

แต่เขาทำได้ดีกว่านะ ทั้งโครงการผลิตหนังสือ แปลพระไตรปิฎก หรือก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาบาลีในหมู่สงฆ์

แต่เขาทำได้ดีกว่านะ อย่างน้อยๆ ก็ไม่กีดกันพระเขมรและลาวทั่วประเทศได้เล่าเรียน และอื่นๆ

กระนั้น ฉันไม่อาจปักใจเชื่อ แค่ธรรมยุติกนิกายจะทำให้ฝรั่งเศสทะเยอทะยานใคร่ชนะกันด้วยวิธีการนี้?

สำหรับความทะเยอทะยานที่ซ่อนเร้นอยู่มากมาย อาทิ ความปรารถนาที่ใช้พัฒนาลุ่มน้ำโขง ให้เป็นเส้นทางสัญจร-ทะลุผ่านไปยังจีน ถึงขนาดพยายามถล่มผาคอนพะเพ็งและทำเป็นเส้นทางรถไฟข้ามแม่น้ำก็ทำมาแล้ว

แต่บางอย่างที่มาก่อนกาลก็ใช่ว่าจะผ่านไปทุกเรื่องเสียเมื่อไหร่ โดยเฉพาะสายน้ำนั้น คงไม่ไหลทวนขึ้นข้างบน และด้วยเหตุนั้น 1 ศตวรรษผ่านไป พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPP) ก็กินรวบทุกอย่างไปบนเส้นน้ำสายนี้

ใช่ว่าแต่เขมรหรือลาวเท่านั้น แต่ยังรวมประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างไทยและพม่าเข้าไปด้วย

ดังนี้ ความพยายามเร่งรัดให้แคว้นเขมรพัฒนาด้านการศึกษาอย่างแท้จริง จึงมีที่มาจากหลายกรณี แต่ที่หักล้างความรู้สึกฉันอย่างมากคือ การมาเยือนของ “ไข้หวัดสเปน” โรคระบาดร้ายแรงเมื่อร้อยปีก่อน (2461-2463)

ความหนักหน่วงของโรคระบาดในเขมรครั้งนั้น ถึงกับว่าต้องอาศัย เจ้าหน้าที่ชาวนิคมผิวสีมาจากประเทศกาฬทวีป มาช่วยงานด้านสาธารณสุขในดินแดนอินโดจีน

ความจริงแล้วเขาอาจเดินทางมากับเรือสินค้าลำหนึ่ง แต่ด้วยสุขภาพและร่างกายที่บึกบึนแข็งแรง หรือไม่ ภาษา การสื่อสารและความรู้พื้นฐานด้านสุขอนามัยหรือไม่ที่ทำให้ชาวผิวสีนิลกาฬผู้นี้เป็นที่พบเห็นในอินโดจีน

ลำพังไข้หวัดสเปนว่าหนักแล้ว แต่ชาวเขมรน่ะ ยังเป็นโรคกลัวชาวผิวดำหนักกว่า

อย่างไรก็ตาม นี่ทำให้เราเห็นว่า ยุคของโรคระบาดในศตวรรษที่ผ่านมาได้สร้างประสบการณ์เดียวกันกับยุคนี้ คือความตื่นตัวของรัฐที่จะรับมือกับองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์

แน่นอน สิ่งที่ขาดแคลนอย่างมากของที่นี่คือแรงงานท้องถิ่นที่รัฐบาลอินโดจีนจะต้องสร้างขึ้นเพื่อรองรับนโยบายสัมปทานที่ดินในเขตชนบทกัมพูชาแก่นายทุนฝรั่งเศสที่ไม่อาจอยู่ได้โดยชาวอันนัมอพยพเท่านั้น

แต่น่าแปลก การสร้างจูงใจให้ชาวเขมรรักการทำงานและการแข่งขันแบบชาวตะวันตกและเวียดนาม กลับเป็นเรื่องยากถึงยากมาก

หรือแม้แต่การสร้างโรงเรียนตะวันตกสมัย ก็ยังถูกเมินจนต้องเปลี่ยนเป็นโรงเรียนลูกผสม “เขมร-ฝรั่งเศส” และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น “โรงเรียนวัด!”

ซึ่งในปีที่โรคระบาดเข้ามานั้น จำนวนผู้ได้รับการศึกษาในเขมรยังมีเพียงหลักพัน แม้ขณะนั้นที่ฮานอยยังไม่มีสถาบันวิจัย (หลุยส์ ปาสเตอร์) แต่การรับมือโรคระบาดของประชากรกลับดีกว่าโคชินไชน่า (ไซง่อน) และแคว้นเขมรที่มีโรคระบาดน้อยกว่าแต่ระบบสาธารณสุขกลับเลวร้ายกว่าเขตอื่น

บทเรียนจากโรคระบาดครั้งนั้น ถึงกับก่อให้เกิดภารกิจบางอย่างที่ถูกละเลยอย่างร้ายแรงด้านการศึกษา สุขภาพประชากร ที่กลายเป็นภาระอันพึงละอายในแง่อารยธรรม

มิพักว่า จะเป็นความปรารถนาหรือต่อต้านของชาวท้องถิ่นหรือไม่? แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาคือความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากัมพูชาให้ขึ้นมาเท่าเทียมกับแคว้นอื่น โดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรบุคคล

เมื่อเทียบกับเวียดนามแล้ว งบประมาณที่ผลาญไปกับโรคระบาดครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลประจำแคว้นกัมโพชยอมทุ่มสุดตัวในการ สร้างระบบการศึกษาแผนใหม่ให้เขมร

เน้นเยาวชนพระเณร-กลุ่มแรงงานจำนวนรายที่กลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่ชาวเขมรไม่สนใจเรื่องทำมาหากิน นอกจากมุ่งส่งให้ลูกชายของตนบวช

และนี่คือที่มาของนโยบาย “pagoda schools” – “การศึกษาแผนใหม่กัมพูชา” ที่หลุยส์ มานีโปด์ เริ่มโครงการนำร่องไปก่อน 2 ปี ก่อนที่ข้าหลวงใหญ่ประจำแคว้น-ปิแอร์ ปาสกีเยร์ (Pierre Marie Antoine Pasquier) จะร่วมโครงการ (2471-2477)

กระนั้น ความราบรื่นของ “มานีโปด์โมเดล” ก็ใช่ว่าจะง่าย ดังจะเห็นจากในที่สุด ชาวบ้านก็ยังส่งลูกหลานไปไปบวชเณรเรียนธรรมที่วัดอยู่ดี

แต่ใครจะรู้ 10 ปีต่อมา อานิสงส์ของ “มานีโปด์โมเดล” กลับส่งผลล้ำค่า เมื่อหนังสือพิมพ์เขมรฉบับแรก ‘นครวัด’ (Nagara Vatta) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา (2479) และความสำเร็จของมันได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อยอดซื้อประจำฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวเขมรตื่นตัวมากกับการติดตามสังคมการเมือง และมีทักษะในการอ่าน

หาใช่พวกเกียจคร้านและไม่รักดีด้านการศึกษาอย่างที่เข้าใจ

ส่วนปิแอร์ ปาสกีเยร์ ก็ทำหน้าที่ไปและพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของแคว้นกัมพูชาดีขึ้นอย่างเห็นชัด!

มันพิสูจน์แล้วว่า การศึกษาช่วยให้แคว้นประเทศก้าวหน้า คุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ไม่ก้าวหน้า เป็นการปกครองที่เท่าทันต่อยุคสมัยในการพึ่งพาตัวเอง ตามแนวคิดและหลักการ “ฝรั่งเศสขยายฐาน” (ideology of French Expansion) ที่ให้ผลทรงคุณค่า

นั่นคือความจริงว่า ความเป็นปฏิปักษ์ต่อเถรวาทในเขมร (และสยาม) ตามที่เราคิดไว้จึงไม่ใช่ทั้งหมด นั่นเป็นเพียงผลพลอยได้จากนักการศึกษาเชื้อสายยิว แต่ความจริงที่มากกว่า ความปรารถนาในทรัพยากรแรงงานที่ขาดแคลนในแคว้นนี้ และสิ่งที่ชาวท้องถิ่นอาจคิดไม่ถึงนั่น

คือการลดภาระการเลี้ยงดูหมู่พระเถรวาทที่อยู่ในรูปไม่สร้างภาษีมูลค่าแก่รัฐตลอดชีพนั่นเอง

พลัน อย่างสิ้นสุดในรูปรอยแห่งความคิด ฉันมีความรู้สึกเหมือนผ่านการเรียนรู้จากครั้งนี้

โดยเฉพาะเมื่อรำลึกว่า ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่ายในแง่การเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่นเดียวกับแนวคิด “อุดมการณ์ขยายฐานเศรษฐกิจ” นั่น ที่พัดพาให้เกิดเป็นเมล็ดพันธุ์กลุ่มนักปฏิวัติ

จาก 12 ปี ที่หลุยส์ มานีโปด์ อบรมเป็นครูชุดแรก และได้พระเหม เจียว เป็นสหาย ตัวแทนเถรวาทที่หาตัวจับยากในด้านความฉลาดเฉลียว ทแกล้วทกล้า ในการเรียกร้องความเป็นธรรม

โดยครั้งหนึ่งพระเหม เจียว ถึงกับมีจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้หมู่บรรพชิตและคณะมหานิกายปลดแอกตนเองออกจากระบอบกษัตริย์ที่ใช้อำนาจแทรกแซงคณะสงฆ์ ตลอดจนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

กรณีพระเหม เจียว ข้อนี้ ดูเหมือนจะมาถึงจุดแตกหักอันซับซ้อนระหว่างธรรมยุต-มหานิกาย ภายใต้พระราชอำนาจของกษัตริย์

แต่ในไม่ช้า ความแตกฉานด้านบาลีและเป็นศิษย์พระชั้นผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนพระเหม เจียว จะถูกโดดเดี่ยวลำพังและนั่นก็ยิ่งทำให้เขากระโจนไปสู่กลุ่มนักก่อการซึ่งเป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่ง

ขณะนั้น เหม เจียว ได้ย้ายมาขึ้นกับสำนักพุทธศาสนบัณฑิตแล้ว ตำแหน่งผู้ชำนาญการแปลบาลีในโครงการพระไตรปิฎกของซูซานน์ คาร์เปเลส

แต่ด้านหนึ่ง เขายังทำหน้าที่ “อบรม” บุคลากรของรัฐซึ่งเป็นทหารประจำหน่วยทั่วไปทั้งพนมเปญและต่างจังหวัด

โดยสำนักพุทธศาสนบัณฑิตนี่เอง ที่พระเหม เจียว กับกลุ่มหนังสือพิมพ์ ‘นครวัด’ โดยซึง ง็อกทันห์ และปรัช เฌือน ผู้ก่อตั้ง ‘ขบวนการปลดแอกประเทศ’ จากฝรั่งเศสอย่างลับๆ แต่แล้วพระเหม เจียว และสหายก็ถูกจับกุมจนกลายเป็นการประท้วง ‘ร่มเหลืองปฏิวัติ’ (2485)

พระเหม เจียว ถูกส่งตัวไปขึ้นศาลกรุงไซ่ง่อน และจองจำที่ ‘เกาะตรอลาจ’ จนอาพาธด้วยโรคมาลาเรียและเสียชีวิตที่นั่น

การกวาดล้างพระเหม เจียว และพวก ยังตามด้วยชะตากรรมนักก่อการ-เบื้องหลังปฏิรูปการศึกษา

ซูซานน์ คาร์เปเลส-นายหญิงแห่งสำนักพุทธศาสนบัณฑิต เธอถึงแก่อนิจกรรมที่อินเดียตอนใต้ ขณะพระไตรปิฎกฉบับแปลของเธอนั้นกำลังจะลุล่วง และหลุยส์ มานีโปด์ ในวัย 90 ปีเมื่อจากโลกนี้ไป

และน่าแปลกที่ว่า ร่องรอยปฏิรูปเถรวาทที่เธอเขาทิ้งไว้

กลับไม่เหลือ ‘ทุ่งฝัน…’ แห่งการรำลึกเลย